ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Methylphenidate เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่มีโรคสมาธิสั้น (ADHD) หรือไม่ และยานี้ก่อให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่

ใจความสำคัญ

- Methylphenidate อาจลดสมาธิสั้นและความหุนหันพลันแล่น และอาจช่วยให้เด็กมีสมาธิ Methylphenidate อาจช่วยปรับปรุงพฤติกรรมทั่วไป แต่ดูเหมือนจะไม่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

- Methylphenidate ดูเหมือนจะไม่เพิ่มความเสี่ยงของผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง (อันตรายถึงชีวิต) เมื่อใช้เป็นระยะเวลานานถึง 6 เดือน อย่างไรก็ตาม มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของผลข้างเคียงที่ไม่ร้ายแรง เช่น ปัญหาการนอนหลับและความอยากอาหารลดลง

- การศึกษาในอนาคตควรมุ่งเน้นไปที่การรายงานผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ให้มากขึ้น และควรดำเนินการในระยะเวลาที่นานขึ้น

โรคสมาธิสั้น (ADHD) คืออะไร

ADHD เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชในวัยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาบ่อย เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักไม่ค่อยมีสมาธิ พวกเขามักจะสมาธิสั้น (อยู่ไม่สุข นั่งนิ่งๆ เป็นเวลานานไม่ได้) และหุนหันพลันแล่น (ทำสิ่งต่างๆ โดยไม่หยุดคิด) โรคสมาธิสั้นอาจทำให้เด็ก ๆ เรียนได้ดีที่โรงเรียนได้ยาก เพราะพวกเขาพบว่ามันยากที่จะทำตามคำแนะนำและมีสมาธิจดจ่อ ปัญหาพฤติกรรมของพวกเขาอาจขัดขวางความสามารถในการเข้ากับครอบครัวและเพื่อนฝูงได้ดี และพวกเขามักจะมีปัญหามากกว่าเด็กคนอื่นๆ

ADHD รักษาอย่างไร

Methylphenidate (เช่น Ritalin) เป็นยาที่จ่ายบ่อยที่สุดให้กับเด็กและวัยรุ่นที่มีสมาธิสั้น methylphenidate เป็นตัวกระตุ้นที่ช่วยเพิ่มกิจกรรมในส่วนต่างๆ ของสมอง เช่น ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมาธิ methylphenidate สามารถใช้เป็นยาเม็ดหรือให้เป็นแผ่นแปะผิวหนังได้ สามารถกำหนดสูตรให้มีผลทันทีหรือให้ผลช้าในช่วงเวลาหลายชั่วโมง methylphenidate อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง และมีปัญหาในการนอนหลับ บางครั้งทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์อย่างร้ายแรง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ภาพหลอน หรืออาการ 'tics' (กระตุก) ที่ใบหน้า

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่า methylphenidate ช่วยปรับปรุงอาการ ADHD ของเด็ก (สมาธิสั้น, ไม่อยู่นิ่ง) โดยอิงจากการให้คะแนนของครูโดยใช้มาตราส่วนต่าง ๆ เป็นหลัก และพิจารณาว่าเมทิลเฟนิเดตก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง เช่น การเสียชีวิต การรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือความพิการหรือไม่ นอกจากนี้ เรายังสนใจผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงน้อยกว่า เช่น ปัญหาการนอนหลับและการสูญเสียความอยากอาหาร และผลกระทบต่อพฤติกรรมทั่วไปและคุณภาพชีวิตของเด็ก

