ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การอัลตราซาวนด์เพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับวิธีอื่นมีประโยชน์ในการยืนยันตำแหน่งของท่อที่ใส่ในกระเพาะหรือไม่

ใจความสำคัญ

– ยังไม่แน่ชัดว่าการอัลตราซาวนด์จะเป็นทางเลือกที่ทดแทนการเอกซเรย์ในการยืนยันตำแหน่งของท่อที่ใส่ในกระเพาะได้อย่างถูกต้องหรือไม่

– จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อกำหนดความแม่นยำของอัลตราซาวนด์เพื่อระบุท่อที่ใส่ไว้ผิดตำแหน่ง

ท่อที่ใส่ในกระเพาะคืออะไร และทำไมต้องใช้

หลอดอาหาร (ท่อนำอาหาร) เป็นท่อที่มีกล้ามเนื้อที่เชื่อมต่อระหว่างปากกับกระเพาะอาหาร หากผู้ป่วยไม่สามารถกลืนได้อย่างถูกต้อง อาจต้องใส่ท่อที่ใส่ในกระเพาะผ่านทางจมูกหรือปากเพื่อให้ยาหรืออาหารเหลวเข้าไปในกระเพาะอาหารโดยตรง จำเป็นต้องดูแลเนื่องจากหลอดอาหารอยู่ใกล้กับหลอดลมมาก (ท่อนำอากาศ) ที่ทำหน้าที่ทำให้อากาศสามารถเดินทางไปยังปอดได้ ถ้าหากใส่ท่อที่ใส่ในกระเพาะผิดที่และมีอาหารหรือยาเข้าไปในหลอดลม อาจทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรงในปอด (เรียกว่าปอดอักเสบ) หรือภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ ดังนั้นการยืนยันการใส่ท่อในกระเพาะอาหารหลังจากการสอดท่อเข้าไปแล้วจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยทั่วไปจะตรวจสอบตำแหน่งที่ถูกต้องโดยใช้การเอกซเรย์

เหตุใดการแทนที่เอกซเรย์ด้วยอัลตราซาวนด์เพื่อยืนยันตำแหน่งของท่อที่ใส่ในกระเพาะจึงมีความสำคัญ

อัลตราซาวนด์เป็นเทคนิคการถ่ายภาพเพื่อวินิจฉัยที่ใช้คลื่นเสียงเพื่อสร้างภาพภายในร่างกาย สามารถเข้าถึงได้และสะดวกกว่าการเอกซเรย์โดยเฉพาะในสถานที่ที่มีทรัพยากรจำกัด

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการค้นหาความแม่นยำของการอัลตราซาวนด์ในการยืนยันตำแหน่งของท่อที่ใส่ในกระเพาะและประเมินศักยภาพในการทดแทนเอกซเรย์ที่เป็นวิธีมาตรฐาน

เราทำอะไรไปแล้วบ้าง

เราได้วิเคราะห์การศึกษา 22 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วม 1939 คน โดยดูความแม่นยำของอัลตราซาวนด์ในการยืนยันตำแหน่งของท่อที่ใส่ในกระเพาะ

ผลการศึกษาวิจัย

การศึกษาส่วนใหญ่แสดงให้เห็นว่าการอัลตราซาวนด์สามารถยืนยันการใส่ท่อได้ดีและถูกต้อง แต่มีจำกัดด้านข้อมูลเกี่ยวกับการใส่ท่อที่ไม่ถูกต้องและภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เนื่องจากมีผู้เข้าร่วมการศึกษาเพียง 152 รายเท่านั้นที่มีการใส่ท่อผิดตำแหน่ง

การศึกษาเหล่านี้ใช้การอัลตราซาวนด์ 3 วิธี คือ การตรวจบริเวณคอ, การตรวจบริเวณช่องท้องส่วนบน และการตรวจทั้งสองส่วนร่วมกัน

การอัลตราซาวนด์เพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอต่อการยืนยันตำแหน่งที่ถูกต้องของท่อให้อาหาร แต่เมื่อใช้ร่วมกับการทดสอบอื่น ๆ อาจมีประโยชน์ในการยืนยันท่อที่ของเหลวไหลผ่านในกระเพาะอาหาร

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

การศึกษามากมายมีวิธีการศึกษาที่ไม่ดีพอหรือไม่ชัดเจน ดังนั้นความเชื่อมั่นของเราที่มีต่อหลักฐานจึงลดลง

