การรักษาโดยการผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัด: วิธีใดได้ผลดีกว่าในการรักษาผู้ที่มีสะบ้าเคลื่อนหลุด

ข้อความสำคัญ

เราไม่พบหลักฐานที่มีคุณภาพดีเพียงพอที่จะแสดงว่าการรักษาโดยการผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดได้ผลดีกว่าในการรักษาผู้ที่มีสะบ้าเคลื่อนหลุด

จำเป็นต้องมีการวิจัยที่มีคุณภาพดีเพื่อเปรียบเทียบการรักษาเหล่านี้

สะบ้าเคลื่อนหลุด คืออะไร

สะบ้าเป็นกระดูกรูปเลนส์ที่อยู่ด้านหน้าของหัวเข่า การเคลื่อนหลุดเกิดขึ้นเมื่อสะบ้าเคลื่อนออกจากร่องในกระดูกต้นขาตรงหัวเข่า มักเกิดขึ้นในคนหนุ่มสาวที่เคลื่อนไหวร่างกายเมื่อพวกเขาบิดเข่าที่งอในขณะที่เท้าตรึงกับพื้น สาเหตุของสะบ้าเคลื่อนอาจเชื่อมโยงกับกระดูกข้อเข่าที่มีรูปร่างผิดปกติ กล้ามเนื้อรอบสะโพกหรือข้อเข่าอ่อนแอ หรือเนื้อเยื่ออ่อนด้านนอกข้อเข่าตึง

หลังจากสะบ้าเคลื่อนหลุด บางคนฟื้นตัวได้อย่างสมบูรณ์ แต่บางคนอาจมีอาการสะบ้าเคลื่อนหลุดซ้ำ หรือรู้สึกไม่มั่นคงที่สะบ้า หรือทั้งสองอย่าง พวกเขายังอาจมีอาการปวดอย่างต่อเนื่องหรือทำงานได้จำกัด

สะบ้าเคลื่อนหลุดรักษาอย่างไร

เมื่อสะบ้าเคลื่อนหลุด เนื้อเยื่ออ่อนรอบข้อเข่าจะได้รับบาดเจ็บ จำเป็นต้องได้รับการรักษาเพื่อช่วยฟื้นฟูข้อเข่าให้กลับมาแข็งแรงสมบูรณ์ ซึ่งอาจรวมถึงการรักษา เช่น การตรึงเข่าให้เข้าที่ (โดยการสวม brace หรือผ้าพันแผล) การออกกำลังกาย การบำบัดด้วยมือ (เช่น การทำกายภาพบำบัด) และการพันเทปบริเวณรอบเข่า อย่างไรก็ตาม แพทย์บางคนแนะนำว่าอาจได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้นหากทำการผ่าตัด การผ่าตัดอาจใช้เพื่อ: ซ่อมแซมหรือสร้างเอ็นและกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บที่ยึดกระดูกสะบ้าในร่องขึ้นใหม่ ปรับรูปร่างร่องใหม่ หรือเปลี่ยนตำแหน่งที่สะบ้าติดกับกระดูกหน้าแข้งเพื่อป้องกันไม่ให้สะบ้าเคลื่อนหลุดอีก

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่าการรักษาโดยการผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดดีกว่าในการป้องกันสะบ้าเคลื่อนหลุดอีกและฟื้นฟูการทำงานของข้อเข่า เรายังดูผลที่ไม่พึงประสงค์ของการรักษา ความพึงพอใจของคนไข้กับการรักษา อาการไม่คงที่ และความจำเป็นในการผ่าตัดหลังการรักษาครั้งแรก

เราทำอะไร

เราค้นหาเอกสารทางการแพทย์จนถึงเดือนธันวาคม 2021 สำหรับการศึกษาที่เปรียบเทียบการรักษาโดยการผ่าตัดกับการรักษาที่ไม่ผ่าตัดสำหรับผู้ใหญ่หรือเด็กที่มีสะบ้าเคลื่อนหลุด เราสรุปและเปรียบเทียบผลการศึกษาและให้คะแนนความเชื่อมั่นของเราในหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาด

