ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมลาโทนินสำหรับลดความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดและหลังการผ่าตัดในผู้ใหญ่

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เราได้ตรวจสอบหลักฐานจากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมเกี่ยวกับผลของเมลาโทนินต่อความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดและหลังการผ่าตัดในผู้ใหญ่ที่ได้รับการผ่าตัดเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกหรือยากล่อมประสาทเบนโซไดอะซีปีน

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

ผู้คนมักรู้สึกไม่สบายใจและวิตกกังวลทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด ความวิตกกังวลเกิดขึ้นได้ถึงร้อยละ 80 ของผู้เข้ารับการผ่าตัด พวกเขาอาจกังวลเกี่ยวกับความเจ็บป่วย ความจำเป็นในการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล และความทุพพลภาพ การระงับความรู้สึก การผ่าตัด ความเจ็บปวด และสถานการณ์

ปัจจัยที่มีผลต่อความเสี่ยงต่อความวิตกกังวล ได้แก่ อายุ (คนที่อายุน้อย) เพศหญิง ประเภทการผ่าตัด วิธีการระงับความรู้สึก และความแตกต่างทางวัฒนธรรมและศาสนา การวิตกกังวลอาจนำไปสู่ความเจ็บปวดที่เพิ่มขึ้นและความจำเป็นในการจัดการความเจ็บปวดเพิ่มเติม

วิธีที่ช่วยลดระดับความวิตกกังวล ได้แก่ ยาระงับความรู้สึกกระวนกระวายใจ เช่น เบนโซไดอะซีปีน (Benzodiazepines) การได้รับข้อมูลและการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในช่วงเวลาของการผ่าตัด การบำบัดด้วยการปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม ดนตรีบำบัด และการนวดบำบัด

ยาเบนโซไดอะซีปีน อาจทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของสมอง เช่น ความยากลำบากในการจดจำ การจดจ่อ และความง่วงนอนในตอนกลางวัน และอาจรบกวนการประสานงานและการเคลื่อนไหวทางกายภาพแม้ใช้ยาในปริมาณแค่เพียงนิดเดียว

เมลาโทนินเป็นฮอร์โมนที่ผลิตในต่อมไพเนียลในสมองซึ่งควบคุมจังหวะของระบบนาฬิกาชีวภาพ (circadian rhythms) ระบบนาฬิกาชีวภาพ คือ การเปลี่ยนแปลงของร่างกายและพฤติกรรมที่เป็นไปตามวัฏจักรประจำวันและช่วยกำหนดรูปแบบการนอนหลับ จากการศึกษาพบว่าเมลาโทนินสามารถลดความวิตกกังวลได้ เมลาโทนินทำให้เกิดปัญหาต่อการทำงานของสมองเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย และไม่มีผลข้างเคียงที่ร้ายแรง ซึ่งหมายความว่าอาจเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าสำหรับการรักษาพยาบาล

ช่วงเวลาที่สืบค้น

หลักฐานสำหรับการทบทวนวรรณกรรมที่ปรับปรังข้อมูลให้เป็นปัจจุบันนี้เป็นข้อมูลจนถึงเดือนกรกฎาคม 2020

ลักษณะของการศึกษา

เราพบการศึกษาแบบสุ่มจำนวน 27 รายการ ที่เกี่ยวข้องกับผู้เข้าร่วมวัยผู้ใหญ่จำนวน 2319 คน ซึ่งศึกษาผลของเมลาโทนินที่ไห้ก่อนการผ่าตัดต่อระดับความวิตกกังวลทั้งก่อนและหลังการผ่าตัด การศึกษาส่วนใหญ่ดำเนินการในประเทศกำลังพัฒนา เราได้รวบรวมวิธีการผ่าตัดประเภทต่าง ๆ ที่ใช้วิธีการระงับความรู้สึกแบบ ทั่วร่างกาย, ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือ การพ่นหรือทายาชาเฉพาะที่

ปริมาณเมลาโทนิแตกต่างกันตั้งแต่ 3 ถึง 10 มก. หรือตั้งแต่ 0.05 ถึง 0.4 มก./กก. Benzodiazepine (midazolam, oxazepam หรือ alprazolam) มีปริมาณอยู่ในช่วง 0.25 ถึง 15 มก. หรือตั้งแต่ 0.05 ถึง 0.2 มก./กก.

ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานว่าได้รับเงินทุนจากผู้ผลิตยาหรือหน่วยงานที่มีผลประโยชน์ทางการค้า

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

การศึกษาจำนวน 24 รายการ เปรียบเทียบเมลาโทนินกับยาหลอก และการศึกษา 11 รายการ เปรียบเทียบเมลาโทนินกับยาเบนโซไดอะซีปีน Gabapentin, pregabalin และ clonidine ถูกเปรียบเทียบกับเมลาโทนินในบางการศึกษา

เมลาโทนินช่วยลดความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดเมื่อเทียบกับยาหลอก (การศึกษา 18 รายการ, ผู้เข้าร่วม 1264 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง)

การลดความวิตกกังวลหลังการผ่าตัดมีเพียงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับยาหลอก (การศึกษา 7 รายการ, ผู้เข้าร่วม 524 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) รวมถึง ณ เวลาหกชั่วโมงหลังการผ่าตัด (การศึกษา 2 รายการ, ผู้เข้าร่วม 73 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

เมลาโทนินอาจมีผลคล้ายกับเบนโซไดอะซีปีนต่อระดับความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัด (การศึกษา 7 รายการ, ผู้เข้าร่วม 409 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) และทันทีหลังการผ่าตัด (การศึกษา 3 รายการ, ผู้เข้าร่วม 176 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

การศึกษาจำนวน 14 รายการ ไม่ได้รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์, การศึกษา 6 รายการ รายงานว่าไม่มีผลข้างเคียงใด ๆ และการศึกษา 7 รายการ รายงานว่ามีอาการคลื่นไส้ ง่วงนอน เวียนศีรษะ และปวดศีรษะ Benzodiazepines รบกวนการทำงานในด้านความสามารถในการเคลื่อนไหวและการรู้คิดมากกว่ายาหลอกและเมลาโทนิน (ในการศึกษา 11 รายการ) ยากลุ่มนี้ช่วยระงับประสาทได้ดีที่สุด แม้ว่าผลของเมลาโทนินก็สามารถระงับประสาทได้เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก (การศึกษา 14 รายการ) ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

คุณภาพของหลักฐาน

เราเชื่อมั่นในระดับปานกลางว่า เมลาโทนินช่วยลดความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดได้เมื่อเทียบกับยาหลอก ผลต่อความวิตกกังวลหลังผ่าตัดทันทีและล่าช้าหลังการผ่าตัดมีความชัดเจนน้อยกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก (หลักฐานคุณภาพต่ำ)

เราไม่พบหลักฐานใด ๆ ที่แสดงให้เห็นว่าเมลาโทนินให้ผลแตกต่างจากเบนโซไดอะซีปีนในแง่ความวิตกกังวล (หลักฐานคุณภาพระดับปานกลางและต่ำ)

ยังมีความไม่ชัดเจนว่า ผลในการลดความวิตกกังวลของเมลาโทนินสามารถใช้ได้กับผู้ป่วยผ่าตัดทุกรายหรือไม่

บทสรุป

การให้เมลาโทนินก่อนการผ่าตัดอาจช่วยลดความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดได้อย่างมีประสิทธิผล แต่การลดความวิตกกังวลหลังการผ่าตัดด้วยเมลาโทนินนั้นยังมีความไม่ชัดเจนเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก

บทนำ

ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการผ่าตัดเป็นปัญหาที่รู้จักกันดี เมลาโทนินเป็นการรักษาทางเลือกสำหรับใช้แทนกลุ่มยาเบนโซไดอะซีปีนสำหรับการแก้ไขภาวะนี้ในช่วงก่อนผ่าตัดและหลังผ่าตัด

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินผลของเมลาโทนินต่อความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดและหลังผ่าตัดเปรียบเทียบกับยาหลอกหรือเบนโซไดอะซีปีน

วิธีการสืบค้น

เราสืบค้นหลักฐานจากฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ดังต่อไปนี้เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2020: CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL และ Web of Science สำหรับการทดลองและโปรโตคอลที่กำลังดำเนินอยู่เราได้ค้นหลักฐานจาก Clinicaltrials.gov และ World Health Organization (WHO) International Clinical Trials Registry Platform

