ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การผ่าตัดไส้ติ่งออกเร็วตั้งแต่เนิ่นๆหรือล่าช้า: วิธีไหนใช้ได้ผลดีกว่าในการรักษาก้อนไส้ติ่ง (ก้อนที่ไส้ติ่ง)

ใจความสำคัญ

- การผ่าตัดตั้งแต่เนิ่นๆ โดยการเปิดหน้าท้องหรือผ่าตัดส่องกล้อง (ผ่าตัดโดยใช้มีดกรีดขนาดเล็กมาก) เพื่อเอาไส้ติ่งออก (ท่อที่เชื่อมระหว่างลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่) อาจลดอัตราการเกิดฝีในช่องท้องได้ (การสะสมของหนองในช่องท้อง) ในผู้ที่เป็น appendiceal phlegmon (การอักเสบกระจายที่มุมขวาล่างของไส้ติ่ง) แต่เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลลัพธ์

- เราไม่ทราบว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้องหรือผ่าตัดผ่านกล้องไส้ติ่งตั้งแต่เนิ่นๆ มีผลกระทบสำคัญต่ออัตราภาวะแทรกซ้อนโดยรวมหรือต่อภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ ในผู้ที่มีภาวะ appendiceal phlegmon หรือไม่ การผ่าตัดไส้ติ่งแบบเปิดหน้าท้องหรือผ่าตัดผ่านกล้องตั้งแต่เนิ่นๆ อาจลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลโดยรวม และอาจเพิ่มระยะเวลาในการไม่ได้ทำกิจกรรมปกติ แต่เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลลัพธ์

- เราไม่ทราบว่าการผ่าตัดใส้ติ่งผ่านกล้องออกตั้งแต่เนิ่นๆ มีผลกระทบสำคัญต่อผลลัพธ์ในเด็กที่มี ภาวะ appendiceal abscess หรือไม่

ก้อนใสติ่งคืออะไร

ไส้ติ่งเป็นท่อที่อยู่ระหว่างรอยต่อของลำไส้เล็กและลำไส้ใหญ่ 'ไส้ติ่งอักเสบ' คืออาการที่ไส้ติ่งบวมและเจ็บปวด (อักเสบ) ในบางกรณี ไส้ติ่งอักเสบอาจทำให้เกิดก้อนที่เรียกว่าก้อนไส้ติ่งขึ้นที่ไส้ติ่งได้ นี่อาจเป็น 'phlegmon' ซึ่งเป็นอาการอักเสบกระจายที่มุมขวาล่างของไส้ติ่ง หรือ 'ฝี' ซึ่งเป็นการสะสมของหนองในกระเพาะอาหาร

ก้อนที่ไส้ติ่งได้รับการรักษาอย่างไร

ผู้ที่มีก้อนไส้ติ่งมักจะต้องผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกเพื่อบรรเทาอาการ (ปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาเจียน) และหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อน (เช่น เยื่อบุช่องท้องอักเสบ) ระยะเวลาที่จะทำการผ่าตัดมีข้อขัดแย้งกัน การผ่าตัดทันทีนั้นทำได้ยากเพราะการเย็บ (เย็บ) ส่วนปลาของไส้ติ่งที่อักเสบอยู่นั้นทำได้ยาก อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญบางคนคิดว่าการตัดไส้ติ่งออกในสัปดาห์ต่อๆมา (การผ่าตัดล่าช้า) นั้นไม่จำเป็น เนื่องจากผู้คนไม่น่าจะมีโอกาสเป็นซ้ำได้หลังจากการรักษาโดยไม่ผ่าตัดประสบความสำเร็จ อย่างไรก็ตาม บางครั้งการค้นหาสาเหตุของก้อนที่ไส้ติ่งอาจทำได้ยาก และการรอเพื่อเอาไส้ติ่งออกอาจทำให้การวินิจฉัยโรคที่เป็นต้นเหตุล่าช้าได้

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าการตัดไส้ติ่งออกตั้งแต่เนิ่นๆ (ทันทีหลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือภายในสองสามวัน) ดีกว่าการผ่าตัดไส้ติ่งออกทีหลัง (หลายสัปดาห์ต่อมาในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลครั้งต่อๆ ไป) ในแง่ของ:

- อัตราภาวะแทรกซ้อนโดยรวม ได้แก่ การติดเชื้อที่บาดแผล ฝีในช่องท้อง ช่องเชื่อมระบายอุจจาระ (ช่องเปิดผิดปกติระหว่างลำไส้กับช่องท้อง)

