ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การรักษาเชิงอนุรักษ์สำหรับการจัดการภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมาก

ใจความสำคัญ

- ในผู้ชายที่มีภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมาก การรักษาแบบรวมทั้งแบบไม่ใช้เภสัชวิทยาและแบบไม่ต้องผ่าตัดอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยต่อการกลั้นปัสสาวะ คุณภาพชีวิต หรือจำนวนผู้ชายที่ประสบกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อันเป็นผลมาจากการรักษา

- หลักฐานไม่เชื่อมั่นว่าการฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกรานร่วมกับ biofeedback มีผลใดๆ ต่อการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หรือคุณภาพชีวิตหรือไม่ ในขณะที่ไม่มีหลักฐานใดที่พบการประเมินการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าสำหรับผลลัพธ์หลักที่เราสนใจ

- ความไม่เชื่อมั่นในหลักฐานที่เราพบหมายความว่าจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม

ความเป็นมา

ต่อมลูกหมากเป็นต่อมขนาดเล็กขนาดลูกวอลนัทที่ช่วยให้ผู้ชายผลิตน้ำอสุจิ หากผู้ชายเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากหรือมีการขยายตัวของต่อมลูกหมากที่ไม่ใช่มะเร็งซึ่งไปปิดกั้นทางออกของกระเพาะปัสสาวะ (เรียกว่าการอุดตันจากต่อมลูกหมากที่ไม่เป็นอันตราย) พวกเขาอาจต้องได้รับการผ่าตัด หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมาก ผู้ชายอาจมีอาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ มีการประเมินว่าระหว่าง 2% ถึง 60% ของผู้ชายอาจมีอาการ แม้ว่าภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่จะดีขึ้นตามธรรมชาติหลังการผ่าตัด ผู้ชายบางคนยังคงมีอาการที่อาจส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของพวกเขา

เราต้องการค้นหาอะไร

หากเป็นไปได้ ภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมากสามารถจัดการได้โดยใช้วิธีการที่ไม่ต้องผ่าตัดและไม่ใช่เภสัชวิทยา เช่น การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (PFMT) การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าหรือแม่เหล็ก การปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิต (เช่น การรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ) รวมทั้งการผสมผสานของวิธีเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันยังมีความไม่เชื่อมั่นเกี่ยวกับประโยชน์ของการรักษาเหล่านี้ ดังนั้นเราจึงต้องการทราบว่าการรักษาโดยไม่ผ่าตัดและไม่ใช้เภสัชวิทยาช่วยจัดการภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ชายที่ได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมากหรือไม่

เราได้ทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่ตรวจสอบผลของการรักษาแบบไม่ผ่าตัดและไม่ใช่เภสัชวิทยาต่อภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ในผู้ชายที่ได้รับการผ่าตัดต่อมลูกหมาก เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาเหล่านี้และให้คะแนนความเชื่อมั่นที่เรามีต่อผลการวิจัย โดยพิจารณาจากวิธีการ ขนาด และผลลัพธ์ของการศึกษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 25 ฉบับ มีผู้ชายทั้งหมด 3079 คน การศึกษา 23 ฉบับ คัดเลือกผู้ชายซึ่งเคยผ่านการผ่าตัดต่อมลูกหมากแบบทั้งหมดโดยที่เอาต่อมลูกหมากออกทั้งหมด มีเพียงการศึกษา 1 ฉบับที่คัดเลือกผู้ชายที่เคยผ่านการผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านท่อปัสสาวะ ซึ่งเป็นกระบวนการที่เอาชิ้นส่วนของต่อมลูกหมากออกทางองคชาติ ไม่ชัดเจนว่าผู้ชายได้รับการผ่าตัดประเภทใดในการศึกษา 1 ฉบับ

การศึกษา 1 ฉบับระบุว่าพวกเขาไม่ได้รับทุนใดๆ ในขณะที่การศึกษา 7 ฉบับได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรของรัฐแต่อย่างเดียว และการศึกษาอีก 1 ฉบับได้รับทุนจากมูลนิธิเท่านั้น การศึกษา 1 ฉบับได้รับทุนสนับสนุนจากองค์กรของรัฐและมหาวิทยาลัย การศึกษา 1 ฉบับได้จากองค์กรการกุศลและมหาวิทยาลัย และอีกหนึ่งเรื่องมาจากองค์กรการกุศลและบริษัทยา การศึกษา 10 ฉบับ ไม่ได้รายงานว่าพวกเขาได้รับทุนสนับสนุนจากที่ใด

