ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การรักษาใดบ้างที่ช่วยป้องกันหรือรักษาการติดเชื้อไวรัส BK ในผู้รับการปลูกถ่ายไต

ใจความสำคัญ

• ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตเนื่องจากไตวาย (ภาวะที่ไตทำงานได้ไม่ดีเพียงพอที่จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้) มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เนื่องจากพวกเขาต้องใช้ยาที่แรงเพื่อลดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน (ยากดภูมิคุ้มกัน) ของร่างกาย เพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายต่อสู้ (ปฏิเสธ) ไตใหม่นี้ ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ซึ่งอาจส่งผลต่อการทำงานของไตใหม่ ไวรัส (ไวรัส BK) ที่มีอาการคล้ายไข้หวัดธรรมดา มักถูกตรวจพบตั้งแต่ยังเด็กและอยู่อย่างสงบนิ่งในร่างกาย เมื่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายถูกกดลง ไวรัสก็จะกลับมาออกฤทธิ์อีกครั้ง

การคัดกรองแบบเข้มข้นสำหรับการติดเชื้อไวรัส BK ในเลือดหรือปัสสาวะ จากนั้นลดขนาดยาภูมิคุ้มกันในระยะเริ่มต้น จะช่วยป้องกันการสูญเสียไตที่ปลูกถ่าย และลดปริมาณไวรัส BK ในเลือดที่ 1 ปี ความเชื่อมั่นของเราในผลของการรักษาอื่น ๆ อยู่ในระดับต่ำ โดยส่วนใหญ่สร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในเรื่องการสูญเสียไตที่ได้รับการปลูกถ่าย ปริมาณไวรัส BK ในเลือด และโรคไตใหม่ที่เกี่ยวข้องกับไวรัส BK แทบไม่มีการรายงานเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

ไวรัส BK คืออะไร

ไวรัส BK มีอาการเหมือนไข้หวัดธรรมดา และคนส่วนใหญ่สัมผัสกับไวรัสนี้ในช่วงวัยเด็ก เมื่อบุคคลได้รับเชื้อไวรัส BK แล้ว ไวรัสจะอยู่ในร่างกายไปตลอดชีวิต และมักจะอยู่ในสภาวะสงบนิ่ง (เช่นเดียวกับการนอนหลับ) โดยปกติแล้วมันจะไม่ทำให้เกิดปัญหา แต่สำหรับผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกัน (กลไกของร่างกายในการต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอม) ทำงานได้ไม่ดี ไวรัสก็อาจตื่นขึ้นมาได้ ผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไตเนื่องมาจากไตวาย (ภาวะที่ไตทำงานได้ไม่ดีเพียงพอที่จะทำให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้) จะต้องรับประทานยาที่แรงเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายพยายามต่อสู้ (หรือปฏิเสธ) ไตใหม่นี้ ยาเหล่านี้จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกัน (ยากดภูมิคุ้มกัน) ลดลง และไวรัส BK อาจกลับมาทำงานอีกครั้ง และอาจส่งผลต่อไตใหม่ได้

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าวิธีการที่มุ่งป้องกันการติดเชื้อไวรัส BK หรือวิธีการที่มุ่งรักษาการติดเชื้อไวรัส BK ช่วยป้องกันการสูญเสียไตที่ปลูกถ่าย ลดปริมาณไวรัส BK ในเลือด (ไวรัสในเลือด) และป้องกันโรคไตที่เกี่ยวข้องกับไวรัส BK หรือไม่ เรายังต้องการทราบว่ายาเหล่านี้เกี่ยวข้องกับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่

เราทำอะไรไปแล้วบ้าง

เราค้นหาการศึกษาทั้งหมดที่พิจารณาประโยชน์และอันตรายของวิธีการที่มุ่งเป้าไปที่การป้องกันหรือรักษาการติดเชื้อไวรัส BK เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและให้คะแนนความเชื่อมั่นของเราในข้อมูลโดยพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดของงานวิจัย