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่ตรวจสอบการใช้เมทิลเฟนิเดตในเด็กและวัยรุ่นที่มีสมาธิสั้น ผู้เข้าร่วมการศึกษาต้องมีอายุ 18 ปีหรือน้อยกว่าและมีการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น พวกเขาอาจมีความผิดปกติหรืออาการเจ็บป่วยอื่น ๆ และกำลังรับประทานยาอื่น ๆ หรืออยู่ในระหว่างการบำบัดพฤติกรรม พวกเขาต้องมีไอคิวปกติ (เชาวน์ปัญญา) การศึกษาสามารถเปรียบเทียบ methylphenidate กับยาหลอก (สิ่งที่ออกแบบให้มีลักษณะและรสชาติเหมือนกับ methylphenidate แต่ไม่มีสารออกฤทธิ์) หรือไม่มีการรักษา ผู้เข้าร่วมจะต้องถูกสุ่มเลือกเพื่อรับ methylphenidate หรือไม่ได้รับ เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและให้คะแนนความเชื่อมั่นในหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดของการศึกษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 212 ฉบับ กับเด็กหรือวัยรุ่น 16,302 คนที่เป็นโรคสมาธิสั้น การทดลองส่วนใหญ่เปรียบเทียบ methylphenidate กับยาหลอก การศึกษาส่วนใหญ่มีขนาดเล็กโดยมีเด็กประมาณ 70 คน อายุเฉลี่ย 10 ปี (อายุระหว่าง 3 ถึง 18 ปี) การศึกษาส่วนใหญ่ใช้เวลาสั้น ๆ โดยเฉลี่ยประมาณหนึ่งเดือน การศึกษาที่สั้นที่สุดใช้เวลาเพียงหนึ่งวันและยาวนานที่สุด 425 วัน การศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา

จากการให้คะแนนของครู เทียบกับยาหลอกหรือไม่มีการรักษา methylphenidate:

- อาจทำให้อาการ ADHD ดีขึ้น (การศึกษา 21 ฉบับ เด็ก 1728 คน)

- อาจไม่มีความแตกต่างกับในเรื่องผลข้างเคียงที่รุนแรง (การศึกษา 26 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 3673 คน)

- อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่ร้ายแรงมากขึ้น (การศึกษา 35 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 5342 คน)

- อาจปรับปรุงพฤติกรรมทั่วไป (7 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 792 คน)

- อาจไม่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต (4 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 608 คน)

ข้อจำกัดของหลักฐาน

ความเชื่อมั่นของเราต่อผลเหล่านี้ถูกจำกัด ด้วยเหตุผลหลายประการ บ่อยครั้งเป็นไปได้ที่คนในการศึกษาจะรู้ว่าเด็กกำลังรับการรักษาแบบใด ซึ่งอาจส่งผลต่อผลลัพธ์ การรายงานผลลัพธ์ไม่สมบูรณ์ในหลายการศึกษา และสำหรับบางผลลัพธ์ ผลลัพธ์ที่ได้ก็แตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษา การศึกษามีขนาดเล็กและใช้มาตรวัดอาการที่แตกต่างกัน และการศึกษาส่วนใหญ่กินเวลาเพียงช่วงสั้นๆ ทำให้ไม่สามารถประเมินผลระยะยาวของเมทิลเฟนิเดตได้ ประมาณ 41% ของการศึกษาได้รับทุนหรือบางส่วนได้รับทุนจากอุตสาหกรรมยา

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

นี่คือการปรับปรุงการทบทวนที่เผยแพร่ในปี 2015 หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงมีนาคม 2022

บทนำ

โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder; ADHD) เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาบ่อยในวัยเด็ก โดยทั่วไปแล้ว เด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะพบว่าเป็นการยากที่จะใส่ใจกับสิ่งต่างๆ และพวกเขาจะสมาธิสั้นและหุนหันพลันแล่น Methylphenidate เป็นสารกระตุ้นจิตที่สั่งใช้บ่อยที่สุด แต่หลักฐานเกี่ยวกับประโยชน์และโทษยังไม่แน่นอน นี่เป็นการปรับปรุงการทบทวนอย่างเป็นระบบที่ครอบคลุมของเราเกี่ยวกับประโยชน์และอันตรายที่เผยแพร่ในปี 2015

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินผลที่เป็นประโยชน์และโทษของเมทิลเฟนิเดตสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรคสมาธิสั้น

วิธีการสืบค้น

เราค้นหา CENTRAL, MEDLINE, Embase, ฐานข้อมูลอื่นๆ อีก 3 ฐานข้อมูล และทะเบียนการทดลอง 2 รายการจนถึงเดือนมีนาคม 2022 นอกจากนี้ เรายังตรวจสอบรายการอ้างอิงและขอข้อมูลที่เผยแพร่และไม่ได้เผยแพร่จากผู้ผลิตเมทิลเฟนิเดต

