ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาหารเสริมสังกะสีสำหรับธาลัสซีเมียและโรคเม็ดเลือดรูปเคียว

สังกะสีเป็นสารอาหารที่จำเป็นเพื่อให้ระบบภูมิคุ้มกันทำงานได้อย่างเต็มที่และช่วยให้ร่างกายต่อสู้กับการติดเชื้อ ผู้คนอาจได้รับสังกะสีไม่เพียงพอจากการรับประทานอาหารเพียงอย่างเดียว นักวิจัยจึงพิจารณาอาหารเสริมสังกะสีเป็นวิธีหนึ่งในการลดภาวะโลหิตจางและป้องกันการติดเชื้อและภาวะแทรกซ้อน ผู้แต่งได้ค้นคว้าเอกสารทางการแพทย์เกี่ยวกับการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ซึ่งผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดรูปเคียวหรือธาลัสซีเมียได้รับอาหารเสริมสังกะสีหรือไม่ได้รับอาหารเสริมเลย เราได้รวมการทดลอง 9 ฉบับไว้ในการทบทวนนี้ (ผู้เข้าร่วม 459 คน) ในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ไม่มีหลักฐานใดบ่งชี้ถึงประโยชน์ของการเสริมสังกะสีต่อระดับสังกะสีในเลือด อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ได้รับอาหารเสริมมีความสูงที่เพิ่มขึ้น มีหลักฐานที่หลากหลายเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมสังกะสีในผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดรูปเคียว ตัวอย่างเช่น มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าเมื่อมีการให้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นเวลา 1 ปี ระดับสังกะสีในเลือดจะเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ระดับฮีโมโกลบินและดัชนีมวลกายไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่ม นอกจากนี้ เรายังพบว่าผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดรูปเคียวที่ได้รับอาหารเสริมสังกะสี (ทั้งใน 3 เดือนและ 1 ปี) มีอาการวิกฤตโรคเม็ดเลือดรูปเคียวและการติดเชื้อน้อยลง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากจำนวนการทดลองทั้งหมดยังมีน้อย ผลลัพธ์เหล่านี้จึงควรได้รับการปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง

บทนำ

โรคฮีโมโกลบินผิดปกติซึ่งเป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมของการสังเคราะห์ฮีโมโกลบิน (ธาลัสซีเมีย) หรือโครงสร้างเม็ดเลือดแดง (โรคเม็ดเลือดรูปเคียว) เป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและการเสียชีวิตจำนวนมากทั่วโลก องค์การอนามัยโลกประมาณการว่าทั่วโลกผู้ใหญ่ 5% เป็นพาหะของภาวะฮีโมโกลบิน 2.9% เป็นพาหะของโรคธาลัสซีเมีย และ 2.3% เป็นพาหะของโรคเม็ดเลือดรูปเคียว พบพาหะได้ทั่วโลกเนื่องมาจากการอพยพของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไปยังภูมิภาคต่างๆ ของโลก สังกะสีเป็นอาหารเสริมที่หาได้ง่าย และมีโปรแกรมการแทรกแซงเพื่อป้องกันการขาดสังกะสีในผู้ป่วยธาลัสซีเมียหรือโรคเม็ดเลือดรูปเคียว การประเมินบทบาทของการเสริมสังกะสีในการรักษาโรคธาลัสซีเมียและโรคเม็ดเลือดรูปเคียวเป็นสิ่งสำคัญเพื่อลดการเสียชีวิตเนื่องจากภาวะแทรกซ้อน

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินผลของการเสริมสังกะสีในการรักษาโรคธาลัสซีเมียและโรคเม็ดเลือดรูปเคียว

วิธีการสืบค้น

เราได้ค้นหา the Cochrane Cystic Fibrosis and Genetic Disorders Group's Haemoglobinopathies Trials Register ซึ่งประกอบด้วยเอกสารอ้างอิงที่ระบุจากการค้นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่ครอบคลุมและการค้นหาด้วยมือจากวารสารที่เกี่ยวข้องและหนังสือบทคัดย่อของเอกสารการประชุม

