ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การให้ลูกดูดนมแม่ช่วยลดความเจ็บปวดจากการฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 1 ถึง 12 เดือนได้หรือไม่

ส่วนสำคัญที่สุด

เราพบว่าการให้ลูกดูดนมแม่ก่อนและระหว่างการฉีดวัคซีนช่วยลดความเจ็บปวดในทารกส่วนใหญ่จนถึงอายุ 1 ปี

ความเป็นมา

เข็มใช้สำหรับฉีดวัคซีนเด็กปฐมวัยและการดูแลทางการแพทย์ในช่วงที่เจ็บป่วยในวัยเด็ก สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นแต่เจ็บปวด สร้างความทุกข์ให้กับทารกและบ่อยครั้งต่อพ่อแม่/ผู้ดูแล และอาจส่งผลให้เกิดความวิตกกังวลและความกลัวเกี่ยวกับเข็มในอนาคต การให้ลูกดูดนมแม่ระหว่างการตรวจเลือดในทารกแรกเกิดช่วยลดความเจ็บปวด การให้ลูกดูดนมแม่เมื่อเป็นไปได้และทำได้อาจช่วยปลอบประโลมทารก และลดความเจ็บปวดในช่วงแรกเกิดและตลอดช่วงวัยทารก

ลักษณะของการศึกษา

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2016 เราสืบค้นวรรณกรรมทางการแพทย์เพื่อศึกษาประสิทธิผลต่อทารกที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ 1 ถึง 12 เดือนระหว่างการใช้เข็ม เราเปรียบเทียบประสิทธิผลของการให้ลูกดูดนมแม่ในการลดความเจ็บปวด (ตามคะแนนเวลาร้องไห้และคะแนนความเจ็บปวด) กับการอุ้ม ทารกนอนราบ การให้น้ำหรือยาหวาน เราพบการศึกษา 10 รายการ มีทารกทั้งหมด 1066 คน การศึกษาทั้งหมดตรวจสอบว่าการให้ลูกดูดนมแม่ลดความเจ็บปวดระหว่างการฉีดวัคซีนหรือไม่

ผลการศึกษาที่สำคัญ

การให้ลูกดูดนมแม่ลดการร้องไห้ของทารกที่ได้รับวัคซีน โดยเฉลี่ย ทารกที่ดูดนมแม่จะร้องไห้น้อยกว่าทารกที่ไม่ได้กินนมแม่ 38 วินาที (6 การศึกษา; ทารก 547 คน; หลักฐานคุณภาพปานกลาง) และคะแนนความเจ็บปวดต่ำกว่าอย่างมีนัยสำคัญ (5 การศึกษา; ทารก 310 คน; หลักฐานคุณภาพปานกลาง)

ไม่มีการศึกษารายงานเกี่ยวกับอันตรายใดๆ (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) เราไม่สามารถสรุปผลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่จะเกิดอันตรายในทารกที่มีสุขภาพดีที่ดูดนมแม่ในระหว่างการฉีดวัคซีน

ต่อจากนี้ไป: หากมารดาให้ลูกดูดนมแม่ ควรพิจารณาให้ทารกในระหว่างการฉีดวัคซีนเมื่อมีโอกาส จำเป็นต้องมีหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อเรียนรู้ว่าการให้ลูกดูดนมแม่สามารถช่วยทารกที่อายุมากกว่าและทารกในโรงพยาบาลในระหว่างการตรวจเลือดหรือหัตถการ เช่น การให้น้ำเกลือ หรือไม่

คุณภาพของหลักฐาน

คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลางสำหรับผลลัพธ์เรื่องเวลาที่ร้องไห้และคะแนนความเจ็บปวด การศึกษาส่วนใหญ่รวมถึงทารกอายุ 1 ถึง 6 เดือน การวิจัยเพิ่มเติมรวมถึงทารกที่มีอายุถึง 12 เดือนอาจเปลี่ยนข้อสรุปของเรา นอกจากนี้ การศึกษายังได้ประเมินผลของการให้ลูกดูดนมแม่ระหว่างการฉีดวัคซีน เราไม่ทราบว่าการให้ลูกดูดนมแม่ช่วยทารกที่ป่วยอายุ 1 ถึง 12 เดือนในโรงพยาบาลในระหว่างการเก็บตัวอย่างเลือดหรือการให้น้ำเกลือหรือไม่

บทนำ

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) แสดงให้เห็นว่าการให้ลูกดูดนมแม่ระหว่างขั้นตอนที่เจ็บปวดช่วยลดความเจ็บปวด กลไกต่างๆ ได้รับการพิจารณาว่ามีหลายปัจจัย และรวมถึงการดูด การสัมผัสทางผิวหนัง ความอบอุ่น การโยกเยก เสียงและกลิ่นของมารดา และอาจมีสารฝิ่นภายในร่างกายในน้ำนมแม่

