ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายสำหรับอาการปวดเรื้อรังในผู้ใหญ่: ภาพรวมของการทบทวนวรรณกรรมของ Cochrane

ความเป็นมา

อาการปวดเรื้อรัง (ระยะเวลานาน)เป็น ความเจ็บปวดที่ใช้เวลานานเกินกว่าเวลาที่ร่างกายรักษาตัวเองได้ตามปกติ มักจะหมายถึงอาการเจ็บปวดที่เป็นนานอย่างน้อยสามเดือน อาการปวดเรื้อรังทำให้เกิดปัญหามากมาย นอกเหนือจากความเจ็บปวด ยังรวมทั้งความเหนื่อยล้า วิตกกังวล ซึมเศร้า และคุณภาพชีวิตไม่ดี

ในอดีตผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรังจะได้รับคำแนะนำให้พักผ่อน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันคำแนะนำทั่วไป คือ ให้ดำเนินกิจกรรมได้ตามปกติ เพื่อพิจารณาว่ากิจกรรมนั้นจะมีผลกระทบโดยตรงกับการเจ็บปวด หรือเพื่อต่อต้านกับปัญหาอื่น ๆ ที่มีความสัมพันธ์กับการเจ็บปวด ดังนั้น การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิผลผลของกิจกรรมทางกาย (physical activity) ในผู้ที่มีอาการเจ็บปวดเรื้อรัง

การทบทวนวรรณกรรมในภาพรวม ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมและวิเคราะห์การทบทวนวรรณกรรม ที่ตีพิมพ์เผยแพร่โดย Cochrane ที่ศึกษากิจกรรมทางกาย และออกกำลังกายเพื่อรักษาความเจ็บปวดเรื้อรังซึ่งประกอบด้วย อาการข้ออักเสบ ปวดหลังและคอ และการปวดประจำเดือน

ผลลัพธ์ที่สำคัญและคุณภาพของหลักฐาน

ในเดือนมกราคม ค.ศ. 2016, เราพบการทบทวนวรรณกรรมของ Cochraneจำนวน 21 เรืองที่ครอบคลุมการวินิจฉัยโรคที่แตกต่างกัน 10 โรค (โรคข้อเสื่อม (โรคข้อ), โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (ข้อปวดและบวม), โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (อาการปวดไปทั่วร่างกาย) ปวดหลังส่วนล่าง, อาการปวดขาเป็นระยะๆ (ปวดตะคริวในขา), ภาวะปวดประจำเดือน (ปวดรอบเดือน), กลุ่มอาการปวดคอ (ปวดคอ), การบาดเจ็บกระดูกไขสันหลัง, กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอ(อาการนี้จะเกิดขึ้นในผู้ที่เคยติดเชื้อโปลิโอ), โรคผิวสะบ้าอักเสบ (ปวดตรงด้านหน้าของหัวเข่า) โปรแกรมกิจกรรมทางกายหรือการออกกำลังกายที่ใช้ในการทดลองแตกต่างกันทั้งความถี่ ความเข้มข้น และประเภท รวมถึงกิจกรรมทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างความแข็งแรง ความอดทน ความยืดหยุ่นและพิสัยของการเคลื่อนไหว และการออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อ.

คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากรายงานวิจัยส่วนใหญ่ที่รวบรวมเข้ามาใแต่ละการทบทวนวรรณกรรมมีผู้ที่มีอาการเจ็บปวดเรื้อรังจำนวนน้อย ในทางทฤษฎี การศึกษาควรมีผู้เข้าร่วมในการทดลองหลายร้อยคนที่เลือกเข้าในแต่ละกลุ่มทดลอง แต่ในความจริงการศึกษาส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาในการทบทวนวรณกรรมมีผู้เข้าร่วมการศึกษาน้อยกว่า 50 คน

มีหลักฐานที่แสดงถึงกิจกรรมทางกายช่วยลดความรุนแรงของความเจ็บปวดได้ ช่วยปรับสมรรถนะทางกายให้ดีขึ้น และมีผลต่อทั้งสภาพจิตใจและคุณภาพชีวิต อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์นี้ไม่ได้พบในทุกการศึกษา ซึ่งความไม่สอดคล้องอาจเกิดขึ้นได้ เนื่องจากคุณภาพของการศึกษา หรือเพราะมีกิจกรรมทางกายที่แตกต่างกันได้นำมาทดสอบในการศึกษาทั้งหลาย นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมโครงการมีความเจ็บปวดในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง ไม่ใช่อาการปวดปานกลางถึงรุนแรง

