ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วิธีการเพื่อป้องกันอาการท้องผูกหลังคลอดบุตร

เรื่องนี้มีปัญหาอย่างไร

อาการท้องผูกในช่วงหลังคลอดเป็นความผิดปกติของลำไส้ซึ่งมีลักษณะอาการเช่นปวดหรือไม่สบายเครียดอุจจาระเป็นก้อนแข็งและรู้สึกถึงการขับถ่ายของลำไส้ที่ไม่สมบูรณ์ การสวนถ่ายก่อนคลอด ความสามารถของสตรีในการกินอาหารในช่วงคลอด และพฤติกรรมการกินที่ผิดปกติและเปลี่ยนแปลงในช่วงสองสามวันแรกหลังคลอดอาจมีผลต่อการเคลื่อนไหวของลำไส้ในช่วงไม่กี่วันหลังคลอด นี่คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ครั้งแรก ในปี 2015

ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ

ความเจ็บปวดและความรู้สึกไม่สบายตัวระหว่างการถ่ายอุจจาระอาจเป็นสาเหตุของความกังวลสำหรับคุณแม่มือใหม่ที่กำลังพักฟื้นจากความเครียดจากการคลอดโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าสตรีนายนั้นได้รับการเย็บซ่อมฝีเย็บหรือเป็นโรคริดสีดวงทวาร อาการท้องผูกหลังคลอดอาจทำให้เครียดได้เนื่องจากการกดทับที่ผนังทวารหนักมากเกินไปซึ่งนำไปสู่การกระสับกระส่ายและการเจ็บปวดขณะถ่ายอุจจาระซึ่งอาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของมารดาและทารกแรกเกิด

ผู้วิจัยพบหลักฐานเชิงประจักษ์อะไรบ้าง

เราค้นหาการศึกษาจนถึงวันที่ 7 ตุลาคม 2019 เราไม่พบการศึกษาใหม่ที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกของเรา ดังนั้นเราจึงรวม 5 การทดลอง (ซึ่งเกี่ยวข้องกับสตรีทั้งหมด 1208 คน) ในการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้ โดยรวมแล้วการศึกษาได้รับการรายงานที่ไม่ดีและ 4 ใน 5 การศึกษาได้รับการเผยแพร่เมื่อ 40 ปีก่อน มี 4 การศึกษาเปรียบเทียบยาระบายกับยาหลอก

มี 2 การศึกษาประเมินผลของยาระบาย ซึ่งตอนนี้เราพบว่าอาจเป็นอันตรายต่อมารดาที่ให้นมบุตร ยา Danthron แสดงให้เห็นว่าก่อให้เกิดมะเร็งในสัตว์ และอีกตัวคือ Bisoxatin acetate ไม่แนะนำในกรณีที่ให้นมบุตร ดังนั้นเราจึงไม่รวมผลของการทดลองเหล่านี้ในการค้นพบหลักของเรา

การศึกษาไม่ได้ดูที่ความเจ็บปวดหรือความตึงเครียดในการถ่ายอุจจาระ อุบัติการณ์ของอาการท้องผูก หรือคุณภาพชีวิต แต่ประเมินเวลาในการเคลื่อนไหวของลำไส้ครั้งแรก ในการศึกษาหนึ่งที่ประเมินผลของมะขามแขกเมื่อเทียบกับกลุ่มที่ได้รับยาหลอก พบว่าสตรีจำนวนมากในกลุ่มที่ได้ยาระบายมีการเคลื่อนไหวของลำไส้ในวันที่คลอดและมีสตรีน้อยลงที่มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ครั้งแรกในวันที่ 2 และ 3 ในขณะที่ผลยังสรุปไม่ได้ระหว่างกลุ่มในวันที่ 1 และ 4 หลังคลอด สตรีจำนวนมากมีอาการปวดบีบท้องเมื่อเทียบกับสตรีในกลุ่มยาหลอกและทารกที่มารดาได้รับยาระบายไม่มีแนวโน้มที่จะมีอาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือท้องร่วง หลักฐานสำหรับผลลัพธ์เหล่านี้ส่วนใหญ่มีความไม่แน่นอนเนื่องจากเรามีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับความเสี่ยงของการเกิดอคติและผลลัพธ์ทั้งหมดมาจากการศึกษาขนาดเล็กที่ดำเนินการในสถาบันแห่งเดียวในแอฟริกาใต้

