ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Mammography ตามด้วย ultrasonography เทียบกับ mammography เพียงอย่างเดียวสำหรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมในสตรีที่มีความเสี่ยงปานกลางต่อการเป็นมะเร็งเต้านม

ประเด็นคืออะไร

เราตรวจสอบหลักฐานที่สนับสนุนและคัดค้านการเพิ่มการตรวจ ultrasonography ในการทำ mammography สำหรับสตรีที่มีความเสี่ยงปานกลางต่อมะเร็งเต้านม

ทำไมจึงสำคัญ

สิ่งสำคัญคือต้องชั่งน้ำหนักข้อดีและข้อเสียของการตรวจคัดกรอง เนื่องจากการตรวจพบเนื้องอกที่เพิ่มขึ้นผ่านการตรวจคัดกรองไม่ได้แปลว่าสตรีจะรอดชีวิตมากขึ้น หลักฐานแสดงให้เห็นว่าการตรวจ mammography ในสตรีสุขภาพดีที่มีอายุระหว่าง 50 ถึง 69 ปีสามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตาม การตรวจ mammography ไม่ใช่เครื่องมือที่สมบูรณ์แบบในการตรวจหามะเร็งเต้านม และอาจมองข้ามเนื้องอกในสตรีบางคน โดยเฉพาะผู้ที่มีเต้านมหนาแน่น ในสตรีเหล่านี้ เนื้องอกจะแยกจากเนื้อเยื่อเต้านมปกติได้ยากในการตรวจ แมมโมแกรม สำหรับสตรีที่มีเต้านมไม่หนาแน่น ultrasonography มักจะทำเป็นประจำนอกเหนือจาก mammography เพื่อเพิ่มความไวในการตรวจคัดกรอง

ช่องว่างในหลักฐาน: ไม่มีการศึกษาใดตรวจสอบผลของการตรวจ ultrasonography เพิ่มเติมต่อการตาย

เพื่อพิจารณาว่าการตรวจคัดกรองด้วย mammography และ ultrasonography เป็นประจำมีประโยชน์หรือไม่ การศึกษา (ควรเป็นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT)) ซึ่งเป็นการศึกษาที่ผู้เข้าร่วมได้รับการสุ่มให้เข้าร่วมกลุ่มการรักษากลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจากสองกลุ่มขึ้นไป) เพื่อเปรียบเทียบการดำเนินโรคและอัตราการเสียชีวิตว่ามีความแตกต่างระหว่างวิธีการตรวจคัดกรองหรือไม่ ไม่มีการศึกษาใดที่ติดตามผู้หญิงเป็นเวลา 1-3 ปี ใช้เวลานานพอที่จะบอกได้ว่าการตรวจพบมะเร็งจำนวนมากขึ้นระหว่างการตรวจคัดกรองด้วย mammography และ ultrasonography นำไปสู่การลดโรคและการเสียชีวิตหรือไม่

การตรวจ mammography และ ultrasonography เพิ่มการตรวจพบมะเร็งมากขึ้นกี่ราย

เราพบการศึกษาแบบ RCT 1 ฉบับและ การศึกษาแบบ cohort 7 ฉบับ (ประเภทของการศึกษาที่มีการติดตามกลุ่มคนเมื่อเวลาผ่านไป) ที่วิเคราะห์ว่าการตรวจ mammography และ ultrasonography ร่วมกันมีประสิทธิภาพมากกว่าการตรวจ mammography เพียงอย่างเดียวในการตรวจหามะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นในสตรีที่มีความเสี่ยงปานกลางต่อมะเร็งเต้านมที่ไม่แสดงอาการหรือไม่

วิธีการของ RCT นั้นถูกต้อง และการศึกษานี้เป็นหลักฐานที่ดีที่สุดที่มีอยู่ในปัจจุบัน การศึกษารวมผู้หญิง 72,717 คนที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางต่อมะเร็งเต้านม โดย 58% มีเนื้อเยื่อเต้านมหนาแน่น หลังจากการติดตามผลเป็นเวลา 2 ปี ผู้หญิงที่ได้รับการตรวจคัดกรองเพียงครั้งเดียวด้วยการตรวจ mammography และ ultrasonography ร่วมกัน ตรวจพบมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 2 รายต่อผู้หญิง 1000 คน เมื่อเทียบกับสตรีที่ตรวจด้วย mammography (5.0 เทียบกับ 3.2 ต่อสตรี 1000 คนที่ตรวจคัดกรอง)

