ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สารลดแรงตึงผิวที่ได้จากสัตว์เมื่อเทียบกับสารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์ที่ปราศจากโปรตีนในทารกเกิดก่อนกำหนดที่เป็น หรือมีความเสี่ยงสูงต่อการเป็น respiratory distress syndrome

คำถามในการทบทวน: การใช้สารลดแรงตึงผิวที่ได้จากสัตว์เมื่อเทียบกับการใช้สารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์ที่ไม่มีโปรตีนจะนำไปสู่ผลการรักษาที่ดีขึ้นในทารกที่มีความเสี่ยงหรือมี respiratory distress syndrome หรือไม่?

ที่มา: สารลดแรงตึงผิว (surfactant) ในปอดเป็นสารที่ช่วยป้องกันไม่ให้ถุงลมของปอดยุบตัวลงโดยการลดความตึงผิว ทารกแรกเกิดที่มีภาวะหายใจลำบาก (respiratory distress syndrom, RDS) มีปอดที่ยังไม่สมบูรณ์และมักขาด surfactant ในปอด การให้สารลดแรงตึงผิวที่มีจำหน่ายในท้องตลาด (โดยการเตรียมจาก surfactant ของสัตว์หรือการสังเคราะห์ขึ้นมาโดยที่อาจมีหรือไม่มีโปรตีน) ได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถลดความรุนแรงของ RDS และเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของทารกที่มี RDS ได้ อย่างไรก็ตามข้อมูลยังไม่ชัดเจนว่าการใช้สารลดแรงตึงผิวที่ได้จากสัตว์ หรือ สารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์ที่ไม่มีโปรตีนมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิกหรือไม่

ลักษณะการศึกษา: มีการทดลองแบบสุ่มมีกลุ่มเปรียบเทียบทั้งหมด 15 เรื่องที่เข้าเกณฑ์การคัดเลือกเพื่อนำมาทบทวน

ผลการศึกษา: การทบทวนนี้เป็นการเปรียบเทียบการใช้สารลดแรงตึงผิวจากสัตว์กับสารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์ที่ไม่มีโปรตีนและพบว่ามีการลดลงของความเสี่ยงต่อการเกิด pneumothorax (อากาศในโพรงปอด) และการเสียชีวิตในทารกที่ได้รับสารลดแรงตึงผิวจากสัตว์

มีหลักฐานบางอย่างที่แสดงว่าสารลดแรงตึงผิวจากสัตว์ทำให้เกิดผลลัพธ์ที่ดีขึ้นในทารกที่มีภาวะหายใจลำบาก (RDS) เมื่อเทียบกับสารลดแรงตึงสังเคราะห์ที่ไม่มีโปรตีน

บทนำ

มีการพัฒนาและทดสอบสารลดแรงตึงผิวหลากหลายชนิดได้แก่สารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์และ สารลดแรงตึงผิวที่ได้จากสัตว์ แม้ว่าการทดลองทางคลินิกได้แสดงให้เห็นว่าทั้งสารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์และสารลดแรงตึงผิวที่ได้จากสัตว์มีประสิทธิภาพ การเปรียบเทียบในสัตว์ (animal models) ได้ชี้ให้เห็นว่าสารลดแรงตึงผิวที่ได้จากสัตว์ อาจมีประสิทธิภาพดีกว่า ซึ่งอาจเป็นเพราะปริมาณโปรตีนในสารลดแรงตึงผิวที่ได้จากสัตว์

วัตถุประสงค์

เพื่อเปรียบเทียบผลของสารลดแรงตึงผิวที่ได้รับจากสัตว์กับสารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์โดยปราศจากโปรตีนในทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นหรือมีภาวะหายใจผิดปกติ (RDS)

วิธีการสืบค้น

การค้นหาได้รับการปรับให้เป็นปัจจุบัน จาก Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) ใน The Cochrane Library (2014), PubMed, CINAHL และ EMBASE (1975 ถึงพฤศจิกายน 2014) โดยสืบค้นทุกภาษา

เกณฑ์การคัดเลือก

การศึกษาแบบสุ่มมีกลุ่มเปรียบเทียบที่ีเปรียบเทียบการใช้สารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์ที่ปราศจากโปรตีนกับการใช้สารลดแรงตึงผิวที่สกัดจากสัตว์ในทารกคลอดก่อนกำหนดที่มีความเสี่ยงต่อการเป็นหรือเป็นภาวะหายใจลำบาก (RDS)

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

การเก็บข้อมูลและการวิเคราะห์ได้ดำเนินการตามมาตรฐานของ Cochrane Neonatal Review Group.

