ใจความสำคัญ
-
การเป็นโรคเบาหวานอาจทำให้ความเสี่ยงในการเกิดโรควัณโรคเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของประชากรทั่วไป (เพิ่มความเสี่ยงขึ้น 1.5 ถึง 2.4 เท่า)
-
ผลลัพธ์เหล่านี้ใช้กับประชากรผู้ใหญ่ทั่วไป ความเสี่ยงของกลุ่มอื่น ๆ เช่น วัยรุ่นและเด็ก ยังไม่ชัดเจน
วัณโรคคืออะไร
วัณโรค (Tuberculosis; TB) เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Mycobacterium tuberculosis มีผลกระทบต่อปอดเป็นหลัก แต่ก็อาจส่งผลต่อบริเวณอื่น ๆ ในร่างกายได้เช่นกัน วัณโรคแพร่กระจายทางอากาศเมื่อผู้ป่วยวัณโรคไอหรือจาม บางคนไม่มีอาการใด ๆ หลังจากติดเชื้อ ในขณะที่บางคนเกิดโรคและมีอาการ เช่น ไอเรื้อรัง น้ำหนักลด มีไข้ และเหงื่อออกตอนกลางคืน นี่เรียกว่า โรค TB
การวินิจฉัยโรค TB โดยทั่วไปต้องทำการทดสอบทางโมเลกุลหรือการเพาะเชื้อเพื่อตรวจหาแบคทีเรียในสารคัดหลั่งของร่างกาย (เช่น เสมหะ (เมือกและน้ำลาย)) หลังจากปรึกษาหารือกับแพทย์แล้ว
วัณโรคเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญทั่วโลก มีผู้ป่วยโรควัณโรคมากกว่า 10 ล้านคน และมีผู้เสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 1.3 ล้านคนทุกปี
โรคเบาหวานคืออะไร
โรคเบาหวานเป็นภาวะเรื้อรังซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติเนื่องมาจาก การผลิตอินซูลินของตับอ่อนไม่เพียงพอหรือร่างกายไม่สามารถใช้อินซูลินที่ตับอ่อนผลิตได้อย่างเหมาะสม หรือทั้งสองอย่างรวมกัน โรคเบาหวานมีหลายประเภท ประเภทที่พบบ่อยที่สุดเรียกว่า “เบาหวานชนิดที่ 2” อินซูลินเป็นฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมน้ำตาลในเลือด ส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ เช่น กระหายน้ำ ปัสสาวะบ่อย อ่อนเพลีย และแผลหายช้า หากไม่ได้รับการจัดการอย่างเหมาะสม เบาหวานอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อน เช่น โรคหัวใจ ไตเสียหาย ปัญหาเส้นประสาท และปัญหาเกี่ยวกับดวงตา การจัดการโรคเบาหวานเกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เคลื่อนไหวร่างกายเป็นประจำ การรับประทานยา และการติดตามการตรวจสุขภาพเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน
เราต้องการค้นหาอะไร
เราต้องการประเมินความเสี่ยงในการเกิดโรค TB สำหรับผู้เป็นเบาหวานเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน
เราทำอะไรไปแล้วบ้าง
เราศึกษาการศึกษาที่รวบรวมผู้ที่เป็นโรคเบาหวานและไม่เป็นโรคเบาหวานในช่วงเวลาหนึ่ง และเปรียบเทียบความถี่ที่แต่ละกลุ่มที่จะเป็นวัณโรค
เราพบอะไร
เรารวมการศึกษาทั้งหมด 48 รายการ มีผู้เข้าร่วมกว่า 61 ล้านคนจาก 6 ภูมิภาคของ WHO อย่างไรก็ตาม ตัวแทนค่อนข้างหลากหลาย เนื่องจากเราพบการศึกษาประชากรทั้งหมด 8 ฉบับจากเกาหลีใต้ 19 ฉบับจากจีน และเพียง 1 ฉบับจากภูมิภาคแอฟริกา (เอธิโอเปีย) การศึกษาส่วนใหญ่ศึกษาในผู้ใหญ่ มี 4 ฉบับศึกษาในเด็ก และ 3 ฉบับศึกษาในเด็กและผู้ใหญ่ โดยเฉลี่ยแล้ว การศึกษาติดตามผู้คนเป็นเวลา 5 ปี
