ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Selective estrogen receptor modulators (SERMs) สำหรับ การรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ที่ได้รับยืนยันโดยการตรวจชิ้นเนื้อ

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

ผู้เขียน Cochrane Review ได้ตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาที่เรียกว่า selective estrogen receptor modulators (SERMs) สำหรับสตรีที่เป็น โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ที่พิสูจน์แล้วโดยการตรวจชิ้นเนื้อ

ความเป็นมา

โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่เป็นโรคที่มีผลต่อสตรีวัยเจริญพันธุ์ถึง 1 ใน 10 โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อาจทำให้เกิดอาการปวดท้องประจำเดือน และมีบุตรยาก การแพร่กระจายและการดำเนินไปของโรคขึ้นอยู่กับฮอร์โมนเอสโตรเจน ยาที่ใช้รักษาโรคนี้ ประกอบด้วย ยาแก้ปวดเพื่อบรรเทาอาการ ยาเม็ดคุมกำเนิดเพื่อระงับรอบเดือน หรือการรักษาด้วยฮอร์โมนอื่น ๆ เช่น โปรเจสโตเจนหรือ ห่วงอนามัยฮอร์โมน SERM มีเป้าหมายเพื่อป้องกันผลกระทบของฮอร์โมนเอสโตรเจนและสามารถใช้เป็นยาเพื่อการรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เราเปรียบเทียบผลกระทบและความปลอดภัยของ SERM กับยาหลอกหรือการรักษาอื่น ๆ สำหรับโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

ลักษณะของการศึกษา

การตรวจสอบนี้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมไว้เพียงรายการเดียว การศึกษานี้เปรียบเทียบ SERM 'raloxifene' กับยาหลอกในสตรี 93 คน ที่ได้รับการผ่าตัดรอยโรคของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ออกทั้งหมด หลักฐานเป็นข้อมูลปัจจุบันถึง 28 พฤษภาคม 2020

ผลการศึกษาที่สำคัญ

การศึกษาที่รวมไว้ ไม่ได้วัดเฉพาะผลลัพธ์หลัก ของการบรรเทาอาการปวด เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น อาการปวดท้องน้อย, การเกิดถุงน้ำรังไข่, อาการปวดศีรษะ, ไมเกรน และภาวะซึมเศร้าไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่ม เราไม่แน่ใจว่า raloxifene เพิ่มผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์เมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไม่ (1 การศึกษา, สตรี 93 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) เราไม่แน่ใจว่า raloxifene ช่วยเพิ่มอัตราการกลับเป็นซ้ำของ โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือไม่ ตามที่พิสูจน์โดยการตรวจชิ้นเนื้อเมื่อเทียบกับยาหลอก (1 การศึกษา, สตรี 93 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าหาก 28% ของสตรีที่ได้รับยาหลอกมีการกลับเป็นซ้ำของอาการปวดปวดท้องน้อยจากการกลับเป็นซ้ำของโรคโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ที่พิสูจน์แล้วจากการส่งตรวจชิ้นเเนื้อ ว่าอยู่ระหว่าง 19% ถึง 62% ของผู้ที่รับประทาน raloxifene ผลลัพธ์เหล่านี้มีข้อจำกัด เนื่องจากสตรีบางคนไม่ได้รับการส่องกล้องครั้งที่ 2 จริงเพื่อเก็บตัวอย่างของรอยโรคและส่งตรวจชิ้นเนื้อ อย่างไรก็ตามผู้ทำการศึกษารายงานว่า สตรีในกลุ่ม raloxifene มีแนวโน้มที่จะกลับมามีอาการปวดเร็วกว่าสตรีในกลุ่มยาหลอก การศึกษารวมรายงานว่าการวัดคุณภาพชีวิตไม่แตกต่างกันระหว่าง raloxifene และกลุ่มยาหลอก ยกเว้นในด้านสุขภาพทางจิต ภายใน 12 เดือน คุณภาพชีวิตสุขภาพจิต ให้คะแนนการรักษาด้วยยาหลอก (mean difference 11.1, 95% CI 0.01 ถึง 21.19) ไม่มีข้อมูลที่เกี่ยวกับภาวะการเจริญพันธุ์หรือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ

จากการศึกษาเดียวที่รวมอยู่ในการทบทวนนี้ผู้ตรวจสอบไม่พบหลักฐานที่แสดงว่า SERMs มีประโยชน์ในการรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวดในโรคเยื่บุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ที่ได้รับการผ่าตัดแล้ว ในทางตรงกันข้ามการศึกษาหยุดลงก่อนเวลา เนื่องจากสตรีที่ใช้ SERMs มีอาการปวดกลับมาเร็วกว่าสตรีที่ใช้ยาหลอก

