ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ซ้ำก่อนคลอดสำหรับสตรีที่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ด้านสุขภาพของทารก

ประเด็นคืออะไร

ทารกที่คลอดก่อนกำหนด (ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์) มีความเสี่ยงต่อการหายใจลำบากและเป็นโรคปอดเนื่องจากปอดยังไม่พัฒนาเต็มที่ คอร์ติโคสเตียรอยด์ก่อนคลอดหนึ่งครั้ง (ให้ในระหว่างตั้งครรภ์) ให้กับสตรีที่อาจคลอดก่อนกำหนด ช่วยพัฒนาปอดของทารกและช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต ประโยชน์นี้อยู่ได้ไม่เกิน 7 วัน ดังนั้นทารกที่คลอดก่อนกำหนดเกินเจ็ดวันหลังจากการให้คอร์ติโคสเตียรอยด์ยังคงมีความเสี่ยงต่อการหายใจลำบากและโรคปอด การทบทวนนี้มีรายละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานที่มีอยู่สำหรับประโยชน์และโทษของการให้คอร์ติโคสเตียรอยด์เพิ่มเติมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายประโยชน์ต่อการพัฒนาปอดและการหายใจ

ทำไมสิ่งนี้จึงสำคัญ

การคลอดก่อนกำหนดเป็นเรื่องที่พบบ่อย โดยส่งผลกระทบต่อทารกประมาณ 1 ใน 9 ทั่วโลก นอกจากหายใจลำบากหลังคลอดแล้ว ทารกคลอดก่อนกำหนดที่รอดชีวิตในช่วงสัปดาห์แรกๆหลังคลอดยังเสี่ยงต่อความทุพพลภาพในระยะยาว เช่น พัฒนาการล่าช้า โรคลมชัก (ชัก) และสมองพิการ (ความอ่อนแอและปัญหาของกล้ามเนื้อที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวและการทำงานประสานกัน)

ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและยับยั้งการเจริญเติบโต และการผลิตคอร์ติซอล (ฮอร์โมนความเครียด) จากต่อมหมวกไต ผลที่ได้คือ การรักษาด้วยยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ก่อนคลอดซ้ำอาจเพิ่มความเสี่ยงของการติดเชื้อและยับยั้งการผลิตคอร์ติซอลสำหรับแม่และลูก และลดการเจริญเติบโตของทารก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเข้าใจทั้งประโยชน์และผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากการให้คอร์ติโคสเตียรอยด์ซ้ำเพื่อให้สามารถตัดสินใจในการรักษาที่ดีที่สุดในการปฏิบัติทางคลินิก

เราพบหลักฐานอะไรบ้าง

เราค้นหาหลักฐานเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2021 และ การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ 11 ฉบับ (การศึกษาทางคลินิกที่สุ่มให้คนเข้ากลุ่มการรักษา 1 ใน 2 กลุ่มขึ้นไป) ซึ่งเกี่ยวข้องกับสตรี 4895 คนและทารก 5975 คน ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดนานกว่า 7 วัน หลังจากได้รับคอร์ติโคสเตียรอยด์ในช่วงเริ่มต้นระหว่าง 23 ถึง 34 สัปดาห์ของการตั้งครรภ์ในขณะที่เข้าร่วมการทดลอง

โดยรวม การทดลองเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าการให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ก่อนคลอดซ้ำลดความเสี่ยงที่ทารกจะหายใจลำบาก รวมทั้งปัญหารุนแรง และปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงในช่วงสองสามสัปดาห์แรกหลังคลอด (หลักฐานคุณภาพปานกลางถึงสูง และความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ) อาจไม่มีผลกระทบต่อโรคปอดเรื้อรัง (มักถูกกำหนดโดยการหายใจลำบากอย่างต่อเนื่องและความจำเป็นในการบำบัดด้วยออกซิเจนเมื่ออายุครรภ์ถึง 36 สัปดาห์) ข้อมูลที่มีอยู่ไม่สามารถยืนยันได้ว่ามีการเพิ่มขึ้น ลดลง หรือไม่มีการเปลี่ยนแปลงในผลลัพธ์รวมของการเสียชีวิตของทารกในครรภ์หรือทารกแรกเกิดหรือทารกที่อายุต่ำกว่า 1 ปี เลือดออกรุนแรงในสมอง หรือลำไส้อักเสบรุนแรง