มีการศึกษาเพียง 8 จาก 22 ฉบับเท่านั้นที่คำนึงถึงการเป็นตัวแทนไปสู่ผู้ที่ต้องใส่ท่อให้อาหารทางกระเพาะทั่วไป

ผลลัพธ์แตกต่างกันไปสำหรับการใส่ท่อที่ไม่ถูกต้อง

การวิจัยในอนาคต

จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยขนาดใหญ่กว่านี้เพื่อพิจารณาว่าอัลตราซาวนด์สามารถทดแทนเอกซเรย์เพื่อยืนยันตำแหน่งของท่อที่ใส่ในกระเพาะได้หรือไม่ และสามารถช่วยลดภาวะแทรกซ้อนจากการใส่ท่อผิดตำแห่งได้หรือไม่

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการอัพเดตการทบทวนวรรณกรรมก่อนหน้า หลักฐานเป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงเดือนเมษายน 2023

บทนำ

โดยทั่วไปแล้ว ท่อที่ใส่เข้าสู่กระเพาะจะใช้ในการให้ยาและให้อาหารทางสายยางแก่ผู้ที่ไม่สามารถกลืนได้ การให้อาหารผ่านทางท่อที่ใส่ผิดไปที่หลอดลมอาจทำให้เกิดโรคปอดอักเสบรุนแรงได้ ดังนั้นการยืนยันการใส่ท่อในกระเพาะอาหารหลังจากการสอดท่อเข้าไปแล้วจึงเป็นสิ่งสำคัญ การศึกษาที่เพิ่งผ่านมารายงานว่าการอัลตราซาวนด์ให้การประมาณความแม่นยำในการวินิจฉัยที่ดีในการยืนยันว่าท่อที่ใส่นั้นเหมาะสม ดังนั้น อัลตราซาวนด์อาจเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจแทนการเอกซเรย์ในการยืนยันการใส่ท่อ โดยเฉพาะในสถานที่ที่ไม่มีเครื่องเอกซเรย์หรือเข้าถึงได้ยาก

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินความแม่นยำในการวินิจฉัยด้วยอัลตราซาวนด์เพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกับวิธีอื่นสำหรับการยืนยันการใส่ท่อในกระเพาะทั้งในเด็กและผู้ใหญ่

วิธีการสืบค้น

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการอัปเดตจาก Cochrane Review ที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้

ในการอัปเดตครั้งนี้ เราค้นหาใน Cochrane Library (2021, ฉบับที่ 6), MEDLINE (ถึงเดือนเมษายน 2023), Embase (ถึงเดือนเมษายน 2023), ฐานข้อมูลอื่นอีก 5 แหล่ง (ถึงเดือนกรกฎาคม 2021) และรายการอ้างอิงของบทความ และติดต่อกับเจ้าของการศึกษา

เกณฑ์การคัดเลือก

เราได้รวบรวมการศึกษาที่ประเมินความแม่นยำในการวินิจฉัยของการใส่ท่อในกระเพาะอาหารทั้งทางจมูกและทางปากที่ยืนยันโดยการสร้างภาพด้วยอัลตราซาวนด์โดยใช้การสร้างภาพด้วยการเอกซเรย์เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบ เรารวมการศึกษาแบบ cross-sectional studies และ case-control studies ไว้ด้วย เรานำการศึกษาที่เป็น case series หรือ case reports ออก เราจะนำการศึกษาเหล่านั้นออกหากในการศึกษานั้นไม่ใช้การสร้างภาพด้วยการเอกซเรย์เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบ (reference standard) หรือหากท่อที่ใส่เป็นการเปิดช่องที่กระเพาะอาหารโดยตรงหรือใส่ท่อเข้าสู่ลำไส้เล็กเลย

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนเป็นอิสระต่อกัน ในการประเมินคุณภาพของวิธีการศึกษาทดลอง และการดึงข้อมูลออกมาจากแต่ละการศึกษาที่รวบรวมมา เราติดต่อกับผู้วิจัยการศึกษาดังกล่าวเพื่อขอรับข้อมูลที่ขาดหายไป มีข้อมูลน้อยสำหรับการวิเคราะห์ความจำเพาะ ดังนั้น เราจึงดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลแบบเมต้าเฉพาะความไวเท่านั้นโดยใช้ univariate random-effects logistic regression model เพื่อรวมข้อมูลจากหลายการศึกษาที่ใช้วิธีการศึกษาเดียวกันและที่มีภาพของผลการตรวจด้วยคลื่นเสียง

