ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การให้สารน้ำทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การให้สารน้ำสำหรับผู้ใหญ่ในระยะสุดท้ายของการเจ็บป่วยมีประโยชน์และความเสี่ยงอย่างไร

ใจความสำคัญ

- เราไม่แน่ใจว่าการให้ของเหลวผ่านทางการหยดเข้าไปในหลอดเลือดดำหรือใต้ผิวหนัง หรือผ่านทางท่อเข้าไปในกระเพาะอาหารในระยะสุดท้ายของการเจ็บป่วยจะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต (ความเป็นอยู่ที่ดี) เมื่อเทียบกับการดูแลมาตรฐาน (การดูแลช่องปากที่ดี) เพื่อบรรเทาอาการกระหายน้ำ) หรือยาหลอก ยาหลอกเป็น 'หลอก' หรือการรักษาหลอกลวงที่มีลักษณะเหมือนกันแต่ประกอบด้วยของเหลวในปริมาณที่ไม่สามารถรักษาได้

- เราไม่แน่ใจว่าการให้ของเหลวทางการแพทย์จะทำให้ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้นหรือทำให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์หรือเป็นอันตรายหรือไม่  

- เราต้องการการศึกษาที่ดีและเพิ่มขึ้นเพื่อตรวจสอบการให้สารน้ำทางการแพทย์สำหรับผู้ที่อยู่ในระยะสุดท้ายของการเจ็บป่วย การศึกษาในอนาคตควรมุ่งเน้นไปที่การทดสอบที่ดีกว่าเพื่อพิจารณาว่าการให้สารน้ำทางการแพทย์มีประโยชน์ต่อผู้คนหรือไม่ และการค้นหาว่าควรเริ่มให้เมื่อใดและปริมาณของเหลวที่จะให้มากน้อยเพียงใด (หากมี)

ทำไมต้องเสริมการให้สารน้ำในระยะสุดท้ายของการเจ็บป่วย

การดูแลแบบประคับประคองคือการรักษา การดูแล และการสนับสนุนสำหรับผู้ที่มีชีวิตอยู่กับความเจ็บป่วยที่มีเหลือน้อย ผู้ใหญ่ที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองอาจมีความต้องการสารน้ำทางช่องปากลดลงเมื่อเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของชีวิต ในเวลานี้พวกเขาอาจมีอาการที่เกี่ยวข้องกับปริมาณของเหลวที่ลดลงซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา ข้อกังวลอีกประการหนึ่งก็คือ หากไม่มีของเหลวเสริม อายุขัยของพวกเขาอาจลดลงเนื่องมาจากโอกาสที่จะเสียชีวิตจากภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการบริโภคทางปากที่ลดลง แทนที่จะเสียชีวิตจากโรคประจำตัว

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าสารน้ำที่แพทย์ให้สามารถช่วยเหลือผู้ใหญ่ในระยะสุดท้ายของการเจ็บป่วยได้หรือไม่

เราสนใจผลของของเหลวที่ให้ทางการแพทย์ต่อ:

- คุณภาพชีวิต (ความเป็นอยู่) ของผู้คน

- พวกเขามีชีวิตอยู่นานแค่ไหน; และ

- การเกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์หรือเป็นอันตราย

เราทำอะไรไปแล้วบ้าง

เราค้นหาการศึกษาที่ตรวจสอบว่า:

- การให้สารน้ำทางการแพทย์ เปรียบเทียบกับยาหลอกที่มีปริมาณของเหลวที่ไม่ช่วยในการรักษา หรือ

- การให้สารน้ำทางการแพทย์เมื่อเปรียบเทียบกับการดูแลมาตรฐานรวมถึงการดูแลช่องปากที่ดีเพื่อบรรเทาอาการกระหายน้ำ

มีประสิทธิผลและไม่ว่าจะก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ในผู้ใหญ่อายุเกิน 18 ปี ที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของการเจ็บป่วยหรือไม่ 

เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษา และประเมินความเชื่อมั่นของเราต่อหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดของการศึกษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 4 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับคนทั้งหมด 422 คน การศึกษาสองเรื่องเปรียบเทียบการให้สารน้ำทางการแพทย์กับยาหลอก และสองการศึกษาเปรียบเทียบการให้สารน้ำทางการแพทย์กับการดูแลมาตรฐาน การศึกษาที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่ 200 คน และการศึกษาที่เล็กที่สุดอยู่ที่ 42 คน การศึกษาใช้เวลาระหว่าง 2 ถึง 14 วัน อายุของผู้ที่อยู่ในการศึกษาวิจัยอยู่ระหว่าง 28 ถึง 98 ปี โดยในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 226 คน และผู้ชาย 196 คน การศึกษานี้ดำเนินการในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และอาร์เจนตินา การศึกษา 2 ฉบับได้รับทุนสนับสนุนจากทุนวิจัยทางคลินิก เราไม่พบการศึกษาใดที่ผู้คนไม่ได้รับการวินิจฉัยโรคมะเร็งระยะลุกลาม 

ผลลัพธ์หลัก

ในผู้ใหญ่ที่ได้รับสารน้ำที่ให้ทางการแพทย์ในระยะสุดท้ายของการเจ็บป่วย เปรียบเทียบกับยาหลอก:

- เราไม่แน่ใจว่าสารน้ำที่ให้ทางการแพทย์ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตหรือไม่

- เราไม่แน่ใจว่าสารน้ำที่ให้ทางการแพทย์จะทำให้ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้นหรือไม่ และจะนำไปสู่การเกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์หรือเป็นอันตรายหรือไม่

ในผู้ใหญ่ที่ได้รับสารน้ำที่ให้ทางการแพทย์ในระยะสุดท้ายของการเจ็บป่วย เปรียบเทียบกับการดูแลมาตรฐาน:

- เราไม่แน่ใจว่าสารน้ำที่ให้ทางการแพทย์ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตหรือไม่เนื่องจากขาดข้อมูลในการศึกษาที่นำเข้ามา;

- เราไม่แน่ใจว่าสารน้ำที่ให้ทางการแพทย์จะทำให้ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้นหรือไม่ และจะนำไปสู่การเกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์หรือเป็นอันตรายหรือไม่

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

เราไม่มั่นใจในหลักฐาน และผลลัพธ์ของการวิจัยเพิ่มเติมอาจแตกต่างไปจากผลการทบทวนนี้ ปัจจัยหลักสามประการลดความเชื่อมั่นของเราในหลักฐาน ประการแรก หลักฐานไม่ครอบคลุมทุกคนที่เราสนใจ เนื่องจากเราพบเฉพาะการศึกษาที่รวมผู้ที่เป็นมะเร็งระยะลุกลามเท่านั้น ประการที่สอง การศึกษามีขนาดเล็กมากและมีการศึกษาไม่เพียงพอที่จะมั่นใจเกี่ยวกับผลลัพธ์ของเรา ท้ายที่สุด อาจเป็นไปได้ที่ผู้คนในการศึกษาทราบว่าตนได้รับการรักษาแบบใด ซึ่งอาจทำให้เกิดอคติได้  

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมก่อนหน้า หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนพฤศจิกายน 2022

บทนำ

หลายๆ คนที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองมักรับประทานทางช่องปากระหว่างเจ็บป่วยได้ลดลง และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงบั้นปลายของชีวิต การจัดการสิ่งนี้อาจรวมถึงการให้สารน้ำทางการแพทย์ (MAH) โดยมีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิต (QoL) ยืดอายุของผู้ป่วย หรือทั้ง 2 อย่าง นี่เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมต้นฉบับที่ตีพิมพ์ในฉบับที่ 2 ปี 2008 และได้รับการปรับปรุงในเดือนกุมภาพันธ์ 2011 และมีนาคม 2014

วัตถุประสงค์

เพื่อตรวจสอบประสิทธิผลของ MAH เปรียบเทียบกับยาหลอกและการดูแลมาตรฐาน ในผู้ใหญ่ที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองในด้าน QoL และการอยู่รอด และเพื่อประเมินเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น