เราพบว่าผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงในการเป็นวัณโรคสูงกว่าผู้ที่ไม่เป็นเบาหวาน 1.5 ถึง 2.4 เท่า
ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร
การศึกษาจำนวนมากยังมีข้อจำกัด ปัญหาหนึ่งก็คือ หลายคนใช้กล้องจุลทรรศน์ตรวจเสมหะเพื่อวินิจฉัยวัณโรคในผู้ที่มีอาการ ซึ่งอาจพลาดการวินิจฉัยบางอย่าง ในปัจจุบันมีวิธีการที่แม่นยำมากขึ้น เช่น การเพาะเชื้อหรือการทดสอบวินิจฉัยอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยลดการพลาดการวินิจฉัยผู้ป่วยวัณโรคลง นอกจากนี้ จำเป็นต้องมีเกณฑ์การวินิจฉัยโรคเบาหวานที่ชัดเจน รวมถึงประเภทของโรคเบาหวาน และระดับน้ำตาลในเลือดที่ควบคุมได้ดี เพื่อประมาณความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภาวะดังกล่าวได้อย่างแม่นยำ
การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน
หลักฐานนี้เป็นข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 3 พฤษภาคม 2023
โรคเบาหวานอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรค TB ในระยะสั้น (< 10 ปี) และอาจเพิ่มความเสี่ยงในระยะยาว (≥ 10 ปี) ได้เช่นกัน เนื่องจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและการเข้าถึงการรักษาอาจเป็นตัวปรับเปลี่ยนผลที่อาจเกิดขึ้นได้ของความสัมพันธ์ระหว่างโรคเบาหวานและความเสี่ยงต่อโรควัณโรค จึงควรตีความค่าประมาณโดยรวมด้วยความระมัดระวังเมื่อนำไปใช้ในพื้นที่ จำเป็นต้องมีนโยบายที่มุ่งลดภาระของโรคเบาหวานเพื่อบรรลุเป้าหมายในการหยุดวัณโรค จำเป็นต้องมีกลุ่มประชากรขนาดใหญ่ รวมถึงกลุ่มที่ได้มาจากทะเบียนการสัมผัสโรค (เบาหวาน) และผลลัพธ์ (โรค TB) ระดับชาติที่มีคุณภาพสูง เพื่อให้สามารถประมาณการความเสี่ยงนี้ได้ด้วยความเชื่อมั่นของหลักฐานที่สูงในสถานที่และประชากรที่แตกต่างกัน รวมถึงประเทศที่มีรายได้น้อยและปานกลางจากภูมิภาคต่างๆ ของ WHO ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาที่รวมถึงเด็กและวัยรุ่นและวิธีการที่แนะนำในปัจจุบันสำหรับการวินิจฉัยวัณโรคจะให้ข้อมูลที่ทันสมัยมากขึ้นที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติและนโยบาย
วัณโรค (tuberculosis; TB) เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้น ๆ จากโรคติดเชื้อ โดยมีผู้เสียชีวิตจากวัณโรคประมาณ 1.3 ล้านรายในปี 2022 คาดว่าประชากรโลกประมาณ 25% ติดเชื้อวัณโรค ส่งผลให้มีผู้ป่วยวัณโรค 10.6 ล้านรายในปี 2022 อัตราการแพร่หลายของโรคเบาหวานมีอิทธิพลต่อการเกิดโรควัณโรคและอัตราการเสียชีวิตจากวัณโรค มีความเกี่ยวข้องไม่เพียงแต่กับความเสี่ยงต่อการเกิดโรค TB ที่เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสียชีวิตระหว่างการรักษาโรค TB การกลับเป็นซ้ำของ TB หลังจากการรักษาเสร็จสิ้น และโรค TB ที่ดื้อยามากกว่าหนึ่งชนิดอีกด้วย ตั้งแต่ปี 2011 องค์การอนามัยโลก (World Health Organization; WHO) ได้แนะนำกิจกรรมความร่วมมือด้านวัณโรคและโรคเบาหวานตามที่ระบุไว้ในกรอบความร่วมมือการดูแลและควบคุมวัณโรคและโรคเบาหวาน