มี 1 การทดลอง เปรียบเทียบยาระบายร่วมกับยาเพิ่มการเกิดอุจจาระ (Ispaghula husk) กับยาระบายอย่างเดียวในสตรีที่ได้รับการผ่าตัดเพื่อเย็บแซมการฉีกขาดของฝีเย็บระดับที่ 3 (เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนักภายในหรือภายนอก) ที่เกิดขึ้นระหว่างการคลอดทางช่องคลอด การทดลองรายงานเกี่ยวกับความเจ็บปวดหรือการเบ่งถ่ายอุจจาระ แต่ไม่พบความแตกต่างที่ชัดเจนในเรื่องคะแนนความเจ็บปวดระหว่างกลุ่ม การทดลองรายงานว่าสตรีที่ได้รับยาระบายร่วมกับยาที่ทำให้เกิดการสร้างอุจจาระมีแนวโน้มที่จะมีอาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ในช่วงหลังคลอดทันที อย่างไรก็ตามหลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมาก การทดลองไม่ได้รายงานเกี่ยวกับผลเสียใด ๆ ต่อทารก

หลักฐานนี้หมายความว่าอย่างไร

ไม่มีหลักฐานเพียงพอจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบเกี่ยวกับประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาระบายในช่วงหลังคลอดระยะแรกเพื่อให้ได้ข้อสรุปทั่วไปเกี่ยวกับการใช้ยาเพื่อป้องกันอาการท้องผูก

เราไม่พบการทดลองใดๆ ที่ประเมินผลของวิธีการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม เช่น การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงและการออกกำลังกาย เราต้องการการทดลองขนาดใหญ่และมีคุณภาพสูงในเรื่องนี้โดยเฉพาะเกี่ยวกับวิธีการที่ไม่ใช่ทางการแพทย์เพื่อป้องกันอาการท้องผูกหลังคลอด เช่น คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารและการออกกำลังกาย

บทนำ

อาการท้องผูกหลังคลอดที่มีอาการเช่นปวดหรือความรู้สึกไม่สบาย ความเครียด และอุจจาระแข็งเป็นภาวะที่พบบ่อยที่ส่งผลต่อมารดา โรคริดสีดวงทวาร ความเจ็บปวดบริเวณแผลฝีเย็บ ผลของฮอร์โมนการตั้งครรภ์ และการสร้างเม็ดเลือดที่ใช้ในการตั้งครรภ์สามารถเพิ่มความเสี่ยงของอาการท้องผูกหลังคลอดได้ โดยปกติแล้วจะมีการรกระตุ้นการรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงและเพิ่มปริมาณของเหลว แม้ว่ายาระบายมักใช้ในการบรรเทาอาการท้องผูก แต่ควรตรวจสอบประสิทธิผลและความปลอดภัยของวิธีการป้องกันที่มีอยู่เพื่อป้องกันอาการท้องผูกหลังคลอด นี่คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ครั้งแรก ในปี 2015

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของมาตรการป้องกันอาการท้องผูกหลังคลอด

วิธีการสืบค้น

ในการปรับปรุงนี้เราสืบค้นจาก Cochrane Pregnancy and Childbirth's Trials Register และ ทะเบียนการทดลอง 2 ฐาน, ClinicalTrials.gov, the WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) (7 ตุลาคม 2019) และเอกสารอ้างอิงของการทดลองที่สืบค้นมาได้