คุณภาพของหลักฐาน

หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก ข้อจำกัดหลักคือ การรวมการศึกษาได้เพียงการศึกษาเดียวที่มีผู้เข้าร่วมจำนวนน้อยและขาดทั้งข้อมูลผลลัพธ์หลักและผลลัพธ์รอง

บทนำ

ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นโรคซึ่งมีเยื่อบุโพรงมดลูก (glands และ stroma) เจริญอยู่นอกโพรงมดลูก โรคนี้เป็นภาวะเรื้อรังและเกิดซ้ำได้ เกิดขึ้นในสตรีวัยเจริญพันธุ์ เป็นสาเหตุทั่วไปของความเจ็บปวดหรือภาวะมีบุตรยาก และอาจทำให้เกิดอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง เช่น ปวดหลังส่วนล่าง เจ็บลึกๆเวลามีเพศสัมพันธ์ (ปวดระหว่างหรือหลังการมีเพศสัมพันธ์) และอาการปวดประจำเดือน โรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ เป็นโรคที่ขึ้นกับฮอร์โมนเอสโตรเจน ยาที่ใช้รักษามีเป้าหมายเพื่อบรรเทาอาการและทำให้รอยโรคมีขนาดเล็กลง โดยการกดรอบเดือนตามปกติ ในการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้เราพิจารณายาที่มีความเฉพาะเพื่อปรับตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคนี้

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินประสิทธิผล และความปลอดภัยของตัวปรับตัวรับฮอร์โมนเอสโตรเจนแบบคัดเลือก (selective oestrogen receptor modulators: SERMs) ในการรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

วิธีการสืบค้น

เราค้นหาการทดลองในฐานข้อมูลต่อไปนี้ (ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งถึง 28 พฤษภาคม 2020): Cochrane Gynaecology and Fertility Group Specialised Register, Cochrane Central Register of Studies (CRS Online), MEDLINE, Embase, CINAHL, PsycINFO และทะเบียนการทดลองของการศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ นอกจากนี้เราได้ค้นหารายการอ้างอิงทั้งหมดของการศึกษาที่รวมอยู่และเราได้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นเพื่อพยายามค้นหาการศึกษาอื่นๆ

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) เปรียบเทียบ selective oestrogen receptor modulators (SERMs) กับยาหลอก, การไม่มีการรักษา การรักษาด้วยยาตัวอื่นๆ หรือการผ่าตัดสำหรับโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

เราใช้ระเบียบวิธีวิจัยมาตรฐานในการดำเนินการศึกษาตามที่ Cochrane แนะนำ ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คน ได้คัดเลือกการทดลองเพื่อนำเข้ามาในการทบทวน, ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของการทดลอง และดึงข้อมูล อย่างเป็นอิสระต่อกัน เราใช้อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) กับช่วงความเชื่อมั่น (CIs) 95% ในการรายงานข้อมูลที่แตกต่างกัน ผลลัพธ์หลักที่สนใจ คือ การช่วยบรรเทาอาการปวดท้องน้อย และอาการไม่พึงประสงค์ ผลลัพธ์รอง ได้แก่ คุณภาพชีวิต, อัตราการกลับเป็นซ้ำ และผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ และภาวะการเจริญพันธุ์

ผลการวิจัย

เรารวม RCT ได้เพียง 1 รายการ ซึ่งศึกษาในสตรี 93 คน เปรียบเทียบ SERM raloxifene กับยาหลอก ในการรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งวินิจฉัยโรคนี้จากการตรวจชิ้นเนื้อ สตรีทุกคนได้รับการตัดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรคเพื่อส่งตรวจยืนยันโรคเยื่บุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก: ข้อจำกัดหลักคือ ความไม่แม่นยำ - ด้วยข้อมูลที่กระจัดกระจายมากจากการศึกษาเล็กๆ เพียง 1 รายการ ซึ่งศึกษาเฉพาะในสตรีหลังการผ่าตัด

การบรรเทาอาการปวดท้องน้อย

การศึกษาที่รวมไว้ ไม่ได้วัดเฉพาะผลลัพธ์หลัก ของการบรรเทาอาการปวด ผู้ทำการศึกษารายงานว่า เวลาในการกลับมาของอาการปวดท้องน้อย (หมายถึง ความเจ็บปวดวัดที่ 2 เดือน ว่าปวดเท่ากับหรือรุนแรงกว่าความเจ็บปวดเมื่อเทียบกับตอนแรกเริ่มการศึกษา) ในกลุ่ม raloxifene (P = 0.03) เกิดขึ้นเร็วกว่า