วัตถุประสงค์

เพื่อตรวจสอบผลของการให้ลูกดูดนมแม่ต่อความเจ็บปวดในทารกที่เกินช่วงแรกเกิด (28 วันแรกของชีวิต) จนถึงอายุ 1 ขวบ เทียบกับการไม่ให้ลูกดูดนมแม่ ยาหลอก ผู้ปกครองอุ้ม การสัมผัสทางผิวหนัง น้ำนมแมที่บีบออกมา่ นมผสม การให้นมขวด สารละลายรสหวาน (เช่น ซูโครสหรือกลูโคส) การเบี่ยงเบนความสนใจ หรือวิธีการอื่นๆ

วิธีการสืบค้น

เราสืบค้นฐานข้อมูลต่อไปนี้จนถึงวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2016: the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) (the Cochrane Library), MEDLINE รวมทั้ง In-Process & Other Non-Indexed Citations (OVID), Embase (OVID), PsycINFO (OVID) และ CINAHL (EBSCO); metaRegister of Controlled Trials (mRCT), ClinicalTrials.gov (clinicaltrials.gov) และ the World Health Organization International Clinical Trials Registry Platform (WHO ICTRP) (apps.who.int/trialsearch/) สำหรับการทดลองที่กำลังดำเนินอยู่

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวม RCTs และ quasi-RCTs ที่เกี่ยวข้องกับทารกอายุ 28 วันหลังคลอดถึง 12 เดือน และได้รับการให้ดูดนมแม่ในขณะที่อยู่ในขั้นตอนที่เจ็บปวด กลุ่มเปรียบเทียบ ไม่จำกัดว่าเป็นการให้น้ำทางปาก, สารละลายรสหวาน, น้ำนมที่บีบออกมา, หรือนมผสม, ไม่มี intervention, การใช้จุกนมหลอก, การจัดตำแหน่ง, การกอด, การเบี่ยงเบนความสนใจ, ยาชาเฉพาะที่, และการสัมผัสผิวหนังต่อผิวหนัง หัตถการประกอบด้วย: การฉีดยาใต้ผิวหนังหรือเข้ากล้ามเนื้อ, การเจาะเลือด, การสอดสายเข้าเส้นเลือดดำ, การเจาะส้นเท้า, และการเจาะนิ้ว โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

เราใช้ระเบียบวิธีมาตรฐานตามที่ Cochrane กำหนด ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนได้ทำการประเมินงานทดลองเพื่อการคัดเข้าในการทบทวนวรรณกรรม ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ และดึงข้อมูล อย่างอิสระต่อกัน ผลลัพธ์หลักคือตัวบ่งชี้ทางพฤติกรรมหรือทางสรีรวิทยาและคะแนนความเจ็บปวดแบบรวม เช่นเดียวกับผลลัพธ์ที่สำคัญทางคลินิกอื่นๆ ที่รายงานโดยผู้นิพนธ์ของการศึกษาที่รวบรวมไว้ เรารวบรวมข้อมูลสำหรับผลลัพธ์ที่เปรียบเทียบได้มากที่สุด และมีข้อมูลจากการศึกษาอย่างน้อย 2 รายการ ที่สามารถรวมได้ เราใช้ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) กับช่วงความเชื่อมั่น (CI) 95% โดยใช้ random effect model สำหรับผลลัพธ์ต่อเนื่องที่วัดด้วยวิธีเดียวกัน สำหรับผลลัพธ์ที่เป็นข้อมูลต่อเนื่องที่ใช้มาตรวัดต่างกัน เรารวมค่าความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) และ 95% CI ที่เกี่ยวข้อง สำหรับผลลัพธ์แบบ dichotomous เราวางแผนที่จะรวมเหตุการณ์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ในการศึกษาโดยใช้ risk ratio (RR) และ 95% CIs อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการศึกษาที่รายงาน dichotomous outcomes ไม่เพียงพอ เราจึงไม่ได้รวมเหตุการณ์ดังกล่าว เราประเมินหลักฐานโดยใช้ GRADE และสร้างตาราง 'Summary of findings'

ผลการวิจัย

เราพบการศึกษา 10 รายการ มีทารกทั้งหมด 1066 คน การศึกษาทั้งหมดดำเนินการในช่วงการให้วัคซีนเด็กปฐมวัย เนื่องจากวิธีการให้ลูกดูดนมแม่ไม่สามารถปิดบังได้ เราจึงให้คะแนนการศึกษาทั้งหมดว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติสูงในการปิดบังผู้เข้าร่วมและบุคลากร เราประเมินการศึกษา 9 รายการว่ามีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำสำหรับข้อมูลผลลัพธ์ที่ไม่สมบูรณ์ นอกจากนี้ เราประเมินการศึกษา 9 รายการว่ามีความเสี่ยงสูงสำหรับการปกปิดการประเมินผล เราให้คะแนนความเสี่ยงของอคติที่เกี่ยวข้องกับ random sequence generation, allocation concealment, และ selective reporting ว่าไม่ชัดเจนเนื่องจากการศึกษาส่วนใหญ่ขาดข้อมูล

