การใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์สำหรับรักษาโรคกีแลง-บาร์เร

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

คอร์ติโคสเตียรอยด์ช่วยเร่งการฟื้นตัวจากความพิการในผู้ป่วยโรคกีแลง-บาร์เร เมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาหลอกหรือการดูแลแบบประคับประคองเพียงอย่างเดียวหรือไม่

ความเป็นมา

โรคกิแลง-บาร์เรเป็นโรคที่ทำให้เป็นอัมพาตที่ไม่ค่อยพบเห็น มักเกิดขึ้นเมื่อระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยโจมตีเส้นประสาทของตัวเอง จนเกิดการอักเสบขึ้นในที่สุด ใน 25% ของผู้ป่วยที่ได้รับผลกระทบ โรคนี้ทำให้จำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ประมาณ 5% ของผู้ป่วยโรคนี้จะเสียชีวิต และประมาณ 10% พิการ คอร์ติโคสเตียรอยด์ (เช่น เพรดนิโซโลน) ซึ่งมีฤทธิ์ช่วยลดการอักเสบ จึงน่าจะช่วยลดความเสียหายของเส้นประสาทได้

ลักษณะของการศึกษา

มีการทดลองทางคลินิก 8 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 653 ราย การทดลองเพียง 6 ฉบับ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมรวม 587 คนเท่านั้นที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการวัดผลลัพธ์หลักสำหรับการทบทวนนี้ ซึ่งคือการเปลี่ยนแปลงในมาตราส่วนความพิการ 7 ระดับ การสนับสนุนทางการเงินมาจาก Baxter Bioscience สำหรับการทดลอง 1 ฉบับ, สภาวิจัยสำหรับการทดลอง 2 ฉบับ, สถาบันสุขภาพแห่งชาติสำหรับการทดลอง 1 ฉบับ และการทดลองอื่นๆ ไม่ระบุแหล่งที่มาของเงินสนับสนุน

ผลลัพธ์ที่สำคัญและคุณภาพของหลักฐาน

ตามหลักฐานคุณภาพปานกลาง เมื่อเรารวมผลการทดลองทั้ง 6 ฉบับ เข้ากับข้อมูลที่จำเป็น พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของระดับความพิการหลังจากครบ 4 สัปดาห์ นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาจากหลักฐานคุณภาพปานกลาง พบว่าไม่มีความแตกต่างกันในเปอร์เซ็นต์ของผู้เข้าร่วมที่เสียชีวิตหรือทุพพลภาพหลังจาก 1 ปี เราถือว่าหลักฐานเกี่ยวกับความพิการมีความไม่น่าเชื่อถือเนื่องจากมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดระหว่างการทดลองต่างๆ จากการทดลองขนาดเล็ก 4 ฉบับ โดยใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 120 ราย พบว่าอาการดีขึ้นน้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญหลังจากใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์เป็นเวลา 4 สัปดาห์ เมื่อเทียบกับไม่ใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ แต่เราถือว่าคุณภาพของหลักฐานต่ำมาก ในทางกลับกัน จากหลักฐานคุณภาพปานกลาง ในการทดลองขนาดใหญ่ 2 ฉบับที่ใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ฉีดเข้าเส้นเลือดดำ โดยมีผู้เข้าร่วมรวมทั้งสิ้น 467 ราย พบว่าอาการทุพพลภาพดีขึ้นเล็กน้อยหลังจากผ่านไป 4 สัปดาห์ แต่ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะเป็นไปได้ว่าไม่ได้เกิดจากคอร์ติโคสเตียรอยด์ คอร์ติโคสเตียรอยด์ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของอันตรายอย่างมีนัยสำคัญ ยกเว้นโรคเบาหวานที่พบได้บ่อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับการใช้ยาหลอกหรือการรักษาแบบประคับประคองเพียงอย่างเดียว แม้ว่าความดันโลหิตสูงจะทราบกันดีว่าเป็นผลเสียของการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ แต่ความดันโลหิตสูงกลับพบได้น้อยลงมากในผู้เข้าร่วมที่ได้รับการรักษาด้วยคอร์ติโคสเตียรอยด์อย่างไม่คาดคิด ยังไม่ทราบว่าทำไมคอร์ติโคสเตียรอยด์จึงไม่มีประโยชน์ต่อการรักษาอาการนี้ แต่สาเหตุอาจเป็นเพราะยามีผลต่อกล้ามเนื้อ ซึ่งขัดขวางการลดการอักเสบของเส้นประสาท

การทบทวนนี้เป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงมกราคม 2016

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ตามหลักฐานคุณภาพปานกลาง พบว่าการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ช่วยเร่งการฟื้นตัวจาก GBS อย่างมีนัยสำคัญหรือส่งผลต่อผลลัพธ์ในระยะยาว จากหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมาก พบว่าคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทานจะทำให้การฟื้นตัวล่าช้า โรคเบาหวานที่ต้องใช้ฮอร์โมนอินซูลินพบได้บ่อยกว่า และความดันโลหิตสูงพบได้น้อยกว่าในกลุ่มที่ใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ ตามหลักฐานที่มีคุณภาพสูง

