ใจความสำคัญ
• เนื่องจากขาดหลักฐาน เราจึงไม่สามารถสรุปผลใดๆ เกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการฝังเข็มสำหรับทารกที่มีอาการถอนยาในทารกแรกเกิดที่เกิดจากการสัมผัสกับยาในครรภ์ได้
• จำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยขนาดใหญ่ที่ได้รับการออกแบบและรายงานอย่างดี เพื่อค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประโยชน์และความเสี่ยงของการฝังเข็ม รวมถึงการศึกษาวิจัยที่เปรียบเทียบเทคนิคการฝังเข็ม ตำแหน่ง สถานที่ เวลา และการประยุกต์ใช้
อาการถอนยาในทารกแรกเกิดคืออะไร
กลุ่มอาการถอนยาในทารกแรกเกิดคือกลุ่มอาการถอนยา โดยส่วนใหญ่มักเกิดขึ้นหลังจากได้รับยาโอปิออยด์ (เช่น เฮโรอีนและเมทาโดน) ในขณะที่ยังอยู่ในครรภ์ ทารกแรกเกิดอาจเกิดมาโดยมีภาวะการติดยา ซึ่งทำให้เกิดอาการถอนยาหลังคลอด เช่น ร้องไห้เสียงสูง วงจรการนอน-การตื่นถูกรบกวน และอาการสั่น กลุ่มอาการถอนยาในทารกแรกเกิดได้รับการวินิจฉัยด้วยการประเมินการถอนยาที่เป็นมาตรฐาน เช่น คะแนน Finnegan
กลุ่มอาการถอนยาในทารกแรกเกิดได้รับการรักษาอย่างไร
ทารกแรกเกิดที่เกิดอาการถอนยาต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์และต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่าทารกแรกเกิดที่ไม่มีภาวะนี้ การรักษาอาการถอนยาในทารกแรกเกิด ได้แก่ การรักษาหลายรูปแบบเพื่อบรรเทาออาการถอนยา เช่น การห่อตัว การอยู่รวมกันในห้อง และการให้นมบุตร หากการประเมินแบบมาตรฐานเกินเกณฑ์ที่กำหนด ทารกแรกเกิดจะได้รับการรักษาด้วยยาโอปิออยด์ที่รับประทานทางปาก อย่างไรก็ตาม การจัดการภาวะถอนยาในทารกแรกเกิดให้เหมาะสมยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ การฝังเข็มได้รับการเสนอให้เป็นวิธีการที่มีศักยภาพ การฝังเข็มเป็นการกระตุ้นจุดเฉพาะบนร่างกาย โดยอาจใช้วิธีแทงเข็มโลหะบางๆ ('รุกราน') หรือใช้วิธีที่ไม่ทะลุผิวหนัง ('ไม่รุกราน') เช่น การกดจุดและเลเซอร์
เราต้องการค้นหาอะไร
เป้าหมายของเราคือการพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงของการฝังเข็มในทารกที่มีอาการถอนยาในทารกแรกเกิด (NAS) ผลลัพธ์เบื้องต้นคือระยะเวลาในการรักษาด้วยยา เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (อันตราย) และระยะเวลาในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล
เราทำอะไรไปบ้าง
เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบการฝังเข็มกับการไม่รักษา การใช้ยา หรือการฝังเข็มประเภทอื่น (เช่น การฝังเข็มด้วยเข็มเทียบกับการฝังเข็มด้วยเลเซอร์) การฝังเข็มสามารถทำเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันสำหรับ NAS ('การดูแลมาตรฐาน') ตราบใดที่ผู้ป่วยกลุ่มควบคุมได้รับการรักษาด้วย
เราพบอะไร
เราพบการศึกษา 2 ฉบับที่มีทารกรวมทั้งหมด 104 ราย การศึกษาทั้ง 2 ฉบับ ได้เปรียบเทียบการฝังเข็ม (โดยใช้เทคนิคที่ไม่ทะลุผิวหนัง) ร่วมกับการดูแลมาตรฐานเทียบกับการดูแลมาตรฐาน