การตรวจ ultrasonography เพิ่มเติมในสตรีที่มีเต้านมหนาแน่นหรือไม่หนาแน่นมีประสิทธิผลเพียงใด

สิ่งพิมพ์ล่าสุดวิเคราะห์กลุ่มย่อยของ RCT ซึ่งมีสตรี 19,213 คน และรายงานผลแยกกันสำหรับสตรีที่มีเต้านมหนาแน่นและไม่หนาแน่น

ในสตรีที่มีเต้านมหนาแน่น ตรวจพบมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 3 ต่อผู้หญิง 1000 คนด้วยการตรวจ mammography และ ultrasonography มากกว่าการตรวจด้วย mammography เพียงอย่างเดียว การค้นพบนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานในโลกแห่งความจริง: ผลรวมของการศึกษาแบบ cohort 3 ฉบับ ที่ตรวจสอบสตรีที่มีเต้านมหนาแน่นทั้งหมด 50,327 คน พบมะเร็งเพิ่มขึ้นในสตรีัที่มีเต้านมหนาแน่น เมื่อตรวจ mammography เสริมด้วย ultrasonography ในสตรีที่มีเต้านมไม่หนาแน่น ผลจากการศึกษาแบบ cohort 2 ฉบับ ที่มีข้อมูลจากสตรี 40,636 คนไม่สอดคล้องกับ RCT และพบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในสัดส่วนของผู้ป่วยมะเร็งระหว่างการตรวจคัดกรองทั้งสองวิธี

มีมะเร็งกี่รายที่แพร่กระจายและลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลือง

ใน RCT 71% ของเนื้องอกทั้งหมดที่พบในการตรวจคัดกรองถูกจัดประเภทว่าแพร่กระจาย โดยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญระหว่างสองกลุ่ม อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์สำหรับความแตกต่างระหว่างสองกลุ่มนั้นไม่ชัดเจน และความเชื่อมั่นของเราในผลลัพธ์นั้นต่ำ ในสตรีที่เป็นมะเร็งระยะลุกลามที่พบโดยการตรวจ mammography ร่วมกับ ultrasonography พบการลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองน้อยกว่าในกลุ่มที่ตรวจด้วย mammography เพียงอย่างเดียว (18% (23 จาก 128) เทียบกับ 34% (29 จาก 86))

Interval cancer: มะเร็งระยะที่ตรวจพบในช่วงเวลาระหว่างรอบการตรวจคัดกรอง

RCT ยังแสดงให้เห็นว่ามะเร็งที่ไม่พบระหว่างการตรวจคัดกรอง (แต่พบในช่วงเวลาระหว่างการตรวจแต่ละรอบ) เกิดขึ้นน้อยกว่าเมื่อทำการตรวจคัดกรองด้วยการตรวจ mammography และ ultrasonography ร่วมกัน (5 เทียบกับ 10 ต่อ 10,000) เมื่อทำการตรวจคัดกรอง ด้วยการตรวจ mammography เพียงอย่างเดียว

อัตราบวกลวงและอัตราลบลวง

อัตราการให้ผลลบลวงซึ่งบ่งชี้ผลลบเมื่อมีมะเร็งนั้นต่ำกว่า (9% เทียบกับ 23%) เมื่อทำ ultrasonography ร่วมกับการตรวจ mammography อย่างไรก็ตาม การตรวจ mammography และ ultrasonography ร่วมกันทำให้เกิดผลบวกลวงมากกว่าการตรวจ mammography เพียงอย่างเดียวในสตรีที่ไม่เป็นมะเร็ง: 123 เทียบกับ 86 ต่อสตรี 1000 คน นอกจากนี้ สตรี 1000 คนที่ตรวจคัดกรองด้วย mammography และ ultrasonography ร่วมกัน มีเพิ่มขึ้น 27 คนที่ต้องการการตรวจชิ้นเนื้อมากกว่าการตรวจ mammography เพียงอย่างเดียว