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคกิแลง-บาร์เร (Guillain-Barré syndrome; GBS) เป็นโรคอัมพาตเฉียบพลันที่เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทส่วนปลาย ซึ่งคาดว่าคอร์ติโคสเตียรอยด์น่าจะช่วยได้

วัตถุประสงค์: 

เพื่อศึกษาศักยภาพของคอร์ติโคสเตียรอยด์ในการเร่งการฟื้นตัวและลดการเจ็บป่วยระยะยาวจาก GBS

วิธีการสืบค้น: 

เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2016 เราได้ค้นหาใน Cochrane Neuromuscular Specialised Register, Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE และ Embase เรายังค้นหาทะเบียนการทดลองด้วย

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุม (randomised controlled trials; RCT) หรือ quasi-RCTs ของคอร์ติโคสเตียรอยด์รูปแบบต่างๆหรือฮอร์โมนอะดรีโนคอร์ติโคโทรฟิกในรูปแบบใดๆ เทียบกับยาหลอกหรือการดูแลแบบสนับสนุนเพียงอย่างเดียวใน GBS ผลลัพธ์เบื้องต้นของเรา คือ การเปลี่ยนแปลงระดับความพิการบนมาตราส่วนความพิการ 7 ระดับหลังจาก 4 สัปดาห์ ผลลัพธ์รอง ได้แก่ เวลาจากการสุ่มจนถึงการฟื้นตัวจากการเดินโดยไม่ต้องใช้ความช่วยเหลือ, เวลาจากการสุ่มจนถึงการหยุดใช้เครื่องช่วยหายใจ (สำหรับผู้ที่ใช้เครื่องช่วยหายใจ), การเสียชีวิต, การเสียชีวิตหรือความพิการ (ไม่สามารถเดินได้โดยไม่ต้องใช้ความช่วยเหลือ) หลังจาก 12 เดือน, การกลับเป็นซ้ำ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้เขียนใช้มาตรฐานวิธีตามที่ Cochrane คาดหวัง

ผลการวิจัย: 

ไม่พบการทดลองใหม่ในการค้นหาใหม่ในเดือนมิถุนายน 2009, พฤศจิกายน 2011 หรือมกราคม 2016 การทดลอง 6 ฉบับ ซึ่งมีผู้เข้าร่วม 587 รายให้ข้อมูลสำหรับผลลัพธ์หลัก ตามหลักฐานคุณภาพปานกลาง การเปลี่ยนแปลงระดับความพิการหลังจาก 4 สัปดาห์ในกลุ่มที่ได้รับคอร์ติโคสเตียรอยด์ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญจากกลุ่มควบคุม โดยความแตกต่างเฉลี่ย (MD) 0.36 มีการปรับปรุงน้อยลง (ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) ปรับปรุงเพิ่มขึ้น 0.16 ถึงลดลง 0.88) จากการทดลอง 4 ฉบับ โดยใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดรับประทานซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 120 ราย มีหลักฐานคุณภาพต่ำมาก พบว่าที่ 4 สัปดาห์ กลุ่มที่ได้รับสเตียรอยด์มีอาการดีขึ้นน้อยกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับสเตียรอยด์ โดย MD 0.82 มีระดับความพิการที่ดีขึ้นน้อยกว่า (95% CI 0.17 ถึง มีระดับน้อยลง 1.47) จากการทดลอง 2 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วมรวม 467 ราย มีหลักฐานคุณภาพปานกลางบ่งชี้ว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญของการช่วยลดระดับความพิการหลังจากใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ทางเส้นเลือดเป็นเวลา 4 สัปดาห์ (MD 0.17, 95% CI -0.06 ถึง 0.39) จากหลักฐานคุณภาพปานกลาง พบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่มที่ได้รับคอร์ติโคสเตียรอยด์กับกลุ่มควบคุมที่มีอาการดีขึ้นหนึ่งระดับขึ้นไปหลังจาก 4 สัปดาห์ (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.08, 95% CI 0.93 ถึง 1.24) หรือสำหรับการเสียชีวิตหรือทุพพลภาพหลังจาก 1 ปี (RR 1.51, 95% CI 0.91 ถึง 2.5) เราพบหลักฐานคุณภาพสูงที่บ่งชี้ว่าการเกิดโรคเบาหวานเกิดขึ้นบ่อยกว่า (RR 2.21, 95% CI 1.19 ถึง 4.12) และความดันโลหิตสูงเกิดขึ้นน้อยกว่า (RR 0.15, 95% CI 0.05 ถึง 0.41) ในผู้เข้าร่วมที่ได้รับการรักษาด้วยคอร์ติโคสเตียรอยด์

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล แพทย์หญิงชุติมา ชุณหะวิจิตร วันที่ 29 สิงหาคม 2024

Tools
Information