ยาต้านการสลายลิ่มเลือด (เช่น tranexamic acid) สำหรับรักษาภาวะประจำเดือนมามาก

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

ยาต้านการสลายลิ่มเลือด ผลิตมาเพื่อลดเลือดที่ออก โดยยับยั้งเอนไซม์ที่สลายลิ่มเลือดในเยื่อบุโพรงมดลูก; นักวิจัย Cochrane ได้ทบทวนหลักฐานงานวิจัย เกี่ยวกับประสิทธิภาพของยากลุ่มนี้ (เช่น tranexamic acid,TXA) เทียบกับยาหลอกและยาอื่นๆในสตรีที่มีประจำเดือนมามาก (มากกว่า 80 มล. ของเลือดที่ออกในหนึ่งรอบประจำเดือน)

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

ยาต้านการสลายลิ่มเลือด (เช่น tranexamic acid) มักใช้เพื่อลดปริมาณประจำเดือนที่ออกมาก อย่างไรก็ดี มีความกังวลว่ายานี้อาจทำให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันที่ขาหรือปอดได้ มียาอื่นๆนอกเหนือจากยานี้ ที่สามารถใช้เพื่อรักษาภาวะประจำเดือนออกมากได้ เราเปรียบเทียบประโยชน์และความเสี่ยงจากการรักษานี้

ลักษณะของการศึกษา

มี 13 งานวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) เปรียบเทียบระหว่างยาต้านการสลายลิ่มเลือดกับการรักษาโดยวิธีอื่นๆ ในสตรีที่มีประจำเดือนมามากรวม 1312 ราย หลักฐานงานวิจัยที่มีถึงเดือนพฤศจิกายน 2017

ผลการศึกษาที่สำคัญ

ยาต้านการสลายลิ่มเลือด อาจช่วยทำให้อาการประจำเดือนออกมากดีขึ้น ในสตรีอายุ 15 ถึง 50 ปี โดยไม่เพิ่มอัตราภาวะแทรกซ้อน หลักฐานงานวิจัยพบว่า ปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออกนั้นลดลง 40% ถึง 50% ในอาสาสมัครที่ใช้ TXA ยาต้านการสลายลิ่มเลือดใช้ได้ผลดีกว่ายาอื่นๆในการลดเลือดที่ออก ยกเว้นเมื่อเทียบกับ levonogestrel intrauterine system (LIUS)

หลักฐานงานวิจัยพบว่า ถ้า 10.9%ของสตรีที่ใช้ยาหลอกมีอาการที่ดีขึ้น จะมี 36.3% ของสตรีที่ใช้ TXA ที่อาการดีขึ้น

TXA อาจช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต ของสตรีที่มีภาวะประจำเดือนออกมากได้

ไม่พบหลักฐานว่ามีภาวะข้างเคียงจากการรักษา (รวมถึงลิ่มเลือดอุดตันที่เป็นอันตรายถึงชีวิต) เพิ่มขึ้นในสตรีที่ใช้ยาต้านการสลายลิ่มเลือดเมื่อเทียบกับยาหลอกหรือการรักษาด้วยวิธีอื่นๆ มีสองงานวิจัยที่ดูผลต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ: แต่ทั้งสองงานวิจัยไม่มีอาสาสมัครที่เพียงพอแปลผลได้

คุณภาพของหลักฐานการศึกษา

คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำมากถึงปานกลาง ข้อจำกัดหลักคือ: ความเสี่ยงของการเกิดอคติ จากการที่อาสาสมัคร/ผู้ประเมิน ทราบว่าได้รับยาอะไร (lack of blinding) หรือวิธีการศึกษาวิจัยไม่ได้แสดงอย่างชัดเจน; ไม่มีความเที่ยง และผลไม่ไปด้วยกัน

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ยาต้านการสลายลิ่มเลือด (เช่น TXA) มีประสิทธิภาพสำหรับรักษาภาวะประจำเดือนออกมาก ดีกว่าเมื่อเทียบกับ ยาหลอก, NSAIDs, หรือยารับประทานกลุ่ม progestogens, ethamsylate, หรือยาสมุนไพร, แต่อาจจะมีประสิทธิภาพด้อยกว่าเมื่อเทียบกับ LIUS มีข้อมูลที่น้อยเกินไปที่จะเปรียบเทียบว่ายาต้านการสลายลิ่มเลือดสัมพันธ์กับการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เพิ่มขึ้น และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ระบุภาวะลิ่มเลือดอุดตัน เป็นผลของการศึกษา