ผลลัพธ์หลัก

การศึกษา 4 ฉบับรายงานเกี่ยวกับ PFMT ร่วมกับผลตอบรับทางชีวภาพ เทียบกับการไม่รักษา การรักษาหลอก และ/หรือคำแนะนำทางวาจาหรือลายลักษณ์อักษรเพื่อดำเนินการรักษา PFMT ร่วมกับ biofeedback อาจส่งผลให้ผู้ชายจำนวนมากขึ้นที่รายงานการหายของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ตั้งแต่ 6 ถึง 12 เดือน อย่างไรก็ตาม ผู้ชายที่ทำ PFMT และ biofeedback อาจมีโอกาสน้อยกว่าที่จะหายตามวิธีการวัดผลของแพทย์ในช่วง 6 ถึง 12 เดือน ไม่เชื่อมั่นว่าการทำ PFMT และ biofeedback มีผลต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับพื้นผิวหรือผิวหนัง (เช่น ปฏิกิริยาที่ผิวหนังหรือรอยฟกช้ำ) หรือผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ (เช่น อาการเจ็บหรือรู้สึกไม่สบาย) คุณภาพชีวิตเฉพาะเงื่อนไข การปฏิบัติตามการรักษาของผู้เข้าร่วมการทดลอง และคุณภาพชีวิตทั่วไปไม่ได้รายงานโดยการศึกษาใด ๆ สำหรับการเปรียบเทียบนี้

การศึกษา 11 ฉบับประเมินการรักษาแบบประคับประคองหลายอย่างเทียบกับการไม่รักษา การรักษาหลอก และ/หรือคำแนะนำทางวาจาหรือลายลักษณ์อักษรเพื่อดำเนินการรักษา การรักษาแบบรวมหลายอย่างอาจนำไปสู่ความแตกต่างเล็กน้อยในจำนวนผู้ชายที่รายงานการหายหรือการดีขึ้นของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ระหว่าง 6 ถึง 12 เดือน การรักษาแบบรวมอาจนำไปสู่ความแตกต่างเล็กน้อยในคุณภาพชีวิตเฉพาะเงื่อนไขและอาจแตกต่างกันเล็กน้อยในคุณภาพชีวิตทั่วไประหว่าง 6 ถึง 12 เดือน มีความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างการรักษาแบบรวมและกลุ่มควบคุมในแง่ของการหายหรือการดีขึ้นของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่วัดตามวิธีการของแพทย์ระหว่าง 6 ถึง 12 เดือน อย่างไรก็ตาม ไม่เป็นที่เชื่อมั่นว่าการปฏิบัติตามการรักษาของผู้เข้าร่วมระหว่าง 6 ถึง 12 เดือนจะเพิ่มขึ้นหรือไม่สำหรับการรักษาแบบรวม อาจไม่มีความแตกต่างระหว่างการรักษาแบบรวมและกลุ่มควบคุมในแง่ของจำนวนผู้ชายที่ประสบกับผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับพื้นผิวหรือผิวหนัง แต่ไม่เชื่อมั่นว่าการรักษาแบบรวมทำให้ผู้ชายจำนวนมากขึ้นมีผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อหรือไม่

เราไม่พบการศึกษาใด ๆ ที่ประเมินการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าหรือแม่เหล็ก เทียบกับการไม่รักษา การรักษาหลอก หรือคำแนะนำด้วยวาจาหรือลายลักษณ์อักษรที่รายงานเกี่ยวกับผลลัพธ์หลักที่เราสนใจ

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

ความเชื่อมั่นของหลักฐานที่พบมีความหลากหลาย ตั้งแต่หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำมากไปจนถึงหลักฐานที่มีความเชื่อมั่นสูง ข้อกังวลของเราส่วนใหญ่อยู่ที่จำนวนผู้เข้าร่วมที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ เนื่องจากการศึกษามักมีขนาดเล็ก เรายังมีความกังวลว่าอาจมีอคติเข้ามาในการศึกษาจำนวนมาก นอกจากนี้ยังไม่เชื่อมั่นว่าหลักฐานจากการผ่าตัดแบบเปิด/ส่องกล้องจะใช้ได้กับการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกโดยใช้หุ่นยนต์ช่วยหรือไม่

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานมีถึงวันที่ 22 เมษายน 2022

บทนำ

ผู้ชายอาจต้องเข้ารับการผ่าตัดต่อมลูกหมากเพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมากหรือโรคต่อมลูกหมากโต หลังการผ่าตัด ผู้ชายอาจมีอาการปัสสาวะเล็ด (UI) การรักษาแบบอนุรักษ์นิยม เช่น การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (PFMT) การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า และการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต สามารถดำเนินการเพื่อช่วยจัดการกับอาการของ UI

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินผลของการรักษาเชิงอนุรักษ์สำหรับการจัดการภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมาก

วิธีการสืบค้น

เราค้นหา Cochrane Incontinence Specialized Register ซึ่งมีการทดลองที่พบจาก Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, MEDLINE In-Process, MEDLINE Epub Ahead of Print, ClinicalTrials.gov, WHO ICTRP และวารสารที่ค้นหาด้วยมือและเอกสารประกอบการประชุม (สืบค้นเมื่อ 22 เมษายน 2022) นอกจากนี้ยังค้นรายการอ้างอิงทั้งหมดจากบทความวิจัยที่เกี่ยวข้อง

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และ quasi-RCTs ของผู้ชายที่เป็นผู้ใหญ่ (อายุ 18 ปีขึ้นไป) ด้วย UI หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมากเพื่อรักษามะเร็งต่อมลูกหมากหรือ LUTS/BPO เราไม่รวม cross-over และ cluster-RCTs เราตรวจสอบการเปรียบเทียบที่สำคัญต่อไปนี้: PFMT ร่วมกับ biofeedback เทียบกับไม่รักษา; การรักษาหลอก หรือคำแนะนำด้วยวาจา/ลายลักษณ์อักษร; การผสมผสานระหว่างการรักษาแบบอนุรักษ์นิยมกับการไม่รักษา การรักษาหลอก หรือคำแนะนำด้วยวาจา/ลายลักษณ์อักษร; และการกระตุ้นด้วยไฟฟ้าหรือแม่เหล็ก เทียบกับการไม่รักษา การรักษาหลอก หรือคำแนะนำด้วยวาจา/ลายลักษณ์อักษร

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

เราค้ดลอกข้อมูลโดยใช้แบบฟอร์มที่นำร่องล่วงหน้าและประเมินความเสี่ยงของอคติโดยใช้เครื่องมือการประมินการมีอคติของ Cochrane เราใช้วิธี GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของผลลัพธ์และการเปรียบเทียบที่รวมอยู่ในตารางสรุปผลการศึกษา (summary of findings tables) เราใช้ GRADE ฉบับดัดแปลงเพื่อประเมินความเชื่อมั่นของผลลัพธ์ที่ไม่มีการวัดผลเพียงครั้งเดียว

ผลการวิจัย

เราพบการศึกษา 25 ฉบับ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 3079 คน การศึกษา 23 ฉบับ ประเมินผู้ชายที่เคยผ่านการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมด หรือการผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมดแบบ retropubic ในขณะที่มีการศึกษา 1 ฉบับเท่านั้นที่ประเมินผู้ชายที่เคยผ่านการตัดต่อมลูกหมากออกทางท่อปัสสาวะ การศึกษา 1 ฉบับไม่ได้รายงานเกี่ยวกับการผ่าตัดครั้งก่อน การศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติอย่างน้อย 1 ประเด็น ความเชื่อมั่นของหลักฐานที่ประเมินโดยใช้ GRADE นั้นแตกต่างกัน

PFMT ร่วมกับ biofeedback เทียบกับการไม่รักษา การรักษาหลอก หรือคำแนะนำด้วยวาจา/ลายลักษณ์อักษร

การศึกษา 4 ฉบับ รายงานการเปรียบเทียบนี้ PFMT ร่วมกับ biofeedback อาจให้ผลในการรักษาดีขึ้นในความรู้สึกภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ตั้งแต่ 6 ถึง 12 เดือน (การศึกษา 1 ฉบับ; n = 102; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) อย่างไรก็ตาม ผู้ชายที่ทำ PFMT และ biofeedback อาจมีโอกาสน้อยที่จะหายอย่างเป็นรูปธรรมที่ 6 ถึง 12 เดือน (การศึกษา 2 ฉบับ; n = 269; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่เชื่อมั่นว่าการทำ PFMT และ biofeedback มีผลต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับพื้นผิวหรือผิวหนัง (การศึกษา 1 ฉบับ; n = 205; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อ (การศึกษา 1 ฉบับ; n = 205; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) คุณภาพชีวิตเฉพาะเงื่อนไข การปฏิบัติตามการรักษาของผู้เข้าร่วมการทดลอง และคุณภาพชีวิตทั่วไปไม่ได้รายงานโดยการศึกษาใด ๆ สำหรับการเปรียบเทียบนี้

การรักษาแบบประคับประคองหลายวิธีร่วมกัน เทียบกับการไม่รักษา การรักษาหลอก หรือคำแนะนำด้วยวาจา/ลายลักษณ์อักษร