วันที่ค้นหาล่าสุด: 01 กุมภาพันธ์ 2013

เกณฑ์การคัดเลือก

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมด้วยยาหลอกของอาหารเสริมสังกะสีสำหรับการรักษาธาลัสซีเมียหรือโรคเม็ดเลือดรูปเคียว โดยให้ยาอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้แต่ง 2 คนได้ประเมินความเหมาะสมและความเสี่ยงของการมีอคติของการทดลองที่นำเข้ามา จากนั้นจึงดึงข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูล และเขียนการทบทวนวรรณกรรมขึ้น เราสรุปผลลัพธ์โดยใช้ risk ratios หรือ rate ratios สำหรับข้อมูลแบบ dichotomous และค่าความแตกต่างของค่าเฉลี่ยสำหรับข้อมูลต่อเนื่อง เรารวบรวมผลการทดลองที่เหมาะสม

ผลการวิจัย

เราได้พบการทดลอง 9 ฉบับเพื่อรวมไว้ โดยมีข้อมูลผลลัพธ์ทั้งหมดของการศึกษาทั้ง 9 ฉบับ การทดลอง 2 ฉบับ รายงานเกี่ยวกับผู้ป่วยธาลัสซีเมีย (n = 152) และการทดลอง 7 ฉบับ รายงานเกี่ยวกับโรคเม็ดเลือดรูปเคียว (n = 307)

ในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย จากการทดลอง 1 ฉบับ พบว่าค่าระดับสังกะสีในเลือดไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่ได้รับอาหารเสริมสังกะสีและกลุ่มควบคุม โดยมีค่าเฉลี่ยความแตกต่าง 47.40 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% -12.95 ถึง 107.99) ในส่วนของการตรวจวัดขนาดร่างกาย ในการทดลอง 1 ฉบับ พบว่าอัตราเร็วของส่วนสูงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยที่ได้รับอาหารเสริมสังกะสีเป็นเวลา 1 ถึง 7 ปี โดยมีค่าความแตกต่างเฉลี่ย 3.37 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% 2.36 ถึง 4.38) (จำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด = 26 คน) อย่างไรก็ตาม ในการทดลอง 1 ฉบับ ไม่มีความแตกต่างในดัชนีมวลกายระหว่างกลุ่มการรักษา

การเสริมสังกะสีอะซิเตทเป็นเวลา 3 เดือน (ในการทดลอง 1 ฉบับ) และ 1 ปี (ในการทดลอง 2 ฉบับ) (จำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด = 71 คน) พบว่าเพิ่มระดับสังกะสีในเลืดอย่างมีนัยสำคัญในผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดรูปเคียว โดยมีความแตกต่างเฉลี่ย 14.90 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% 6.94 ถึง 22.86) และ 20.25 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% 11.73 ถึง 28.77) ตามลำดับ ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในเรื่องระดับฮีโมโกลบินระหว่างกลุ่มที่ได้รับอาหารเสริมสังกะสีและกลุ่มควบคุม ทั้งในกลุ่มระยะเวลา 3 เดือน (การทดลอง 1 ฉบับ) หรือ 1 ปี (การทดลอง 1 ฉบับ) โดยมีค่าความแตกต่างเฉลี่ย 0.06 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% -0.84 ถึง 0.96) และค่าความแตกต่างเฉลี่ย -0.07 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% -1.40 ถึง 1.26) ตามลำดับ ในส่วนของการตรวจวัดขนาดร่างกาย การทดลอง 1 ฉบับ แสดงให้เห็นว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในดัชนีมวลกายหรือน้ำหนักหลังจากการเสริมสังกะสีอะซิเตทเป็นเวลา 1 ปี ในผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดรูปเคียว จำนวนครั้งวิกฤตโรคเม็ดเลือดรูปเคียวทั้งหมดใน 1 ปีลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่ได้รับอาหารเสริมซิงค์ซัลเฟตเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยมีความแตกต่างเฉลี่ย -2.83 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% -3.51 ถึง -2.15) (ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 130 คน) แต่แตกต่างจากกลุ่มที่ได้รับซิงค์อะซิเตท โดยมีความแตกต่างเฉลี่ย 1.54 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% -2.01 ถึง 5.09) (ผู้เข้าร่วมทั้งหมด 22 คน) จากการทดลอง 1 ฉบับ ที่ระยะเวลา 3 เดือนและการทดลองอีก 1 ฉบับที่ระยะเวลา 1 ปี จำนวนรวมของการติดเชื้อทางคลินิกลดลงอย่างมีนัยสำคัญในกลุ่มที่เสริมสังกะสีเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม โดยมีค่าความแตกต่างเฉลี่ย 0.05 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% 0.01 ถึง 0.43) (จำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด = 36 คน) และค่าความแตกต่างเฉลี่ย -7.64 (ช่วงความเชื่อมั่น 95% -10.89 ถึง -4.39) (จำนวนผู้เข้าร่วมทั้งหมด = 21 คน) ตามลำดับ