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นอย่างไร

เราค้นหาการศึกษาที่เผยแพร่จนถึงเดือนพฤษภาคม 2021

บทสรุป

ยังไม่ชัดเจนว่าการตรวจ ultrasonography นอกเหนือไปจากการตรวจ mammography สามารถลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมได้มากน้อยเพียงใด ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ ultrasonography เป็นประจำ สำหรับสตรีในการตัดสินใจอย่างรอบรู้ เราจำเป็นต้องประเมินว่ามะเร็งที่สามารถตรวจพบเพิ่มเติมเล็กน้อยได้ด้วยการ ultrasonography จะส่งผลให้โรคมะเร็งเต้านมและการเสียชีวิตลดลงหรือไม่

บทนำ

การคัดกรองด้วย mammography สามารถตรวจพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น ผู้ที่สนับสนุนการเพิ่ม ultrasonography ในการตรวจคัดกรองพิจารณาว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยและราคาไม่แพงเพื่อลดอัตราการเกิดผลลบปลอม (false-negative) ระหว่างการคัดกรอง อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ไม่เห็นด้วยโต้แย้งว่า ultrasonography เสริมจะเพิ่มอัตราผลบวกปลอม (false-positive) และอาจนำไปสู่การตัดชิ้นเนื้อและการรักษาโดยไม่จำเป็น

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินเปรียบเทียบประสิทธิผลและความปลอดภัยของ mammography ร่วมกับการตรวจ ultrasonography เต้านมกับ mammography เพียงอย่างเดียวในการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมสำหรับสตรีที่มีความเสี่ยงปานกลางต่อการเกิดมะเร็งเต้านม

วิธีการสืบค้น

เราสืบค้นจาก Cochrane Breast Cancer Group's Specialized Register, CENTRAL, MEDLINE, Embase, the World Health Organization International Clinical Trials Registry Platform (WHO ICTRP) และ ClinicalTrials.gov จนถึง 3 พฤษภาคม 2021

เกณฑ์การคัดเลือก

สำหรับประสิทธิภาพและอันตราย เราพิจารณาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และการศึกษาแบบไม่สุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่คัดเลือกสตรีอย่างน้อย 500 คนที่มีความเสี่ยงปานกลางต่อมะเร็งเต้านมระหว่างอายุ 40 ถึง 75 ปี

เรายังรวมการศึกษาที่ 80% ของประชากรตรงกับเกณฑ์อายุและความเสี่ยงมะเร็งเต้านมของเรา

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรมสองคนคัดกรองบทคัดย่อและบทความฉบับเต็ม ประเมินความเสี่ยงของอคติ และใช้แนวทาง GRADE เราคำนวณ risk ratio (RR) และช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) ตามอัตราเหตุการณ์ที่มีอยู่ เราใช้ random-effects meta-analysis

ผลการวิจัย

เรารวมการศึกษา 8 ฉบับ: RCT 1 ฉบับ, prospective cohort studies 2 ฉบับ และ retrospective cohort studies 5 ฉบับ โดยรวบรวมสตรี 209,207 คนโดยมีระยะเวลาติดตามตั้งแต่ 1-3 ปี สัดส่วนของผู้หญิงที่มีเต้านมหนาแน่นอยู่ระหว่าง 48% ถึง 100% การศึกษา 5 ฉบับ ใช้ digital mammography; 1 การศึกษาใช้ breast tomosynthesis; และการศึกษา 2 ฉบับ ใช้การตรวจ ultrasonography เต้านมอัตโนมัติ (ABUS) นอกเหนือจาก mammography การศึกษา 1 ฉบับ ใช้ digital mammography อย่างเดียวหรือร่วมกับ breast tomosynthesis และ ABUS หรือการตรวจ ultrasonography แบบใช้มือจับ การศึกษา 6 ใน 8 ฉบับ ประเมินอัตราของผู้ป่วยมะเร็งที่ตรวจพบหลังจากการตรวจคัดกรอง 1 รอบ ในขณะที่การศึกษา 2 ฉบับ คัดกรองสตรี 1 ครั้ง 2 ครั้ง หรือมากกว่านั้น