เกณฑ์การคัดเลือก

เราพิจารณาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ทั้งหมดที่เปรียบเทียบวิธีการใด ๆ เพื่อป้องกันอาการท้องผูกหลังคลอดเทียบกับวิธีการอื่นๆ ยาหลอก หรือไม่ได้รับการดูแลรักษาใดๆ ในสตรีหลังคลอด วิธีการรักษาอาจรวมถึงเภสัชวิทยา (เช่นยาระบาย) และวิธีการที่ไม่ใช่เภสัชวิทยา (เช่นการฝังเข็ม วิธีการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม) รวมถึง การทดลองที่เป็นแบบ Quasi-randomised trials และ cluster-RCTs แต่พบว่าไม่พบการทดลองลักษณะดังกล่าว การทดลองแบบ cross-over design ไม่ถูกนำเข้ามารวมในการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ประพันธ์การทบทวน 2 คน คัดกรองผลการค้นหาอย่างอิสระต่อกันเพื่อเลือกการทดลองที่อาจเกี่ยวข้อง ดึงข้อมูลประเมินความเสี่ยงของอคติและความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้แนวทาง GRADE เราไม่ได้รวมผลลัพธ์ไว้ในการวิเคราะห์อภิมาน แต่รายงานตามการศึกษา

ผลการวิจัย

เรารวม 5 การทดลอง (มารดาหลังคลอด 1208 ราย); 3 RCTs และ 2 quasi-RCTs มี 4 การทดลอง เปรียบเทียบยาระบายกับยาหลอก อีก 1 การทดลอง เปรียบเทียบยาระบายร่วมกับยาที่เพิ่มปริมาณอุจจาระเปรียบเทียบกับยาระบายอย่างเดียวในสตรีที่ได้รับการเย็บซ่อมฝีเย็บระดับที่ 3 โดยรวมแล้วการทดลองได้รับการรายงานที่ไม่ดีและ 4 ใน 5 การทดลองได้รับการเผยแพร่เมื่อ 40 ปีก่อน เราได้ตัดสินความเสี่ยงของอคติว่าไม่ชัดเจนสำหรับโดเมนส่วนใหญ่ โดยรวมแล้วเราพบว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติสูงในการเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ (selection bias) และอคติในการติดตามผู้เข้าร่วมโครงการ (attrition bias)

การเปรียบเทียบระหว่างยาระบายกับยาหลอก

เรารวมการ 4 การทดลองไว้ในการเปรียบเทียบนี้ มี 2 การทดลอง ได้ตรวจสอบผลของยาระบายที่ไม่ใช้แล้ว พบว่ามีคุณสมบัติในการก่อมะเร็ง (Danthron) และอีกอันไม่แนะนำสำหรับสตรีให้นมบุตร (Bisoxatin acetate) ดังนั้นเราจึงไม่รวมผลลัพธ์ของการทดลองนี้ไว้ในการค้นพบหลักของเรา

ไม่มีการทดลองใดที่รวมอยู่ในการเปรียบเทียบนี้ที่ประเมินผลลัพธ์หลักของเรา: ความเจ็บปวดหรือความตึงเครียดจากการถ่ายอุจจาระ อุบัติการณ์ของอาการท้องผูกหลังคลอด หรือคุณภาพชีวิต หรือผลลัพธ์รองของเรา

ยาระบาย (มะขามแขก) อาจเพิ่มจำนวนสตรีที่มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ครั้งแรกภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด (risk ratio (RR) 2.90, 95% confidence interval (CI) 2.24 ถึง 3.75; 1 การทดลอง; สตรี 471 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ); อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อจำนวนสตรีที่มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ครั้งแรกในวันแรกหลังคลอด (RR 0.94, 95% CI 0.72 ถึง 1.22; 1 การทดลอง, สตรี 471 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมาก); อาจลดจำนวนสตรีที่มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ครั้งแรกในวันที่ 2 (RR 0.23, 95% CI 0.11 ถึง 0.45; 1 การทดลอง; สตรี 471 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) และวันที่ 3 (RR 0.05, 95% CI 0.00 ถึง 0.89; 1 การทดลอง; สตรี 471 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ); และอาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อจำนวนสตรีที่มีการเคลื่อนไหวของลำไส้ครั้งแรกในวันที่ 4 หลังคลอด (RR 0.22, 95% CI 0.03 ถึง 1.87; 1 การทดลอง; สตรี 471 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) แต่บางส่วนของหลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมาก

ไม่มีการรายงานเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนอื่นๆ หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ แสดงให้เห็นว่ายาระบาย (มะขามแขก) อาจเพิ่มจำนวนสตรีที่มีอาการปวดบีบท้อง (RR 4.23, 95% CI 1.75 ถึง 10.19; 1 การทดลอง, สตรี 471 คน) หลักฐานมีความน่าเชื่อถือต่ำมาก แสดงให้เห็นว่ายาระบายที่มารดาได้รับอาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อการทำให้อุจจาระเหลวในทารก (RR 0.62, 95% CI 0.16 ถึง 2.41; 1 การทดลอง, ทารก 281 คน); หรือท้องเสีย (RR 2.46, 95% CI 0.23 ถึง 26.82; 1 การทดลอง, ทารก 281 คน)

ยาระบายร่วมกับยาที่ทำให้เกิดการสร้างอุจจาระเปรียบเทียบกับยาระบายอย่างเดียว

หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมากจาก 1 การทดลอง (สตรี 147 คน) แสดงให้เห็นว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างสตรี 2 กลุ่มนี้ที่ได้รับการซ่อมแซมฝีเย็บระดับที่ 3 มีการรายงานเฉพาะข้อมูลมัธยฐานและช่วงเท่านั้น การทดลองยังรายงานว่าไม่มีความแตกต่างในอุบัติการณ์ของอาการท้องผูกหลังคลอด (ไม่มีรายงานข้อมูล) แต่ไม่ได้รายงานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิต เวลาในการเคลื่อนไหวของลำไส้ครั้งแรกรายงานเป็นค่ามัธยฐาน (ช่วง); หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากชี้ให้เห็นความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่างทั้ง 2 กลุ่ม ยาระบายร่วมกับสารเพิ่มปริมาณอุจจาระอาจเพิ่มจำนวนสตรีที่มีอาการกลั้นอุจจาระไม่อยู่ในช่วง 10 วันแรกหลังคลอด (RR 1.81, 95% CI 1.01 ถึง 3.23; 1 การทดลอง, สตรี 147 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) การทดลองไม่ได้รายงานเกี่ยวกับผลข้างเคียงของวิธีการที่ให้ต่อทารกหรือผลลัพธ์รองหลายประการของเรา

ข้อสรุปของผู้วิจัย

ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสรุปทั่วไปเกี่ยวกับประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาระบายเพื่อป้องกันอาการท้องผูกหลังคลอด หลักฐานในการทบทวนนี้ได้รับการประเมินว่าเป็นหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำถึงต่ำมาก โดยมีการลดระดับการตัดสินใจโดยพิจารณาจากข้อจำกัดในการออกแบบการทดลอง ความไม่แน่นอนและความไม่แม่นยำ

เราไม่พบการทดลองใด ๆ ที่ประเมินผลของการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม เราพบ 4 การทดลอง ที่ตรวจสอบยาระบายเทียบกับยาหลอก และอีก 1 การทดลอง ที่ตรวจสอบยาระบายเทียบกับยาระบายร่วมกับสารที่เพิ่มปริมาณอุจจาระ

นอกจากนี้จำเป็นต้องมีการทดลองอย่างเข้มงวดเพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาระบายในช่วงหลังคลอดเพื่อป้องกันอาการท้องผูก การทดลองควรประเมินวิธีการบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม และท่าทางที่ช่วยเพิ่มการถ่ายอุจจาระ ควรรายงานเกี่ยวกับผลลัพธ์หลักจากการทบทวนนี้: ความเจ็บปวดหรือความตึงเครียดในการถ่ายอุจจาระ อุบัติการณ์ของอาการท้องผูกหลังคลอด คุณภาพชีวิต ระยะเวลาในการขับถ่ายครั้งแรกหลังคลอดและผลข้างเคียงที่เกิดจากวิธีการที่ให้ เช่น คลื่นไส้อาเจียนปวด และ การผายลม

บันทึกการแปล

Translation notes CD011625.pub3

Citation
Turawa EB, Musekiwa A, Rohwer AC. Interventions for preventing postpartum constipation. Cochrane Database of Systematic Reviews 2020, Issue 8. Art. No.: CD011625. DOI: 10.1002/14651858.CD011625.pub3.