ผลลัพธ์หลักของเราคือความเจ็บปวด การให้ลูกดูดนมแม่ช่วยลดการตอบสนองความเจ็บปวดตามพฤติกรรม (เวลาที่ร้องไห้และคะแนนความเจ็บปวด) ระหว่างการฉีดวัคซีนเมื่อเทียบกับการไม่รักษา การให้น้ำในช่องปาก และวิธีการอื่นๆ เช่น การกอด, กลูโคสในช่องปาก, ยาชาเฉพาะที่, การนวด และสารทำความเย็น การให้ลูกดูดนมแม่ไม่ได้ลดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาอย่างต่อเนื่อง เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ เรารวบรวมข้อมูลสำหรับระยะเวลาร้องไห้จากการศึกษา 6 รายการ (n = ทารก 547 คน) การให้นมลูกเมื่อเปรียบเทียบกับการดื่มน้ำหรือไม่รักษา ส่งผลให้เวลาร้องไห้ลดลง 38 วินาที (MD -38, 95% CI -50 ถึง -26; P < 0.00001) คุณภาพของหลักฐานตาม GRADE สำหรับผลลัพธ์นี้อยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากทารกส่วนใหญ่มีอายุไม่เกิน 6 เดือน และผลลัพธ์อาจแตกต่างกันไปสำหรับทารกในระหว่างการให้วัคซีนที่ 12 เดือน เรารวบรวมข้อมูลสำหรับคะแนนความเจ็บปวดจากการศึกษา 5 รายการ (n = ทารก 310 คน) การให้ลูกดูดนมแม่มีความสัมพันธ์กับการลดลงของคะแนนความเจ็บปวดมาตรฐาน 1.7 จุด (SMD -1.7, 95% CI -2.2 ถึง -1.3); เราถือว่าหลักฐานนี้มีคุณภาพปานกลาง เนื่องจากข้อมูลส่วนใหญ่มาจากทารกที่อายุน้อยกว่า 6 เดือน เราสามารถรวมข้อมูลอัตราการเต้นของหัวใจหลังจากการฉีดยาสำหรับการศึกษาเพียง 2 รายการเท่านั้น (n = 186); เราถือว่าหลักฐานนี้มีคุณภาพต่ำเนื่องจากมีข้อมูลไม่เพียงพอ ไม่มีความแตกต่างระหว่างการให้ลูกดูดนมแม่และการควบคุม (MD -3.6, -23 ถึง 16)

การศึกษา 4 ใน 10 รายการมีมากกว่า 2 กลุ่ม การให้ลูกดูดนมแม่มีประสิทธิภาพในการลดระยะเวลาการร้องไห้หรือคะแนนความเจ็บปวดระหว่างการฉีดวัคซีนเมื่อเทียบกับ: เดกซ์โทรส 25% และครีมทาเฉพาะที่ (EMLA) สารทำความเย็น การกอดของแม่ และการนวด

ไม่มีการศึกษาที่รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

ข้อสรุปของผู้วิจัย

เราสรุปจากการศึกษา 10 รายการ ที่รวมอยู่ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ว่าการให้ลูกดูดนมแม่อาจช่วยลดความเจ็บปวดระหว่างการฉีดวัคซีนสำหรับทารกที่เกินช่วงแรกเกิด การให้ลูกดูดนมแม่ลดการตอบสนองทางพฤติกรรมของระยะเวลาร้องไห้และคะแนนความเจ็บปวดอย่างสม่ำเสมอระหว่างและหลังการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตาม ไม่มีหลักฐานว่าการให้ลูกดูดนมแม่มีผลต่อการตอบสนองทางสรีรวิทยา ไม่มีการศึกษาใดที่รวมอยู่ในการทบทวนวรรณกรรมนี้เกี่ยวกับประชากรของทารกที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลซึ่งได้รับกระบวนการทำลายผิวหนังแบบอื่น แม้ว่าอาจเป็นไปได้ที่จะขยายผลการทบทวนสำหรับประชากรกลุ่มนี้ แต่การศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประสิทธิภาพ ความเป็นไปได้ และการยอมรับในประชากรกลุ่มนี้มีความจำเป็น

บันทึกการแปล

ผู้แปล ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 28 มิถุนายน 2021

Citation
Harrison D, Reszel J, Bueno M, Sampson M, Shah VS, Taddio A, Larocque C, Turner L. Breastfeeding for procedural pain in infants beyond the neonatal period. Cochrane Database of Systematic Reviews 2016, Issue 10. Art. No.: CD011248. DOI: 10.1002/14651858.CD011248.pub2.