การศึกษาทั้ง 2 ฉบับใช้เทคนิคการฝังเข็มที่แตกต่างกัน การศึกษา 1 ฉบับ เด็กทารก 28 ราย ซึ่งดำเนินการในประเทศออสเตรียระหว่างปี 2009 ถึง 2014 ได้ใช้การฝังเข็มเลเซอร์ที่จุดฝังเข็มบนหูและร่างกายทุกวัน จนกระทั่งหยุดใช้มอร์ฟีนที่ใช้รักษาอาการ NAS ในทั้งสองกลุ่ม การศึกษาอีก 1 ฉบับซึ่งดำเนินการในสหรัฐอเมริการะหว่างปี 1992 ถึง 1996 ได้รวมทารกจำนวน 76 คน และใช้การกดจุดโดยใช้เมล็ดสมุนไพรติดไว้ที่จุดฝังเข็มในหู ซึ่งนวดเป็นเวลา 30 ถึง 60 วินาที ร่วมกับการดูแล NAS มาตรฐาน
ผลลัพธ์หลัก
หลักฐานยังคงไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของการเพิ่มการฝังเข็มเข้ากับการดูแลมาตรฐานต่อระยะเวลาที่ทารกต้องใช้ยาหรืออยู่ในโรงพยาบาล หลักฐานยังมีความไม่แน่นอนย่างมากว่าการฝังเข็มสามารถลดคะแนนสูงสุดของทารกได้หรือไม่ เมื่อแพทย์ประเมินอาการถอนยาในทารกแรกเกิด
ไม่มีการรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์สำหรับทารกคนใดในการศึกษาทั้ง 2 ฉบับ แต่เนื่องจากมีทารกเพียง 104 คน เราจึงไม่สามารถสรุปผลใดๆ เกี่ยวกับความปลอดภัยของการฝังเข็มจากผลลัพธ์เหล่านี้ได้
ไม่มีการศึกษาใดให้ข้อมูลเกี่ยวกับความเจ็บปวดหรือการเสียชีวิตของทารก และไม่ได้ติดตามความก้าวหน้าของทารกในระยะยาว
อะไรคือข้อจำกัดของหลักฐาน
ข้อจำกัดหลักคือมีการวิเคราะห์การศึกษาขนาดเล็กเพียง 2 ฉบับเท่านั้น ผลลัพธ์บางประการไม่ได้รับการรายงานเลย ยิ่งไปกว่านั้น การศึกษาสามารถออกแบบได้ดีกว่านี้ ยังไม่ชัดเจนว่ามีการศึกษาวิจัยในหัวข้อนี้ที่ดำเนินการแล้วแต่ยังไม่ได้รับการเผยแพร่หรือไม่ เท่าที่เราทราบ ยังไม่มีการศึกษาวิจัยใดๆ เกิดขึ้นในปัจจุบัน
หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน
หลักฐานเป็นปัจจุบัน ณ เดือนสิงหาคม 2023
Read the full abstract
กลุ่มอาการถอนยาในทารกแรกเกิด (Neonatal abstinence syndrome; NAS) คือกลุ่มอาการถอนยา โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นหลังจากได้รับยาโอปิออยด์ก่อนคลอด ทารกแรกเกิดอาจเกิดมาโดยมีภาวะที่ต้องพึ่งยาโอปิออยด์ ซึ่งทำให้เกิดอาการถอนยา (เช่น ร้องไห้เสียงสูง วงจรการนอน-การตื่นถูกรบกวน และอาการสั่น) หลังคลอด การวินิจฉัยนี้จะใช้การประเมินการถอนตัวแบบมาตรฐาน เช่น คะแนน Finnegan ทารกแรกเกิดที่เป็นโรค NAS จำเป็นต้องได้รับการรักษาทางการแพทย์และต้องอยู่ในโรงพยาบาลนานกว่าทารกแรกเกิดที่ไม่มีภาวะนี้ การรักษา NAS ได้แก่ การรักษาหลายรูปแบบเพื่อบรรเทาอาการถอนยา เช่น การห่อตัว การอยู่รวมกันในห้อง และการให้นมบุตร หากการประเมินแบบมาตรฐานเกินเกณฑ์ที่กำหนด ทารกแรกเกิดจะได้รับการรักษาด้วยยาโอปิออยด์ที่รับประทานทางปาก อย่างไรก็ตาม การจัดการ NAS ที่เหมาะสมที่สุดยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ การฝังเข็มได้รับการเสนอให้เป็นวิธีการที่มีศักยภาพ การฝังเข็มเป็นการกระตุ้นจุดเฉพาะบนร่างกาย โดยใช้เข็มโลหะบางๆ แทงเข้าไป หรือด้วยเทคนิคที่ไม่ทะลุผิวหนัง เช่น การกดจุดและเลเซอร์
วัตถุประสงค์
เพื่อประเมินว่าการฝังเข็ม (การกดจุด เข็ม เลเซอร์) ช่วยลดระยะเวลาในการรักษาอาการถอนยาในทารกแรกเกิด (NAS) ในทารกแรกเกิด ลดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และลดระยะเวลาในการนอนโรงพยาบาลหรือไม่
วิธีการสืบค้น