เพื่อประเมินค่าการพยากรณ์โรคเบาหวานในประชากรทั่วไป ได้แก่ ผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็ก เพื่อคาดการณ์โรควัณโรค
เราได้ค้นหาฐานข้อมูลวรรณกรรม MEDLINE (ผ่าน PubMed) และ WHO Global Index Medicus และ WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2023 (วันที่ค้นหาครั้งล่าสุดสำหรับฐานข้อมูลทั้งหมด) โดยไม่ได้กำหนดข้อจำกัดใด ๆ เกี่ยวกับภาษาของการตีพิมพ์
เรารวมการศึกษาแบบย้อนหลังและการศึกษาแบบไปข้างหน้า โดยไม่คำนึงถึงสถานะการตีพิมพ์หรือภาษา ประชากรเป้าหมายประกอบด้วยผู้ใหญ่ วัยรุ่น และเด็กจากสภาพแวดล้อมที่หลากหลาย รวมไปถึงกลุ่มผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน ซึ่งมีโรคร่วมและความเสี่ยงต่อการได้รับเชื้อวัณโรคที่แตกต่างกัน
เราใช้ระเบียบวิธีมาตรฐานของ Cochrane และเครื่องมือคุณภาพในการศึกษาการพยากรณ์โรค (Quality In Prognosis Studies; QUIPS) ปัจจัยการพยากรณ์โรคที่ประเมินเมื่อลงทะเบียน/เริ่มต้น ได้แก่ โรคเบาหวาน ตามที่กำหนดโดยการศึกษารายบุคคล ซึ่งครอบคลุมถึงสถานะที่ผู้ป่วยรายงาน ดึงมาจากบันทึกทางการแพทย์หรือข้อมูลการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน หรือวินิจฉัยโดยการวัดระดับน้ำตาลกลูโคสในพลาสมา/ฮีโมโกลบินที่ไกลโคซิเลต ผลลัพธ์เบื้องต้นคืออุบัติการณ์ของโรควัณโรค ผลลัพธ์รองคือการเกิดโรควัณโรคซ้ำ เราได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลรวมผลกระทบแบบสุ่มสำหรับ adjusted hazard ratios, adjusted risk ratios, หรือ adjusted odds ratios โดยใช้การประมาณค่าแบบ restricted maximum likelihood estimation เราประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานโดยใช้แนวทาง GRADE
เรารวบรวมการศึกษาแบบ cohort studies 48 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 61 ล้านคนจาก 6 ภูมิภาคของ WHO อย่างไรก็ตาม ตัวแทนค่อนข้างหลากหลาย เนื่องจากการศึกษาตามประชากร มีจำนวน 8 ฉบับมาจากเกาหลีใต้ และ 19 ฉบับมาจากจีน โดยมีช่วงเวลาการศึกษาที่ทับซ้อนกัน และมีเพียง 1 ฉบับเท่านั้นมาจากภูมิภาคแอฟริกา (เอธิโอเปีย) การศึกษาทั้งหมดศึกษาในผู้ใหญ่ และการศึกษาอีก 9 ฉบับ ยังศึกษาในเด็กและวัยรุ่นด้วย การศึกษาส่วนใหญ่วินิจฉัยโรคเบาหวานจากบันทึกทางคลินิก เช่น ระดับน้ำตาลในเลือดขณะอดอาหารหรือการรักษาโดยการลดระดับน้ำตาลในเลือด การศึกษาไม่ได้แยกความแตกต่างระหว่างเบาหวานประเภท 1 และประเภท 2 มีเพียงการศึกษาเดียวที่เน้นศึกษาเบาหวานประเภท 1 การวินิจฉัยและการแยกวัณโรคดำเนินการโดยใช้การเพาะเชื้อหรือการทดสอบวินิจฉัยอย่างรวดเร็วทางโมเลกุลที่ WHO แนะนำ (mWRD) ในการศึกษาเพียง 12 ฉบับ ซึ่งอาจทำให้การประมาณผลกระทบมีความลำเอียงได้ เวลาติดตามผลเฉลี่ยอยู่ที่ 5 ปี (ช่วงควอร์ไทล์ 1.5 ถึง 10, ช่วง 1 ถึง 16.9) และการศึกษารายงานค่า adjusted hazard ratio จากการใช้ multivariable Cox-proportional hazard model
Hazard Ratios (HR)
