ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การรักษาด้วยความเย็นเฉพาะที่เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดจากการบาดเจ็บของฝีเย็บที่เกิดขึ้นระหว่างการคลอดบุตร

เรามองหาหลักฐานจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมว่าวิธีการรักษาด้วยการระบายความร้อนเฉพาะที่มีประสิทธิผลในการลดความเจ็บปวดจากการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นระหว่างช่องคลอดและทวารหนักนั่นคือ 'แผลฝีเย็บ' เมื่อคลอดบุตร

เรื่องนี้มีประเด็นอย่างไร

การฉีกขาดของฝีเย็บเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในระหว่างการคลอดบุตร นอกจากนี้บางครั้งผู้ที่เข้ารับการคลอดจะถูกตัดฝีเย็บเพื่อให้มีพื้นที่เพิ่มขึ้นสำหรับทารกที่จะคลอดออกมา (การตัดฝีเย็บ)

บาดแผลเหล่านี้มักทำให้เกิดความเจ็บปวด และแม่อาจมีปัญหาในการเดินหรือการนั่งหรือการให้นมและการดูแลลูกน้อย

ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ

ความเจ็บปวดจากการฉีกขาดหรือบาดแผลที่ฝีเย็บมีผลต่อการลดความสามารถในการเคลื่อนไหวของสตรีและทำให้รู้สึกไม่สบายตัวเมื่อปัสสาวะหรืออุจจาระ สิ่งนี้อาจส่งผลต่อความเป็นอยู่ที่ดีทางอารมณ์ของเธอ อาการปวดฝีเย็บอาจมีผลในระยะยาว เช่น ความเจ็บปวดระหว่างมีเพศสัมพันธ์ และปัญหาเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของลำไส้และการปัสสาวะ สตรีควรใช้วิธีต่างๆ ในการบรรเทาอาการปวดรวมถึงการใช้การรักษาด้วยความเย็น เช่น การประคบน้ำแข็งหรือแผ่นเจลเย็น สิ่งสำคัญคือต้องทราบว่าการระบายความร้อนได้ผลหรือไม่และมีผลชะลอการหายของบาดแผลหรือการฉีกขาดได้หรือไม่

นี่คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2007 และปรับปรุงอีกครั้งในปี 2012

ผู้ทบทวนวรรณกรรมพบหลักฐานอะไรบ้าง

เราค้นหาหลักฐานให้ทันสมัยจนถึงเดือนตุลาคม 2019 ขณะนี้เราพบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 10 รายการที่จะรวบรวมเข้ามา มีการศึกษา 9 รายการจากจำนวนการศึกษาทั้งหมดที่มีข้อมูลจากสตรี 998 คน ที่เราสามารถใช้ในการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้ได้

การประคบน้ำแข็งหรือแผ่นเจลเย็นวางไว้บนฝีเย็บ ครั้งละ 10 ถึง 20 นาที ใน 2 วันแรกหลังการคลอดบุตร เปรียบเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา (การศึกษา 5 รายการ, สตรี 612 คน) หรือการรักษาด้วยยาหลอกโดยใช้แผ่นเจล (การศึกษา 1 รายการ) หรือถุงน้ำ (การศึกษา 1 รายการ) ที่อุณหภูมิห้อง แพ็คน้ำแข็งถูกเปรียบเทียบกับแผ่นเจลเย็นในการศึกษา 3 รายการ (สตรี 338 คน)

การทดลองส่วนใหญ่มีคุณภาพต่ำมาก เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับความถูกต้องของผลการศึกษา โดยมีสตรีจำนวนน้อยสำหรับการเปรียบเทียบแต่ละครั้ง ผลการรักษาที่หลากหลาย และผู้เข้าร่วมวิจัยรู้ว่าพวกได้รับวิธีการรักษาแบบใด (หรือไม่มีการรักษา) มีการทดลองเพียงไม่กี่เรื่องที่ดูการเปรียบเทียบหรือการทดลองเดียวกัน ที่ใช้เครื่องมือในการประเมินหรือดูผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน ผลการวิจัยส่วนใหญ่มาจากการศึกษาเดี่ยว

อาการปวดฝีเย็บที่ได้รับการจัดอันดับด้วยตัวของสตรีเองหลังการใช้แผ่นความเย็นภายใน 6 ชั่วโมงหลังคลอดอาจน้อยกว่าสตรีที่ไม่ได้รับการรักษา (การศึกษา 1 รายการ, สตรี 100 คน) ไม่มีความแตกต่างที่ชัดเจนในความเจ็บปวดที่รายงานด้วยตนเองภายใน 24 ชั่วโมง หรือนานถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด (การศึกษา 1 รายการ, สตรี 316 คน) หรือในเรื่องการหายของฝีเย็บ