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 10 ฉบับ ที่เกี่ยวข้อง (ผู้ใหญ่และเด็ก 519 คน) การศึกษาสุ่มจัดสรรคนเพื่อรับการผ่าตัดหรือการรักษาแบบไม่ผ่าตัด ในการศึกษา 9 ฉบับ คนได้รับการรักษาสะบ้าเคลื่อนหลุดครั้งแรก 1 การศึกษารักษาคนที่มีสะบ้าเคลื่อนหลุดซ้ำ อายุตั้งแต่ 13 ถึง 27 ปี โดยมีการศึกษา 6 ฉบับ ที่ศึกษาในเด็กด้วย คนในการศึกษาได้รับการติดตามตั้งแต่ 1 ถึง 9 ปีหลังจากได้รับบาดเจ็บ

ผลลัพธ์หลัก

เราไม่แน่ใจอย่างมากว่าการผ่าตัดเปรียบเทียบกับการรักษาที่ไม่ผ่าตัดหรือไม่:

- ลดจำนวนการเคลื่อนซ้ำ

- ส่งผลต่อการทำงานของสะบ้า

- เพิ่มหรือลดความเสี่ยงของผลข้างเคียง

- สร้างความแตกต่างว่าพอใจกับการรักษาเพียงใด

- เพิ่มหรือลดความไม่มั่นคงในสะบ้า หรือ

- เพิ่มหรือลดความจำเป็นในการผ่าตัดเพิ่มเติม

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

การศึกษามีขนาดเล็ก บางการศึกษามีจุดอ่อนในการออกแบบและการดำเนินการ คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำมาก เราไม่เชื่อมั่นอย่างมากเกี่ยวกับการค้นพบนี้

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

การทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมก่อนหน้า หลักฐานเป็นข้อมูลล่าสุดจนถึงเดือนธันวาคม 2021

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราไม่แน่ใจว่าการผ่าตัดช่วยทำให้ผลลัพธ์ดีขึ้นเมื่อเทียบกับการไม่ผ่าตัดหรือไม่ เนื่องจากหลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก ไม่มีการทดลองที่มีขนาดเพียงพอในการตรวจสอบผู้ที่มีโรคสะบ้าเคลื่อนหลุดซ้ำ จำเป็นต้องมีการทดลองแบบสุ่มหลายศูนย์ที่มีขนาดใหญ่เพียงพอ เพื่อให้ทราบถึงการออกแบบและการดำเนินการของการทดลองเหล่านี้ ฉันทามติของผู้เชี่ยวชาญควรบรรลุถึงคำอธิบายขั้นต่ำของวิธีการทั้งแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัด และรูปแบบทางพยาธิสภาพที่อาจเกี่ยวข้องกับทางเลือกทั้งสองของวิธีการเหล่านี้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การเคลื่อนหลุดของ Patellar (สะบ้า) เกิดขึ้นเมื่อสะบ้าหลุดออกจากร่อง trochlear (femoral) อย่างสมบูรณ์ พบได้มากถึง 42/100,000 คน และพบมากที่สุดในผู้ที่มีอายุระหว่าง 20 ถึง 30 ปี ยังไม่แน่นอนว่าการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดเป็นวิธีที่ดีที่สุด สิ่งนี้มีความสำคัญเนื่องจากการเคลื่อนหลุดซ้ำ เกิดขึ้นได้ถึง 40% ของผู้ที่ประสบกับการเคลื่อนหลุดครั้งแรก (หลัก) สิ่งนี้สามารถลดคุณภาพชีวิตและทำให้ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต จำเป็นต้องมีการทบทวนวรรณกรรมนี้เพื่อพิจารณาว่าควรเสนอการรักษาโดยการผ่าตัดหรือไม่ผ่าตัดให้กับผู้ที่มีสะบ้าเคลื่อนหลุด

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผล (ประโยชน์และผลเสีย) ของวิธีการรักษาแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัดสำหรับการรักษาผู้ที่มีโรคสะบ้าเคลื่อนหลุดครั้งแรกหรือเกิดซ้ำ