- อัตราการเสียชีวิต

- ระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งหมด

- ระยะเวลาไม่ได้ทำกิจกรรมปกติ

เราทำอะไรบ้าง

เราค้นหาการศึกษาที่พิจารณาการผ่าตัดไส้ติ่งออกตั้งแต่เนิ่นๆ เทียบกับการตัดไส้ติ่งออกล่าช้าในผู้ที่มีภาวะ appendiceal phlegmon หรือ appendiceal abscess เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษา และประเมินความเชื่อมั่นของเราต่อหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดของการศึกษา

ผู้วิจัยค้นพบอะไรบ้าง

เราระบุการศึกษา 8 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 828 คน ซึ่งเปรียบเทียบการผ่าตัดไส้ติ่งตั้งแต่เนิ่นๆและล่าช้าสำหรับ appendiceal phlegmon(การศึกษา 7 ฉบับ) หรือ appendiceal abscess (การศึกษา 1 ฉบับ)

คนที่มีภาวะ appendiceal phlegmon

เราพบการศึกษา 7 ฉบับ ในเด็กและผู้ใหญ่ 788 รายที่มี appendiceal phlegmon ในจำนวนนี้ 394 รายมีการผ่าตัดเปิดหน้าท้องหรือผ่าตัดผ่านกล้องตั้งแต่เนิ่นๆ และ 394 รายมีการผ่าตัดล่าช้าโดยการเปิดหน้าท้องหรือผ่าตัดผ่านกล้อง

เราไม่ทราบว่าการผ่าตัดไส้ติ่งออกตั้งแต่เนิ่นๆ จะส่งผลต่อภาวะแทรกซ้อนโดยรวมหรือไม่ (รวมถึงการติดเชื้อที่บาดแผลและ faecal fistula)

เมื่อเทียบกับการเลื่อนผ่าตัดไส้ติ่งออกไป การผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกเร็วอาจลดฝีในช่องท้องได้ (ฝีในช่องท้องลดลง 43 คนต่อ 1000 คน) และลดระยะเวลาที่ต้องนอนโรงพยาบาลโดยรวมประมาณสองวัน แต่เราไม่แน่ใจอย่างมากเกี่ยวกับผลลัพธ์เหล่านี้

ไม่มีผู้เสียชีวิตในการศึกษา

การผ่าตัดเอาไส้ติ่งออกตั้งแต่เนิ่นๆ อาจเพิ่มระยะเวลาในการออกจากกิจกรรมปกติประมาณห้าวัน แต่เราไม่แน่ใจมากเกี่ยวกับผลลัพธ์นี้

คนที่เป็นฝี

เราพบการศึกษา 1 ฉบับ มีเด็ก 40 คน เด็กจำนวน 20 คนมีการผ่าตัดไส้ติ่งออกตั้งแต่เนิ่นๆด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง และเด็ก 20 คนผ่าตัดไส้ติ่งออกล่าช้าด้วยการผ่าตัดผ่านกล้อง

การศึกษาไม่ได้รายงานภาวะแทรกซ้อนโดยรวม (รวมถึงการติดเชื้อที่บาดแผล ฝีในช่องท้อง และ faecal fistula) หรือเวลาในการออกจากกิจกรรมตามปกติ

ไม่มีผู้เสียชีวิตในการศึกษา

เราไม่ทราบว่าการผ่าตัดไส้ติ่งออกตั้งแต่เนิ่นๆจะส่งผลต่อระยะเวลาที่ต้องนอนรักษาในโรงพยาบาลหรือไม่

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

เราไม่มั่นใจในหลักฐานเนื่องจากเป็นไปได้ที่ผู้คนในการศึกษาทราบว่าตนได้รับการรักษาแบบใด และเนื่องจากการศึกษาบางชิ้นไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทุกสิ่งที่เราสนใจ นอกจากนี้ การศึกษาบางฉบับไม่ได้รายงานอย่างชัดเจนถึงวิธีการดำเนินการ และไม่มีการศึกษาเพียงพอที่จะให้เรามั่นใจเกี่ยวกับผลลัพธ์

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมก่อนหน้า หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนมิถุนายน 2023

บทนำ

นี่เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมของ Cochrane ที่เผยแพร่ครั้งแรกในปี 2017

ไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน (การอักเสบของไส้ติ่ง) อาจเกิดขึ้นได้ทั้งแบบธรรมดาหรือซับซ้อน ไส้ติ่งที่เป็บแบบก้อนและฝีไส้ติ่งเป็นตัวอย่างของไส้ติ่งอักเสบที่ซับซ้อน ไส้ติ่งอักเสบเป็นก้อน (appendiceal phlegmon) คือการอักเสบบริเวณกว้างที่มุมขวาล่างของไส้ติ่ง ในขณะที่ฝีในไส้ติ่งนั้นเป็นก้อนที่อักเสบในช่องท้องซึ่งมีหนอง

