ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วิธีการพัฒนาทักษะการสื่อสารสำหรับนักศึกษาแพทย์

วิธีใดที่ดีที่สุดในการสอนนักศึกษาแพทย์ในการพูดคุยแก่ผู้ป่วย

การสอนทักษะการสร้างมนุษยสัมพันธ์

เราใช้ทักษะมนุษยสัมพันธ์ทุกวันเวลาเราพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น ทักษะมนุษยสัมพันธ์นั้นรวมไปถึงทักษะการสื่อสาร เช่น การฟัง การพูด และการถามคำถาม การสื่อสารที่ดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ทั้งหมด ซึ่งแพทย์จำเป็นต้องสร้างความสัมพันธ์, แสดงความเห็นอกเห็นใจ, รวบรวมข้อมูล, อธิบายแนวคิด และแผนการรักษาร่วมกับผู้ป่วย

นักศึกษาแพทย์จำเป็นต้องพิสูจน์ว่าตนมีความสามารถในด้านมนุษยสัมพันธ์และทักษะการสื่อสารก่อนที่จะจบการศึกษา ซึ่งแนวทางในการสอนนักศึกษาแพทย์ในทักษะเหล่านี้ มีหลายรูปแบบ ได้แก่ การสอนแบบตัวต่อตัว, การสอนในหลักสูตรออนไลน์, โปรแกรมที่ให้ข้อเสนอแนะรายบุคคลหรือปรับให้เหมาะกับนักศึกษาแต่ละคน และการแสดงบทบาทสมมติกับเพื่อนหรือกับผู้ป่วยจำลอง

ทำไมเราถึงทำการทบทวนวรรณกรรมนี้

โรงเรียนแพทย์และมหาวิทยาลัยทั่วโลกใช้แนวทางหลายวิธีในการสอนทักษะมนุษยสัมพันธ์และการสื่อสาร ผู้วิจัยต้องการค้นหาว่าโปรแกรมการสอนวิธีใดให้ผลลัพธ์ดีที่สุด

ผู้วิจัยทำการศึกษาอย่างไร

ผู้วิจัยสืบค้นการศึกษาที่ประเมินโปรแกรมการสอนการสร้างเสริมทักษะมนุษยสัมพันธ์และการสื่อสารให้แก่นักศึกษาแพทย์

วันที่ค้นข้อมูล: เรารวบรวมหลักฐานที่เผยแพร่ถึง กันยายน 2020

สิ่งที่พบ

ผู้วิจัยพบการศึกษาที่เกี่ยวข้อง 90 ฉบับซึ่งมีนักศึกษาเข้าร่วมวิจัยรวมทั้งหมด 10,124 คน และจัดทำในประเทศสหรัฐอเมริกา และในประเทศต่างๆ ในยุโรป, ตะวันออกกลาง และเอเชียแปซิฟิก การศึกษาเหล่านี้ประเมินโปรแกรมการสอนการสร้างเสริมทักษะมนุษยสัมพันธ์และการสื่อสาร ที่มีทั้งการใช้บทบาทสมมติและให้ข้อเสนอแนะเป็นรายบุคคล และการสาธิตเป็นกลุ่ม ซึ่งวิธีการสอนมีทั้งสอนแบบเห็นหน้าตัวต่อตัว, ทางวิดีโอหรือทางออนไลน์ ในการศึกษาส่วนใหญ่จะประเมินผลลัพธ์ทันทีหลังจากจบโปรแกรมการสอนและติดตามประเมินผลจนถึง 12 เดือน

ผู้วิจัยเปรียบเทียบผลการศึกษาต่างๆ เพื่อค้นหาว่าโปรแกรมการสอนแต่ละวิธีมีผลอย่างไรต่อ:

·ทักษะการสื่อสารโดยรวม

มีความเข้าใจว่าอีกฝ่ายกำลังมีความรู้สึกอย่างไร ·(ความเห็นอกเห็นใจ)