ข้อสรุปของผู้วิจัย

ตามผลการศึกษาพบว่าไม่มีหลักฐานจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่บ่งชี้ถึงประโยชน์ใดๆ ของการเสริมสังกะสีต่อระดับสังกะสีในซีรั่มในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย อย่างไรก็ตาม มีการสังเกตว่าอัตราความเร็วของความสูงเพิ่มขึ้นในกลุ่มผู้ที่ได้รับการแทรกแซงนี้

มีหลักฐานที่หลากหลายเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมสังกะสีในผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดรูปเคียว ตัวอย่างเช่น มีหลักฐานที่แสดงว่าการเสริมสังกะสีเป็นเวลา 1 ปี จะเพิ่มระดับสังกะสีในเลือดในผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดรูปเคียว อย่างไรก็ตาม แม้ว่าระดับสังกะสีในเลือดจะเพิ่มขึ้นในผู้ป่วยที่ได้รับอาหารเสริมสังกะสี แต่ระดับฮีโมโกลบินและการวัดขนาดของร่างกายไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญระหว่างกลุ่ม หลักฐานของประโยชน์นั้นเห็นได้จากการลดลงของจำนวนการเกิดวิกฤตโรคเม็ดเลือดรูปเคียวในหมู่ผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดรูปเคียวที่ได้รับการเสริมสังกะสีซัลเฟตเป็นเวลา 1 ปี และจำนวนของการติดเชื้อทางคลินิกลดลงในหมู่ผู้ป่วยโรคเม็ดเลือดรูปเคียวที่ได้รับการเสริมสังกะสีเป็นเวลาทั้ง 3 เดือนและ 1 ปี

ข้อสรุปดังกล่าวได้มาจากข้อมูลจากการทดลองกลุ่มเล็ก ซึ่งโดยทั่วไปแล้วมีคุณภาพดี มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ ผู้แต่งแนะนำว่าควรมีการทดลองเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเสริมสังกะสีในโรคธาลัสซีเมียและโรคเม็ดเลือดรูปเคียว เนื่องจากเอกสารต่างๆ ได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของสังกะสีในโรคประเภทนี้แล้ว

บันทึกการแปล

ผู้แปล แพทย์หญิงชุติมา ชุณหะวิจิตร วันที่ 25 กันยายน 2024

Citation
Swe KM, Abas ABL, Bhardwaj A, Barua A, Nair NS. Zinc supplements for treating thalassaemia and sickle cell disease. Cochrane Database of Systematic Reviews 2013, Issue 6. Art. No.: CD009415. DOI: 10.1002/14651858.CD009415.pub2.