ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยาต้านอาการซึมเศร้าสำหรับรักษาภาวะซึมเศร้าในผู้ที่เป็นมะเร็ง

ใจความสำคัญ

การทบทวนวรรณกรรมนี้พบผลประโยชน์ที่เป็นไปได้ของยาต้านอาการซึมเศร้าเทียบกับยาหลอกในผู้เข้าร่วมที่มีภาวะซึมเศร้าที่เป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตาม หลักฐานยังไม่เชื่อมั่นและเป็นการยากที่จะสรุปผลที่ชัดเจน การใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยมะเร็งควรพิจารณาเป็นรายบุคคล

ประเด็นคืออะไร

อาการซึมเศร้ามักพบบ่อยในผู้ที่เป็นมะเร็ง บ่อยครั้งที่อาการซึมเศร้าเป็นการตอบสนองปกติหรือเป็นผลโดยตรงจากการเจ็บป่วยที่รุนแรงและโรคที่คุกคามต่อชีวิต ดังนั้นจึงไม่ง่ายที่จะกำหนดว่าอาการซึมเศร้ากลายเป็นโรคโดยสมบูรณ์และจำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยา การทบทวนวรรณกรรมทางวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันเผยว่า อาการซึมเศร้าแม้ไม่รุนแรงก็มีผลกระทบที่เกี่ยวข้องต่อโรคมะเร็ง ลดคุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วย และส่งผลกระทบต่อการยินยอมปฏิบัติตามแนวทางการรักษาโรคมะเร็ง และอาจเพิ่มโอกาสการตาย

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการประเมินประสิทธิผลและการยอมรับของยาต้านอาการซึมเศร้าในการรักษาอาการซึมเศร้าในผู้ที่เป็นมะเร็งที่ทุกตำแหน่งของร่างกายและทุกความรุนแรง

เราทำอะไร

เราค้นหาฐานข้อมูลทางการแพทย์สำหรับการศึกษาทางคลินิกที่ออกแบบมาอย่างดี โดยเปรียบเทียบระหว่างยาต้านอาการซึมเศร้ากับยาหลอก หรือยาต้านอาการซึมเศร้ากับยาต้านอาการซึมเศร้าอื่นๆ ในผู้ใหญ่ที่มีการวินิจฉัยโรคมะเร็งและโรคซึมเศร้า

เราพบอะไร

เราได้ทบทวนการศึกษา 14 ฉบับ ที่ประเมินประสิทธิผลของยาต้านอาการซึมเศร้าในผู้เข้าร่วม 1364 คน เราพบว่ายาต้านอาการซึมเศร้าอาจลดอาการซึมเศร้าหลังการรักษา 6 ถึง 12 สัปดาห์ในผู้ที่เป็นมะเร็ง ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะบอกว่าสามารถทนต่อยาต้านอาการซึมเศร้าได้ดีเพียงใดเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก ผลการศึกษาไม่แสดงให้เห็นว่ายาต้านอาการซึมเศร้าชนิดใดดีกว่ากัน ทั้งในด้านประโยชน์และความเป็นอันตราย

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมากเนื่องจากขาดข้อมูลเกี่ยวกับการออกแบบการศึกษา จำนวนตัวอย่างในการวิเคราะห์ผลน้อย และความแตกต่างระหว่างลักษณะของการศึกษาและผลการศึกษา

ข้อสรุปคืออะไร

แม้ภาวะซึมเศร้าจะมีผลต่อผู้ป่วยมะเร็ง แต่การศึกษามีน้อยและคุณภาพต่ำ เราสังเกตเห็นประโยชน์ที่เป็นไปได้เล็กน้อยของยาต้านอาการซึมเศร้าในการรักษาอาการซึมเศร้าในผู้ที่เป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตาม การค้นพบนี้ได้รับการสนับสนุนจากหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมาก เพื่อให้แพทย์และผู้ป่วยทราบได้ดีขึ้น เราต้องการการศึกษาที่ใหญ่ขึ้นซึ่งสุ่มให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาที่แตกต่างกัน ปัจจุบันเราไม่สามารถสรุปผลที่น่าเชื่อถือเกี่ยวกับผลของยารักษาโรคซึมเศร้าต่อภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยมะเร็ง การทบทวนวรรณกรรมของเราดูเหมือนจะบ่งชี้ว่าผู้ที่เป็นมะเร็งควรได้รับการปฏิบัติในลักษณะเดียวกันกับประชากรทั่วไปในการจัดการกับอาการซึมเศร้า