เกณฑ์การคัดเลือก

เราได้รวบรวมการศึกษาแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมที่ได้รับยาหลอกหรือการรักษาตามมาตรฐาน (หรือทั้งสองอย่าง) ซึ่งประเมินผลของเมลาโทนินที่ให้ก่อนการผ่าตัดต่อความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดหรือหลังการผ่าตัด เรารวบรวมผู้ป่วยวัยผู้ใหญ่ของทั้งสองเพศ (อายุ 15 ถึง 90 ปี) ที่ได้รับการผ่าตัดทุกประเภทซึ่งจำเป็นต้อง่ใช้วิธีการระงับความรู้สึกแบบ ทั่วร่างกาย, ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย หรือ การพ่นหรือทายาชาเฉพาะที่

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ประพันธ์การทบทวนคนหนึ่งทำการแยกข้อมูลที่ซ้ำซ้อนกัน ข้อมูลที่แยกออกมาประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับ รูปแบบการศึกษา ประเทศที่ทำการศึกษา จำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษา และรายละเอียดทั่วไปของตัวอย่าง ประเภทของการผ่าตัด ประเภทของการระงับความรู้สึก วิธีการที่ใช้และปริมาณยาที่ให้ วิธีการวัดผลลัพธ์ความวิตกกังวลก่อนและหลังการผ่าตัด

ผลการวิจัย

เราได้รวบรวมการทดลองแบบสุ่มที่มีควบคุม (RCTs) 27 การศึกษา ซึ่งมีจำนวนผู้เข้าร่วมจำนวน 2319 คน ซึ่งทำการประเมินผลของเมลาโทนินในการรักษาความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัด ความวิตกกังวลหลังการผ่าตัด หรือทั้งสองอย่าง

การศึกษาจำนวน 24 รายการ เปรียบเทียบผลระหว่างเมลาโทนินกับยาหลอก การศึกษา 11 รายการ เปรียบเทียบเมลาโทนินกับเบนโซไดอะซีปีน (การศึกษา 7 รายการเปรียบเทียบกับมิดาโซแลม (midazolam), การศึกษา 3 รายการเปรียบเทียบกับอัลปราโซแลม (alprazolam) และ การศึกษา 1 รายการเปรียบเทียบกับออกซาซีแพม (oxazepam)) ตัวเปรียบเทียบอื่น ๆ เจอในการศึกษาจำนวนเล็กน้อย ได้แก่ กาบาเพนติน (gabapentin) โคลนิดีน (clonidine) และพรีกาบาลิน (pregabalin)

ไม่มีการศึกษาใดที่ตัดสินว่ามีความเสี่ยงต่ำในการเกิดอคติสำหรับทุกโดเมน การศึกษาส่วนใหญ่ถูกตัดสินว่ามีความเสี่ยงที่ไม่ชัดเจนในการเกิดอคติโดยรวม การศึกษาจำนวน 8 รายการ ได้รับการตัดสินว่ามีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติในหนึ่งโดเมนขึ้นไปดังนั้นจึงมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติโดยรวม

การเปรียบเทียบระหว่างเมลาโทนิน กับ ยาหลอก

เมลาโทนินอาจส่งผลให้ความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดลดลงซึ่งวัดโดย visual analogue scale (VAS, 0 ถึง 100 มม.) เมื่อเทียบกับยาหลอก (ความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ย (MD) -11.69, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) -13.80 ถึง -9.59; การศึกษา 18 รายการ, ผู้เข้าร่วม 1264 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง), ผลจากการวิเคราะห์เมตต้าของการศึกษา 18 รายการ

เมลาโทนินอาจลดความวิตกกังวลหลังการผ่าตัดทันทีที่วัดได้จาก VAS 0 ถึง 100 มม. เมื่อเทียบกับยาหลอก (MD -5.04, 95% CI -9.52 ถึง -0.55; การศึกษา 7 รายการ, ผู้เข้าร่วม 524 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นระดับต่ำ) และอาจลดความวิตกกังวลหลังการผ่าตัดที่ล่าช้า ณ เวลาหกชั่วโมงหลังการผ่าตัดโดยใช้ State-Trait Anxiety Inventory (STAI) ในการวัด (MD -5.31, 95% CI -8.78 ถึง -1.84; การศึกษา 2 รายการ, ผู้เข้าร่วม 73 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