เกณฑ์การคัดเลือก

เรารวมการทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม (RCTs) ทั้งหมดที่เปรียบเทียบเมทิลเฟนิเดตกับยาหลอกหรือไม่มีการแทรกแซงในเด็กและวัยรุ่นอายุ 18 ปีหรือต่ำกว่าที่มีการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น การค้นหาไม่จำกัดด้วยปีที่ตีพิมพ์หรือภาษา แต่การทดลองที่รวมไว้กำหนดให้ผู้เข้าร่วม 75% ขึ้นไปมีความฉลาดทางสติปัญญาปกติ (IQ > 70) เราประเมินผลลัพธ์หลัก 2 รายการ อาการ ADHD และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง และผลลัพธ์รอง 3 รายการ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พิจารณาว่าไม่ร้ายแรง พฤติกรรมทั่วไป และคุณภาพชีวิต

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนเลือกการศึกษา คัดลอกข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของอคติอย่างเป็นอิสระต่อกัน ผู้วิจัย 6 คน รวมถึง ผู้วิจัย 2 คน ที่เป็นเจ้าของต้นฉบับเข้าร่วมในการอัปเดตในปี 2022 เราใช้ระเบียบวิธีมาตรฐานของ Cochrane ข้อมูลจากการทดลองแบบกลุ่มคู่ขนานและข้อมูลช่วงแรกจากการทดลองแบบไขว้เป็นพื้นฐานของการวิเคราะห์หลักของเรา เราทำการวิเคราะห์แยกกันโดยใช้ข้อมูลจากช่วงสุดท้ายของการทดลองแบบไขว้ เราใช้ Trial Sequential Analysis (TSA) เพื่อควบคุมข้อผิดพลาดประเภท I (5%) และประเภท II (20%) และเราประเมินและปรับลดความเชื่อมั่นของหลักฐานตามแนวทางของ GRADE

ผลการวิจัย

เรารวมการทดลอง 212 การทดลอง (สุ่มผู้เข้าร่วม 16,302 คน); การทดลองแบบกลุ่มคู่ขนาน 55 การทดลอง (สุ่มผู้เข้าร่วม 8104 คน) และการทดลองแบบไข้ว 156 การทดลอง (สุ่มผู้เข้าร่วม 8033 คน) รวมถึง 1 การทดลองที่มีเฟสคู่ขนาน (สุ่มผู้เข้าร่วม 114 คน) และเฟสไข้ว (สุ่มผู้เข้าร่วม 165 คน) อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมคือ 9.8 ปี ตั้งแต่ 3 ถึง 18 ปี (2 การทดลอง อายุตั้งแต่ 3 ถึง 21 ปี) อัตราส่วน ชาย-หญิง คือ 3:1 การทดลองส่วนใหญ่ดำเนินการในประเทศที่มีรายได้สูง และ 86/212 การทดลอง (41%) ได้รับทุนสนับสนุนหรือได้บางส่วนจากอุตสาหกรรมเภสัชกรรม ระยะเวลาการรักษา Methylphenidate อยู่ระหว่าง 1 ถึง 425 วัน โดยมีระยะเวลาเฉลี่ย 28.8 วัน การทดลองเปรียบเทียบ methylphenidate กับยาหลอก (200 การทดลอง) และเทียบกับไม่มีการแทรกแซง (12 การทดลอง) การทดลองเพียง 165/212 การทดลองเท่านั้นที่มีข้อมูลผลลัพธ์อย่างน้อยหนึ่งรายการที่สามารถนำมาใช้ได้จากผู้เข้าร่วม 14,271 คน

จากการทดลอง 212 การทดลอง มี 191 การทดลองที่มีความเสี่ยงของการมีอคติสูงและ 21 การทดลองที่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงการทำให้เมทิลเฟนิเดตไม่ถูกปิดบังกลุ่มเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มีความเฉพาะ การทดลองทั้ง 212 การทดลองมีความเสี่ยงของการมีอคติสูง