·การสร้างความสัมพันธ์หรือเข้าใจความรู้สึกหรือความคิดของอีกฝ่าย (rapport)

·การรวบรวมข้อมูล รวมถึงความพึงพอใจของผู้ป่วย, ความเข้าใจหรือมุมมองของผู้ป่วย และ

·การอธิบายและวางแผนการรักษา (การให้ข้อมูล)

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร

เมื่อเปรียบเทียบโปรแกรมการสอนมนุษยสัมพันธ์กับโปรแกรมการสอนตามปกติ หรือเปรียบเทียบกับกลุ่มที่อยู่ระหว่างรอเรียนโปรแกรมการสอนมนุษยสัมพันธ์ แสดงให้เห็นว่าโปรแกรมเหล่านี้:

·อาจช่วยเพิ่มทักษะการสื่อสารโดยรวมของนักศึกษาเล็กน้อย (หลักฐานจากการศึกษาจำนวน 18 ฉบับ, นักศึกษาเข้าร่วมวิจัย 1356 คน) และทักษะความเห็นอกเห็นใจ (การศึกษาจำนวน 6 ฉบับ, นักศึกษา 831 คน)

·อาจช่วยเพิ่มทักษะในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับมุมมองของผู้ป่วย (การศึกษาจำนวน 5 ฉบับ, นักศึกษา 405 คน) แต่

·อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (การศึกษาจำนวน 9 ฉบับ, นักศึกษา 834 คน)

ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจว่าโปรแกรมการสอนมนุษยสัมพันธ์ส่งผลต่อทักษะในการให้ข้อมูลหรือไม่ (การศึกษาจำนวน 5 ฉบับ, นักศึกษา 659 คน)

ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจว่าโปรแกรมการสอนออนไลน์หรือการเรียนรู้ด้วยตนเองจะส่งผลต่อทักษะการสื่อสารโดยรวมของนักศึกษาหรือไม่ (การศึกษาจำนวน 4 ฉบับ, นักศึกษา 1578 คน) หรือทักษะในการรวบรวมข้อมูล (การศึกษาจำนวน 1 ฉบับ, นักศึกษา 164 คน) เมื่อเปรียบเทียบกับการสอนแบบเห็นหน้าตัวต่อตัว

เมื่อเปรียบเทียบโปรแกรมการสอนออนไลน์หรือการเรียนรู้ด้วยตนเองกับการสอนแบบเห็นหน้าตัวต่อตัว:

·อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อทักษะการสร้างความเห็นอกเห็นใจ (การศึกษาจำนวน 3 ฉบับ, นักศึกษา 421 คน)

·อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (การศึกษาจำนวน 3 ฉบับ, นักศึกษา 176 คน)

·อาจลดทักษะในการให้ข้อมูลลงเล็กน้อย (การศึกษาจำนวน 1 ฉบับ, นักศึกษา 122 คน)

โปรแกรมที่ให้ข้อเสนอแนะรายบุคคลหรือปรับให้เหมาะกับนักศึกษาแต่ละคนเมื่อเปรียบเทียบกับโปรแกรมที่สอนแบบทั่วไปหรือไม่ให้ข้อเสนอแนะเลย พบว่า

·ช่วยเพิ่มทักษะการสื่อสารโดยรวมได้เล็กน้อย (การศึกษาจำนวน 6 ฉบับ, นักศึกษา 502 คน) และ

·อาจช่วยเพิ่มทักษะความเห็นอกเห็นใจได้เล็กน้อย (การศึกษาจำนวน 1 ฉบับ, นักศึกษา 66 คน) และทักษะในการรวบรวมข้อมูล (การศึกษาจำนวน 1 ฉบับ, นักศึกษา 48 คน)

ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจว่าโปรแกรมที่ให้ข้อเสนอแนะรายบุคคลหรือปรับให้เหมาะกับนักศึกษาแต่ละคนนั้น ส่งผลต่อทักษะการสร้างความสัมพันธ์หรือไม่ (การศึกษาจำนวน 1 ฉบับ, นักศึกษา 190 คน) ไม่มีการศึกษาใดรายงานผลต่อทักษะในการให้ข้อมูล

ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจว่าโปรแกรมที่ใช้บทบาทสมมติกับผู้ป่วยจำลองจะช่วยเพิ่มทักษะการสื่อสารโดยรวมของนักศึกษาหรือไม่ (การศึกษาจำนวน 4 ฉบับ, นักศึกษา 637 คน) เมื่อเปรียบเทียบกับโปรแกรมที่ใช้บทบาทสมมติกับเพื่อนด้วยกัน แต่การแสดงบทบาทสมมติกับผู้ป่วยจำลองอาจช่วยเพิ่มทักษะความเห็นอกเห็นใจได้เล็กน้อย (การศึกษาจำนวน 2 ฉบับ, นักศึกษา 213 คน) ไม่มีการศึกษาใดรายงานผลว่าโปรแกรมที่ใช้บทบาทสมมติกับผู้ป่วยจำลองส่งผลต่อทักษะในการสร้างความสัมพันธ์หรือทักษะการรวบรวมและการให้ข้อมูลอย่างไร

ไม่มีการศึกษาใดรายงานผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์จากโปรแกรมการสอนแต่ละวิธีที่ได้รับการประเมิน

ผู้วิจัยเชื่อมั่นในผลการทบทวนนี้เท่าไร

ผู้วิจัยมั่นใจในระดับปานกลางว่าโปรแกรมการพัฒนามนุษยสัมพันธ์และโปรแกรมการสอนที่ให้ข้อเสนอแนะรายบุคคลอาจช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารโดยรวมได้

แต่ยังไม่มั่นใจในผลลัพธ์ของโปรแกรมการสอนวิธีอื่น ๆ การศึกษาบางฉบับมีข้อจำกัดในรูปแบบการออกแบบงานวิจัย เช่น การกำหนดให้นักศึกษาเข้าไปอยู่ในกลุ่มต่างๆใช้วิธีใด การศึกษาอื่นๆ มีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างมากและบางการศึกษามีเวลาติดตามผลในเวลาสั้น งานวิจัยเพิ่มเติมจึงมีแนวโน้มจะเปลี่ยนข้อสรุปนี้ได้

ใจความสำคัญ

โปรแกรมการพัฒนามนุษยสัมพันธ์สำหรับนักศึกษาแพทย์มีผลในเชิงบวกต่อทักษะมนุษยสัมพันธ์ส่วนใหญ่ที่ผู้วิจัยสนใจ แม้ว่าผลเชิงบวกเหล่านี้จะมีเพียงเล็กน้อยและความมั่นใจในผลลัพธ์บางส่วนของผู้วิจัยอยู่ในระดับต่ำ

โปรแกรมที่ให้ข้อเสนอแนะรายบุคคลอาจช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารโดยรวมของนักศึกษาแพทย์ได้มากกว่าโปรแกรมที่ให้ข้อเสนอะแนะโดยรวมหรือไม่ให้ข้อเสนอแนะเลย

โปรแกรมการสอนออนไลน์หรือการเรียนรู้ด้วยตนเองอาจไม่ช่วยพัฒนาทักษะความเห็นอกเห็นใจหรือการสร้างความสัมพันธ์เมื่อเปรียบเทียบกับการสอนแบบเห็นหน้าตัวต่อตัว

บทนำ

การสื่อสารเป็นทักษะพื้นฐานในการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ที่ส่งผลต่อผลลัพธ์ที่หลากหลายทั้งต่อแพทย์และต่อผู้ป่วย มีความต้องการมากขึ้นที่จะให้นักศึกษาแพทย์ได้รับการฝึกฝนทักษะการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และได้ถูกกำหนดให้เป็นทักษะหลักที่พึงมีก่อนจบการศึกษาในโรงเรียนแพทย์ทั่วโลก โรงเรียนแพทย์หลายๆแห่งได้นำวิธีการสอนหลายรูปแบบมาใช้เพื่อพัฒนาและประเมินสมรรถนะเหล่านี้

