การทำแท้งด้วยยาและวิธีทางศัลยกรรมสำหรับสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เราทบทวนหลักฐานเกี่ยวกับความปลอดภัยและความสำเร็จของการทำแท้งด้วยยาและศัลยกรรมของสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี คำถามหลักของเราคือ: ความปลอดภัยและความสำเร็จของการทำแท้งด้วยยากับการทำแท้งด้วยศัลยกรรมสำหรับสตรีที่ติดเชื้อ HIV มีความแตกต่างกันหรือไม่ คำถามรองของเราคือ: (1) ผลลัพธ์ของการทำแท้งด้วยยาและศัลยกรรมระหว่างสตรีที่ติดเชื้อ HIV และสตรีที่ไม่มี HIV แตกต่างกันหรือไม่?; และ (2) มีการรายงานผลลัพธ์ของการทำแท้งด้วยยาและศัลยกรรมสำหรับสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวีอย่างไร

ความเป็นมา

แนวทางปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับการทำแท้งอย่างปลอดภัยแนะนำให้ทำแท้งด้วยยาไมเฟพริสโตนและไมโซพรอสทอล หรือการทำแท้งด้วยวิธีทางศัลยกรรมโดยใช้เครื่องดูดสูญญากาศหรือการขยายและการเอาออกเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและประสบความสำเร็จสำหรับสตรี อย่างไรก็ตาม หลักเกณฑ์นี้ไม่ได้ให้ข้อพิจารณาทางคลินิกเฉพาะสำหรับสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี

ลักษณะการศึกษา

หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงวันที่ 17 เมษายน 2018 จากระเบียน 3840 รายการที่คัดกรอง เราพบการศึกษาที่ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่เพียงฉบับเดียวที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกของเรา วิธีการที่ใช้มุ่งเน้นไปที่สตรีที่อาศัยอยู่ในยูเครนที่ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งทำแท้งด้วยยาที่บ้าน

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

คุณภาพของหลักฐานต่ำ แต่พบว่าการทำแท้งด้วยยาประสบความสำเร็จโดยไม่มีภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญในสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี

คุณภาพของหลักฐาน

ผลจากการทบทวนนี้ไม่ได้ให้หลักฐานเพียงพอที่จะระบุว่ามีความแตกต่างในผลลัพธ์การทำแท้งสำหรับสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี แต่ยังไม่พบหลักฐานที่แสดงว่าการทำแท้งไม่ปลอดภัยในประชากรกลุ่มนี้ เนื่องจากเป็นสิ่งสำคัญสำหรับสตรีทุกคนที่จะเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัยเพื่อต่อสู้กับภัยคุกคามด้านสาธารณสุขที่มีอัตราการเสียชีวิตของมารดาที่สูง ผู้ให้บริการด้านการดูแลสุขภาพไม่ควรถูกขัดขวางไม่ให้เข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัยแก่ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เนื่องจากการศึกษามีน้อย เราจึงไม่สามารถระบุได้ว่าผลลัพธ์มีความแตกต่างกันระหว่างสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวีและสตรีที่ไม่มีเชื้อเอชไอวีที่ทำแท้งด้วยยาหรือศัลยกรรมหรือไม่ เราไม่พบหลักฐานที่บ่งชี้ว่าการทำแท้งด้วยยาหรือศัลยกรรมไม่ปลอดภัยสำหรับสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี แม้ว่าการวิจัยเพิ่มเติมจะช่วยเสริมหลักฐานนี้ ผู้ให้บริการด้านสุขภาพไม่ควรถูกให้รอที่จะให้การเข้าถึงการทำแท้งอย่างปลอดภัยแก่สตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

แนวทางปฏิบัติขององค์การอนามัยโลก (WHO) สำหรับการทำแท้งอย่างปลอดภัยแนะนำให้ทำแท้งด้วยยาไมเฟพริสโตนและไมโซพรอสทอล หรือการทำแท้งด้วยวิธีทางศัลยกรรมโดยใช้เครื่องดูดสูญญากาศหรือการขยายและการเอาออก เป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับสตรี อย่างไรก็ตาม ไม่มีข้อพิจารณาทางคลินิกที่เฉพาะเจาะจงใดๆ ในแนวทางปฏิบัติเหล่านี้สำหรับสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี มีความกังวลว่าสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวีอาจมีความเสี่ยงต่อผลการทำแท้งที่ไม่พึงประสงค์มากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับสตรีที่ไม่ติดเชื้อเอชไอวีเนื่องจากภาวะการกดภูมิคุ้มกัน อัตราการติดเชื้อร่วมกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ ในระดับสูง และข้อห้ามใช้ระหว่างยาที่ใช้สำหรับการทำแท้งและ สูตรการรักษาด้วยยาต้านไวรัส