สรุปผล

ตามหลักฐานที่มีอยู่นั้น (มีเพียงร้อยละ 25 ของการศึกษาที่นำเข้ารายงานความเป็นไปได้ของอันตรายหรือบาดเจ็บจากสิ่งทดลอง), กิจกรรมทางกายไม่ทำให้เกิดอันตราย อาการปวดกล้ามเนื้อนั้น บางครั้งจะเกิดขึ้นเมื่อเริ่มออกกำลังกายใหม่ๆ แต่จะเริ่มบรรเทาลงเมื่อผู้เข้าร่วมโครงการปรับตัวเข้ากับกิจกรรมใหม่ได้ นี่คือสิ่งสำคัญที่แสดงให้เห็นว่าโดยทั่วไปกิจกรรมทางกายเป็นที่ยอมรับได้และไม่น่าจะทำให้เกิดอันตรายในผู้ที่มีอาการเจ็บปวดเรื้อรัง ซึ่งมีผู้คนจำนวนมากอาจจะเคยกลัวว่ากิจกรรมทางกายจะไปเพิ่มความเจ็บปวดแก่พวกเขายิ่งขึ้น

การศึกษาครั้งต่อไปควรจะมุ่งเน้นที่การเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ รวมไปถึงเพิ่มความรุนแรงของความเจ็บปวด (เพิ่มจำนวนคนที่มีความรุนแรงของความเจ็บปวดเพิ่มขึ้น) และเพิ่มระยะเวลาทั้งการให้สิ่งทดลอง (โปรแกรมการอกกำลังกาย) และระยะเวลาการติดตามให้ยาวนานยิ่งขึ้น ความเจ็บปวดนี้เป็นโรคเรื้อรังโดยธรรมชาติ ดังนั้น การให้กิจกรรมที่มีระยะเวลายาวนาน กับระยะเวลาการฟื้นตัวและการติดตามที่ยาวนานขึ้น อาจจะเพิ่มประสิทธิผลได้มากกว่า

บทนำ

ความเจ็บปวดเรื้อรัง หมายถึง การเจ็บปวดที่ใช้เวลานานเกินกว่าที่เนื้อเยื่อจะรักษาตัวเองได้ตามปกติ โดยทั่วไปประมาณถึง 12 สัปดาห์ ความเจ็บปวดเรื้อรังก่อให้เกิดความพิการ วิตกกังวล ซึมเศร้า รบกวนการนอนหลับ คุณภาพชีวิตแย่ลง และสิ้นเปลืองการดูแลสุขภาพ ความเจ็บปวดเรื้อรังมีค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักความชุกในผู้ใหญ่อยู่ร้อยละ 20

หลายปีที่ผ่านมา ทางเลือกในการรักษาการเจ็บปวดเรื้อรังจะเป็นการแนะนำให้พักหรือหยุดกิจกรรม อย่างไรก็ตาม การออกกำลังกายอาจจะมีประโยชน์โดยเฉพาะในการลดความรุนแรงของการปวดเรื้อรัง ตลอดจนมีประโยชน์เกี่ยวกับการปรับสมรรถภาพทางกาย สุขภาพจิต และการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้น

โปรแกรมกิจกรรมทางกายและโปรแกรมการออกกำลังกายได้รับการสนับสนุนและผลักดันในหลายระบบการดูแลสุขภาพ และเพื่อรักษาความเจ็บปวดเรื้อรังต่าง ๆ ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่จะต้องสร้างประสิทธิภาพและความปลอดภัยของโปรแกรมต่าง ๆ เหล่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องระบุปัจจัยที่สำคัญซึ่งเป็นตัวกำหนดความสำเร็จหรือล้มเหลวของโปรแกรม

วัตถุประสงค์

เพื่อหาภาพรวมของการทบทวนวรรณกรรมฯของ Cochrane ในผู้ใหญ่ที่มีอาการปวดเรื้อรัง (1) เพื่อประเมินประสิทธิผลความแตกต่างของกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายในการลดความรุนแรงของอาการปวดและผลกระทบต่อการทำงานของร่างกาย คุณภาพชีวิต และการใช้การดูแลสุขภาพ และ (2) เพื่อประเมินหลักฐานเกี่ยวกับผลข้างเคียงหรืออันตรายที่สัมพันธ์กับกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกาย

วิธีการ

เราสืบค้นการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบของการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม ใน Cochrane Database of Systematic Reviews (CDSR) ใน Cochrane Library (CDSR 2016, Issue 1) ติดตามการทบทวนที่มีการปรับปรุง และเค้าโครงในกรณีที่มีการตีพิมพ์เผยแพร่ฉบับสมบูรณ์ สิ้นสุดการติดตามวันที่ 21 มีนาคม 2016 (CDSR 2016, Issue 3) เราประเมินคุณภาพระเบียบวิธีวิจัยของการทบทวนโดยใช้เครื่องมือ AMSTAR และวางแผนวิเคราะห์ข้อมูลในแต่ละอาการเจ็บปวดต่าง ๆ โดยยึดตามคุณภาพของหลักฐาน