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา Cochrane Bone, Joint and Muscle Trauma, Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) , MEDLINE, Embase, AMED, CINAHL, Physiotherapy Evidence Database และ trial registries ในเดือนธันวาคม 2021 เราได้ติดต่อผู้ประพันธ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อหาการศึกษาเพิ่มเติม

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองทางคลินิกที่มีกลุ่มควบคุมแบบสุ่มและกึ่งสุ่มเพื่อประเมินวิธีการรักษาแบบผ่าตัดและไม่ผ่าตัดเพื่อรักษาสะบ้าเคลื่อนหลุดด้านข้างที่เป็นครั้งแรก หรือที่เกิดซ้ำในผู้ใหญ่หรือเด็ก

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้วิธีมาตรฐานของ Cochrane ผลลัพธ์หลักของเราคือสะบ้าเคลื่อนหลุดที่เกิดซ้ำ และคะแนนการทำงานของข้อเข่าและร่างกายที่ประเมินโดยผู้ป่วย ผลลัพธ์รองของเราคือคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ การกลับไปทำกิจกรรมเดิม อาการปวดเข่าระหว่างทำกิจกรรมหรือขณะพัก เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ความพึงพอใจที่ผู้ป่วยรายงาน อาการความไม่มั่นคงของข้อเข่าที่ผู้ป่วยรายงาน และความต้องการการผ่าตัดข้อเข่าที่ตามมา เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์แต่ละรายการ

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษา 10 ฉบับ (การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) 8 ฉบับ และ quasi-RCTs 2 ฉบับ) จากผู้เข้าร่วม 519 คนที่มีภาวะสะบ้าเคลื่อน อายุเฉลี่ยในแต่ละการศึกษาอยู่ระหว่าง 13.0 ถึง 27.2 ปี การศึกษา 4 ฉบับ ศึกษาในเด็ก วัยรุ่นเป็นหลัก และผู้ใหญ่ มีการศึกษาเพียง 2 ฉบับ ที่ศึกษาเฉพาะในเด็ก การติดตามผลการศึกษามีระยะเวลาตั้งแต่ 1 ถึง 14 ปี

เราไม่แน่ใจในหลักฐานสำหรับผลลัพธ์ทั้งหมดในการทบทวนวรรณกรรมนี้ เนื่องจากเราตัดสินว่าหลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก เราลดระดับแต่ละผลลัพธ์ลง 3 ระดับ เหตุผลต่างๆ ได้แก่ ความไม่แม่นยำ (เมื่อมีรายงานเหตุการณ์น้อยกว่า 100 เหตุการณ์หรือช่วงความเชื่อมั่น (CI) บ่งชี้ถึงทั้งประโยชน์และผลเสีย) ความเสี่ยงของอคติ (เมื่อการศึกษามีความเสี่ยงสูงต่อ performance, detection and attrition bias) และความไม่สอดคล้องกัน (ในเหตุการณ์ที่การวิเคราะห์รวมมีความแตกต่างทางสถิติระดับสูง)

เราไม่แน่ใจว่าการผ่าตัดช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดสะบ้าเคลื่อนซ้ำหลังจากสะบ้าเคลื่อนครั้งแรกหรือไม่ เมื่อเทียบกับการรักษาแบบไม่ผ่าตัดที่การติดตามผล 2 ถึง 9 ปี จากตัวอย่างความเสี่ยงของการมีสะบ้าเคลื่อนซ้ำใน 348 คนต่อ 1000 คนในกลุ่มที่ไม่ผ่าตัด เราพบว่ามีสะบ้าเคลื่อนซ้ำ 157 คนต่อ 1000 คนน้อยกว่า (95% CI 209 คนน้อยกว่าถึง 87 คนน้อยกว่า) ระหว่าง 2 ถึง 9 ปีหลังการผ่าตัด (การศึกษา 8 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 438 คน)

