การใช้แบบสอบถามแบบมีโครงสร้าง (IQCODE) เพื่อตรวจหาบุคคลที่อาจเป็นภาวะสมองเสื่อมต่อไปได้

ความเป็นมา

การตรวจหาผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมได้อย่างแม่นยำนั้นเป็นประเด็นที่น่ากังวลของสาธารณชนและในวิชาชีพ ภาวะสมองเสื่อมมักไม่ได้รับการวินิจฉัยจนกว่าจะเป็นโรคมากแล้ว และอาจจำกัดการเข้าถึงด้านสุขภาพและการช่วยเหลือทางสังคมที่เหมาะสมในเวลาที่เหมาะสม มีความสนใจเพิ่มขึ้นในการทดสอบเพื่อตรวจหาภาวะสมองเสื่อมในระยะเริ่มแรก ก่อนที่อาการจะกลายเป็นปัญหาหรือสังเกตเห็นได้ชัดเจน วิธีหนึ่งในการทำเช่นนี้ คือการทดสอบบุคคลแล้วประเมินพวกเขาอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไปเพื่อดูว่าพวกเขาเกิดภาวะสมองเสื่อมหรือไม่

การทบทวนวรรณกรรมของเรามีความสนใจในความถูกต้องของการประเมินภาวะสมองเสื่อมตามแบบสอบถามที่เรียกว่า IQCODE (Informant Questionnaire for Cognitive Decline in the Elderly) เราบรรยายว่าคะแนน IQCODE เบื้องต้นสามารถตรวจหาบุคคลที่จะเกิดภาวะสมองเสื่อมเป็นเดือนหรือหลายปีหลังจากการประเมิน IQCODE ครั้งแรกได้หรือไม่

เราสืบค้นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ของการศึกษาวิจัยที่ตีพิมพ์ โดยมองหาการศึกษาทั้งหมดที่ศึกษา IQCODE และการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมในภายหลัง เราค้นหาจากเอกสารฉบับแรกในฐานข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จนถึงและรวมถึงเดือนมกราคม 2016

ลักษณะของการศึกษา

เราพบ 3 การศึกษาที่เกี่ยวข้อง ซึ่งทั้งหมดดำเนินการในสถานพยาบาลเฉพาะ เอกสาร 2 ฉบับรวมเฉพาะผู้ป่วยที่มีโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน และอีกฉบับรวมผู้ที่มีกระดูกสะโพกหักต่อเนื่อง เอกสารมีความแตกต่างกันในด้านอื่นๆ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถประมาณการสรุปผลรวมได้ โดยทั่วไป IQCODE ที่ 'บวก' เลือกผู้ป่วยที่จะเป็นภาวะสมองเสื่อมต่อไป (ความไวที่ดี) แต่ระบุคนที่จะไม่เป็นภาวะสมองเสื่อมผิด (ความจำเพาะไม่ดี) เราไม่สามารถให้คำแนะนำสำหรับการปฏิบัติในปัจจุบัน โดยอิงจากการศึกษาที่เราทบทวน

คุณภาพของหลักฐาน

การศึกษาที่รวบรวมได้แสดงให้เห็นความท้าทายบางประการของการวิจัยที่ติดตามผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะสมองเสื่อมเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ใช่ทุกการศึกษาที่มีวิธีการที่แข็งแกร่งเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีผู้เข้าร่วมที่เป็นโรคสมองเสื่อมในช่วงเริ่มต้นของการศึกษา และมีการตรวจหาเฉพาะผู้ป่วยรายใหม่เท่านั้น ในทำนองเดียวกัน ผู้เข้าร่วมจำนวนมากที่รวมไว้ในช่วงเริ่มต้นของการศึกษาไม่สามารถทำการประเมินใหม่ได้ เนื่องจากการเสียชีวิตหรือความเจ็บป่วยอื่นๆ

การทบทวนวรรณกรรมดำเนินการโดยทีมงานในศูนย์วิจัยในสหราชอาณาจักร (Glasgow, Leicester, Oxford) เราไม่มีเงินทุนภายนอกเฉพาะสำหรับการศึกษานี้ และเราไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนที่อาจส่งผลต่อการประเมินข้อมูลการวิจัยของเรา

