การใช้เตียงร่วมกัน เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและปลอดภัยในการดูแลทารกแรกครบกำหนดเกิดที่มีสุขภาพดีหรือไม่?

คำถามทบทวนวรรณกรรม: เราต้องการทราบว่าการใช้เตียงร่วมกันมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของระยะเวลาและความถี่ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกที่เกิดหลังการตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ (หรือที่เรียกว่าทารกแรกเกิดที่ครบกำหนด) และมีสุขภาพดีเมื่อแรกเกิด

การใช้เตียงร่วมกันเป็นวิธีปฏิบัติในการนอนโดยใช้พื้นผิวการนอน (เช่นเตียง โซฟา หรือเก้าอี้นวม หรือแผ่นรองนอนอื่น ๆ ) ร่วมกันระหว่างทารกและบุคคลอื่น สาเหตุที่เป็นไปได้ที่ครอบครัวเลือกใช้เตียงร่วมกัน ได้แก่ ความสะดวกในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ การควบคุมอุณหภูมิ (หลีกเลี่ยงภาวะอุณหภูมิต่ำ); ใช้เวลาอย่างมีคุณภาพกับทารก ช่วยให้ทารกนอนหลับ และสามารถปลอบทารกได้อย่างง่ายดายในกรณีที่พวกเขารู้สึกกระวนกระวาย สามารถเข้าจัดการได้อย่างรวดเร็วในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ให้การดูแลอย่างใกล้ชิดในระหว่างการเจ็บป่วย และการส่งเสริมความผูกพัน อย่างไรก็ตามสำหรับหลายครอบครัวทั่วโลกการใช้เตียงร่วมกันไม่ใช่ทางเลือก ในประเทศที่มีรายได้สูงการใช้เตียงร่วมกันถือเป็นแนวปฏิบัติที่ยังถกเถียงกัน และได้รับความสนใจเป็นพิเศษเกี่ยวกับผลของวิธีการนี้ในทารกที่เสียชีวิตอย่างกะทันหัน (SIDS) แต่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง การใช้เตียงร่วมกันถือเป็นแนวทางปฏิบัติมาตรฐานสำหรับคนหลายกลุ่มที่ไม่สามารถมีพื้นผิวการนอนที่แตกต่างกันได้ ในสังคมที่ร่ำรวยน้อยกว่า เชื่อกันว่าการนอนร่วมเตียงมีส่วนช่วยให้: ระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นานขึ้น เพิ่มเวลาและระยะเวลาในการกระตุ้นทารก ลดเวลาและระยะเวลาที่ใช้ในการนอนหลับลึก และเพิ่มการรับรู้ของมารดาเกี่ยวกับสภาพของทารก

ลักษณะการศึกษา: เราสืบค้นการศึกษาจนถึงวันที่ 23 กรกฎาคม 2020 จุดมุ่งหมายของการทบทวนคือเพื่อรวมการศึกษาแบบสุ่มที่มีการควบคุม (RCTS) RCTs เป็นการศึกษาทางคลินิกโดยสุ่มให้ผู้เข้าร่วมกลุ่มบำบัดหนึ่งในสองกลุ่มขึ้นไป เราวางแผนที่จะรวม RCT ของทารกแรกเกิดที่ครบกำหนด ที่เริ่มนอนร่วมเตียงกับแม่ภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด (และยังคงนอนร่วมเตียงกับแม่ในช่วง 4 สัปดาห์แรกของชีวิตตามด้วยช่วงเวลาที่ไม่แน่นอนหลังจากนั้น) เราตั้งเป้าที่จะเปรียบเทียบกลุ่ม 'ใช้เตียงร่วมกัน' กับกลุ่ม 'ไม่ใช้เตียงร่วมกัน' ระหว่างการใช้เตียงร่วมกัน มีการสัมผัสใกล้ชิดระหว่างมารดาและทารก ประโยชน์ทางสรีรวิทยาที่เป็นไปได้ ได้แก่ การควบคุมอุณหภูมิที่ดีขึ้น โดยมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะอุณหภูมิต่ำน้อยลง และระยะเวลาในการเลี้ยงลูกด้วยนมที่ประสบความสำเร็จนานขึ้น อันตรายรวมถึงการเสียชีวิตของทารกอย่างกะทันหัน อันเป็นผลมาจากการที่แม่นอนทับทารก และการใช้หมอนและผ้านวม

ผลลัพธ์ที่สำคัญ: เราได้ประเมินการศึกษา 6 รายการเพื่อรวมไว้ในการทบทวนนี้ เราคัดออกด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้: การวิเคราะห์ข้อมูลทุติยภูมิของ RCT หลัก (2 การศึกษา); ไม่ได้ศึกษาการใช้เตียงร่วมกัน (2 การศึกษา); ไม่ใช่ RCT (1 การศึกษา); และไม่ได้ศึกษาผลลัพธ์ที่น่าสนใจของการทบทวน (1 การศึกษา)