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนพฤศจิกายน 2022

บทนำ

ภาวะซึมเศร้าอย่างรุนแรงและภาวะซึมเศร้าอื่น ๆ เป็นเรื่องที่พบบ่อยในผู้ที่เป็นมะเร็ง สภาวะเหล่านี้ไม่สามารถตรวจพบได้ง่ายในทางคลินิก เนื่องจากความทับซ้อนระหว่างอาการทางการแพทย์และอาการทางจิตเวช ตามที่อธิบายไว้ในคู่มือการวินิจฉัย เช่น Diagnostic and Statistical Manual of Mental Disorders (DSM) และ International Classification of Diseases (ICD) นอกจากนี้ยังมีความท้าทายอย่างยิ่งที่จะแยกความแตกต่างระหว่างปฏิกิริยาทางพยาธิวิทยาและปฏิกิริยาตามปกติต่อการเจ็บป่วยที่รุนแรงเช่นนี้ อาการซึมเศร้าแม้จะอยู่ในอาการแสดงที่ต่ำกว่าเกณฑ์ ก็ยังส่งผลกระทบด้านลบในแง่ของคุณภาพชีวิต การปฏิบัติตามการรักษาด้วยยาต้านมะเร็ง ความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย และอาจเสี่ยงเพิ่มอัตราการเสียชีวิตของตัวมะเร็งเอง การศึกษาแบบ Randomised controlled trials (RCTs) เกี่ยวกับประสิทธิภาพ ความทนต่อยา และการยอมรับยารักษาโรคซึมเศร้าในประชากรกลุ่มนี้มีน้อยและมักรายงานผลที่ขัดแย้งกัน

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินประสิทธิภาพ ความทนทาน และการยอมรับของยาต้านอาการซึมเศร้าในการรักษาอาการซึมเศร้าในผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ที่เป็นมะเร็ง (ทุกตำแหน่งและระยะ)

วิธีการสืบค้น

เราใช้วิธีการค้นหาตามแบบมาตรฐานและครอบคลุมของ Cochrane วันที่ค้นหาล่าสุดคือพฤศจิกายน 2022

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวบรวมการศึกษาแบบ RCTs ที่เปรียบเทียบยาต้านอาการซึมเศร้ากับยาหลอก หรือยาต้านอาการซึมเศร้ากับยาต้านอาการซึมเศร้าอื่นๆในผู้ใหญ่ (อายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป) ที่ได้รับการวินิจฉัยเบื้องต้นว่าเป็นมะเร็งและมีภาวะซึมเศร้า (รวมถึงโรคซึมเศร้าแบบรุนแรง ภาวะการปรับตัวผิดปกติ โรคซึมเศร้าแบบดิสทีเมีย (dysthymic disorder) หรืออาการซึมเศร้าในกรณีที่ไม่มีการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

เราใช้วิธีมาตรฐานของ Cochrane ผลลัพธ์หลักของเราคือ 1. ประสิทธิภาพเป็นผลแบบต่อเนื่อง ผลลัพธ์รองของเราคือ 2. ประสิทธิภาพเป็นผลลัพธ์แบบแบ่งขั้ว, 3. การปรับตัวทางสังคม 4. คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพ และ 5. การออกกลางคัน เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับแต่ละผลลัพธ์

ผลการวิจัย

เราพบการศึกษา 14 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 1364 คน) ซึ่ง 10 เรื่องมีส่วนร่วมใน meta-analysis สำหรับผลลัพธ์หลัก การศึกษา 6 ฉบับ เปรียบเทียบยาต้านอาการซึมเศร้าและยาหลอก การศึกษา 3 ฉบับเปรียบเทียบยาต้านอาการซึมเศร้า 2 ตัว และการศึกษา 1 ฉบับซึ่งมี 3 กลุ่มเปรียบเทียบยาต้านอาการซึมเศร้า 2 ตัวและยาหลอก ในการปรับปรุงนี้ เรารวมการศึกษาเพิ่มเติม 4 ฉบับ โดย 3 ฉบับให้ข้อมูลสำหรับผลลัพธ์หลัก

สำหรับการตอบสนองต่อการรักษาระยะเฉียบพลัน (6 ถึง 12 สัปดาห์) ยาต้านอาการซึมเศร้าอาจลดอาการซึมเศร้าเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก แม้ว่าหลักฐานจะไม่เชื่อมั่นมากก็ตาม สิ่งนี้เป็นจริงเมื่อวัดอาการซึมเศร้าเป็นแบบค่าต่อเนื่อง (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) −0.52, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) −0.92 ถึง −0.12; การศึกษา 7 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 511 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) และเมื่อวัดเป็นสัดส่วนของผู้ที่มีภาวะซึมเศร้าเมื่อสิ้นสุดการศึกษา (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 0.74, 95% CI 0.57 ถึง 0.96; การศึกษา 5 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 662 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีการทดลองใดรายงานข้อมูลในการติดตามผลของการตอบสนอง (มากกว่า 12 สัปดาห์) ในการเปรียบเทียบแบบตัวต่อตัว เราดึงข้อมูลของ Selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) เทียบกับ tricyclic antidepressants (TCAs) และสำหรับ mirtazapine เทียบกับ TCAs ไม่มีความแตกต่างระหว่างยาต้านอาการซึมเศร้าประเภทต่างๆ (ผลลัพธ์แบบต่อเนื่อง: SSRI versus TCA: SMD −0.08, 95% CI −0.34 ถึง 0.18; การศึกษา 3 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 237 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก; mirtazapine เทียบกับ TCA: SMD −4.80, 95% CI −9.70 ถึง 0.10; การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 25 คน)