สำหรับสตรี โอกาสในการคลอดบุตรโดยการผ่าตัดคลอดไม่ได้เพิ่มขึ้นแต่ไม่แน่ใจว่ามีการเพิ่มขึ้นหรือลดลงของการเสียชีวิตของมารดา การติดเชื้อของมารดา ความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงของมารดา หรือความจำเป็นในการหยุดการรักษาเนื่องจากผลข้างเคียง ไม่มีการทดลองรายงานข้อมูลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในขณะที่ออกจากโรงพยาบาลหรือมีความเสี่ยงที่สตรีจะเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู

ในการทดลองห้าเรื่องซึ่งติดตามทารกจนถึงวัยเด็กตอนต้น ไม่มีประโยชน์หรืออันตรายในระยะยาวต่อพัฒนาการในภายหลัง ในทำนองเดียวกัน การทดลอง 2 ฉบับที่ติดตามเด็กจนถึงวัยเด็กตอนกลาง (5 ปีในการทดลอง 1 ฉบับ และ 6 ถึง 8 ปีในการทดลองอีก 1 ฉบับ) ไม่พบประโยชน์หรืออันตรายต่อการพัฒนาในระยะยาว สำหรับการติดตามผลในวัยเด็กระยะแรกและวัยเด็กตอนกลาง ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดหลังจากการสุ่มจนถึงเวลาที่ติดตามผลเพิ่มขึ้น ลดลง หรือเท่ากันหรือไม่

หลักฐานที่ใช้อ้างอิงข้อความเหล่านี้โดยทั่วไปมีคุณภาพปานกลางหรือสูง ผลลัพธ์ส่วนใหญ่มาจากข้อมูลที่มีความเสี่ยงของอคติต่ำหรือข้อกังวลบางประการเกี่ยวกับความเสี่ยงของการมีอคติ

หมายความว่าอย่างไร

การทบทวนนี้แสดงให้เห็นว่าการให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ซ้ำก่อนคลอดสำหรับสตรีที่ยังคงมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดหลังจากเริ่มใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ก่อนคลอดครั้งแรกจะช่วยให้ปอดของทารกดีขึ้นและลดปัญหาสุขภาพร้ายแรงในช่วงสองสามสัปดาห์แรกของชีวิตได้โดยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือพัฒนาการ จนถึงวัยเด็กตอนกลาง จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์หรืออันตรายระยะยาวต่อทารกจนถึงวัยผู้ใหญ่

บทนำ

ทารกที่คลอดก่อนกำหนด (ก่อนอายุครรภ์ 37 สัปดาห์) มีความเสี่ยงต่อกลุ่มอาการหายใจลำบาก (RDS) และจำเป็นต้องได้รับการช่วยหายใจเนื่องจากปอดยังไม่พัฒนาเต็มที่ การให้คอร์ติโคสเตียรอยด์ก่อนคลอดหนึ่งครั้ง ให้แก่สตรีที่เสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด ลดความเสี่ยงของการเจ็บป่วยจากระบบทางเดินหายใจและช่วยให้ทารกรอดชีวิตได้ดีขึ้น แต่ประโยชน์เหล่านี้จะอยู่ไม่เกิน 7 วัน ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ให้ซ้ำก่อนคลอดถูกใช้ในสตรีที่มีความเสี่ยงต่อเนื่องของการคลอดก่อนกำหนดมากกว่า 7 วันหลังจากการใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ครั้งแรก โดยจะมีผลทำให้ระบบทางเดินหายใจดีขึ้น แต่ความไม่แน่นอนยังคงมีอยู่เกี่ยวกับประโยชน์และอันตรายในระยะยาว นี่เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรทล่าสุดที่เผยแพร่ในปี 2015

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัย โดยใช้หลักฐานที่ดีที่สุดที่มีอยู่ ของการให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ก่อนคลอดซ้ำกับสตรีที่ยังคงมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด 7 วันหรือมากกว่าหลังจากเริ่มใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ก่อนคลอดครั้งแรกโดยมีเป้าหมายหลักคือ ลดอัตราการตายและการเจ็บป่วยของทารกในครรภ์และทารกแรกเกิด

วิธีการสืบค้น

สำหรับการอัปเดตนี้ เราได้ค้นหา Cochrane Pregnancy and Childbirth's Trials Register, ClinicalTrials.gov, WHO International Clinical Trials Registry Platform ( ICTRP ) และรายการอ้างอิงของการศึกษาที่ดึงมาได้