เราไม่แน่ใจว่าการผ่าตัดทำให้คะแนนข้อเข่าและคะแนนการทำงานที่ผู้ป่วยให้ดีขึ้นหรือไม่ การศึกษาวัดผลลัพธ์นี้โดยใช้มาตรวัดที่แตกต่างกัน (the Tegner activity scale, Knee Injury and Osteoarthritis Outcome Score, Lysholm, Kujala Patellofemoral Disorders score and Hughston visual analogue scale) คะแนนที่รายงานบ่อยที่สุดคือคะแนน Kujala Patellofemoral Disorders ข้อมูลนี้บ่งชี้ว่าคนในกลุ่มผ่าตัดมีคะแนนเฉลี่ยสูงกว่า 5.73 คะแนนเมื่อติดตามผล 2 ถึง 9 ปี (95% CI 2.91 ต่ำกว่าถึง 14.37 สูงกว่า; การศึกษา 7 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 401 คน) ในมาตรวัด 100 คะแนนนี้ คะแนนที่สูงขึ้นบ่งชี้ถึงการทำงานที่ดีขึ้น และคะแนนการเปลี่ยนแปลง 10 คะแนนถือว่ามีความหมายทางคลินิก ดังนั้น CI นี้จึงรวมการดีขึ้นที่มีความหมาย

เราไม่แน่ใจว่าการผ่าตัดจะเพิ่มความเสี่ยงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์หรือไม่ จากความเสี่ยงที่คาดคะเนของอุบัติการณ์โดยรวมของภาวะแทรกซ้อนในช่วง 2 ปีแรกใน 277 คนจาก 1000 คนในกลุ่มที่ไม่ผ่าตัด เทียบกับ 335 คนต่อ 1000 คน (95% CI 75 คนน้อยกว่าถึง 723 คนมากกว่า) ในกลุ่มผ่าตัดเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (การศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 144 คน)

การศึกษา 3 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 176 คน) ประเมินความพึงพอใจของผู้เข้าร่วมในการติดตามผล 2 ถึ 9 ปี รายงานความแตกต่างเล็กน้อยระหว่างกลุ่ม จากความเสี่ยงสมมุตฺิ 763 ต่อผู้เข้าร่วมที่ไม่ผ่าตัด 1000 คนที่รายงานผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมหรือดี ผู้เข้าร่วม 7 คนต่อ 1000 คนมากกว่า (95% CI 199 น้อยกว่าถึง 237 คนมากกว่า) รายงานความพึงพอใจที่ยอดเยี่ยมหรือดีในกลุ่มที่ผ่าตัด

การศึกษา 4 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 256 คน) ประเมินภาวะ patellar subluxation (ข้อเข่าเคลื่อนแบบไม่สมบูรณ์) ที่เกิดซ้ำเมื่อติดตามผล 2 ถึง 9 ปี จากความเสี่ยงที่สันนิษฐานว่าจะเกิดภาวะ patellar subluxation ใน 292 คนจาก 1000 คนในกลุ่มที่ไม่ได้รับการผ่าตัด พบว่ามีคนจำนวนน้อยกว่า 73 คนต่อประชากร 1000 คน (95% CI น้อยกว่า 146 คน ถึง มากกว่า 35 คน) มีภาวะ patellar subluxation อันเป็นผลมาจากการผ่าตัด

มีผู้ได้รับการผ่าตัดภายหลังมากขึ้นเล็กน้อยในกลุ่มที่ไม่ผ่าตัด รวมข้อมูลติดตามผล 2 ถึง 9 ปีจาก 3 การทดลอง (ผู้เข้าร่วม 195 คน) พบว่า จากความเสี่ยงที่สันนิษฐานว่าจะมีการผ่าตัดภายหลัง 215 คนต่อ 1000 คนในกลุ่มที่ไม่ผ่าตัด ในกลุ่มที่ได้รับการผ่าตัดจะมีน้อยกว่า 118 คนต่อ 1000 คน (95% CI น้อยกว่า 200 คน ถึง มากกว่า 372 คน) ที่ต้องผ่าตัดอีกหลังการผ่าตัดครั้งแรก

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่นเมื่อ 30 มกราคม 2023 Edit โดย ผกากรอง 20 กุมภาพันธ์ 2023

Tools
Information