แผ่นเจลเย็นที่มีการบีบอัดเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกอาจส่งผลให้ความเจ็บปวดลดลงเล็กน้อยใน 24 ถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด (การศึกษา 1 รายการ, สตรี 250 คน) การหายของแผลฝีเย็บอาจไม่ได้รับผลกระทบจากการระบายความร้อน ไม่มีสตรีที่ใช้การประคบน้ำแข็งหรือถุงน้ำที่อุณหภูมิห้องรายงานว่ามีอาการปวดใน 24 ชั่วโมงแรกหลังคลอดบุตร (การศึกษา 1 รายการ, สตรี 63 คน) ไม่มีรายงานผลเสียต่อการหายของบาดแผล

การเปรียบเทียบการประคบน้ำแข็งกับแผ่นเจลเย็นอาจไม่มีความแตกต่างของอาการปวดฝีเย็บในช่วงเวลาการวัดใด ๆ (การศึกษา 3 รายการ, สตรี 338 คน) การทดลอง 1 รายการ รายงานว่าสตรีที่ใช้การประคบน้ำแข็ง มีขอบแผลไม่ชิดในวันที่ 5 แต่ไม่ใช่ในวันที่ 10 (สตรี 215 คน) ในการศึกษาเดี่ยว สตรีให้คะแนนความคิดเห็นเกี่ยวกับการรักษาด้วยการประคบน้ำแข็งน้อยกว่าการใช้แผ่นเจลเย็น 5 วันหลังคลอด (สตรี 49 คน) และเมื่อประเมินในวันที่ 10 (สตรี 208 คน)

หลักฐานนี้หมายความว่าอย่างไร

มีหลักฐานเพียงเล็กน้อยหรือคุณภาพต่ำมากจากการทดลองขนาดเล็ก ชี้ให้เห็นว่า การรักษาด้วยความเย็นอาจช่วยบรรเทาอาการปวดฝีเย็บหลังจากการมีลูกได้ จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อดูว่าการระบายความร้อนส่งผลต่อการหายของการฉีกขาดหรือบาดแผลได้ดีเพียงใด น้ำแข็งสามารถหาซื้อได้ง่ายในประเทศที่มีรายได้สูง แต่อาจไม่เป็นเช่นนั้นในประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง แผ่นเจลที่ต้องวางในช่องแช่แข็งเพื่อระบายความร้อนอาจไม่สามารถหาซื้อได้ง่ายในพื้นที่ที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง

บทนำ

การบาดเจ็บของฝีเย็บเป็นเรื่องปกติในระหว่างการคลอดบุตรและอาจสร้างความเจ็บปวด แนวทางปฏิบัติในการคลอดบุตรแบบร่วมสมัยรวมถึงการบรรเทาอาการปวดหลากหลายรูปแบบที่ให้กับสตรี รวมถึงการประยุกต์ใช้การรักษาด้วยความเย็นเฉพาะที่ การศึกษานี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบของ Cochrane หลังจากมีการปรับปรุงครั้งล่าสุดในปี 2012

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการรักษาด้วยความเย็นเฉพาะที่เปรียบเทียบกับการไม่รักษา การใช้ยาหลอก หรือการรักษาด้วยความเย็นอื่นๆ บริเวณฝีเย็บเพื่อบรรเทาอาการปวดหลังจากการบาดเจ็บของฝีเย็บที่เกิดขึ้นระหว่างการคลอดบุตร

วิธีการสืบค้น

ผู้วิจัยได้สืบค้นหลักฐานจากฐานข้อมูล Pregnancy and Childbirth'sTrials Register, ClinicalTrials.gov, the WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) (7 ตุลาคม 2019) และสืบค้นเอกสารอ้างอิงของรายงานการศึกษาที่สืบค้นได้

เกณฑ์การคัดเลือก

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และแบบ quasi-randomised trials (RCTs) ที่เผยแพร่และไม่ได้เผยแพร่ ซึ่งเปรียบเทียบการรักษาด้วยความเย็นเฉพาะที่ที่ใช้กับฝีเย็บ กับการไม่มีการรักษา ยาหลอก หรือการรักษาด้วยความเย็นอื่นๆ ที่ใช้เพื่อบรรเทาอาการปวดที่เกี่ยวข้องกับการบาดเจ็บที่ฝีเย็บที่เกิดขึ้นระหว่างการคลอดบุตร