มีผลที่เป็นประโยชน์ที่เป็นไปได้ของยาต้านอาการซึมเศร้าเมื่อเทียบกับยาหลอกสำหรับผลลัพธ์ประสิทธิภาพรอง (ผลลัพธ์ชนิดต่อเนื่อง การตอบสนองในหนึ่งถึงสี่สัปดาห์ หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีความแตกต่างสำหรับผลลัพธ์เหล่านี้เมื่อเปรียบเทียบยาต้านอาการซึมเศร้า 2 ประเภทที่แตกต่างกัน แม้ว่าหลักฐานจะไม่แน่นอนอย่างมากก็ตาม

ในเรื่องของการออกจากการศึกษากลางคันเนื่องจากสาเหตุใดๆ เราไม่พบความแตกต่างระหว่างยาต้านอาการซึมเศร้าเมื่อเทียบกับยาหลอก (RR 0.85, 95% CI 0.52 ถึง 1.38; การศึกษา 9 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 889 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) และระหว่าง SSRIs และ TCAs (RR 0.83 , 95% CI 0.53 ถึง 1.22; การศึกษา 3 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 237 คน)

เราปรับลดระดับความเชื่อมั่นของหลักฐานเนื่องจากคุณภาพที่แตกต่างกันของการศึกษา ความไม่แม่นยำที่เกิดจากขนาดตัวอย่างเล็กและ CI ที่กว้าง และความไม่สอดคล้องกันเนื่องจากความแตกต่างทางสถิติหรือทางคลินิก

ข้อสรุปของผู้วิจัย

แม้ภาวะซึมเศร้าจะมีผลต่อผู้ป่วยมะเร็ง แต่การศึกษามีน้อยและคุณภาพต่ำ การทบทวนวรรณกรรมนี้พบประโยชน์ที่เป็นไปได้ของยาต้านอาการซึมเศร้าเทียบกับยาหลอกในผู้เข้าร่วมที่มีภาวะซึมเศร้าที่เป็นมะเร็ง อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำมาก และจากผลการวิจัยเหล่านี้ เป็นเรื่องยากที่จะสรุปผลที่ชัดเจนสำหรับแนวทางการปฏิบัติ การใช้ยาต้านอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคมะเร็งควรได้รับการพิจารณาเป็นรายบุคคลและพิจารณาถึงการขาดข้อมูลที่เปรียบเทียบโดยตรง (head-to-head data) ตัวเลือกของยาใดๆที่จะกำหนด อาจจะขึ้นอยู่กับข้อมูลประสิทธิภาพของยาต้านอาการซึมเศร้าในประชากรทั่วไปที่มีโรคซึมเศร้าแบบรุนแรง (Major Depression) ยังต้องคำนึงถึงข้อมูลเกี่ยวกับผู้ป่วยที่มีโรคร่วมร้ายแรงอื่นๆซึ่งแนะนำว่ามีข้อมูลด้านความปลอดภัยในเชิงบวกสำหรับ SSRIs นอกจากนี้ การปรับปรุงนี้แสดงให้เห็นว่าการใช้ esketamine ยาต้านอาการซึมเศร้าที่เพิ่งได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาในสูตรฉีดเข้าหลอดเลือดดำอาจแสดงถึงการรักษาที่เป็นไปได้สำหรับประชากรกลุ่มนี้ เนื่องจากสามารถใช้เป็นทั้งยาระงับความรู้สึกและยาต้านอาการซึมเศร้า อย่างไรก็ตาม ข้อมูลยังสรุปไม่ได้และจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม เราสรุปได้ว่าเพื่อให้ข้อมูลการปฏิบัติทางคลินิกดีขึ้น มีความจำเป็นเร่งด่วนสำหรับการทดลองขนาดใหญ่ เรียบง่าย สุ่มตัวอย่าง เป็นไปได้ในทางปฏิบัติ เปรียบเทียบยาต้านอาการซึมเศร้าที่ใช้กันทั่วไปกับยาหลอกในผู้ที่เป็นมะเร็งซึ่งมีอาการซึมเศร้า โดยมีหรือไม่มีการวินิจฉัยอย่างเป็นทางการว่าเป็นโรคซึมเศร้า

บันทึกการแปล

ผู้แปล ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 16 เมษายน 2023 Edit โดย ผกากรอง 12 มิถุนายน 2023

Citation
Vita G, Compri B, Matcham F, Barbui C, Ostuzzi G. Antidepressants for the treatment of depression in people with cancer. Cochrane Database of Systematic Reviews 2023, Issue 3. Art. No.: CD011006. DOI: 10.1002/14651858.CD011006.pub4.