ผลการวิจัย

มีการศึกษา 15 เรื่องที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การคัดเลือก การวิเคราะห์แบบmeta-analysis พบว่าการใช้สารลดแรงตึงผิวที่ได้จากสัตว์แทนการใช้สารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์ที่ปราศจากโปรตีนส่งผลให้ความเสี่ยงในการเกิด ลมรั่วออกมาในช่องปอด (pneumothorax) ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ (RR) 0.65, 95% CI 0.55 ถึง 0.77; ความแตกต่างของความเสี่ยง (RD) -0.04, 95% CI -0.06 ถึง -0.02; จำนวนทารกที่รักษาเพื่อให้เกิดประโยชน์ (number needed to treat to benefit, NNTB) 25; 11 การศึกษา, ทารก 5356 คน และมีการลดของการเสียชีวิต (RR 0.89, 95% CI 0.79 ถึง 0.99, ความแตกต่างของความเสี่ยง (RD) -0.02, 95% CI -0.04 ถึง -0.00; NNTB 50; 13 การศึกษา ทารก 5413 คน ) .

สารลดแรงตึงผิวที่ได้จากสัตว์มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิด necrotizing enterocolitis (RR 1.38, 95% CI 1.08 ถึง 1.76; ความแตกต่างของความเสี่ยง (RD) 0.02, 95% CI 0.01 ถึง 0.04; จำนวนที่จำเป็นในการรักษาที่ก่อให้เกิดอันตราย (number needed to treat to harm, NNTH) 50; 8 การศึกษา ทารก 3462 คน และมีการเพิ่มความเสี่ยงของ intraventricular hemorrhage ไม่ว่าระดับใด (RR 1.07, 95% CI 0.99 ถึง 1.15; RD 0.02, 95% CI 0.00 ถึง 0.05) การศึกษา 10 เรื่อง ทารก 5045 คน) แต่ไม่มีการเพิ่มขึ้นของ intraventricular hemorrhage ระดับ 3 ถึง 4 (RR 1.08, 95% CI 0.91 ถึง 1.27; RD 0.01, 95% CI -0.01 ถึง 0.03; 9 การศึกษา, ทารก 4241 คน)

การวิเคราะห์แบบ meta-analyses พบว่ามีการลดความเสี่ยงต่อการเป็น bronchopulmonary dysplasia หรือการเสียชีวิตจากการใช้สารลดแรงตึงผิวของสัตว์ (RR 0.95, 95% CI 0.91 ถึง 1.00; RD -0.03, 95% CI -0.06 ถึง 0.00; 6 การศึกษา ทารก 3811 คน ) ไม่พบความแตกต่างที่เกี่ยวข้องในผลลัพธ์ในด้านอื่นๆ

ข้อสรุปของผู้วิจัย

ทั้งสารลดแรงตึงผิวที่สกัดจากสัตว์และสารลดแรงตึงผิวที่สังเคราะห์โดยปราศจากโปรตีนมีประสิทธิภาพในการรักษาและป้องกันภาวะ respiratory distress syndrome. การศึกษาเปรียบเทียบแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพที่ดีขึ้นในช่วงต้นของการต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ การลดลงของภาวะลมรั่วเข้าช่องปอด (pneumothoraces) และการเสียชีวิตลดลงในกลุ่มที่ใช้สารลดแรงตึงผิวที่ได้รับจากสัตว์ สารลดแรงตึงผิวที่ได้จากสัตว์อาจมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของ enterocolitis และ intraventricular hemorrhage แม้ว่าภาวะเลือดออกที่ร้ายแรงกว่า (ระดับ 3 และ 4) จะไม่เพิ่มขึ้น แม้จะมีความกังวลเหล่านี้ ดุเหมือนว่าสารลดแรงตึงผิวที่สกัดจากสัตว์ น่าจะเป็นทางเลือกที่น่าพอใจมากกว่าเมื่อเทียบกับสารลดแรงตึงผิวสังเคราะห์ที่ไม่มีโปรตีนที่มีใช้อยู่ในปัจจุบัน

บันทึกการแปล

ผู้แปล พญ. ดิษจี ลุมพิกานนท์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช 3 สิงหาคม พ.ค. 2017

Citation
Ardell S, Pfister RH, Soll R. Animal derived surfactant extract versus protein free synthetic surfactant for the prevention and treatment of respiratory distress syndrome. Cochrane Database of Systematic Reviews 2015, Issue 8. Art. No.: CD000144. DOI: 10.1002/14651858.CD000144.pub3.