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 12 ฉบับ ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายไตจำนวน 2669 ราย การศึกษา 6 ฉบับดำเนินการในศูนย์เดียว และการศึกษาอีก 6 ฉบับเป็นการศึกษาวิจัยแบบหลายศูนย์ โดยการศึกษา 2 ฉบับเป็นการศึกษาวิจัยระหว่างประเทศ ผู้เข้าร่วมมีอายุระหว่าง 44 ถึง 57 ปี ระยะเวลาติดตามผลมีตั้งแต่ 3 เดือนถึง 5 ปี การศึกษาทั้งหมดศึกษาในผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไต และการศึกษา 3 ฉบับ ศึกษาในผู้ที่มีอาการแสดงของไวรัส BK ในกระแสเลือด วิธีการมี่ใช้ (interventions) ได้แก่ การติดตามอย่างใกล้ชิด (การคัดกรองอย่างเข้มข้น) สำหรับไวรัส BK ในเลือดและปัสสาวะ ตามด้วยการเปลี่ยนแปลงยาภูมิคุ้มกันในระยะเริ่มต้นหากตรวจพบ การเปลี่ยนขนาดยาหรือชนิดของยาภูมิคุ้มกันที่ใช้เมื่อตรวจพบไวรัส BK และการใช้ยาปฏิชีวนะ (ฟลูออโรควิโนโลน) เพื่อป้องกันและรักษาไวรัส BK ในกระแสเลือด

การคัดกรองแบบเข้มข้นสำหรับการติดเชื้อไวรัส BK ในเลือดหรือปัสสาวะ จากนั้นลดขนาดยาภูมิคุ้มกันในระยะเริ่มต้น จะช่วยป้องกันการสูญเสียไตที่ปลูกถ่าย และลดปริมาณไวรัส BK ในเลือดที่ 1 ปี ผลของวิธีการอื่น ๆ มีความหลากหลาย โดยส่วนใหญ่สร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในเรื่องการสูญเสียไตที่ได้รับการปลูกถ่าย ไวรัส BK ในกระแสเลือด และโรคไตที่เกี่ยวข้องกับไวรัส BK แทบไม่มีการรายงานเกี่ยวกับภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

เรามั่นใจว่าการคัดกรองไวรัส BK อย่างเข้มข้นสามารถป้องกันการสูญเสียไตที่ได้รับการปลูกถ่าย และช่วยลดปริมาณไวรัส BK ในเลือดได้ ความเชื่อมั่นของเราในผลลัพธ์ของวิธีการอื่น ๆ อยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมากเนื่องจากจำนวนการศึกษา (ต่อการเปรียบเทียบ) มีจำนวนน้อย และขนาดของการศึกษาก็มีขนาดเล็ก ไม่ใช่ว่าการศึกษาทั้งหมดจะให้ข้อมูลสำหรับผลลัพธ์ที่เราสนใจหรือมีการรายงานในลักษณะที่เราไม่สามารถวิเคราะห์ได้

หลักฐานเป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานมีอยู่ในปัจจุบันถึงวันที่ 5 กันยายน 2024

บทนำ

โรคไตที่เกี่ยวข้องกับไวรัส BK (BK virus-associated nephropathy; BKVAN) ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อหรือการกลับมาของไวรัส BK อีกครั้ง ยังคงเป็นความท้าทายในการปลูกถ่ายไต แนะนำให้ผู้ที่จะได้รับการปลูกถ่ายไตทุกรายเข้ารับการคัดกรอง สำหรับผู้ที่มีการติดเชื้อทางคลินิกที่สำคัญ การลดภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องถือเป็นรากฐานสำคัญของการจัดการ ไม่มียาต้านไวรัสหรือยาปรับภูมิคุ้มกันโดยเฉพาะที่มีประสิทธิภาพเพียงพอสำหรับการใช้เป็นประจำ

วัตถุประสงค์

การทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตรวจสอบประโยชน์และอันตรายของการรักษาการติดเชื้อไวรัส BK ในผู้รับการปลูกถ่ายไต

วิธีการสืบค้น

เราได้ค้นหาใน Cochrane Kidney and Transplant Register of Studies จนถึงวันที่ 5 กันยายน 2024 โดยการติดต่อกับผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลโดยใช้คำค้นที่เกี่ยวข้องกับการทบทวนวรรณกรรมนี้ การศึกษาใน Register จะถูกค้นหาผ่านการค้นหาของ CENTRAL, MEDLINE และ EMBASE, เอกสารในงานประชุม, International Clinical Trials Register (ICTRP) Search Portal และ ClinicalTrials.gov