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

จากการศึกษามีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ เช่น อาการปวดท้องน้อย, การเกิดถุงน้ำรังไข่, ปวดศีรษะ, ไมเกรน, และภาวะซึมเศร้า เราไม่แน่ใจว่า raloxifene เพิ่มอุบัติการณ์ของอาการปวดท้องน้อย (RR 1.25, 95% CI 0.63 ถึง 2.45), ถุงน้ำรังไข่ (RR 1.57, 95% CI 0.55 ถึง 4.43), ปวดศีรษะ (RR 1.09, 95% CI 0.49 ถึง 2.43), ไมเกรน (RR 0.73, 95% CI 0.28 ถึง 1.95) ภาวะซึมเศร้า (RR 1.96, 95% CI 0.63 ถึง 6.06) หรืออาการไม่พึงประสงค์อื่นๆ (RR 0.08, 95% CI 0.00 ถึง 1.30) (ทั้งหมด: การศึกษา 1 รายการ, n = 93; หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก)

คุณภาพชีวิต

จากการศึกษา ได้อธิบายถึงความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในเรื่องคุณภาพชีวิตของสุขภาพจิต (QoL) ใน 12 เดือน ดีกว่าในกลุ่มที่รักษาด้วยยาหลอก (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย 11.1, 95% CI 0.01 ถึง 21.19) ข้อมูล QoL อื่น ๆ ไม่แตกต่างกันระหว่างกลุ่ม แต่ไม่มีการรายงานโดยละเอียด

อัตราการกลับเป็นซ้ำ ภาวะการเจริญพันธุ์ และผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ

เราไม่แน่ใจว่า raloxifene เพิ่มอัตราการกลับเป็นซ้ำของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือไม่ ซึ่งพิสูจน์โดยการตรวจชิ้นเนื้อเมื่อเทียบกับยาหลอก (RR 1.20, 95% CI 0.66 ถึง 2.21; 1 การศึกษา, n = 93; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าหากสตรี 28% ที่ได้รับยาหลอก มีการกลับมาเป็นซ้ำของโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งพิสูจน์แล้วโดยการตรวจชิ้นเนื้อจะอยู่ระหว่าง 19% ถึง 62% ของผู้ที่รับประทาน raloxifene ผลลัพธ์เหล่านี้มีแนวโน้มที่จะมีอคติ เนื่องจากสตรีทุกคนไม่ได้รับการส่องกล้องครั้งที่ 2 เพื่อดูรอยโรค มีการอธิบายการกลับมาเป็นซ้ำอ้างอิงตามอาการ (อาการปวดที่ไม่ใช่ประจำเดือน, อาการปวดประจำเดือน, หรืออาการเจ็บเวลามีเพศสัมพันธุ์) ในกรณีเหล่านี้ อาการจะดีขึ้นหลังจากใช้ raloxifene และหลังใช้ยาหลอก

การศึกษาที่รวมไว้ไม่ได้รายงานข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ ไม่มีข้อมูลเปรียบเทียบเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ เนื่องจากการศึกษารวมเฉพาะสตรีที่ตกลงที่จะเลื่อนการตั้งครรภ์ออกไปจนกว่าจะถึงจุดสิ้นสุดของการศึกษา; การตั้งครรภ์ไม่กี่ครั้งที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ถือได้ว่าเป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

ข้อสรุปของผู้วิจัย

จากข้อมูล RCT ที่มีขนาดเล็กและไม่สมบูรณ์ เราไม่แน่ใจถึงผลของ SERMs ต่อการบรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ การศึกษาที่รวมเข้ามานั้นหยุดก่อนเวลาที่จะสิ้นสุด เนื่องจากคะแนนความเจ็บปวดที่สูงขึ้นในสตรีที่รับ SERM เมื่อเทียบกับคะแนนของผู้ที่ได้รับยาหลอก จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อประเมินบทบาทของ SERMs ในโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ อย่างเต็มที่

บันทึกการแปล

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว วันที่ 20 พฤษภาคม 2021

Citation
van Hoesel MH, Chen YL, Zheng A, Wan Q, Mourad SM. Selective oestrogen receptor modulators (SERMs) for endometriosis. Cochrane Database of Systematic Reviews 2021, Issue 5. Art. No.: CD011169. DOI: 10.1002/14651858.CD011169.pub2.