เราใช้ฐานข้อมูลบรรณานุกรม (CENTRAL, PubMed, Embase) และทะเบียนการทดลอง ร่วมกับการตรวจสอบข้อมูลอ้างอิง การค้นหาข้อมูลอ้างอิง และการติดต่อกับผู้เขียนการศึกษา เพื่อค้นหาการศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนวรรณกรรม วันที่ค้นหาล่าสุดคือวันที่ 25 สิงหาคม 2023
เกณฑ์การคัดเลือก
เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (randomised controlled trials; RCT) หรือ quasi-RCTs และ cluster-randomised trials เราได้รวมทารกที่คลอดครบกำหนดและคลอดก่อนกำหนดระยะท้ายที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น NAS ภายใน 72 ชั่วโมงแรกหลังคลอด (กล่าวคือ แสดงอาการสำคัญตามที่ประเมินโดยใช้เครื่องมือประเมิน NAS ที่ได้มาตรฐาน เช่น มีอาการถอนยา และคะแนน Finnegan > 8) เราได้รวมการศึกษาที่เปรียบเทียบการฝังเข็ม (โดยใช้เทคนิครุกรานหรือไม่รุกราน) กับ: 1) ไม่มีการรักษา 2) การรักษาด้วยยาหลอกหรือการรักษาหลอก 3) การรักษาด้วยยาใดๆ หรือ 4) การฝังเข็มแบบอื่น (เช่น การเจาะผิวหนังด้วยเข็มเทียบกับการกดจุด) การฝังเข็มสามารถทำเพียงอย่างเดียวหรือร่วมกับการรักษาทางการแพทย์แผนปัจจุบันสำหรับ NAS ('การดูแลมาตรฐาน') ตราบใดที่ผู้ป่วยกลุ่มควบคุมได้รับการรักษาด้วย
การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล
เราใช้ระเบียบวิธีการวิจัยมาตรฐานที่ Cochrane กำหนดไว้ ผลลัพธ์เบื้องต้นของเราคือระยะเวลาการรักษาด้วยยาสำหรับ NAS เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ และระยะเวลาในการพักรักษาตัวในโรงพยาบาล เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน
ผลการวิจัย
เราได้รวม RCTs ที่ดำเนินการในศูนย์การศึกษาเดียว จำนวน 2 ฉบับ (ทารก 104 ราย) การศึกษาทั้ง 2 ฉบับได้เปรียบเทียบการฝังเข็มที่ไม่รุกรานร่วมกับการดูแลมาตรฐานเทียบกับการดูแลมาตรฐาน ไม่มีการศึกษาวิจัยที่เปรียบเทียบการฝังเข็มกับยาหลอกหรือการรักษาหลอก การรักษาด้วยยา หรือการฝังเข็มประเภทอื่น เราไม่พบการศึกษาวิจัยที่กำลังดำเนินการอยู่
หนึ่งในการศึกษาที่นำมารวมนี้ เป็นการศึกษาที่ดำเนินการกับทารก 28 คนในประเทศออสเตรีย ระหว่างปี 2009 ถึง 2014; โดยเป็นการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมชนิดติดตามไปข้างหน้าและมีการปิดบัง (prospective, blinded RCT) เรื่องการฝังเข็มด้วยเลเซอร์ ซึ่งทำทุกวัน ณ จุดฝังเข็มบริเวณหูและร่างกายทั้งสองข้าง จนกระทั่งหยุดการให้มอร์ฟีน การศึกษาอีก 1 ฉบับดำเนินการกับทารกจำนวน 76 คนในสหรัฐอเมริการะหว่างปี 1992 ถึง 1996 เป็นการศึกษาการกดจุดแบบสุ่มแบบติดตามไปข้างหน้าแต่ไม่มีการปกปิดข้อมูล โดยใช้เมล็ดสมุนไพรขนาดเล็กแปะไว้ที่จุดฝังเข็มที่หูหรือจุดฝังเข็มอื่นๆ จากนั้นนวดบริเวณเมล็ดสมุนไพรเป็นเวลา 30 ถึง 60 วินาทีหลังจากทำการให้คะแนน NAS แต่ละครั้ง
หลักฐานยังคงไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของการเพิ่มการฝังเข็มเข้ากับการรักษาแบบมาตรฐานต่อผลลัพธ์ต่อไปนี้