วิธีการสืบค้น

เราระบุการศึกษาโดยการค้นหา Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, EMBASE, CINAHL, CANCERLIT, Caresearch, Dissertation abstracts, SCIENCE CITATION INDEX และรายการอ้างอิงของการศึกษาที่เป็นไปตามเกณฑ์ทั้งหมด ตำราหลัก และการทบทวนอย่างเป็นระบบก่อนหน้านี้ วันที่ค้นหาล่าสุดที่ดำเนินการใน CENTRAL, MEDLINE และ Embase คือวันที่ 17 พฤศจิกายน 2022

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดของการศึกษา MAH ในผู้ใหญ่ที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองอายุ 18 ปีขึ้นไป เกณฑ์ในการคัดเข้าคือการเปรียบเทียบ MAH กับยาหลอกหรือการดูแลมาตรฐาน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ประพันธ์การทบทวนสามคนทบทวนชื่อเรื่องและบทคัดย่ออย่างอิสระต่อกันสำหรับความเกี่ยวข้อง และผู้ประพันธ์ 2 คนดึงข้อมูลและดำเนินการประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ ผลลัพธ์หลักคือ QoL โดยใช้เครื่องมือวัดที่ผ่านการตรวจสอบแล้ว ผลลัพธ์รองคือการรอดชีวิตและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ สำหรับผลลัพธ์ที่ต่อเนื่อง เราวัดค่าเฉลี่ยเลขคณิตและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) และรายงานผลต่างของค่าเฉลี่ย (MD) ด้วยช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) ระหว่างกลุ่ม สำหรับผลลัพธ์แบบ 2 ทางเลือก เราประมาณและเปรียบเทียบอัตราส่วนความเสี่ยง (RR) และ 95% CIs ระหว่างกลุ่ม สำหรับข้อมูลเวลาถึงการเกิดเหตุการณ์ เราวางแผนที่จะคำนวณเวลารอดชีวิตนับจากวันที่สุ่ม และเพื่อประมาณและแสดงผลการแทรกแซงเป็นอัตราส่วนอันตราย (HR) เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้ GRADE และสร้างตารางสรุปผลการวิจัย 2 ตาราง 

ผลการวิจัย

เราพบการศึกษาใหม่ 1 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 200 คน) สำหรับการศึกษาทั้งหมด 4 ฉบับที่รวมอยู่ในการปรับปรุงนี้ (ผู้เข้าร่วม 422 คน) ผู้เข้าร่วมทุกคนได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งระยะลุกลาม ยกเว้นผู้เข้าร่วม 29 คนที่เป็นมะเร็งทางโลหิตวิทยา คนอื่นๆ ทั้งหมดเป็นมะเร็งอวัยวะเนื้อตัน การศึกษา 2 ฉบับเปรียบเทียบ MAH กับยาหลอกแลอีก 2 ฉบับเปรียบเทียบ MAH กับการดูแลมาตรฐาน มีการศึกษาที่นำเข้าน้อยเกินไปที่จะประเมินกลุ่มย่อยที่แตกต่างกัน เช่น ประเภทของผู้เข้าร่วม สิ่งแทรกแซง ช่วงเวลาของสิ่งแทรกแซง และสถานที่ศึกษา เราถือว่าการศึกษา 1 ฉบับ มีความเสี่ยงของการมีอคติสูงในเรื่อง อคติในการปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมโครงการ และ อคติในการประเมินผล เนื่องจากขาดการปกปิด นอกนั้นประมินความเสี่ยงของอคติว่าต่ำหรือไม่ชัดเจน

MAH เทียบกับยาหลอก

คุณภาพชีวิต

การศึกษา 1 ฉบับ วัดการเปลี่ยนแปลงของ QoL ที่ 1 สัปดาห์โดยใช้ Functional Assessment of Cancer Therapy - General (FACT-G) (ระดับตั้งแต่ 0 ถึง 108 คะแนนที่สูงกว่า = QoL ที่ดีขึ้น) ไม่มีข้อมูลจากการศึกษาอื่น เราไม่แน่ใจว่า MAH ปรับปรุง QoL หรือไม่ (MD 4.10, 95% CI −1.63 ถึง 9.83; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 93 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