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การศึกษาที่รวบรวมมานั้นแตกต่างกัน คัดเลือกจากบริบทของผู้เชี่ยวชาญ และมีโอกาสที่จะมีอคติ การศึกษาที่พบไม่เอื้อให้เราให้คำแนะนำเฉพาะเกี่ยวกับการใช้ IQCODE สำหรับการตรวจหาภาวะสมองเสื่อมในอนาคตในการปฏิบัติทางคลินิก การศึกษาที่รวบรวมมานี้เน้นย้ำถึงความท้าทายของการวิจัยภาวะสมองเสื่อมเพื่อการยืนยันว่าล่าช้า โดยมีปัญหาเกี่ยวกับการประเมินภาวะสมองเสื่อมที่เป็นอยู่แล้ว การสูญเสียการติดตามเมื่อเวลาผ่านไป และการทดสอบที่ไม่เสร็จสิ้นซึ่งอาจจำกัดการศึกษา การวิจัยในอนาคตควรตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้และมีโปรโตคอลที่ชัดเจนในการจัดการกับปัญหาเหล่านี้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

Informant Questionnaire on Cognitive Decline in the Elderly เป็นการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้างโดยคำตอบของผู้ให้ข้อมูลในการประเมินภาวะสมองเสื่อมที่อาจเกิดขึ้นได้ IQCODE ถูกใช้สำหรับการประเมินการเสื่อมของความรู้ความเข้าใจแบบย้อนหลังหรือในขณะนี้ มีความสนใจอย่างมากในการทดสอบที่อาจตรวจหาผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคสมองเสื่อมในอนาคต การประเมินประชากรที่ปราศจากภาวะสมองเสื่อมเพื่อดูการพัฒนาของภาวะสมองเสื่อมในอนาคตเป็นแนวทางที่มักใช้ในการศึกษาตัวบ่งชี้ทางชีวภาพของภาวะสมองเสื่อม ในทางทฤษฎี การประเมินโดยใช้แบบสอบถาม เช่น IQCODE สามารถใช้ในลักษณะเดียวกัน การประเมินภาวะสมองเสื่อมที่ได้รับการวินิจฉัยในการประเมินในภายหลัง (ล่าช้า)

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินความถูกต้องของแบบสอบถาม IQCODE ตามข้อมูล สำหรับการตรวจหาภาวะสมองเสื่อมในสถานบริการปฐมภูมิ

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบหาแหล่งข้อมูลเหล่านี้เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2016: ALOIS (Cochrane Dementia and Cognitive Improvement Group), MEDLINE (Ovid SP), EMBASE (Ovid SP), PsycINFO (Ovid SP), BIOSIS Previews (Thomson Reuters Web of Science), Web of Science Core Collection (รวมถึง Conference Proceedings Citation Index) (Thomson Reuters Web of Science), CINAHL (EBSCOhost) และ LILACS (BIREME) นอกจากนี้เรายังค้นหาแหล่งข้อมูลเฉพาะสำหรับความแม่นยำในการทดสอบวินิจฉัย: MEDION (Universities of Maastricht and Leuven); DARE (York University); HTA Database (Health Technology Assessments Database via The Cochrane Library) และ ARIF (Birmingham University) เราตรวจสอบรายการอ้างอิงของการศึกษาที่รวบรวมและการทบทวนวรรณกรรม ใช้การค้นหาการศึกษาที่รวมอยู่ใน PubMed เพื่อติดตามบทความที่เกี่ยวข้อง และติดต่อกลุ่มวิจัยที่ดำเนินการเกี่ยวกับ IQCODE สำหรับการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมเพื่อพยายามค้นหาการศึกษาเพิ่มเติม เราพัฒนากลยุทธ์การค้นหาที่มีความไว; search term ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้ครอบคลุมแนวคิดหลักโดยใช้วิธีการต่างๆ ที่ดำเนินการควบคู่กัน และรวมถึงคำศัพท์ที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบสติปัญญา การคัดกรองทางด้านสติปัญญา และภาวะสมองเสื่อม เราใช้หัวเรื่องฐานข้อมูลที่เป็นมาตรฐาน เช่น คำศัพท์ MeSH (ใน MEDLINE) และหัวข้อมาตรฐานอื่นๆ (ศัพท์บังคับหรือศัพท์ควบคุม) ในฐานข้อมูลอื่น ตามความเหมาะสม