เราคัดลอกข้อมูล (1) การรายงานระดับความเจ็บปวดด้วยตนเอง (2) การทำงานของร่างกาย (วัดแบบ objective หรือแบบ subjective) (3) สภาวะทางด้านจิตใจ (4) คุณภาพชีวิต (5) การยึดมั่นในการปฏิบัติตามสิ่งทดลองที่กำหนด (6) การรับบริการการดูแลสุขภาพ/การรักษา, (7) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และ (8) การตาย

เนื่องจากข้อจำกัดของข้อมูล เราไม่สามารถเปรียบเทียบและวิเคราะห์สิ่งทดลองได้โดยตรง จึงได้รายงานหลักฐานเชิงคุณภาพแทน

ผลการวิจัย

เรานำเข้ารายงานการทบทวนวรรณกรรม 21 เรื่อง ที่ทบทวนใน 381 รายงานวิจัยซึ่งมีผู้เข้าร่วมโครงการทั้งสิิ้น 37,143 คน จากรายงานวิจัยเหล่านี้ มี 264 การศึกษา (19,642 ผู้เข้าร่วมโครงการ) ประเมินการออกกำลังกายเปรียบเทียบกับการไม่ออกกำลังกาย/ออกกำลังกายเพียงเล็กน้อยในผู้ใหญ่ที่มีความเจ็บปวดเรื้อรังโดยใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณ

อาการปวดต่าง ๆ ที่รวบรวมนำเข้ามาศึกษามีโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ โรคข้อเสื่อม โรคไฟโบรมัยอัลเจีย ปวดหลังส่วนล่าง อาการปวดขาเป็นระยะเหตุขาดเลือด ภาวะปวดระดู กลุ่มอาการปวดคอ การบาดเจ็บกระดูกไขสันหลัง กลุ่มอาการหลังเป็นโรคโปลิโอและโรคผิวสะบ้าอักเสบ ไม่มีการทบทวนวรรณกรรมเรื่องใดประเมิน "ความเจ็บปวดเรื้อรัง" หรือ"อาการปวดทั่วร่างกายแบบเรื้อรัง" ในภาวะทั่วไปหรือภาวะเฉพาะ สิ่งทดลองที่ศึกษาได้แก่ แอโรบิค การฝึกความแข็งแรง การฝึกความยืดหยุ่น การฝึกพิสัยของการเคลื่อนไหว และโปรแกรมการบริหารแกนกลางหรือการฝึกความสมดุล ตลอดจน โยคะ พิลาทิส และไทชิ

การทบทวนวรรณกรรมที่ศึกษามีการดำเนินการและรายงานเป็นอย่างดี (ยึดตาม AMSTAR เป็นหลัก) และรวบรวมนำเข้ารายงานวิจัยที่มีความเสี่ยงของการเกิดอคติที่ยอมรับได้ (มีการรายงานที่ไม่เหมาะสมของอคติจากการขาดหายไปของกลุ่มตัวอย่าง และอคติจากการรายงาน). อย่างไรก็ตาม หลักฐานมีคุณภาพต่ำ เนื่องจากจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ (ส่วนใหญ่การศึกษาที่รวบรวมนำเข้ามีจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการน้อยกว่า 50 คน) ระยะเวลาของการทดลองและการติดตามผล (ไม่ค่อยมีการประเมินเกินกว่าสามถึงหกเดือน) เราได้รวมผลลัพธ์จากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างเหมาะสม แต่จะต้องแปลผลด้วยความระมัดระวังเนื่องจากหลักฐานมีคุณภาพต่ำ

ความรุนแรงของอาการปวด: การทบทวนวรรณกรรมหลายเรื่อง ได้มีบันทึกผลลัพธ์ที่ดีจากการออกกำลังกาย มีการทบทวนวรรณกรรมเพียงสามเรื่องที่รายงานระดับความรุนแรงของอาการปวดซึ่งพบว่าการเปลี่ยนแปลงอาการปวดจากค่าปกติหรือค่าเฉลี่ยจากสิิ่งทดลองใดๆไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษามีความไม่สอดคล้องกันในสิ่งทดลองที่ให้ และการติดตามผล เช่น การออกกำลังกายไม่ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง (บวกหรือลบ) อย่างสม่ำเสมอในคะแนนความเจ็บปวดซึ่งเป็นการรายงานด้วยผู้เข้าร่วมโครงการเองในทุกๆจุด

การทำงานของร่างกาย: เป็นการวัดผลลัพธ์ที่มีการรายงานมากที่สุด มีการรายงานการทำงานของร่างกายมีผลลัพธ์ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติตามสิ่งทดลองในการทบทวนวรรณกรรม 14 เรื่อง ถึงแม้ว่าผลลัพธ์ที่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติแต่ขนาดอิทธิพล (effect size) มีเพียงเล็กถึงปานกลาง (มีเพียงหนึ่งการทบทวนวรรณกรรมที่มีขนาดอิทธิพลใหญ่)