ผลลัพธ์หลัก: methylphenidate เทียบกับยาหลอกหรือไม่มีการแทรกแซงอาจปรับปรุงอาการ ADHD ที่ครูประเมิน (standardised mean different (SMD) −0.74, 95% Confident Interval (CI) −0.88 ถึง −0.61; I² = 38%; 21 การทดลอง; ผู้เข้าร่วม 1728 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) ซึ่งสอดคล้องกับความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) ที่ −10.58 (95% CI −12.58 ถึง −8.72) ในระดับคะแนน ADHD (ADHD-RS; ช่วง 0 ถึง 72 คะแนน) ความแตกต่างน้อยที่สุดที่มีความหมายทางคลินิกคือการเปลี่ยนแปลง 6.6 คะแนนใน ADHD-RS methylphenidate อาจไม่ส่งผลต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 0.80, 95% CI 0.39 ถึง 1.67; I² = 0%; 26 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 3673 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) ผลการแทรกแซงที่ปรับโดย TSA คือ RR 0.91 (CI 0.31 ถึง 2.68)

ผลลัพธ์ทุติยภูมิ: methylphenidate อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มากขึ้น โดยพิจารณาว่าไม่ร้ายแรงเมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไม่มีการแทรกแซง (RR 1.23, 95% CI 1.11 ถึง 1.37; I² = 72%; 35 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 5342 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) ผลการแทรกแซงที่ปรับโดย TSA คือ RR 1.22 (CI 1.08 ถึง 1.43) methylphenidate อาจปรับปรุงพฤติกรรมทั่วไปที่ครูให้คะแนนเมื่อเทียบกับยาหลอก (SMD −0.62, 95% CI −0.91 ถึง −0.33; I² = 68%; 7 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 792 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) แต่อาจไม่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต (SMD 0.40, 95% CI −0.03 ถึง 0.83; I² = 81%; 4 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 608 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก)

ข้อสรุปของผู้วิจัย

ข้อสรุปส่วนใหญ่ของเราจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบฉบับปี 2015 นี้ยังคงนำไปใช้ได้ การวิเคราะห์อภิมานที่ปรับปรุงของเราแนะนำว่า methylphenidate เทียบกับยาหลอกหรือการไม่แทรกแซงอาจช่วยปรับปรุงอาการสมาธิสั้นที่ครูให้คะแนนและพฤติกรรมทั่วไปในเด็กและวัยรุ่นที่มีสมาธิสั้น อาจไม่มีผลกระทบต่อเหตุการณ์ร้ายแรงและคุณภาพชีวิต methylphenidate อาจเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ถือว่าไม่ร้ายแรง เช่น ปัญหาการนอนหลับและความอยากอาหารลดลง อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์ทั้งหมดนั้นต่ำมาก ดังนั้นขนาดที่แท้จริงของผลกระทบจึงยังไม่ชัดเจน

เนื่องจากความถี่ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่ร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับ methylphenidate การทำให้ผู้เข้าร่วมและผู้ประเมินผลลัพธ์ไม่รู้ว่าใครอยู่ในกลุ่มใดจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพื่อรองรับความท้าทายนี้ ควรหายาหลอกที่ออกฤทธ์ได้และนำมาใช้ อาจเป็นเรื่องยากที่จะหายาดังกล่าว แต่การระบุสารที่สามารถเลียนแบบผลข้างเคียงที่จดจำได้ง่ายของ methylphenidate จะช่วยป้องกันการเปิดเผยกลุ่มของผู้เข้าร่วมที่ส่งผลเสียต่อการทดลองแบบสุ่มในปัจจุบัน

การทบทวนอย่างเป็นระบบในอนาคตควรตรวจสอบกลุ่มย่อยของผู้ป่วย ADHD ที่อาจได้รับประโยชน์สูงสุดและน้อยที่สุดจาก methylphenidate ซึ่งสามารถทำได้ด้วยข้อมูลผู้เข้าร่วมรายบุคคลเพื่อตรวจสอบตัวทำนายและตัวดัดแปลง เช่น อายุ โรคร่วม และชนิดย่อยของ ADHD

บันทึกการแปล

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย ผกากรอง 29 พฤศจิกายน 2023

Citation
Storebø OJ, Storm MR, Pereira Ribeiro J, Skoog M, Groth C, Callesen HE, Schaug JP, Darling Rasmussen P, Huus C-ML, Zwi M, Kirubakaran R, Simonsen E, Gluud C. Methylphenidate for children and adolescents with attention deficit hyperactivity disorder (ADHD). Cochrane Database of Systematic Reviews 2023, Issue 3. Art. No.: CD009885. DOI: 10.1002/14651858.CD009885.pub3.