เกณฑ์การคัดเลือก

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ซึ่งรวมถึงการทดลองแบบสุ่มแบบคลัสเตอร์ ของสตรีที่ได้รับคอร์ติโคสเตียรอยด์ 1 ครั้งก่อนหน้านี้ 7 วันขึ้นไป และยังคงมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด สุ่มให้ได้รับยาซ้ำหรือไม่ได้รับยาซ้ำ โดยมีหรือไม่มียาหลอก ไม่รวมการทดลองแบบกึ่งสุ่ม (Quasi-randomised trials) บทคัดย่อได้รับการยอมรับหากตรงตามเกณฑ์เฉพาะ การทดลองทั้งหมดต้องเป็นไปตามเกณฑ์ความน่าเชื่อถือ ซึ่งรวมถึงการค้นหาฐานข้อมูล Retraction Watch สำหรับการเพิกถอนหรือแสดงความกังวลเกี่ยวกับการทดลองหรือสิ่งพิมพ์ของการทดลอง

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

เราใช้วิธีมาตรฐานของ Cochrane Pregnancy and Childbirth ผู้ทบทวน 2 คนเลือกการทดลอง ดึงข้อมูล และประเมินคุณภาพการทดลองและความสมบูรณ์ทางวิทยาศาสตร์อย่างอิสระต่อกัน เราเลือกผลลัพธ์เบื้องต้นตามความสำคัญทางคลินิกเป็นการวัดประสิทธิภาพและความปลอดภัย รวมถึงผลลัพธ์ที่ร้ายแรง สำหรับผู้หญิงและทารกในครรภ์/ทารก ทารกในวัยเด็ก (อายุ 2 ปี ถึงน้อยกว่า 5 ปี) ทารกในวัยเด็กตอนกลางถึงปลาย (อายุห้าปีถึงน้อยกว่า 18 ปี) และทารกเมื่อเป็นผู้ใหญ่ เราประเมินความเสี่ยงของอคติที่ระดับผลลัพธ์โดยใช้เครื่องมือ RoB 2 และประเมินความแน่นอนของหลักฐานโดยใช้ GRADE

ผลการวิจัย

เรารวบรวมการทดลอง 11 ฉบับ (สตรี 4895 คนและทารก 5975 คน) หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นสูงจากการทดลองเหล่านี้บ่งชี้ว่าการรักษาสตรีที่ยังคงมีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดตั้งแต่ 7 วันหลังจากเริ่มใช้คอร์ติโคสเตียรอยด์ก่อนคลอดครั้งแรกโดยใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ซ้ำ ๆ เมื่อเทียบกับการไม่รักษาด้วยคอร์ติโคสเตียรอยด์ซ้ำจะช่วยลดความเสี่ยงของทารในการเกิดผลลัพธ์ปฐมภูมิคือ RDS (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 0.82 ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.74 ถึง 0.90 ทารก 3540 คน จำนวนที่จำเป็นในการรักษาเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่เป็นประโยชน์เพิ่มเติม 1 เหตุการณ์ (NNTB) 16, 95% CI 11 ถึง 29) และมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อโรคปอดเรื้อรัง (RR 1.00, 95% CI 0.83 ถึง 1.22; ทารก 5661 คน) หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นปานกลางระบุว่าผลรวมของผลลัพธ์ที่ร้ายแรงสำหรับทารกอาจลดลงด้วยการให้ corticosteroids ซ้ำ (RR 0.88, 95% CI 0.80 ถึง 0.97; การทดลอง 9 ฉบับ, ทารก 5736 คน; NNTB 39, 95% CI 24 ถึง 158) เช่นเดียวกับโรคปอดขั้นรุนแรง (RR 0.83, 95% CI 0.72 ถึง 0.97; NNTB 45, 95% CI 27 ถึง 256; ทารก 4955 คน) หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นปานกลางไม่สามารถตัดการเกิดประโยชน์หรืออันตรายต่อการเสียชีวิตของทารกในครรภ์หรือทารกแรกเกิด หรือทารกที่อายุน้อยกว่า 1 ปี (RR 0.95, 95% CI 0.73 ถึง 1.24; ทารก 5849 คน) การตกเลือดในช่องสมองรุนแรง (RR 1.13, 95% CI 0.69 ถึง 1.86; ทารก 5066 คน) และลำไส้อักเสบเนื้อตาย (RR 0.84, 95% CI 0.59 ถึง 1.22; ทารก 5736 คน)

ในสตรี หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นปานกลางพบผลกระทบเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อความน่าจะเป็นของการผ่าตัดคลอด (RR 1.03, 95% CI 0.98 ถึง 1.09; มารดา 4266 คน) ไม่สามารถตัดประโยชน์หรืออันตรายได้สำหรับการเสียชีวิตของมารดา (RR 0.32, 95% 0.01 ถึง 7.81; สตรี 437 ราย) และภาวะติดเชื้อในมารดา (RR 1.13, 95% CI 0.93 ถึง 1.39; มารดา 4666 ราย) หลักฐานไม่ชัดเจนสำหรับความเสี่ยงของผลข้างเคียงและการหยุดการรักษาเนื่องจากผลข้างเคียงของมารดา ไม่มีการทดลองรายงานสถานะการเลี้ยงลูกด้วยนมขณะที่ออกจากโรงพยาบาลหรือความเสี่ยงต่อการเข้ารับการรักษาในห้องไอซียู