ไม่มีการศึกษาใดประเมินว่าการตรวจ mammography ร่วมกับการตรวจ ultrasonography ทำให้อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมหรือการตายจากทุกสาเหตุลดลงหรือไม่ หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นสูงจาก 1 การทดลอง แสดงให้เห็นว่าการตรวจคัดกรองด้วย mammography และ ultrasonography ร่วมกันจะตรวจพบมะเร็งเต้านมได้มากกว่าการตรวจ mammography เพียงอย่างเดียว J-START (Japan Strategic Anti-cancer Randomised Trial) ซึ่งรวบรวมสตรีที่ไม่แสดงอาการ 72,717 คน มีความเสี่ยงต่ำต่อการมีอคติ และพบว่ามะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น 2 รายต่อสตรี 1000 คนถูกตรวจพบในการทำ ultrasonography เพิ่มเติม 1 ครั้ง มากกว่าการตรวจด้วย mammography เพียงอย่างเดียว (5 เทียบกับ 3 ต่อ 1000; RR 1.54, 95% CI 1.22 ถึง 1.94) หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำแสดงให้เห็นว่าเปอร์เซ็นต์ของเนื้องอกที่แพร่กระจายมีความคล้ายคลึงกัน โดยไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างสองกลุ่ม (69.6% (128 จาก 184) เทียบกับ 73.5% (86 จาก 117); RR 0.95, 95% CI 0.82 ถึง 1.09) อย่างไรก็ตาม ตรวจพบสถานะของต่อมน้ำเหลืองได้น้อยกว่าในสตรีที่เป็นมะเร็งระยะลุกลามที่ได้รับการตรวจ mammography ร่วมกับ ultrasonography เมื่อเทียบกับสตรีที่ได้รับการตรวจ mammography เพียงอย่างเดียว (18% (23 จาก 128 คน) เทียบกับ 34% (29 จาก 86); RR 0.53, 95% CI 0.33 ถึง 0.86 หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) นอกจากนี้ มะเร็งที่พบระหว่างการตรวจคัดกรองรอบถัดไปเกิดขึ้นน้อยกว่าในกลุ่มที่ตรวจคัดกรองด้วย mammography แล ultrasonography เมื่อเทียบกับ mammography เพียงอย่างเดียว (5 เทียบกับ 10 ในผู้หญิง 10,000 คน; RR 0.50, 95% CI 0.29 ถึง 0.89; ผู้เข้าร่วม 72,717 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) ผลลบลวงพบได้น้อยลง เมื่อใช้ ultrasonography ร่วมกับ mammography เมื่อเทียบกับ mammography เพียงอย่างเดียว: 9% (18 จาก 202) เทียบกับ 23% (35 จาก 152; RR 0.39, 95% CI 0.23 ถึง 0.66; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) อย่างไรก็ตาม จำนวนผลบวกลวงและการตรวจชิ้นเนื้อที่จำเป็นมีสูงกว่าในกลุ่มที่มีการใช้ ultrasonography ร่วมด้วย ในสตรี 1000 คนที่ไม่เป็นมะเร็ง มีอีก 37 คนที่ได้รับผลบวกลวงเมื่อเข้าร่วมการตรวจคัดกรองด้วย mammography และ ultrasonography ร่วมกันมากกว่า mammography เพียงอย่างเดียว (RR 1.43, 95% CI 1.37 ถึง 1.50; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) เมื่อเทียบกับ mammography เพียงอย่างเดียว สำหรับผู้หญิงทุกๆ 1000 คนที่เข้าร่วมการตรวจคัดกรองด้วย mammography และ ultrasonography ร่วมกัน จะมีผู้หญิงอีก 27 คนที่จะได้รับการตรวจชิ้นเนื้อ (RR 2.49, 95% CI 2.28 ถึง 2.72; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) ผลลัพธ์จากการศึกษาแบบ cohort ที่มีข้อจำกัดด้านระเบียบวิธียืนยันการค้นพบนี้