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินวิธีการสอนรูปแบบต่างๆในการพัฒนาทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลของนักศึกษาแพทย์ในการให้คำปรึกษาทางการแพทย์

วิธีการสืบค้น

ผู้วิจัยสืบค้นจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ 5 ฐานข้อมูล: Cochrane Central Register of Controlled Trials, MEDLINE, Embase, PsycINFO และ ERIC (Educational Resource Information Center) ในเดือนกันยายน 2020 โดยไม่มีข้อจำกัดด้านภาษา, วันที่ หรือสถานะการตีพิมพ์ นอกจากนี้ ยังสืบค้นจากรายการอ้างอิงของบทความที่เกี่ยวข้องและติดต่อเจ้าของการศึกษาที่ถูกรวบรวมไว้

เกณฑ์การคัดเลือก

ผู้วิจัยรวบรวมการทดลองแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุม (RCTs), cluster-RCTs (C-RCTs) และ การศึกษาแบบกึ่งการทดลอง (quasi-RCTs) ที่ประเมินประสิทธิผลของโปรแกรมการสอนให้กับนักศึกษาแพทย์ระดับปริญญาตรีหรือระดับบัณฑิตศึกษา เรารวบรวมการทดลองที่มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารระหว่างบุคคลในระหว่างการให้คำปรึกษาทางการแพทย์ รวมการทดลองที่มีเป้าหมายพัฒนาทักษะการสื่อสารเหล่านี้ การสร้างความเห็นอกเห็นใจ, การสร้างความสัมพันธ์, การรวบรวมข้อมูล, การให้คำอธิบายและการวางแผนการรักษา ตลอดจนทักษะเฉพาะในการสื่อสาร เช่น ทักษะการฟัง, โครงสร้างการสื่อสารที่เหมาะสม รูปแบบการใช้คำถามที่เหมาะสม

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้วิจัยใช้ระเบียบวิธีวิจัยตามมาตรฐานที่ Cochrane กำหนดไว้ โดยผู้วิจัยสองคนทำงานอย่างเป็นอิสระต่อกัน ในการตรวจสอบผลการสืบค้นทั้งหมด, แยกข้อมูล, ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติของการศึกษาทั้งหมดทีเป็นไปตามเกณฑ์และให้คะแนนคุณภาพของหลักฐานโดยใช้ GRADE

ผลการวิจัย

ผู้วิจัยค้นพบงานวิจัยที่ได้ตีพิมพ์ 91 ฉบับที่มาจาก 76 การศึกษา (มีผู้เข้าร่วมโครงการวิจัย 10,124 คน): RCT 55 ฉบับ, quasi-RCT 9 ฉบับ, C-RCT 7 ฉบับ และ quasi-C-RCT 5 ฉบับ ผู้วิจัยทำการวิเคราะห์อภิมานตามการเปรียบเทียบและผลลัพธ์ที่ได้ ในการวิเคราะห์ประสิทธิผลและประสิทธิผลเชิงเปรียบเทียบ ผู้วิจัยได้จำแนกหัวข้อการประเมินผลลัพธ์ออกเป็น ทักษะการสื่อสารโดยรวม, การสร้างความเห็นอกเห็นใจ, การสร้างความสัมพันธ์, การรับรู้มุมมองและความพึงพอใจของผู้ป่วย, การรวบรวมข้อมูล, และการอธิบายและการวางแผนการรักษา ทักษะการสื่อสารโดยรวมและการสร้างความเห็นอกเห็นใจได้ถูกแบ่งออกเป็นผลที่ประเมินโดยผู้สอนหรือที่ประเมินโดยผู้ป่วยจำลอง คุณภาพโดยรวมของหลักฐานอยู่ในระดับปานกลางถึงต่ำมาก และมีความไม่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสูงที่ไม่สามารถอธิบายได้