วัตถุประสงค์: 

วัตถุประสงค์หลักของเราคือการประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการทำแท้งด้วยยากับการทำแท้งด้วยวิธีทางศัลยกรรมในสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี วัตถุประสงค์รองของเราคือ: (1) เปรียบเทียบผลลัพธ์ของการทำแท้งด้วยยาและศัลยกรรมระหว่างสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวีกับสตรีที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี และ (2) อธิบายผลลัพธ์ของการทำแท้งด้วยยาและศัลยกรรมในสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี

วิธีการสืบค้น: 

เราทำการค้นหาเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2018 เราค้นหาการทดลองที่ตีพิมพ์และไม่ได้ตีพิมพ์และการศึกษาเชิงสังเกตเกี่ยวกับการทำแท้งด้วยยาและศัลยกรรมในสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี เราค้นหา Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), MEDLINE, Embase, PsycINFO, CINAHL, ClinicalTrials.gov และ WHO International Clinical Trials Registry Platform โดยใช้คำศัพท์สำหรับการทำแท้งและเอชไอวีร่วมกัน เราค้นหาเว็บไซต์การประชุมเพื่อหาบทคัดย่อที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้เรายังค้นหาข้อมูลที่ไม่ได้ตีพิมพ์เผยแพร่ซึ่งแบ่งชั้นตามสถานะเอชไอวีที่สามารถวิเคราะห์ใหม่ได้

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราพิจารณาการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCT) ไม่ใช่ RCT และการศึกษาเชิงสังเกต เราพิจารณา: (1) การศึกษาประสิทธิภาพและความปลอดภัยของการทำแท้งด้วยยากับศัลยกรรมในสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี (2) การศึกษาเปรียบเทียบผลลัพธ์ของการทำแท้งทั้งสองวิธีระหว่างสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวีและสตรีที่ไม่มีเชื้อเอชไอวี และ (3) การศึกษาที่อธิบายผลลัพธ์ของการทำแท้งในสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวี

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัย 1 คน คัดกรองชื่อ บทคัดย่อ ข้อมูลอ้างอิง และคำอธิบายสำหรับการอ้างอิงที่พบในการสืบค้นขั้นต้น เราได้รับบทความฉบับเต็มของการศึกษาที่อาจเข้าเกณฑ์ทั้งหมด ผู้วิจัย 2 คนตรวจสอบบทความฉบับเต็มอย่างอิสระต่อกันเพื่อให้สอดคล้องกับเกณฑ์การคัดเลือกและการพิจารณาคัดเลือกการศึกษาขั้นสุดท้าย เราวางแผนที่จะดำเนินการวิเคราะห์เมตต้าหากมีการศึกษาจำนวนมากเพียงพอ (อย่างน้อยสาม) ที่ตอบคำถามการวิจัยเดียวกันและนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่เปรียบเทียบได้เพียงพอ

ผลการวิจัย: 

จากจำนวนระเบียนที่คัดกรอง 3840 รายการ เราพบบทคัดย่อการประชุมเพียงฉบับเดียวที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกของเรา การศึกษาแบบ prospective ประเมินประสิทธิภาพและการยอมรับของการใช้ยาไมโซพรอสทอลที่บ้านสำหรับการทำแท้งด้วยยาในระยะเริ่มต้นของสตรีที่ติดเชื้อเอชไอวีซึ่งขาดประจำเดือนมาน้อยกว่า 63 วันในยูเครน การทำแท้งด้วยยามีผลสำเร็จใน 65 จาก 68 ราย (96%) ที่ตรวจสอบ ความล้มเหลวจำนวนน้อยได้แก่การแท้งที่ไม่สมบูรณ์ (n = 1) เลือดออกมาก (n = 1) และการตั้งครรภ์ต่อเนื่อง (n = 1) ไม่มีการติดเชื้อร้ายแรง

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว Edit โดย ผกากรอง 29 พฤศจิกายน 2022

Tools
Information