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราเลือกการศึกษาที่รวมประชากรที่ปลอดจากภาวะสมองเสื่อมที่การตรวจวัดพื้นฐาน ที่ได้รับการประเมินด้วย IQCODE และประเมินในภายหลังสำหรับการเกิดภาวะสมองเสื่อมเมื่อเวลาผ่านไป ความหมายคือในขณะที่ทำการทดสอบ บุคคลมีปัญหาด้านความรู้ความเข้าใจเพียงพอที่จะส่งผลให้คะแนน IQCODE ผิดปกติ (กำหนดโดยผู้ประพันธ์การศึกษา) แต่ยังไม่ถึงเกณฑ์การวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราคัดกรองชื่อเรื่องทั้งหมดที่ได้จากการสืบค้นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และทบทวนบทคัดย่อของการศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 2 คนตรวจสอบเอกสารฉบับเต็มเพื่อดูความเหมาะสมและดึงข้อมูลอย่างอิสระต่อกัน เรากำหนดการประเมินคุณภาพ (ความเสี่ยงของการมีอคติและการบังคับใช้) โดยใช้เครื่องมือ QUADAS-2 และการรายงานคุณภาพโดยใช้เครื่องมือ STARDdem

ผลการวิจัย: 

จากเอกสาร 85 ฉบับ ที่บรรยาย IQCODE เรารวมเอกสาร 3 ฉบับซึ่งเป็นข้อมูลจาก 626 คน จากจำนวนทั้งหมดนี้ ไม่รวม 22% (N = 135/626) เนื่องจากมีภาวะสมองเสื่อม มีการสูญหายเป็นจำนวนมาก 47% (N = 295) ของประชากรที่ศึกษาที่ได้รับการประเมินมาตรฐานอ้างอิงในการติดตามครั้งแรก (3 ถึง 6 เดือน) และ 28% (N = 174) ได้รับการประเมินมาตรฐานอ้างอิงในการติดตามครั้งสุดท้าย (1 ถึง 3 ปี) ความชุกของภาวะสมองเสื่อมอยู่ระหว่าง 12% ถึง 26% ในการติดตามครั้งแรกและ 16% ถึง 35% ในการติดตามครั้งสุดท้าย

มี 3 การศึกษา ได้รับการพิจารณาว่าต่างกันเกินกว่าจะรวมเข้าด้วยกัน ดังนั้นเราจึงไม่ได้ทำ meta-analysis เพื่อรายงานการประมาณการโดยสรุปที่สนใจ ผู้ป่วยที่รวมเป็นโรคหลอดเลือดสมอง (2 รายงาน) และกระดูกสะโพกหัก (1 รายงาน) IQCODE ใช้ที่เกณฑ์เชิงบวก 3 ระดับ (สูงกว่า 3.0, สูงกว่า 3.12 และสูงกว่า 3.3) เพื่อทำนายผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อมในอนาคต การใช้จุดตัดของ 3.0 พบว่า IQCODE มีความไว 0.75 (95% CI 0.51 ถึง 0.91) และความจำเพาะ 0.46 (95% CI 0.34 ถึง 0.59) ที่ 1 ปีหลังจากโรคหลอดเลือดสมอง เมื่อใช้การตัดค่า 3.12 พบว่า IQCODE มีความไว 0.80 (95%CI 0.44 ถึง 0.97) และความจำเพาะ 0.53 (95C%CI 0.41 ถึง 0.65) สำหรับการวินิจฉัยทางคลินิกของภาวะสมองเสื่อมเมื่อ 6 เดือนหลังจากกระดูกสะโพกหัก เมื่อใช้การตัดค่า 3.3 พบว่า IQCODE มีความไว 0.84 (95%CI 0.68 ถึง 0.94) และความจำเพาะ 0.87 (95% CI 0.76 ถึง 0.94) สำหรับการวินิจฉัยทางคลินิกของภาวะสมองเสื่อมใน 1 ปีหลังจากโรคหลอดเลือดสมอง

โดยทั่วไป IQCODE มีความไวในการตรวจหาผู้ที่จะเป็นโรคสมองเสื่อม แต่ไม่มีความจำเพาะ วิธีการสำหรับทั้งการคัดภาวะสมองเสื่อมที่เป็นที่การตรวจวัดพื้นฐานออก และการประเมินการเกิดของภาวะสมองเสื่อมมีความหลากหลายและมีโอกาสที่จะทำให้เกิดอคติ

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชา สูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 15 สิงหาคม 2021

Tools
Information