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ภาวะประจำเดือนออกมาก เป็นปัญหาทางกายภาพและสังคมที่สำคัญต่อสตรี ยารับประทานเพื่อรักษา ประกอบด้วย ยาต้านการสลายลิ่มเลือด ซึ่งถูกผลิตมาเพื่อลดเลือดที่ออกโดย ยับยั้งเอนไซม์ที่สลายลิ่มเลือดในเยื่อบุโพรงมดลูก

ในอดีตที่ผ่านมา มีความกังวลว่าการใช้ยาต้านการสลายลิ่มเลือดนี้อาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำได้ ซึ่งนี่เป็นคำกว้างๆที่รวมถึง deep venous thrombosis (ลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดที่ขา) และ pulmonary emboli (ลิ่มเลือดอุดตันที่ปอด)

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้ยาต้านการสลายลิ่มเลือดเพื่อรักษาภาวะประจำเดือนออกมาก

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นฐานข้อมูลดังนี้ the Cochrane Gynaecology and Fertility (CGF) Group trials register, CENTRAL, MEDLINE, Embase, PsycINFO และ สองงานวิจัยที่ลงทะเบียน ในเดือนพฤศจิกายน 2017 รวมถึงเอกสารอ้างอิง และติดต่อกับผู้ทำวิจัยและผู้เชี่ยวชาญ

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวบรวมงานศึกษาวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ซึ่งเปรียบเทียบระหว่างยาต้านการสลายลิ่มเลือดกับยาหลอก ไม่ได้รักษา หรือยาอื่นๆ ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ที่มีภาวะประจำเดือนออกมาก มี 12 งานวิจัยที่ศึกษา TXA และ 1 งานวิจัยศึกษาสารตั้งต้นของ TXA (Kabi)

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้วิธีมาตรฐานตามเกณฑ์ของ Cochrane ผลการศึกษาหลักที่ศึกษา คือ ปริมาณเลือดประจำเดือนที่ออก การดีขึ้นของภาวะประจำเดือนออกมาก และการเกิดลิ่มเลือดอุดตัน

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวม 13 งานวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (ในอาสาสมัคร 1312 คน) คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำมากถึงปานกลาง โดยมีข้อจำกัดคือ: ความเสี่ยงของการเกิดอคติ จากการที่อาสาสมัคร/ผู้ประเมินทราบว่าได้รับยาอะไร (lack of blinding) หรือวิธีการศึกษาวิจัยไม่ได้แสดงอย่างชัดเจน ไม่มีความเที่ยง และผลไม่ไปด้วยกัน

ยาต้านการสลายลิ่มเลือด (TXA or Kabi) เทียบกับ การไม่ได้รับการรักษาหรือยาหลอก

เมื่อเทียบกับยาหลอก ยาต้านการสลายลิ่มเลือด ช่วยลดปริมาณเลือดที่ออก (MD −53.20 mL per cycle, 95% CI −62.70 ถึง −43.70; I² = 8%; 4 RCTs, อาสาสมัคร = 565 ราย; หลักฐานมีคุณภาพปานกลาง) และมีอัตราการดีขึ้นของอาการที่ดีกว่า (RR 3.34, 95% CI 1.84 ถึง 6.09; 3 RCTS, อาสาสมัคร = 271; หลักฐานมีคุณภาพปานกลาง) ผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่า หาก 11% ของสตรีมีอาการดีขึ้นโดยไม่ได้รับการรักษา, 43% ถึง 63% ของสตรีที่ใช้ยาต้านการสลายลิ่มเลือดจะมีอาการดีขึ้นเช่นกัน ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีความแตกต่างของภาวะแทรกซ้อนระหว่างกลุ่มที่เปรียบเทียบ (RR 1.05, 95% CI 0.93 ถึง 1.18; 1 RCT, อาสาสมัคร = 297 ราย; หลักฐานมีคุณภาพต่ำ) มีอัตราการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันเพียง 1 ราย จากสองการศึกษาวิจัยที่ดูผลนี้

TXA เทียบกับยากลุ่ม progestogens

ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีความแตกต่างของปริมาณเลือดที่ออก เมื่อประเมินโดย Pictorial Blood Assessment Chart (PBAC) (MD −12.22 points per cycle, 95% CI −30.8 ถึง 6.36; I² = 0%; 3 RCTs, อาสาสมัคร = 312 ราย; หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก), แต่ TXA สัมพันธ์กับอัตราการดีขึ้นของอาการที่ดีกว่า (RR 1.54, 95% CI 1.31 ถึง 1.80; I² = 32%; 5 RCTs,อาสาสมัคร = 422 ราย; หลักฐานมีคุณภาพต่ำ) ผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่า หาก 46% ของสตรีมีอาการดีขึ้นจากยากลุ่ม progestogens, 61% ถึง 83% ของสตรีที่ใช้ยาต้านการสลายลิ่มเลือดจะมีอาการดีขึ้นเช่นกัน