การทำงานด้านจิตใจและคุณภาพภาพชิวิต: มีผลลัพธ์ที่แตกต่างกัน: พบว่าการออกกำลังกายมีทั้งผลลัพธ์ที่ดี (ส่วนใหญ่มีขนาดอิทธิพลเล็กถึงปานกลาง มีการทบทวนวรรณกรรมสองเรื่องที่รายงานนัยสำคัญทางสถิติของขนาดอิทธิพลใหญ่สำหรับคุณภาพชีวิต) หรือไม่มีความแตกต่างกันระหว่างกลุ่ม ไม่มีผลกระทบทางด้านลบ

การยึดมั่นในการปฏิบัติตามสิ่งทดลองที่กำหนด: ไม่สามารถประเมินได้ในทุกการทบทวนวรรณกรรม อย่างไรก็ตาม อคติจากการถอนตัว/ออกจาการทดลองนั้น สูงกว่าเล็กน้อยในกลุ่มที่มีการออกกำลังกาย (82.8/1000 ผู้เข้าร่วมโครงการเปรียบเทียบกับ 81/1000 ผู้เข้าร่วมโครงการ) แต่ความแตกต่างนั้นไม่มีนัยสำคัญ

การรับบริการการดูแลสุขภาพ/การรักษา: ไม่มีการรายงานในทุกการทบทวนวรรณกรรม

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ อันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น และการตาย: มีรายงานวิจัยจากที่ทบทวนทั้งหมดเพียงร้อยละ 25 (ในการทบทวนวรรณกรรม 18 เรื่อง) มีการรายงานการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ จากหลักฐานที่มีอยู่ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่คือ กล้ามเนื้อระบมและปวดเพิ่มขึ้น ซึ่งมีรายงานลดลงหลังจากได้รั้สิ่งทดลอง 2-3สัปดาห์ มีการทบทวนวรรณกรรมเพียงเรื่องเดียวที่รายงานการตายแยกจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่น ๆ: การให้สิ่งทดลองช่วยป้องกันการตาย (ตามหลักฐานที่มีอยู่) แต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

ข้อสรุปของผู้วิจัย

คุณภาพของหลักฐานที่ประเมินกิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายสำหรับผู้ที่มีความเจ็บปวดเรื้อเรื้อรังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนใหญ่เนื่องจากรายงานวิจัยที่ทบทวนมีขนาดตัวอย่างน้อยและอาจจะเกิดจากการศึกษาที่มีอำนาจต่ำกว่าที่ควรจะเป็น มีหลายการศึกษาทีมีระยะเวลาการทดลองที่เหมาะสม แต่วางแผนในการติดตามผลจำกัดที่น้อยกว่า 1 ปี ในการทบทวนวรรณกรรมทั้งหมด 6 เรื่อง

มีผลลัพธ์ที่ดีบ้างในการช่วยลดความรุนแรงของการเจ็บปวด และแก้ไขการทำงานด้านร่างกายให้ดีขึ้น แต่ผลลัพธ์ส่วนใหญ่อยู่ในระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง และไม่สอดคล้องกันในแต่ละการทบทวนวรรณกรรม มีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันสำหรับการทำงานด้านจิตวิทยาและคุณภาพชีวิต

มีหลักฐานแสดงว่ากิจกรรมทางกายและการออกกำลังกายเป็นสิ่งทดลองที่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เพียงเล็กน้อยซึ่งอาจช่วยให้ระดับอาการปวดและการทำงานของร่างกายดีขึ้น และมีผลต่อมาถึงคุณภาพชีวิตที่ดี อย่างไรก็ตามควรมีการวิจัยครั้งต่อไปที่เน้นในการเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการ รวมถึงผู้เข้าร่วมโครงการต้องมีระดับอาการปวดที่หลากหลาย และเพิ่มระยะเวลาในการให้สิ่งทดลองและระยะเวลาติตตามผลให้ยาวขึ้น

บันทึกการแปล

บันทึกการแปล บทคัดย่อและบทสรุปในภาษาธรรมดาเรื่องนี้แปลโดย นายอนุวัตน์ เพ็งพุฒ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสงเปลือย จังหวัดกาฬสินธุ์ ณ วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2560 และอาจารย์ มาลินี เหล่าไพบูลย์ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 20 มิถุนายน 2560

Citation
Geneen LJ, Moore RA, Clarke C, Martin D, Colvin LA, Smith BH. Physical activity and exercise for chronic pain in adults: an overview of Cochrane Reviews. Cochrane Database of Systematic Reviews 2017, Issue 4. Art. No.: CD011279. DOI: 10.1002/14651858.CD011279.pub3.