เกณฑ์การคัดเลือก

การทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุม (randomised controlled trials; RCTs) และการศึกษาแบบ cohort ที่ตรวจสอบ วิธีการใด ๆ เพื่อรักษาหรือป้องกัน BKVAN สำหรับผู้รับการปลูกถ่ายไต

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คน ได้ประเมินคุณภาพของการศึกษาวิจัยและดึงข้อมูลอย่างเป็นอิสระต่อกัน สรุปการประมาณผลโดยใช้ random-effects model และผลการศึกษาสำหรับข้อมูลแบบ dichotomous นำเสนอด้วย risk ratio (RR) และช่วงเชื่อมั่น 95% (confidence intervals; CI) และข้อมูลแบบต่อเนื่องนำเสนอด้วย mean difference และช่วงเชื่อมั่น 95% (CI) ความเชื่อมั่นของหลักฐานได้รับการประเมินโดยใช้วิธี Grading of Recommendations Assessment, Development and Evaluation (GRADE)

ผลการวิจัย

มี RCTs 12 ฉบับ (ผู้เข้าร่วมที่ได้รับการสุ่ม 2669 ราย) การศึกษา 6 ฉบับดำเนินการในศูนย์เดียว และการศึกษาอีก 6 ฉบับ เป็นการศึกษาวิจัยแบบหลายศูนย์ โดยการศึกษา 2 ฉบับเป็นการศึกษาวิจัยระหว่างประเทศ ผู้เข้าร่วมมีอายุระหว่าง 44 ถึง 57 ปี ระยะเวลาของการติดตามอยู่ระหว่าง 3 เดือนถึง 5 ปี การศึกษาทั้งหมดศึกษาในผู้ที่ได้รับการปลูกถ่ายไต และการศึกษา 3 ฉบับ ศึกษาในผู้ที่มีอาการแสดงของไวรัส BK ในกระแสเลือด การศึกษามีความแตกต่างกันในแง่ของประเภทของการรักษาและผลลัพธ์ที่ประเมิน ความเสี่ยงของการมีอคติโดยรวมอยู่ในระดับต่ำหรือไม่ชัดเจน

การคัดกรองอย่างเข้มข้นเพื่อตรวจพบไวรัส BK ในเลือดหรือไวรัส BK ในปัสสาวะในระยะเริ่มต้นช่วยป้องกันการสูญเสียกราฟต์ (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 908 ราย: RR 0.00, 95% CI 0.00 ถึง 0.05) และลดการมี decoy cells และไวรัสในกระแสเลือดที่ 12 เดือน (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 908 ราย: RR 0.06, 95% CI 0.03 ถึง 0.11) เมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติ (หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) ไม่มีการรายงานผลลัพธ์อื่น

เมื่อเทียบกับยาหลอก fluoroquinolones อาจลดความเสี่ยงของการสูญเสียกราฟต์ได้เล็กน้อย (การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 393 คน: RR 0.37, CI 0.09 ถึง 1.57; I 2 = 0%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อแอนติบอดีที่จำเพาะต่อผู้บริจาค (donor-specific antibodies; DSA) อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อไวรัส BK ในเลือดและการเสียชีวิต มีผลที่ไม่แน่นอนต่อ BKVAN และมะเร็ง แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงของเอ็นอักเสบ (การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 193 คน: RR 5.66, CI 1.02 ถึง 31.32; I 2 = 0%; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

เมื่อเปรียบเทียบกับ tacrolimus (TAC), cyclosporin (CSA) อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการสูญเสียของกราฟต์และการเสียชีวิต อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อ BKVAN และมะเร็ง แต่มีแนวโน้มจะลดระดับไวรัส BK ในเลือด (การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 263 คน: RR 0.61, 95% CI 0.26 ถึง 1.41; I 2 = 38%) และอาจลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานที่เกิดใหม่หลังการปลูกถ่าย (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 200 ราย: RR 0.41, 95% CI 0.12 ถึง 1.35) (หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลางทั้งคู่)