การประมาณการ HR แสดงถึงความเชื่อมั่นสูงสุดของหลักฐาน ซึ่งสำรวจผ่านการวิเคราะห์ความไว และไม่รวมการศึกษาที่มีความเสี่ยงของการมีอคติสูง เรานำเสนอช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) และช่วงการทำนาย ซึ่งนำเสนอความแตกต่างระหว่างการศึกษาในการวัดความแปรปรวนของขนาดของผล (นั่นคือ ช่วงขนาดผลของการศึกษาใหม่จะลดลงเมื่อพิจารณาจากประชากรการศึกษาเดียวกัน รวมอยู่ใน meta-analysis)
โรคเบาหวานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค TB (HR 1.90, 95% CI 1.51 ถึง 2.40; ช่วงการทำนาย (prediction interval) 0.83 ถึง 4.39; การศึกษา 10 ฉบับ; ผู้เข้าร่วม 11,713,023 ราย) ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำเนื่องจากมีความเสี่ยงของการมีอคติปานกลางในการศึกษาและความไม่สอดคล้องกัน เมื่อพิจารณาความเสี่ยงที่ไม่มีโรคเบาหวานคือ 129 รายต่อประชากร 100,000 คน นั่นหมายความว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 102 ราย (เพิ่มขึ้นจาก 59 เป็น 153 ราย) ต่อประชากร 100,000 คน
เมื่อแบ่งตามระยะเวลาติดตาม ผลลัพธ์จะสอดคล้องกันมากขึ้นในระยะเวลาติดตามน้อยกว่า 10 ปี (HR 1.52, 95% CI 1.47 ถึง 1.57; ช่วงการทำนาย 1.45 ถึง 1.59; การศึกษา 7 ฉบับ; ผู้เข้าร่วม 10,380,872 ราย) ซึ่งส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นของหลักฐานในระดับปานกลาง เนื่องจากมีความเสี่ยงปานกลางของการมีอคติในการศึกษาต่าง ๆ
อย่างไรก็ตาม เมื่อติดตามเป็นเวลา 10 ปีหรือมากกว่านั้น การประมาณค่าจะให้ค่า CI ที่กว้างขึ้นและ HR ที่สูงขึ้น (HR 2.44, 95% CI 1.22 ถึง 4.88; ช่วงทำนาย 0.09 ถึง 69.12; การศึกษา 3 ฉบับ; ผู้เข้าร่วม 1,332,151 คน) ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำเนื่องจากมีความเสี่ยงปานกลางของการมีอคติและความไม่สอดคล้องกัน
Odds Ratio (OR)
โรคเบาหวานอาจเพิ่มโอกาสในการเกิดโรค TB (OR 1.61, 95% CI 1.27 ถึง 2.04; ช่วงการทำนาย 0.96 ถึง 2.70; การศึกษา 4 ฉบับ; ผู้เข้าร่วม 167,564 ราย) การแบ่งชั้นตามระยะเวลาการติดตามไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการศึกษาทั้งหมดมีระยะเวลาการติดตามน้อยกว่า 10 ปี ความแน่นอนของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากมีความเสี่ยงของการมีอคติปานกลางและความไม่สอดคล้องกัน
Risk Ratio (RR)
ค่าประมาณ RR แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นสูงสุดของหลักฐานที่สำรวจผ่านการวิเคราะห์ความไวและการนำการศึกษาที่มีความเสี่ยงของการมีอคติสูงออกจาการวิเคราะห์ โรคเบาหวานอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรค TB (RR 1.60, 95% CI 1.42 ถึง 1.80; ช่วงการทำนาย 1.38 ถึง 1.85; การศึกษา 6 ฉบับ; ผู้เข้าร่วม 44,058,675 คน) การแบ่งชั้นตามระยะเวลาการติดตามไม่สามารถทำได้ เนื่องจากการศึกษาทั้งหมดมีระยะเวลาการติดตามน้อยกว่า 10 ปี ความเชื่อมั่นของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลาง เนื่องจากมีความเสี่ยงของการมีอคติในระดับปานกลาง
ผู้แปล แพทย์หญิงชุติมา ชุณหะวิจิตร วันที่ 4 ตุลาคม 2024