โดยรวมแล้วโปรแกรมการฝึกอบรมวิธีต่างๆ ส่วนใหญ่มีผลในเชิงบวกต่อผลลัพธ์ แต่ด้วยอำนาจการทดลองโดยรวมมีขนาดเล็ก ร่วมกับคุณภาพของหลักฐานค่อนข้างมีข้อจำกัดในการสรุปผล โปรแกรมการพัฒนาทักษะการสื่อสารเมื่อเปรียบเทียบกับหลักสูตรปกติหรือกลุ่มควบคุมอาจช่วยพัฒนาทั้งทักษะการสื่อสารโดยรวม (standardised mean difference (SMD) 0.92, 95% confidence interval (CI) 0.53 ถึง 1.31; การศึกษาจำนวน 18 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 1356 คน, I² = 90%, หลักฐานคุณภาพต่ำ) และการสร้างความเห็นอกเห็นใจ (SMD 0.64, 95% CI 0.23 ถึง 1.05; การศึกษาจำนวน 6 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 831 คน; I² = 86%; หลักฐานคุณภาพต่ำ) เมื่อประเมินโดยผู้สอน แต่ไมได้ประเมินโดยผู้ป่วยจำลอง นอกจากนี้ ทักษะของนักศึกษาในการรวบรวมข้อมูลอาจพัฒนาขึ้นด้วยโปรแกรมการให้การศึกษา (SMD 1.07, 95% CI 0.61 ถึง 1.54; การศึกษาจำนวน 5 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 405 คน, I² = 78%, หลักฐานคุณภาพปานกลาง) แต่อาจมีผลเล็กน้อยหรือไม่ส่งผลต่อทักษะการสร้างความสัมพันธ์ (SMD 0.18, 95% CI -0.15 ถึง 0.51; การศึกษาจำนวน 9 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 834 คน, I² = 81%, หลักฐานคุณภาพต่ำ) และผลต่อทักษะการให้ข้อมูลยังไม่แน่นอน (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)

ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจว่าโปรแกรมการสอนแบบผ่านประสบการณ์จะช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารโดยรวมได้หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการสอนแบบบรรยาย (SMD 0.08, 95% CI -0.02 ถึง 0.19; การศึกษาจำนวน 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 1578 คน; I² = 4%; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) นอกจากนี้ โปรแกรมการสอนแบบอิเล็กทรอนิกส์อาจมีผลน้อยหรือไม่มีผลต่อคะแนนการสร้างความเห็นอกเห็นใจของนักศึกษา (SMD -0.13, 95% CI -0.68 ถึง 0.43; การศึกษาจำนวน 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 421 คน; I² = 82%; หลักฐานคุณภาพต่ำ) หรือต่อการสร้างความสัมพันธ์ (SMD 0.02, 95% CI -0.33 ถึง 0.38; การศึกษาจำนวน 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 176 คน; I² = 19%; หลักฐานคุณภาพปานกลาง) เมื่อเปรียบเทียบกับวิธีการสอนแบบเห็นหน้าตัวต่อตัว แต่อาจจะมีผลเชิงลบเล็กน้อยจากโปรแกรมการสอนแบบอิเล็กทรอนิกส์เกี่ยวกับทักษะการให้ข้อมูล (หลักฐานคุณภาพต่ำ) และผลต่อทักษะการรวบรวมข้อมูลยังไม่แน่นอน (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)

การให้ข้อเสนอแนะรายบุคคลหรือที่เฉพาะเจาะจงอาจช่วยพัฒนาทักษะการสื่อสารโดยรวมได้เล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการให้ข้อเสนอแนะโดยรวมหรือไม่มีการให้ผลการประเมินเลย (SMD 0.58, 95% CI 0.29 ถึง 0.87; การศึกษาจำนวน 6 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 502 คน, I² = 56%; หลักฐานคุณภาพปานกลาง) นอกจากนี้การให้ข้อเสนอแนะรายบุคคลอาจมีผลเชิงบวกเล็กน้อยต่อทักษะความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ ทักษะการรวบรวมข้อมูล (หลักฐานคุณภาพต่ำ) แต่ผลลัพธ์ต่อการสร้างความสัมพันธ์ยังไม่แน่นอน (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) และผู้วิจัยไม่พบหลักฐานที่เกี่ยวกับทักษะการให้ข้อมูล