เมื่อเปรียบเทียบกับ azathioprine, mycophenolate mofetil (MMF) อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการสูญเสียกราฟต์และไวรัส BK ในเลือด แต่ก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงของการเสียชีวิตได้ (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 133 ราย: RR 0.43, 95% CI 0.16 ถึง 1.16) และมะเร็ง (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 199 ราย: RR 0.43, 95% CI 0.16 ถึง 1.16) (หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลางทั้งคู่)

เมื่อเปรียบเทียบกับ mycophenolate sodium (MPS), CSA มีผลที่ไม่แน่นอนต่อการสูญเสียของกราฟต์และการตาย อาจทำให้ไวรัส BK ในเลือด แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย แต่อาจลด BKVAN ได้ (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 224 คน: RR 0.06, 95% CI 0.00 ถึง 1.20; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

เมื่อเปรียบเทียบกับการลดขนาดยากดภูมิคุ้มกัน การเปลี่ยน MMF หรือ TAC ให้เป็น everolimus หรือ sirolimus อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการสูญเสียกราฟต์ ไวรัส BK ในเลือด หรือ BKVAN (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) การแปลง TAC เป็น sirolimus อาจส่งผลให้มีคนมากขึ้นที่มีปริมาณไวรัส BK ลดลง (< 600 สำเนา/มล.) มากกว่าการลดการกดภูมิคุ้มกัน (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 30 คน: RR 1.31, 95% CI 0.90 ถึง 1.89; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง)

เมื่อเปรียบเทียบกับ MPS everolimus มีผลที่ไม่แน่นอนต่อการสูญเสียกราฟต์และ BK viraemia อาจลด BKVAN ได้ (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 135 คน: RR 0.06, 95% CI 0.00 ถึง 1.11) และอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 135 คน: RR 3.71, 95% CI 0.20 ถึง 67.35) (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำทั้งคู่)

เมื่อเปรียบเทียบกับ CSA, everolimus อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อ BK viraemia มีผลที่ไม่แน่นอนต่อการสูญเสียกราฟต์และ BKVAN แต่อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 185 คน: RR 3.71, 95% CI 0.42 ถึง 32.55; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

เมื่อเปรียบเทียบกับการลดการกดภูมิคุ้มกัน อนุพันธ์ leflunomide FK778 อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการสูญเสียกราฟท์ อาจส่งผลให้ปริมาณไวรัส BK ในพลาสมาลดลงมากขึ้น (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 44 คน: -0.60 copies/µL, 95% CI -1.22 ถึง 0.02; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) แต่มีผลที่ไม่แน่นอนต่อ BKVAN และมะเร็ง ความดันโลหิตสูงที่สูงขึ้นอาจเพิ่มขึ้นด้วย KF778 (การศึกษา 1 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 46 คน: RR 8.23, 95% CI 0.50 ถึง 135.40; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ไม่มีผู้เสียชีวิตในทั้ง 2 กลุ่ม

ข้อสรุปของผู้วิจัย

การติดตามอย่างเข้มข้นในระยะเริ่มต้นหลังการปลูกถ่ายเพื่อดูไวรัส BK ในปัสสาวะและไวรัส BK ในกระแสเลือดมีประสิทธิผลในการปรับปรุงผลลัพธ์ของการติดเชื้อไวรัส BK เนื่องจากช่วยในการตรวจพบการติดเชื้อได้ในระยะเริ่มต้นและช่วยทำให้ลดการกดภูมิคุ้มกันได้ทันท่วงที ไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะสนับสนุนวิธีการอื่น ๆ สำหรับการติดเชื้อไวรัส BK ในผู้รับการปลูกถ่ายไต

บันทึกการแปล

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 22 ตุลาาคม 2024 Edit โดย ศ พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 28 มกราคม 2025

Citation
Wajih Z, Karpe KM, Walters GD. Interventions for BK virus infection in kidney transplant recipients. Cochrane Database of Systematic Reviews 2024, Issue 10. Art. No.: CD013344. DOI: 10.1002/14651858.CD013344.pub2.