การศึกษา 11 ฉบับ ประเมินการเปรียบเทียบนี้ การรักษาแบบประคับประคองแบบรวมอาจนำไปสู่ความแตกต่างเล็กน้อยในจำนวนผู้ชายที่รู้สึกว่าหายหรืออาการกลั้นปัสสาวะดีขึ้นระหว่าง 6 ถึง 12 เดือน (RR 0.97, 95% CI 0.79 ถึง 1.19; การศึกษา 2 ฉบับ; n = 788; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ; ในเงื่อนไขสมบูรณ์: กลุ่มที่ไม่มีการรักษาหรือกลุ่มรักษาหลอก: 307 ต่อ 1000 และในกลุ่มรักษา: 297 ต่อ 1000) การรักษาแบบประคับประคองหลายวิธีอาจนำไปสู่ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยในคุณภาพชีวิตเฉพาะอย่าง (MD -0.28, 95% CI -0.86 ถึง 0.29; การศึกษา 2 ฉบับ; n = 788; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และอาจแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยในคุณภาพชีวิตทั่วไป ระหว่าง 6 ถึง 12 เดือน (MD -0.01, 95% CI -0.04 ถึง 0.02; การศึกษา 2 ฉบับ; n = 742; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) มีความแตกต่างกันเล็กน้อยระหว่างการรักษาแบบประคับประคองหลายวิธี กับกลุ่มควบคุมในแง่ของการหายอย่างเป็นรูปธรรมหรือการดีขึ้นของภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ระหว่าง 6 ถึง 12 เดือน (MD 0.18, 95% CI -0.24 ถึง 0.60; การศึกษา 2 ฉบับ; n = 565; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) อย่างไรก็ตาม ไม่เชื่อมั่นว่าผู้เข้าร่วมการทดลองปฏิบัติตามการรักษาระหว่าง 6 และ 12 เดือนเพิ่มขึ้นหรือไม่สำหรับการรักษาแบบประคับประคองหลายวิธี (RR 2.08, 95% CI 0.78 ถึง 5.56; การศึกษา 2 ฉบับ; n = 763; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก; ในเงื่อนไขสัมบูรณ์: กลุ่มที่ไม่มีการรักษาหรือการรักษาหลอก: 172 ต่อ 1000 และกลุ่มรักษา: 358 ต่อ 1000) อาจไม่มีความแตกต่างกันระหว่างการรักษาแบบรวมกับกลุ่มควบคุมในแง่ของจำนวนผู้ชายที่ประสบกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางพื้นผิวหรือทางผิวหนัง (การศึกษา 2 ฉบับ; n = 853; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) แต่ไม่เชื่อมั่นว่าการรักษาแบบรวมทำให้มีผู้ชายมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อมากขึ้นหรือไม่ (RR 2.92, 95% CI 0.31 ถึง 27.41; การศึกษา 2 ฉบับ; n = 136; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก ในเงื่อนไขสมบูรณ์: 0 ต่อ 1000 สำหรับทั้งสองกลุ่ม)

การกระตุ้นด้วยไฟฟ้าหรือแม่เหล็กเทียบกับการไม่รักษา การรักษาหลอก หรือคำแนะนำด้วยวาจา/ลายลักษณ์อักษร

เราไม่พบการศึกษาใด ๆ สำหรับการเปรียบเทียบนี้ที่รายงานเกี่ยวกับผลลัพธ์หลักที่เราสนใจ

ข้อสรุปของผู้วิจัย

แม้จะมีการทดลองทั้งหมด 25 ฉบับ แต่ผลของการรักษาแบบประคับประคองสำหรับภาวะกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังการผ่าตัดต่อมลูกหมากเพียงอย่างเดียวหรือใช้ร่วมกันนั้นยังคงไม่แน่นอน การทดลองที่มีอยู่มักมีขนาดเล็กและมีข้อบกพร่องด้านระเบียบวิธีวิจัย ปัญหาเหล่านี้รวมขึ้นจากการขาดมาตรฐานของเทคนิค PFMT และความแตกต่างอย่างมากของโปรโตคอลที่เกี่ยวข้องกับการรักษาแบบประคับประคอง เหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์หลังจากการรักษาแบบประคับประคองมักจะได้รับการบันทึกไว้ไม่ดีและอธิบายไม่ครบถ้วน ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นสำหรับการทดลองแบบสุ่มควบคุมขนาดใหญ่ คุณภาพสูง มีพลังเพียงพอ พร้อมระเบียบวิธีที่มีประสิทธิภาพเพื่อจัดการกับเรื่องนี้

บันทึกการแปล

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยาวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ 12 พฤษภาคม 2023 Edit โดย ผกากรอง 9 สิงหาคม 2023

Citation
Johnson EE, Mamoulakis C, Stoniute A, Omar MI, Sinha S. Conservative interventions for managing urinary incontinence after prostate surgery. Cochrane Database of Systematic Reviews 2023, Issue 4. Art. No.: CD014799. DOI: 10.1002/14651858.CD014799.pub2.