ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การฝังเข็มสำหรับอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังที่ไม่เฉพาะเจาะจง

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

การฝังเข็มช่วยลดอาการปวดอย่างปลอดภัยและ ปรับปรุงระดับการทำงานที่เกี่ยวข้องกับหลังและ คุณภาพชีวิตของผู้ที่มีอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังที่ไม่เฉพาะเจาะจง (low-back pain (LBP)) หรือไม่

ความเป็นมา

คนส่วนใหญ่มีประสบการณ์ปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง บางคนเลือกการฝังเข็มเพื่อบรรเทาอาการปวดและอาการอื่น ๆ

ช่วงเวลาที่สืบค้น

หลักฐานเป็นปัจจุบันถึง 29 สิงหาคม 2019

ลักษณะของการศึกษา

เราตรวจสอบการทดลอง 33 รายการ (37 บทความ) โดยมีผู้เข้าร่วม 8270 คน การทดลองดำเนินการในยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือและใต้ การศึกษาเปรียบเทียบการฝังเข็มกับวิธีการแบบหลอก (ยาหลอก) ไม่ได้รับวิธีการรักษา และการดูแลตามปกติ

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการแบบหลอก การฝังเข็มอาจไม่ได้ผลดีกว่าในการลดความเจ็บปวดทันทีหลังการรักษา การฝังเข็มอาจไม่ได้ช่วยให้ระดับการทำงานที่เจาะจงของส่วนหลังดีขึ้นทันทีหลังการรักษา หรืออาจไม่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในระยะสั้น

การฝังเข็มดีกว่าการไม่ได้รับวิธีการรักษาเพื่อบรรเทาอาการปวด และระดับการทำงานดีขึ้นทันทีหลังการรักษา

เมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติการฝังเข็มไม่ได้ช่วยลดอาการปวดได้อย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก แต่ดูเหมือนจะมีประสิทธิผลมากกว่าในการปรับปรุงการทำงานทันทีหลังการรักษา การฝังเข็มไม่ได้ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นในระยะสั้น

อุบัติการณ์ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อาจคล้ายคลึงกันระหว่างการฝังเข็มและวิธีการแบบหลอก และระหว่างการฝังเข็มกับการดูแลตามปกติ ผลข้างเคียงที่เกี่ยวข้องกับการฝังเข็มถือว่าอยู่ในระดับเล็กน้อยหรือปานกลาง

ความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

ความน่าเชื่อถือของหลักฐานมีตั้งแต่น้อยมากจนถึงปานกลาง การทดลองหลายรายการแสดงให้เห็นว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติเนื่องจากปัญหาในการปกปิดนักฝังเข็มหรือผู้เข้าร่วมการศึกษา สิ่งนี้อาจส่งผลกระทบต่อผู้เข้าร่วมในการรายงานผลลัพธ์ และผลการคำนวณของผู้ทดลอง ผลลัพธ์บางอย่างมาจากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็ก ทำให้ผลลัพธ์ไม่สอดคล้องกันและไม่แม่นยำ

บทนำ

อาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังที่ไม่เฉพาะเจาะจง (LBP) เป็นเรื่อง ที่พบได้บ่อย ถูกกำหนดให้เป็นความเจ็บปวดที่ไม่มีสาเหตุที่ทราบได้ ซึ่งเป็นเวลานานกว่า 3 เดือน แนวทางปฏิบัติทางคลินิกบางประการชี้ให้เห็นว่าการฝังเข็มสามารถเป็นการบำบัดทางเลือกที่มีประสิทธิผล การทบทวนวรรณกรรมนี้แยกออกมาจากการทบทวน Cochrane ก่อนหน้านี้และมุ่งเน้นไปที่ LBP แบบเรื้อรัง

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินผลของการฝังเข็มเมื่อเทียบกับวิธีการแบบหลอก ไม่ได้รับวิธีการรักษา หรือการดูแลตามปกติสำหรับรักษอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรังที่ไม่เฉพาะเจาะจง

วิธีการสืบค้น

เราสืบค้นหลักฐานจาก CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL, ฐานข้อมูลภาษาจีน 2 รายการ และการลงทะเบียนทดลอง 2 รายการ จนถึงวันที่ 29 สิงหาคม 2019 โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษาหรือสถานะของการเผยแพร่ นอกจากนี้เรายังคัดกรองรายการอ้างอิงและแนวทางการรักษา LBP เพื่อหาการศึกษาที่อาจเกี่ยวข้อง