Appendiceal phlegmon และ Appendiceal abscess คิดเป็น 2% ถึง 10% ของไส้ติ่งอักเสบเฉียบพลัน ผู้ที่มีภาวะ Appendiceal phlegmon หรือ Appendiceal abscess มักจะต้องผ่าตัดไส้ติ่งเพื่อบรรเทาอาการ (เช่น อาการปวดท้อง เบื่ออาหาร คลื่นไส้ และอาเจียน) และหลีกเลี่ยงภาวะแทรกซ้อน (เช่น เยื่อบุช่องท้องอักเสบ (การติดเชื้อของเยื่อบุช่องท้อง)) การผ่าตัดผู้ที่มีภาวะ Appendiceal phlegmon หรือ Appendiceal abscess อาจทำเร็ว (ทันทีหลังเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือภายในสองสามวันหลังจากเข้ารับการรักษา) หรือทำช้า (หลายสัปดาห์ต่อมาในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลครั้งต่อไป) ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดของการผ่าตัดไส้ติ่งสำหรับ Appendiceal phlegmon หรือ Appendiceal abscess ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินผลของการผ่าตัดไส้ติ่งตั้งแต่เนิ่นๆ เปรียบเทียบกับการผ่าตัดไส้ติ่งที่ล่าช้าต่อการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตโดยรวมในผู้ป่วย appendiceal phlegmon หรือ appendiceal abscess

วิธีการสืบค้น

เราสืบค้น CENTRAL, MEDLINE, Embase, ฐานข้อมูลอื่นอีกแหล่ง และทะเบียนการทดลองห้ารายการในวันที่ 11 มิถุนายน 2023 ร่วมกับการตรวจสอบข้อมูลอ้างอิงเพื่อระบุการศึกษาเพิ่มเติม

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวมการทดลองแบบมีกลุ่มควบคุม (RCTs) แบบรายบุคคลและแบบคลัสเตอร์ทั้งหมด โดยไม่คำนึงถึงภาษา สถานะการตีพิมพ์ หรืออายุของผู้เข้าร่วม โดยเปรียบเทียบการผ่าตัดไส้ติ่งตั้งแต่เนิ่นๆ และแบบล่าช้าในผู้ที่เป็น appendiceal phlegmon หรือ appendiceal abscess

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

เราใช้ระเบียบวิธีการมาตรฐานที่ Cochrane กำหนดไว้

ผลการวิจัย

เรารวบรวม RCTs 8 ฉบับที่สุ่มผู้เข้าร่วม 828 คนเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่งตั้งแต่เนิ่นๆ หรือล่าช้าสำหรับ appendiceal phlegmon (การทดลอง 7 ฉบับ) หรือ appendiceal abscess (การทดลอง 1 ฉบับ) การศึกษานี้ดำเนินการในสหรัฐอเมริกา อินเดีย เนปาล และปากีสถาน RCT ทั้งหมดมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติเนื่องจากขาดการปกปิดและขาดการการเผยแพร่เกณฑ์และวิธีทที่ศึกษา วิธีการสุ่มและระยะเวลาในการติดตามผลก็ไม่ชัดเจน

1. การผ่าตัดไส้ติ่งแบบเปิดหรือผ่านกล้องในระยะเริ่มแรกหรือแบบล่าช้าสำหรับ appendiceal phlegmon

เรารวมการทดลอง 7 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมเด็กและผู้ใหญ่ 788 รายที่มี apendiceal phlegmon: ผู้เข้าร่วม 394 รายได้รับการสุ่มไปยังกลุ่มการผ่าตัดไส้ติ่งตั้งแต่เนิ่นๆ (การผ่าตัดไส้ติ่งแบบเปิดหน้าท้องหรือผ่านกล้องทันทีที่ก้อนไส้ติ่งหายภายในรอบการเข้ารับการรักษาครั้งเดียวกัน) และ 394 รายได้รับการสุ่มไปยังกลุ่มการผ่าตัดไส้ติ่งล่าช้า (การรักษาเบื้องต้นแบบอนุรักษ์นิยม ตามมาด้วยการผ่าตัดไส้ติ่งแบบล่าช้าแบบเปิดหน้าท้องหรือการผ่าตัดผ่านกล้อง เมื่อเวลาผ่านไปหลายสัปดาห์)