ภาวะแทรกซ้อนพบได้น้อยกว่าในกลุ่มที่ได้รับ TXA (RR 0.66, 95% CI 0.46 ถึง 0.94; I² = 28%; 4 RCTs, อาสาสมัคร = 349 ราย; หลักฐานคุณภาพต่ำ) ไม่มีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในทั้งสองกลุ่ม

TXA เทียบกับ ยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs)

TXA ช่วยลดปริมาณเลือดที่ออก (MD −73.00 mL per cycle, 95% CI −123.35 ถึง −22.65; 1 RCT, อาสาสมัคร = 49 ราย; หลักฐานคุณภาพต่ำ) และมีอัตราการดีขึ้นของอาการที่ดีกว่า (RR 1.43, 95% CI 1.18 ถึง 1.74; 12 = 0%; 2 RCTs, อาสาสมัคร = 161ราย; หลักฐานมีคุณภาพต่ำ) ผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่า หาก 61% ของสตรีมีอาการดีขึ้นจากยากลุ่ม NSAIDs, 71% ถึง 100% ของสตรีที่ใช้ยาต้านการสลายลิ่มเลือดจะมีอาการดีขึ้นเช่นกัน ภาวะแทรกซ้อนพบไม่บ่อยและไม่มีข้อมูลพอสำหรับเปรียบเทียบได้ ไม่มีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในทั้งสองกลุ่ม

TXA เทียบกับ ethamsylate

TXA ช่วยลดปริมาณเลือดที่ออก (MD 100 mL per cycle, 95% CI −141.82 ถึง −58.18; 1 RCT, อาสาสมัคร = 53 ราย; หลักฐานมีคุณภาพต่ำ) แต่ไม่มีหลักฐานที่เพียงพอจะบอกความต่างของอัตราการดีขึ้นของอาการ (RR 1.56, 95% CI 0.95 ถึง 2.55; 1 RCT, อาสาสมัคร = 53 ราย; หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก) หรือพอที่จะสรุปความต่างของการเกิดภาวะแทรกซ้อน (RR 0.78, 95% CI 0.19 ถึง 3.15; 1 RCT, อาสาสมัคร = 53 ราย; หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก)

TXA เทียบกับ ยาสมุนไพร (Safoof Habis และ Punica granatum)

TXA ช่วยลดปริมาณเลือดที่ออก เมื่อประเมินโดย Pictorial Blood Assessment Chart (PBAC) หลังใช้ยาไปสามเดือน (MD −23.90 pts per cycle, 95% CI −31.92 ถึง −15.88; I² = 0%; 2 RCTs, อาสาสมัคร = 121 ราย; หลักฐานมีคุณภาพต่ำ) ไม่มีข้อมูลสำหรับประเมินการดีขึ้นของอาการ TXA ช่วยลดปริมาณเลือดที่ออก เมื่อประเมินโดย Pictorial Blood Assessment Chart (PBAC) ที่สามเดือนหลังสิ้นสุดการใช้ยา (MD −10.40 points per cycle, 95% CI −19.20 ถึง −1.60; I² not applicable; 1 RCT, อาสาสมัคร = 84 ราย; หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก) ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะประเมินความแตกต่างของการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างกลุ่ม (RR 2.25, 95% CI 0.74 ถึง 6.80; 1 RCT, อาสาสมัคร = 94 ราย; หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก) ไม่มีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในทั้งสองกลุ่ม

TXA เทียบกับ levonorgestrel intrauterine system (LIUS)

TXA สัมพันธ์กับเลือดที่ออกเยอะกว่าเมื่อประเมินโดย PBAC score เทียบกับ LIUS (median difference 125.5 points; 1 RCT, อาสาสมัคร = 42 ราย; หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก) และการดีขึ้นของอาการที่ต่ำกว่า (RR 0.43, 95% CI 0.24 ถึง 0.77; 1 RCT, อาสาสมัคร = 42 ราย; หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก) ผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่า หาก 85% ของสตรีมีอาการดีขึ้นจาก LIUS, 20% ถึง 65% ของสตรีที่ใช้ยาต้านการสลายลิ่มเลือดจะมีอาการดีขึ้นเช่นกัน ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะประเมินความแตกต่างของการเกิดภาวะแทรกซ้อนระหว่างกลุ่ม (RR 0.83, 95% CI 0.25 ถึง 2.80; 1 RCT, อาสาสมัคร = 42 ราย; หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก) ไม่มีรายงานการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในทั้งสองกลุ่ม

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.นันทสิริ เอี่ยมอุดมกาล ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Tools
Information