ผู้วิจัยยังไม่แน่ใจว่าการแสดงบทบาทสมมติกับผู้ป่วยจำลองมีประสิทธิภาพในการพัฒนาทักษะการสื่อสารโดยรวมของนักศึกษาดีกว่าการแสดงบทบาทสมมติกับเพื่อนนักศึกษาหรือไม่ (SMD 0.17, 95% CI -0.33 ถึง 0.67; การศึกษาจำนวน 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วมวิจัย 637 คน, I² = 87%; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) และอาจมีผลเล็กน้อยหรือไม่มีผลต่อทักษะการสร้างความเห็นอกเห็นใจของนักศึกษา (หลักฐานคุณภาพต่ำ) นอกจากนี้แล้วไม่มีหลักฐานเกี่ยวกับผลลัพธ์ด้านอื่นๆ สำหรับการเปรียบเทียบนี้

การสังเคราะห์ผลลัพธ์เชิงพรรณนาถูกนำมาใช้กับข้อมูลที่ไม่สามารถรวมอยู่ในการวิเคราะห์อภิมานได้ ผลการเปรียบเทียบผลลัพธ์ทั้งหมดจากการศึกษาที่นำมาพรรณาได้ผลลัพธ์ที่ไม่สามารถแสดงให้เห็นผลลัพธ์ได้ชัดเจน อันเป็นผลมาจากโปรแกรมการฝึกอบรมและการเปรียบเทียบที่แตกต่างกันเกี่ยวกับทักษะการสื่อสารที่ถูกประเมินเฉพาะในการทดลองนั้นๆ คุณภาพของหลักฐานเชิงประจักษ์ถูกลดระดับลงเนื่องจากข้อจำกัดของระเบียบวิธีวิจัยในหลายหมวดของความเสี่ยงของการเกิดอคติ, ความไม่เป็นเนื้อเดียวกันสูงที่ไม่สามารถอธิบายได้ และความไม่แม่นยำของผลลัพธ์

โดยรวมแล้ว ผลลัพธ์หลายอย่างยังคงสอดคล้องกับการวิเคราะห์ sensitivity analysis โดยพิจารณาจากความเสี่ยงของการเกิดอคติ และการปรับแก้ไขในแต่ละกลุ่ม ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใดๆ

ข้อสรุปของผู้วิจัย

การทบทวนนี้แสดงถึงหลักฐานจำนวนมากที่นำมาสู่การสร้างข้อสรุปได้ แต่จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มคุณภาพของหลักฐาน, เพื่อพิจารณาผลลัพธ์ในระยะยาวของโปรแกรมการฝึกอบรมต่อพฤติกรรมของนักศึกษาทั้งในขณะที่ยังฝึกอบรมอยู่และเมื่อได้ปฏิบัติงานจริง, และเพื่อประเมินผลของโปรแกรมการฝึกอบรมต่อผลลัพธ์ของผู้ป่วย ความพยายามในการสร้างมาตรฐานการประเมินทักษะมนุษยสัมพันธ์จะยิ่งสร้างรากฐานที่แข็งแกร่งให้แก่งานวิจัยในอนาคต

บันทึกการแปล

ผู้แปล สมพร รุ่งเรืองกลกิจ วันที่ 25 เมษายน 2021

Citation
Gilligan C, Powell M, Lynagh MC, Ward BM, Lonsdale C, Harvey P, James EL, Rich D, Dewi SP, Nepal S, Croft HA, Silverman J. Interventions for improving medical students' interpersonal communication in medical consultations. Cochrane Database of Systematic Reviews 2021, Issue 2. Art. No.: CD012418. DOI: 10.1002/14651858.CD012418.pub2.