ผลการวิจัย

เราพบการศึกษาใหม่ 12 ฉบับที่เพิ่มเข้าไปในการศึกษา 10 ฉบับที่อยู่ในการทบทวนวรรณกรรมฉบับก่อนหน้านี้ ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 1939 รายและมีการใส่ท่อ 1944 ครั้ง

โดยรวมแล้ว เราตัดสินว่าความเสี่ยงของการมีอคติในการศึกษาที่รวบรวมมาอยู่เป็นระดับต่ำหรือไม่ชัดเจน ไม่มีการศึกษาใดที่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำหรือความกังวลต่ำในแต่ละด้านของ QUADAS-2

มีข้อจำกัดของข้อมูล (ผู้เข้าร่วม 152 ราย) สำหรับการตรวจเจอการวางผิดตำแหน่ง (ความจำเพาะ) เนื่องมาจากอุบัติการณ์ของการวางผิดตำแหน่งต่ำ ความไวโดยสรุปจากภาพของผลของการอัลตราซาวนด์ของคอและช่องท้องคือ 0.96 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.92 ถึง 0.98; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) สำหรับการฉีดอากาศ และ 0.98 (95% CI 0.83 ถึง 1.00; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) สำหรับการฉีดน้ำเกลือ ความไวโดยสรุปจากภาพของผลของการอัลตราซาวนด์ของช่องท้องคือ 0.96 (95% CI 0.65 ถึง 1.00; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) สำหรับการฉีดอากาศ และ 0.97 (95% CI 0.95 ถึง 0.99; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) สำหรับการปฏิบัติที่ไม่มีการฉีด ความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับความจำเพาะของทุกวิธีอยู่ในระดับต่ำมากเนื่องจากขนาดตัวอย่างมีขนาดเล็กมาก สำหรับสถานที่ที่ไม่สามารถทำการเอกซเรย์ได้ง่ายและผู้เข้าร่วมได้รับการใส่ท่อในกระเพาะอาหารเพื่อการระบาย (การศึกษา 8 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 552 ราย) ค่าประมาณความไวของอัลตราซาวนด์ร่วมกับการทดสอบยืนยันอื่น ๆ อยู่ในช่วง 0.86 ถึง 0.98 และค่าประมาณความจำเพาะอยู่ที่ 1.00 พร้อมค่าช่วงความเชื่อมั่นที่กว้าง

สำหรับการศึกษาอัลตราซาวนด์เพียงอย่างเดียว (การศึกษา 9 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 782 ราย) ค่าประมาณความไวมีช่วงตั้งแต่ 0.77 ถึง 0.98 และค่าประมาณความจำเพาะอยู่ที่ 1.00 โดยมีค่าช่วงความเชื่อมั่นที่กว้างหรือไม่สามารถประมาณค่าได้เนื่องจากไม่เกิดการใส่ผิดตำแหน่ง

ข้อสรุปของผู้วิจัย

จากการศึกษา 22 ฉบับที่ประเมินความแม่นยำในการวินิจฉัยของการใส่ท่อในกระเพาะ มีเพียงไม่กี่การศึกษาที่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ จากหลักฐานที่จำกัด พบว่าอัลตราซาวนด์ไม่มีความแม่นยำเพียงพอที่จะใช้เป็นวิธีการทดสอบแบบเดี่ยว ๆ เพื่อยืนยันตำแหน่งของท่อในกระเพาะ อย่างไรก็ตาม ในสถานะการณ์ที่ไม่สามารถใช้เอกซเรย์ได้ การใช้อัลตราซาวนด์อาจเป็นประโยชน์ในการตรวจหาท่อที่ใส่ในกระเพาะที่วางไว้ผิดตำแหน่ง จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยที่มีขนาดใหญ่ขึ้นเพิ่มเติมเพื่อพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เมื่อใช้คลื่นอัลตราซาวนด์เพื่อยืนยันตำแหน่งของท่อ

บันทึกการแปล

แปลโดย นายฎลกร จำปาหวาย วันที่ 30 สิงหาคม 2024

Citation
Tsujimoto Y, Kataoka Y, Banno M, Anan K, Shiroshita A, Jujo S. Ultrasonography for confirmation of gastric tube placement. Cochrane Database of Systematic Reviews 2024, Issue 7. Art. No.: CD012083. DOI: 10.1002/14651858.CD012083.pub3.