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวมเฉพาะการทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุม (RCTs) ของการฝังเข็มสำหรับ LBP แบบเรื้อรังที่ไม่เฉพาะเจาะจงในผู้ใหญ่ เราไม่รวม RCTs ที่ตรวจสอบ LBP ที่มีสาเหตุเฉพาะ เรารวมการทดลองที่เปรียบเทียบการฝังเข็มกับวิธีการแบบหลอก ไม่มีการรักษา และการดูแลตามปกติ ผลลัพธ์หลัก ได้แก่ ความเจ็บปวด สถานะระดับการทำงานที่เจาะจงของส่วนหลัง และคุณภาพชีวิต ผลลัพธ์รองคือความพิการที่เกี่ยวข้องกับความเจ็บปวด การประเมินโดยรวม หรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 2 คน คัดเลือกการศึกษา ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติและคัดลอกข้อมูลโดยอิสระต่อกัน เราวิเคราะห์ข้อมูลเมต้าในข้อมูลที่มีลักษณะทางคลินิกที่คล้ายคลึงกันโดยใช้ random-effects model ใน Review Manager 5.3 นอกเหนือจากนั้น เราจะรายงานข้อมูลในเชิงคุณภาพ เราใช้วิธีการ GRADE เพื่อประเมินความน่าเชื่อถือของหลักฐาน

ผลการวิจัย

เรารวมการศึกษา 33 รายการ (37 บทความ) กับผู้เข้าร่วม 8270 คน การทดลองดำเนินการในยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือและใต้ การศึกษา 7 รายการ (ผู้เข้าร่วม 5572 คน) ดำเนินการในประเทศเยอรมัน คิดเป็น 67% ของผู้เข้าร่วม การทดลอง 16 รายการเปรียบเทียบการฝังเข็มกับวิธีการแบบหลอก การดูแลตามปกติ หรือไม่รักษา การศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติเนื่องจากขาดการปกปิดผู้ฝังเข็ม การศึกษาบางส่วนพบว่ามีความเสี่ยงสูงใน detection, attrition, reporting or selection bias

เราพบหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (การทดลอง 7 รายการ ผู้เข้าร่วม 1403 คน) ว่าการฝังเข็มอาจบรรเทาความเจ็บปวดแบบทันที (นานถึง 7 วัน) เมื่อเทียบกับวิธีการแบบหลอก (ความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ย (MD) -9.22, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) -13.82 ถึง -4.61, visual analog scale (VAS) 0-100) ความแตกต่างไม่ถึงตามเกณฑ์ที่สำคัญทางคลินิกที่ 15 คะแนน หรือการเปลี่ยนแปลงสัมพัทธ์ 30% หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำมาก จากการทดลอง 5 รายการ (ผู้เข้าร่วม 1481 คน) แสดงให้เห็นว่าการฝังเข็มไม่ได้ผลดีไปกว่าวิธีการแบบหลอก ในการปรับปรุงการทำงานเฉพาะส่วนหลังแบบทันที (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ยมาตรฐาน (SMD) -0.16, 95% CI -0.38 ถึง 0.06; เทียบเท่าการเปลี่ยน Hannover Function Ability Questionnaire (HFAQ, 0 ถึง 100, ค่าที่สูงกว่าดีกว่า) (MD 3.33 คะแนน; 95% CI -1.25 ถึง 7.90)) การทดลอง 3 รายการ (ผู้เข้าร่วม 1068 คน) ให้หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำว่า การฝังเข็มดูเหมือนจะไม่ได้ผลทางคลินิกในระยะสั้นสำหรับคุณภาพชีวิต (SMD 0.24, 95% CI 0.03 ถึง 0.45; สอดคล้องกับการเปลี่ยนค่าคะแนนแบบสำรวจสุขภาพแบบสั้น 12 รายการทางกายภาพ (SF-12, 0-100 ค่าที่สูงกว่าดีกว่า) (คะแนน MD 2.33; 95% CI 0.29 ถึง 4.37)) สาเหตุของการลดระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานให้อยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก ได้แก่ ความเสี่ยงของอคติ ความไม่สอดคล้องและความไม่แม่นยำของผลลัพธ์

เราพบหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือในระดับปานกลางว่า การฝังเข็มช่วยบรรเทาอาการปวดได้มากขึ้นและมีความสำคัญทางคลินิก (MD -20.32, 95% CI -24.50 ถึง -16.14; การทดลอง 4 รายการ, ผู้เข้าร่วม 366 คน; (VAS, 0 ถึง 100) และการทำงานของหลังที่ดีขึ้น (SMD - 0.53, 95% CI -0.73 ถึง -0.34; การทดลอง 5 รายการ; ผู้เข้าร่วม 2960 คน; สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง HFAQ (MD 11.50 คะแนน; 95% CI 7.38 ถึง 15.84)) ในระยะทันที เมื่อเทียบกับไม่มีการรักษา หลักฐานถูกลดระดับให้มีความน่าเชื่อถือในระดับปานกลางเนื่องจากความเสี่ยงต่อการเกิดอคติ ไม่มีการศึกษารายงานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตในระยะสั้นหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ (การทดลอง 5 รายการ, ผู้เข้าร่วม 1054 คน) ชี้ให้เห็นว่าการฝังเข็มอาจลดความเจ็บปวดได้ (MD -10.26, 95% CI -17.11 ถึง -3.40; แต่ไม่สำคัญทางคลินิกสำหรับ 0 ถึง 100 VAS) และปรับปรุงการทำงานเฉพาะที่หลังทันทีหลังการรักษา (SMD: -0.47; 95% CI: -0.77 ถึง -0.17; การทดลอง 5 รายการ, ผู้เข้าร่วม 1381 คน; สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง HFAQ (MD 9.78 คะแนน 95% CI 3.54 ถึง 16.02) เมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือปานกลาง จากการทดลอง 1 รายการ (ผู้เข้าร่วม 731 คน) พบว่าการฝังเข็มมีประสิทธิผลในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตทางกายภาพมากกว่า (MD 4.20, 95% CI 2.82 ถึง 5.58) แต่ไม่ใช่คุณภาพชีวิตทางจิตใจในระยะสั้น (MD 1.90, 95% CI 0.25 ถึง 3.55) ความน่าเชื่อถือของหลักฐานถูกลดระดับลงเป็นปานกลางถึงต่ำเนื่องจากมีความเสี่ยงต่ออคติ ความไม่สอดคล้อง และความไม่แม่นยำของผลลัพธ์

หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ แสดงให้เห็นถึงอุบัติการณ์ไม่พึงประสงค์ทันทีหลังการรักษาที่คล้ายคลึงกันในกลุ่มการฝังเข็มและวิธีการแบบหลอก (การทดลอง 4 รายการ, ผู้เข้าร่วม 465 คน) (RR 0.68 95% CI 0.46 ถึง 1.01) และกลุ่มการฝังเข็มและการดูแลตามปกติ (การทดลอง 1 รายการ, ผู้เข้าร่วม 74 คน) (RR 3.34, 95% CI 0.36 ถึง 30.68) ความน่าเชื่อถือของหลักฐานถูกลดระดับลง เนื่องจากความเสี่ยงต่อการมีอคติและความไม่แม่นยำของผลลัพธ์ ไม่มีการทดลองรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จากการฝังเข็มเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่รักษา อาการไม่พึงประสงค์ที่รายงานที่พบบ่อยที่สุดในกลุ่มการฝังเข็ม ได้แก่ อาการปวดตรงตำแหน่งที่แทงเข็ม รอยช้ำ เลือดคั่ง เลือดออก การแย่ลงของ LBP และอาการปวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ LBP (ปวดที่ขาและไหล่)

ข้อสรุปของผู้วิจัย

เราพบว่าการฝังเข็มอาจไม่มีบทบาทที่มีความหมายทางคลินิกมากกว่าวิธีการแบบหลอก ในการบรรเทาความเจ็บปวดทันทีหลังการรักษาหรือในการปรับปรุงคุณภาพชีวิตในระยะสั้น และการฝังเข็มอาจไม่ช่วยให้การทำงานของหลังดีขึ้นเมื่อเทียบกับวิธีการแบบหลอกในระยะทันที อย่างไรก็ตามการฝังเข็มได้ผลดีกว่าการไม่รักษา สำหรับอาการปวดและการทำงานในระยะทันที การทดลองที่มีการรักษาตามปกติเป็นกลุ่มควบคุม พบว่าการฝังเข็มอาจไม่สามารถลดความเจ็บปวดได้ในทางคลินิก แต่การบำบัดอาจช่วยปรับปรุงการทำงานได้ทันทีหลังการทำเช่นเดียวกับคุณภาพชีวิตทางร่างกายในระยะสั้น แต่ไม่ใช่คุณภาพชีวิตทางจิตใจ หลักฐานถูกลดระดับความน่าเชื่อถือให้อยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำมาก เนื่องจากการศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติ ความไม่สอดคล้องกัน และขนาดของกลุ่มตัวอย่างที่เล็ก ทำให้เกิดความไม่แม่นยำของผลลัพธ์ การตัดสินใจใช้การฝังเข็มเพื่อรักษาอาการปวดหลังส่วนล่างเรื้อรัง อาจขึ้นอยู่กับความพร้อม ค่าใช้จ่าย และความชอบของผู้ป่วย

บันทึกการแปล

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 20 กุมภาพันธ์ 2021

Citation
Mu J, Furlan AD, Lam WY, Hsu MY, Ning Z, Lao L. Acupuncture for chronic nonspecific low back pain. Cochrane Database of Systematic Reviews 2020, Issue 12. Art. No.: CD013814. DOI: 10.1002/14651858.CD013814.