ในการติดตามผลในวัยเด็ก หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นระดับปานกลางถึงสูงระบุผลกระทบเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยของการได้รับคอร์ติโคสเตียรอยด์ก่อนคลอดซ้ำ เมื่อเทียบกับการไม่ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ซ้ำสำหรับผลลัพธ์หลักที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางระบบประสาท (ความบกพร่องทางพัฒนาการทางระบบประสาท: RR 0.97, 95% CI 0.85 ถึง 1.10; เด็ก 3616 คน) การอยู่รอดโดยไม่มีความบกพร่องทางพัฒนาการทางระบบประสาท (RR 1.01, 95% CI 0.98 ถึง 1.04; เด็ก 3845 คน) และการอยู่รอดโดยไม่มีความบกพร่องทางพัฒนาการทางระบบประสาทที่สำคัญ (RR 1.02, 95% CI 0.98 ถึง 1.05; เด็ก 1816 คน) การเพิ่มขึ้นหรือลดลงในความเสี่ยงของการเสียชีวิตเนื่องจากการสุ่มตัวอย่างไม่สามารถตัดออกได้ (RR 1.06, 95% CI 0.81 ถึง 1.40; 5 การทดลอง, ทารกที่ถูกสุ่ม 4565 คน)

ที่การติดตามในวัยเด็กตอนกลาง หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นปานกลางระบุถึงผลกระทบของการได้รับคอร์ติโคสเตียรอยด์ก่อนคลอดซ้ำเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย เมื่อเทียบกับการไม่ใช้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ซ้ำต่อการอยู่รอดโดยปราศจากความบกพร่องทางระบบประสาท (RR 1.01, 95% CI 0.95 ถึง 1.08; เด็ก 963 คน) หรือการรอดชีวิตโดยปราศจากความบกพร่องทางระบบประสาทที่สำคัญ (RR 1.00, 95% CI 0.97 ถึง 1.04; เด็ก 2682 คน ) ผลประโยชน์หรืออันตรายไม่สามารถยกเว้นสำหรับความตายได้เนื่องจากการสุ่ม (RR 0.93, 95% CI 0.69 ถึง 1.26; 2874 ทารกสุ่ม) และความบกพร่องทางระบบประสาท (RR 0.96, 95% CI 0.72 ถึง 1.29; 897 เด็ก)

ไม่มีการทดลองรายงานข้อมูลสำหรับการติดตามในวัยรุ่นหรือวัยผู้ใหญ่

ความเสี่ยงของการเกิดอคติระหว่างผลลัพธ์โดยทั่วไปต่ำ แม้ว่าจะมีข้อกังวลบางประการเกี่ยวกับอคติ สำหรับการติดตามผลในวัยเด็ก ผลลัพธ์ส่วนใหญ่มีความกังวลบางประการเกี่ยวกับความเสี่ยงของการมีอคติเนื่องจากข้อมูลการติดตามผลที่ขาดหายไป

ข้อสรุปของผู้วิจัย

ประโยชน์ในระยะสั้นสำหรับทารก ได้แก่ ลดภาวะทางเดินหายใจลำบากและปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรงที่น้อยลงในช่วงสองสามสัปดาห์แรกหลังคลอดด้วยการให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ก่อนคลอดซ้ำสำหรับสตรีที่ยังคงเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนดเจ็ดวันหรือมากกว่านั้นหลังจากการให้ครั้งแรก หลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบันทำให้มั่นใจได้ว่าไม่มีอันตรายอย่างมีนัยสำคัญต่อสตรีหรือเด็กในวัยเด็กและตอนกลางแม้ว่าจะไม่มีประโยชน์ก็ตาม

จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงในระยะยาวของทารกในวัยผู้ใหญ่

บันทึกการแปล

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว Edit โดย ผกากรอง 1 ธันวาคม 2022

Citation
Walters A, McKinlayC, MiddletonP, HardingJE, CrowtherCA.Repeat doses of prenatal corticosteroids for women at risk of preterm birth for improving neonatal health outcomes. Cochrane Database of Systematic Reviews 2022, Issue 4. Art. No.: CD003935. DOI: 10.1002/14651858.CD003935.pub5.