ไม่มีการเสียชีวิตในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของการผ่าตัดไส้ติ่งตั้งแต่เนิ่นๆ ต่อการเจ็บป่วยโดยรวม (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 0.74, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.19 ถึง 2.86; การทดลอง 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 146 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก), สัดส่วนของผู้เข้าร่วมที่เกิดการติดเชื้อที่บาดแผล (RR 0.99, 95% CI 0.48 ถึง 2.02; การทดลอง 7 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 788 คน) และสัดส่วนของผู้เข้าร่วมที่กลายเป็นช่องเปิดผิดปกติระหว่างลำไส้กับช่องท้อง (faecal fistulas) (RR 1.75, 95% CI 0.36 ถึง 8.49; การทดลอง 5 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 388 คน) การผ่าตัดไส้ติ่งตั้งแต่เนิ่นๆ อาจลดอัตราการเกิดฝีในช่องท้อง (RR 0.26, 95% CI 0.08 ถึง 0.80; การทดลอง 4 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 626 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลทั้งหมดประมาณสองวัน (ค่าเฉลี่ยความแตกต่าง (MD) - 2.02 วัน 95% CI −3.13 ถึง −0.91; การทดลอง 5 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 680 คน) และเพิ่มเวลาออกจากกิจกรรมปกติประมาณห้าวัน (MD 5.00 วัน; 95% CI 1.52 ถึง 8.48; การทดลอง 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 40 คน) แต่หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมาก

2. การผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้องในระยะเริ่มแรกและแบบล่าช้าสำหรับฝีไส้ติ่ง

เรารวบรวมหนึ่งการทดลองที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมเด็ก 40 รายที่มี appendiceal abscess: 20 รายได้รับการสุ่มไปยังกลุ่มการผ่าตัดไส้ติ่งระยะเริ่มต้น (การผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้องแบบฉุกเฉิน) และ 20 รายได้รับการสุ่มไปยังกลุ่มการผ่าตัดไส้ติ่งล่าช้า (การรักษาเบื้องต้นแบบอนุรักษ์นิยม ตามด้วยการผ่าตัดไส้ติ่งผ่านกล้องแบบล่าช้า 10 สัปดาห์ต่อมา) ไม่มีการเสียชีวิตในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง การทดลองไม่ได้รายงานการเจ็บป่วยโดยรวม ภาวะแทรกซ้อนต่างๆ หรือระยะเวลาที่ทำกิจกรรมปกติไม่ได้ หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของการผ่าตัดไส้ติ่งตั้งแต่เนิ่นๆ ต่อระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลทั้งหมด (MD −0.20 วัน, 95% CI −3.54 ถึง 3.14; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก)

ข้อสรุปของผู้วิจัย

สำหรับการเปรียบเทียบการผ่าตัดไส้ติ่งแบบเปิดหน้าท้องหรือผ่านกล้องตั้งแต่เนิ่นๆ กับแบบล่าช้าสำหรับผู้เข้าร่วมในเด็กและผู้ใหญ่ที่มีไส้ติ่งเป็นก้อน หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากแสดงให้เห็นว่าการผ่าตัดไส้ติ่งตั้งแต่เนิ่นๆ อาจลดอัตราการเกิดฝีในช่องท้องได้ หลักฐานยังไม่แน่ชัดว่าการผ่าตัดไส้ติ่งตั้งแต่เนิ่นๆ จะป้องกันการเจ็บป่วยโดยรวมหรือภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ หรือไม่ การผ่าตัดไส้ติ่งตั้งแต่เนิ่นๆ อาจลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลโดยรวม และเพิ่มระยะเวลาในการไม่ได้ทำกิจกรรมตามปกติ แต่หลักฐานยังไม่แน่นอนอย่างมาก

สำหรับการเปรียบเทียบการผ่าตัดไส้ติ่งตั้งแต่เนิ่นและแบบล่าช้าๆ โดยผ่านการส่องกล้องสำหรับผู้เข้าร่วมที่เป็นเด็กที่มี appendiceal abscess ข้อมูลมีไม่มากนัก และเราไม่สามารถแยกแยะประโยชน์ที่มีนัยสำคัญหรืออันตรายของการผ่าตัดไส้ติ่งตั้งแต่เนิ่นๆ และแบบล่าช้าได้

จำเป็นต้องมีการทดลองเพิ่มเติมในหัวข้อนี้อย่างเร่งด่วน และควรระบุเกณฑ์สำหรับการใช้ยาปฏิชีวนะ การระบายหนองไส้ติ่งออกทางผิวหนังก่อนการผ่าตัด และการหายของ appendiceal phlegmon หรือ appendiceal abscess การทดลองในอนาคตควรรวมผลลัพธ์ต่างๆ เช่น ระยะเวลาการไม่ได้ทำกิจกรรมตามปกติ และระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาล

บันทึกการแปล

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 18 เมษายน 2025

Citation
Zhou S, Cheng Y, Cheng N, Gong J, Tu B. Early versus delayed appendicectomy for appendiceal phlegmon or abscess. Cochrane Database of Systematic Reviews 2024, Issue 5. Art. No.: CD011670. DOI: 10.1002/14651858.CD011670.pub3.