การอยู่รอด

การศึกษา 1 ฉบับ รายงานเกี่ยวกับการอยู่รอดตั้งแต่การลงทะเบียนเข้าร่วมการศึกษาจนถึงวันสุดท้ายของการติดตามผลหรือการเสียชีวิต เราไม่สามารถประเมิน HR ได้ ไม่มีข้อมูลจากการศึกษาอื่น เราไม่แน่ใจว่า MAH ปรับปรุง QoL หรือไม่ (การศึกษา 1 เรื่อง ผู้เข้าร่วม 93 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) 

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

การศึกษา 1 ฉบับ รายงานเกี่ยวกับความรุนแรงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เวลา 2 วันโดยใช้ระดับการให้คะแนนที่เป็นตัวเลข (ระดับตั้งแต่ 0 ถึง 10 คะแนนที่ต่ำกว่า = ความเป็นอันตรายน้อยลง) ไม่มีข้อมูลจากการศึกษาอื่น เราไม่แน่ใจว่า MAH นำไปสู่เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือไม่ (ความเจ็บปวดบริเวณที่ฉีด: MD 0.35, 95% CI -1.19 ถึง 1.89; บริเวณที่ฉีดบวม MD −0.59, 95% CI −1.40 ถึง 0.22; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 49 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) 

การให้สารน้ำทางการแพทย์เมื่อเทียบกับการดูแลมาตรฐาน

คุณภาพชีวิต

ไม่มีข้อมูลสำหรับการวิเคราะห์

การอยู่รอด

การศึกษาหนึ่งวัดการรอดชีวิตตั้งแต่การสุ่มเข้าศึกษาจนถึงวันสุดท้ายของการติดตามผลที่ 14 วันหรือการเสียชีวิต ไม่มีข้อมูลจากการศึกษาอื่น เราไม่แน่ใจว่า MAH ปรับปรุงการอยู่รอดหรือไม่ (HR 0.36, 95% CI 0.22 ถึง 0.59; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 200 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) 

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

การศึกษา 2 ฉบับ วัดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในการติดตามผล (ช่วง 2 ถึง 14 วัน) เราไม่แน่ใจว่า MAH นำไปสู่เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือไม่ (RR 11.62, 95% CI 1.62 ถึง 83.41; การศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 242 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) 

ข้อสรุปของผู้วิจัย

นับตั้งแต่การปรับปรุงการทบทวนครั้งก่อน เราพบการศึกษาใหม่ 1 ฉบับ ในผู้ใหญ่ที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองในระยะสุดท้ายของการเจ็บป่วย ยังคงมีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะพิจารณาว่า MAH ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตหรือยืดระยะเวลาการรอดชีวิตหรือไม่ เมื่อเทียบกับยาหลอกหรือการดูแลมาตรฐาน เนื่องจากผู้เข้าร่วมทั้งหมดเป็นผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งระยะลุกลามขั้นสุดท้าย การค้นพบของเราไม่สามารถนำไปใช้กับผู้ใหญ่ที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองในบริบทอื่น สำหรับโรคที่ไม่ใช่มะเร็ง โรคสมองเสื่อม หรือโรคเกี่ยวกับความเสื่อมของระบบประสาท หรือสำหรับผู้ที่มีการพยากรณ์โรคที่เรื้อรัง แพทย์จะต้องตัดสินใจโดยพิจารณาถึงประโยชน์และผลเสียของ MAH ในสถานการณ์ของแต่ละบุคคล โดยมีหลักฐานที่มีคุณภาพสูงมาเป็นแนวทาง

บันทึกการแปล

แปลโดย แพทย์หญิงวิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย แพทย์หญิง ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 30 มกราคม 2024

Citation
Buchan EJ, Haywood A, Syrmis W, Good P. Medically assisted hydration for adults receiving palliative care. Cochrane Database of Systematic Reviews 2023, Issue 12. Art. No.: CD006273. DOI: 10.1002/14651858.CD006273.pub4.