ความเชื่อมั่นของหลักฐาน: เราไม่สามารถตัดสินความเชื่อมั่นของหลักฐานเกี่ยวกับการนอนร่วมเตียงในทารกแรกเกิดที่มีสุขภาพดี เนื่องจากไม่มีการศึกษารวมที่เข้าเกณฑ์ มีความจำเป็นสำหรับ RCTs ในการใช้เตียงร่วมกันในทารกครบกำหนดแรกเกิดที่มีสุขภาพดีซึ่งจะประเมินประสิทธิภาพโดยตรง (เช่น การศึกษาในสถานที่ที่มีการควบคุม เช่นโรงพยาบาล) หรือประสิทธิผล (เช่น การศึกษาในชุมชนหรือที่บ้าน) และความปลอดภัย นอกจากนี้ควรรวมทารกจากประเทศที่มีรายได้สูง และประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง โดยเฉพาะประเทศที่มีการนอนร่วมเตียงกันมาก เนื่องจากการปฏิบัติทางวัฒนธรรม (เช่นประเทศในเอเชีย)

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราไม่พบการศึกษาใด ๆ ที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกของเรา มีความจำเป็นสำหรับ RCTs ในการใช้เตียงร่วมกันในทารกครบกำหนดแรกเกิดที่มีสุขภาพดีซึ่งจะประเมินประสิทธิภาพโดยตรง (เช่น การศึกษาในสถานที่ที่มีการควบคุม เช่นโรงพยาบาล) หรือประสิทธิผล (เช่น การศึกษาในชุมชนหรือที่บ้าน) และความปลอดภัย การศึกษาในอนาคตควรประเมินผลลัพธ์เช่นสถานะการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และความเสี่ยงของ SIDS นอกจากนี้ควรรวมทารกแรกเกิดจากประเทศที่มีรายได้สูงและประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางโดยเฉพาะประเทศที่มีการใช้เตียงกันร่วมกันมาก เนื่องจากการปฏิบัติทางวัฒนธรรม (เช่นประเทศในเอเชีย)

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การจัดเตรียมการนอนสำหรับทารกแรกเกิดมีความหลากหลายทั่วโลก การใช้เตียงร่วมกันเป็นวิธีปฏิบัติในการนอนโดยใช้พื้นผิวการนอน (เช่น เตียง โซฟาหรือเก้าอี้นวม หรือพื้นรองนอนอื่น ๆ ) ร่วมกันระหว่างทารกและบุคคลอื่น ผลประโยชน์ทางสรีรวิทยาที่เป็นไปได้ ได้แก่ ออกซิเจนที่ดีขึ้นและความเสถียรของหัวใจและปอด อาการร้องน้อยลง ความเสี่ยงต่อภาวะอุณหภูมิต่ำน้อยลง และการให้นมบุตรนานขึ้น ในทางกลับกันผลกระทบที่เป็นอันตรายที่สำคัญที่สุดของการใช้เตียงร่วมกันคืออาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอาการทารกเสียชีวิตอย่างกะทันหัน (SIDS) การศึกษาพบหลักฐานที่ขัดแย้งกันเกี่ยวกับความปลอดภัยและประสิทธิภาพของการใช้เตียงร่วมกันในช่วงวัยทารก

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการใช้เตียงร่วมกัน โดยเริ่มตั้งแต่ช่วงทารกแรกเกิด ต่อการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (ระยะเวลาให้นมบุตรอย่างเดียวและโดยรวม) อุบัติการณ์ของ SIDS อัตราการเกิดอุณหภูมิต่ำ การเสียชีวิตของทารกแรกเกิดและทารก และผลลัพธ์ของพัฒนาการทางระบบประสาทในระยะยาว

วิธีการสืบค้น: 

เราใช้กลยุทธ์การสืบค้นมาตรฐานของ Cochrane Neonatal เพื่อค้นหา Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL 2020, Issue 7) ใน Cochrane Library; MEDLINE ผ่าน PubMed (1966 ถึง 23 กรกฎาคม 2020), CINAHL (1982 ถึง 23 กรกฎาคม 2020) และ LILACS (1980 ถึง 23 กรกฎาคม 2020) เรายังสืบค้นฐานข้อมูลการทดลองทางคลินิก และรายการอ้างอิงของบทความที่ได้มา สำหรับการทดลองแบบสุ่มที่มีการควบคุม และการทดลองแบบกึ่งสุ่ม

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราวางแผนที่จะรวม RCTs หรือ quasi-RCTs (รวมทั้ง cluster randomised trials) ซึ่งรวมทารกแรกเกิดครบกำหนดระยะแรก ที่เริ่มการใช้เตียงร่วมกันภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด (และยังคงใช้เตียงร่วมกับแม่ในช่วง 4 สัปดาห์แรกของชีวิต ตามด้วยช่วงเวลาที่แตกต่างกันหลังจากนั้น) และเปรียบเทียบกับกลุ่ม 'ไม่ใช้เตียงร่วมกัน'

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ระเบียบวิธีการที่เป็นขั้นตอนมาตรฐานตามคำแนะนำของ Cochrane เราวางแผนที่จะใช้แนวทาง GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ผลการวิจัย: 

กลยุทธ์การสืบค้นของเราให้รายงาน 6231 รายการ หลังจากคัดเอาบันทึกที่ซ้ำกันออกแล้ว เราคัดกรองได้ 2745 รายการตามชื่อเรื่องและบทคัดย่อ เราคัดออก 2739 รายการที่ไม่ตรงกับเกณฑ์การคัดเข้าของเรา เราได้การศึกษาแบบเต็มรูปแบบ 6 ฉบับสำหรับการประเมิน การศึกษาทั้ง 6 รายการไม่เป็นไปตามเกณฑ์คุณสมบัติและถูกคัดออก

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 17 เมษายน 2021

Tools
Information