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คน ประเมินความเหมาะสมของการศึกษา รวบรวมข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของการศึกษาที่รวบรวมนำเข้าอย่างเป็นอิสระต่อกัน ข้อมูลได้รับการตรวจสอบอีกครั้งเพื่อความถูกต้อง คุณภาพของหลักฐานที่ได้ประเมินโดยวิธีการของ GRADE

ผลการวิจัย

เราได้รวม RCTs 10 รายการ มีสตรีจำนวน 1233 คน โดยสุ่มให้ใช้การบำบัดความเย็นแบบใดแบบหนึ่ง (น้ำแข็ง แผ่นเจลเย็น การระบายความร้อนบวกการประคบ การระบายความร้อนบวกการประคบบวก (เป็น) แนวนอน) เปรียบเทียบกับการให้ความเย็นแบบอื่น การไม่มีการรักษา หรือยาหลอก (ถุงน้ำ, การประคบ) การทดลองที่รวบรวมเข้ามามีความเสี่ยงของการมีอคติโดยรวมต่ำหรือมีความไม่แน่นอน ยกเว้นว่าความเสี่ยงของการมีอคติในประเด็นที่ไม่สามารถปกปิดผู้เข้าร่วมและผู้วิจัยจากการจัดสรรเข้ากลุ่มได้ หมายความว่าเราประเมินความเสี่ยงของการมีอคติในประเด็นนี้ว่าไม่ชัดเจน หรือมีความเสี่ยงของการมีอคติสูง

เราได้ทำการเปรียบเทียบเพื่อประเมินการรักษาที่แตกต่างกัน

การรักษาด้วยความเย็น (ประคบน้ำแข็งหรือแผ่นเจลเย็น) เทียบกับการไม่รักษา

มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากว่า การรักษาด้วยความเย็นอาจลดอาการปวดฝีเย็บจากการรายงานด้วยตัวเองของสตรีภายใน 4 ถึง 6 ชั่วโมง (mean difference (MD) −4.46, 95% confidence interval (CI) −5.07 ถึง −3.85 ที่ 10-point scale; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 100 คน) หรือระหว่าง 24 ถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด (risk ratio (RR) 0.73, 95% CI 0.57 ถึง 0.94; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 316 คน) หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับมาตรการต่างๆในการรักษาบาดแผลเช่น ขอบแผลไม่ชิดเมื่อตรวจที่ 5 วันหลังคลอด (RR 2.56, 95% CI 0.58 ถึง 11.33; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 315 คน) โดยทั่วไปสตรีให้คะแนนความพึงพอใจกับการดูแลฝีเย็บในทำนองเดียวกันหลังการรักษาด้วยความเย็นหรือไม่ได้รับการรักษา ข้อยกเว้นที่อาจเกิดขึ้นคืออาจมีความแตกต่างของค่าเฉลี่ยที่ต่ำกว่าเล็กน้อยของ −0.1 ใน 5-point scale ของความสุขสบายในด้านจิต-วิญญาณ จากการรักษาด้วยความเย็น ซึ่งไม่น่าจะมีความสำคัญทางคลินิก

การรักษาด้วยความเย็น (แผ่นเจลเย็น) + การบีบอัด เทียบกับยาหลอก (แผ่นเจล + การบีบอัด)

มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับต่ำว่า อาจมีความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเล็กน้อยที่ -0.43 ในคะแนนความเจ็บปวดจากการวัดโดยใช้ 10-point scale ที่ 24 ถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอด (95% CI −0.73 ถึง −0.13; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 250 คน) เมื่อเปรียบเทียบการรักษาด้วยความเย็นและการบีบอัดที่มีความปลอดภัยบริเวณฝีเย็บกับยาหลอก ระดับของอาการบวมของฝีเย็บอาจใกล้เคียงกันสำหรับทั้ง 2 กลุ่ม (หลักฐานมีความเชื่อมั่นระดับต่ำ) และไม่พบรอยช้ำของฝีเย็บ มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับต่ำว่า สตรีอาจให้คะแนนความพึงพอใจว่าสูงกว่าเล็กน้อยสำหรับการดูแลฝีเย็บด้วยแผ่นเจลเย็นและกลุ่มการบีบอัด (MD 0.88, 95% CI 0.38 ถึง 1.38; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 250 คน)

การรักษาด้วยความเย็น (ประคบน้ำแข็ง) เทียบกับยาหลอก (ประคบน้ำ)