• ระยะเวลาของการรักษาด้วยยาสำหรับ NAS จากการศึกษา 1 ฉบับ ระยะเวลาเฉลี่ยอยู่ที่ 28 วัน (interquartile range (IQR) 22 ถึง 33) และ 39 วัน (IQR 32 ถึง 48) ในกลุ่มการฝังเข็มและกลุ่มควบคุมตามลำดับ จากการศึกษาอีก 1 ฉบับ ระยะเวลาเฉลี่ยของการรักษาด้วยยาสำหรับ NAS คือ 22.1 วัน (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) 16.6) และ 22.7 วัน (SD 13.8) ในกลุ่มการฝังเข็มและกลุ่มควบคุมตามลำดับ (mean difference (MD) -0.60, 95% CI -7.45 ถึง 6.25; การศึกษา 1 ฉบับ ทารก 76 ราย)
• เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ การศึกษาทั้ง 2 ฉบับรายงานว่าไม่มีผลข้างเคียงเกิดขึ้น (risk difference (RD) 0.00 95% CI -0.05 ถึง 0.05; การศึกษา 2 ฉบับ ทารก 104 ราย; I 2 = 0)
• ระยะเวลาที่ต้องนอนโรงพยาบาลเป็นวัน ในการศึกษา 1 ฉบับ (ทารก 28 ราย) ค่ามัธยฐานและ IQR อยู่ที่ 35 (25 ถึง 47) วัน และ 50 (36 ถึง 66) วันในกลุ่มการฝังเข็มและกลุ่มควบคุม ตามลำดับ ในการศึกษาอีก 1 ฉบับ (ทารก 76 ราย) ระยะเวลาเฉลี่ยของการรักษาด้วยยาสำหรับ NAS คือ 25.8 วัน (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 16.4) และ 26 วัน (ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 13.3) ในกลุ่มการฝังเข็มและกลุ่มควบคุม ตามลำดับ (MD -0.20, 95% CI -6.90 ถึง 6.50; การศึกษา 1 ฉบับ ทารก 76 ราย)
• คะแนนสูงสุดในการประเมิน NAS มาตรฐานครั้งเดียว การศึกษา 1 ฉบับ (ทารก 28 คน) รายงานค่ามัธยฐานที่ 15 (IQR 13 ถึง 18) และ 16 (IQR 14 ถึง 19) ในกลุ่มฝังเข็มและกลุ่มควบคุมตามลำดับ ส่วนการศึกษาอีก 1 ฉบับ (ทารก 76 คน) รายงานว่าคะแนน NAS เฉลี่ยต่อเหตุการณ์การให้คะแนนนั้นต่ำกว่าเล็กน้อย (ค่าเฉลี่ย 4.95, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.00) สำหรับทารก 'กลุ่มควบคุม' เมื่อเทียบกับทารกที่ได้รับการฝังเข็ม (ค่าเฉลี่ย 5.27, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน 1.04)
เราตัดสินว่าความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมากสำหรับผลลัพธ์ทั้งหมดเหล่านี้ ไม่มีการศึกษาใดรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ความเจ็บปวด หรือการติดตามในระยะยาว
ข้อสรุปของผู้วิจัย
หลักฐานที่มีอยู่อย่างจำกัดยังไม่เพียงพอที่จะสรุปประโยชน์และอันตรายของการฝังเข็มในการจัดการ NAS ในทารกแรกเกิดได้ การศึกษาทั้ง 2 ฉบับ ที่เราได้รวมไว้ในการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการประเมินการฝังเข็มที่ไม่รุกรานและรายงานว่าไม่มีผลข้างเคียงใดๆ อย่างไรก็ตาม ข้อมูลมาจากตัวอย่างเขนาดเล็กมาก ด้วยข้อจำกัดในปัจจุบัน แพทย์จึงควรใช้การฝังเข็มกับทารกแรกเกิดที่มี NAS อย่างระมัดระวัง เพราะปัจจุบันไม่มีหลักฐานสนับสนุนการใช้การฝังเข็มเป็นประจำ
การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบนี้เน้นย้ำถึงความจำเป็นในการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมขนาดใหญ่ที่ดำเนินการอย่างดีเพื่อให้ได้ขนาดข้อมูลที่เหมาะสมที่สุดในการประเมินทั้งประโยชน์และอันตรายของการฝังเข็มสำหรับ NAS นอกจากนี้ควรมีการเปรียบเทียบเทคนิคการฝังเข็มและ ตำแหน่ง สถานที่ เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความเป็นไปได้
แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ สาขาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 17 มีนาคม 2025