การเปรียบเทียบระหว่างเมลาโทนินเทียบ กับ เบนโซไดอะซีปีน (มิดาโซแลม และ อัลปราโซแลม)

เมลาโทนินอาจส่งผลให้ความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดแตกต่างกันเล็กน้อยหรือไม่มีเลยซึ่งวัดได้จาก VAS 0 ถึง 100 มม. (MD 0.78, 95% CI -2.02 ถึง 3.58; การศึกษา 7 รายการ, ผู้เข้าร่วม 409 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นปานกลาง) และอาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลย ในภาวะวิตกกังวลหลังการผ่าตัดทันที (MD -2.12, 95% CI -4.61 ถึง 0.36; การศึกษา 3 รายการ, ผู้เข้าร่วม 176 คน, หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ)

เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

การศึกษาจำนวน 14 รายการ ไม่ได้รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ การศึกษาจำนวน 6 รายการ รายงานโดยเฉพาะว่าไม่พบผลข้างเคียง และการศึกษาที่เหลืออีก 7 รายการ รายงานว่ามีอาการคลื่นไส้ ง่วงนอน เวียนศีรษะ และปวดศีรษะ อย่างไรก็ตามไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรง การศึกษาจำนวน 11 รายการ ความสามารถในการเคลื่อนไหว และ ความสามารถในการรู้คิด หรือทั้งสองอย่าง และโดยทั่วไปการศึกษาเหล่านี้พบว่า benzodiazepines ทำให้ความสามารถในการเคลื่อนไหวและการรู้คิดบกพร่องมากกว่ายาหลอกและเมลาโทนิน การศึกษา 14 รายการ ประเมินการระงับประสาท โดยทั่วไปพบว่า benzodiazepines ทำให้เกิดการระงับประสาทในระดับสูงสุด แต่เมลาโทนินยังแสดงคุณสมบัติในการกล่อมประสาทเมื่อเทียบกับยาหลอก การศึกษาหลายฉบับไม่ได้รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นจึงไม่สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดจากข้อมูลเกี่ยวกับผลข้างเคียงที่รวบรวมในการทบทวนวรรณกรรมนี้พบว่าเมลาโทนินสามารถต้านฤทธิ์ได้ดีกว่าเบนโซไดอะซีปีน

ข้อสรุปของผู้วิจัย

เมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอก เมลาโทนินที่ให้รับประทานก่อนการผ่าตัด (เป็นยาเม็ด หรือ อมใต้ลิ้น) อาจช่วยลดความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดในผู้ใหญ่ได้ (ประเมิน 50 ถึง 120 นาทีหลังการให้ยา) ซึ่งอาจเป็นผลลัพธ์ที่มีความหมายในทางคลินิก ผลของเมลาโทนินต่อความวิตกกังวลหลังผ่าตัดเมื่อเทียบกับยาหลอก (วัดในห้องพักฟื้น และ หกชั่วโมงหลังการผ่าตัด) ก็เห็นได้ชัดเช่นกัน แต่มีผลที่น้อยกว่ามากและผลการศึกษาที่พบนี้ยังมีความไม่ชัดเจนถึงผลต่อทางคลินิก มีความวิตกกังวลเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเมื่อเปรียบเทียบระหว่างเมลาโทนินกับเบนโซไดอะซีปีน ดังนั้นเมลาโทนินอาจมีผลคล้ายกับเบนโซไดอะซีปีนในการลดความวิตกกังวลก่อนการผ่าตัดและหลังการผ่าตัดในผู้ใหญ่

บันทึกการแปล

แปลโดย อ.ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย สาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เมื่อ วันที่ 18 ธันวาคม 2020

Citation
Madsen BK, Zetner D, Møller AM, Rosenberg J. Melatonin for preoperative and postoperative anxiety in adults. Cochrane Database of Systematic Reviews 2020, Issue 12. Art. No.: CD009861. DOI: 10.1002/14651858.CD009861.pub3.