มีการศึกษา 1 รายการ ชี้ให้เห็นว่าไม่มีสตรีที่รายงานความเจ็บปวดหลังจากใช้น้ำแข็งประคบหรือประคบน้ำ ภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับต่ำว่า อาการบวมอาจคล้ายกันสำหรับทั้ง 2 กลุ่มเมื่อได้รับการประเมินที่ 4 ถึง 6 ชั่วโมง (RR 0.96, 95% CI 0.50 ถึง 1.86; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 63 คน) หรือภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด (RR 0.36, 95% CI 0.08 ถึง 1.59) ไม่มีสตรีที่สังเกตเห็นว่ามีอาการช้ำในฝีเย็บ ผู้ทดลองรายงานว่าไม่มีสตรีในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งที่มีอาการไม่พึงประสงค์ในการหายของบาดแผล มีหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับต่ำมากว่า สตรีอาจให้คะแนนมุมมองและประสบการณ์ของพวกเขากับการรักษาในทำนองเดียวกัน (ตัวอย่างเช่นพอใจกับการรักษา: RR 0.91, 95% CI 0.77 ถึง 1.08; ผู้เข้าร่วม 63 คน)

การรักษาด้วยความเย็น (ประคบน้ำแข็ง) เทียบกับ การรักษาด้วยความเย็น (แผ่นเจลเย็น)

หลักฐานยังไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของการใช้ประคบน้ำแข็งหรือแผ่นเจลเย็นต่ออาการปวดฝีเย็บที่ประเมินด้วยตัวของสตรีเอง การช้ำฝีเย็บ หรืออาการบวมที่ฝีเย็บในเวลา 4 ถึง 6 ชั่วโมงหรือภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด อาการบวมของฝีเย็บอาจคงอยู่ 24 ถึง 48 ชั่วโมงหลังคลอดในสตรีที่ใช้ถุงน้ำแข็ง (RR 1.69, 95% CI 1.03 ถึง 2.7; การศึกษา 2 รายการ, ผู้เข้าร่วม 264 คน; ความเชื่อมั่นระดับต่ำมาก) ความเสี่ยงของการเกิดขอบแผลไม่ชิดใน 5 วันหลังคลอดบุตรอาจลดลงในสตรีที่ใช้ถุงน้ำแข็ง (RR 0.22, 95% CI 0.05 ถึง 1.01; ผู้เข้าร่วม 215 คน; ความเชื่อมั่นระดับต่ำมาก) อย่างไรก็ตามสิ่งนี้ดูเหมือนจะไม่คงอยู่จนถึงวันที่ 10 (RR 3.06, 95% CI 0.63 ถึง 14.81; ผู้เข้าร่วม 214 คน) สตรีอาจให้คะแนนความคิดเห็นเกี่ยวกับการรักษาน้อยลงหลังจากใช้ถุงน้ำแข็งที่ 5 วันหลังคลอดบุตร (RR 0.33, 95% CI 0.17 ถึง 0.68; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 49 คน) และเมื่อประเมินในวันที่ 10 (RR 0.82, 95% CI 0.73 ถึง 0.92; การศึกษา 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 208 คน) ทั้งสองเรื่องมีความเชื่อมั่นระดับต่ำมาก

ข้อสรุปของผู้วิจัย

มีหลักฐานที่จำกัด ที่มีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ ซึ่งอาจสนับสนุนการใช้การรักษาด้วยความเย็นในรูปแบบหรือประคบน้ำแข็งหรือแผ่นเจลเย็นเพื่อบรรเทาอาการปวดฝีเย็บใน 2 วันแรกหลังการคลอดบุตร เป็นไปได้ว่าจำเป็นต้องใช้การรักษาหลายอย่างร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหานี้อย่างเพียงพอ รวมถึงยาแก้ปวดที่ต้องสั่งโดยแพทย์และไม่ต้องใช้ใบสั่งแพทย์ การศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนนี้เกี่ยวข้องกับการใช้การรักษาด้วยความเย็นเป็นเวลา 10 ถึง 20 นาที และแม้ว่าจะไม่มีการสังเกตผลข้างเคียง แต่การค้นพบเหล่านี้มาจากการศึกษาสตรีจำนวนไม่มากนักหรือไม่มีรายงานเลย การขาดหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นในระดับสูงอย่างต่อเนื่องเกี่ยวกับประโยชน์ของการรักษาด้วยความเย็น ควรได้รับการพิจารณาด้วยความระมัดระวังและควรทำการทดลองที่ออกแบบมาอย่างดีเพิ่มเติม

บันทึกการแปล

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว

Citation
East CE, Dorward EDF, Whale RE, Liu J. Local cooling for relieving pain from perineal trauma sustained during childbirth. Cochrane Database of Systematic Reviews 2020, Issue 10. Art. No.: CD006304. DOI: 10.1002/14651858.CD006304.pub4.