การวิเคราะห์ทุติยภูมิของ J-START ให้ผลลัพธ์จากผู้หญิง 19,213 คนที่มีเต้านมหนาแน่นและไม่หนาแน่น ในสตรีที่มีเต้านมหนาแน่น การใช้ mammography ร่วมกับ ultrasonography ตรวจพบมะเร็งมากขึ้น 3 ราย (0 รายน้อยลงถึง 7 รายมากขึ้น) ต่อสตรี 1000 คนที่ตรวจคัดกรองมากกว่า mammography เพียงอย่างเดียว (RR 1.65, 95% CI 1.0 ถึง 2.72; ผู้เข้าร่วม 11,390 คน หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) Meta-analysis ของการศึกษาแบบ cohort 3 ฉบับ ที่มีข้อมูลจากสตรี 50,327 คนที่มีเต้านมหนาแน่นสนับสนุนการค้นพบนี้ แสดงให้เห็นว่า mammography และ ultrasonography ร่วมกันทำให้มีมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยมากกว่า mammography เพียงอย่างเดียวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (RR 1.78, 95% CI 1.23 ถึง 2.56; ผู้เข้าร่วม 50,327 หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) สำหรับสตรีที่มีเต้านมไม่หนาแน่น การวิเคราะห์ทุติยภูมิของการศึกษา J-START แสดงให้เห็นว่าตรวจพบมะเร็งมากขึ้นเมื่อเพิ่ม ultrasonography ในการตรวจ mammography เมื่อเทียบกับการตรวจ mammography เพียงอย่างเดียว (RR 1.93, 95% CI 1.01 ถึง 3.68; ผู้เข้าร่วม 7823 คน หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง ) ในขณะที่การศึกษาแบบ cohort 2 ฉบับ ที่มีข้อมูลจากสตรี 40,636 คนพบว่าไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างวิธีการคัดกรองทั้งสองวิธี (RR 1.13, 95% CI 0.85 ถึง 1.49; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

ข้อสรุปของผู้วิจัย

จากการศึกษาหนึ่งในสตรีที่มีความเสี่ยงโดยเฉลี่ยต่อมะเร็งเต้านม ultrasonography เพิ่มไปจากการตรวจ mammography ทำให้ตรวจพบมะเร็งเต้านมมากขึ้น สำหรับสตรีที่มีเต้านมหนาแน่น การศึกษาแบบ cohort ที่สอดคล้องกับการปฏิบัติทางคลินิกในชีวิตจริงยืนยันการค้นพบนี้ ในขณะที่การศึกษาแบบ cohort สำหรับสตรีที่มีเต้านมไม่หนาแน่นไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างวิธีการตรวจคัดกรองทั้งสองแบบ

อย่างไรก็ตาม จำนวนผลบวกลวงและอัตราการตรวจชิ้นเนื้อสูงขึ้นในสตรีที่ได้รับการตรวจ ultrasonography เพิ่มเติมเพื่อตรวจมะเร็งเต้านม ไม่มีการศึกษาใดที่วิเคราะห์ว่าจำนวนมะเร็งที่ตรวจพบในกลุ่มทดลองที่สูงขึ้นส่งผลให้อัตราการเสียชีวิตลดลงเมื่อเทียบกับการตรวจ mammography เพียงอย่างเดียวหรือไม่ จำเป็นต้องมีการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมหรือการศึกษา prospective cohort ที่มีระยะเวลาติดตามนานขึ้นเพื่อประเมินผลของวิธีการคัดกรองทั้งสองแบบที่มีต่อการเจ็บป่วยและการตาย

บันทึกการแปล

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 13 เมษายน 2023 Edit โดย ผกากรอง 22 มิถุนายน 2023

Citation
Glechner A, Wagner G, Mitus JW, Teufer B, Klerings I, Böck N, Grillich L, Berzaczy D, Helbich TH, Gartlehner G. Mammography in combination with breast ultrasonography versus mammography for breast cancer screening in women at average risk. Cochrane Database of Systematic Reviews 2023, Issue 3. Art. No.: CD009632. DOI: 10.1002/14651858.CD009632.pub3.