ยาต้านจุลชีพให้เข้าหลอดเลือดดำระยะสั้นเมื่อเทียบกับยาต้านจุลชีพชนิดเดียวกันให้เข้าหลอดเลือดดำระยะยาวสำหรับรักษาโรคปอดอักเสบรุนแรงชนิดที่ติดเชื้อจากชุมชนในเด็กอายุ 2 เดือน ถึง 59 เดือน

คำถามของการทบทวน

เราดำเนินการทบทวนนี้เพื่อตรวจสอบว่า มีความแตกต่างในผลการรักษาระหว่างยาต้านจุลชีพระยะสั้น - (สองถึงสามวัน) และยาต้านจุลชีพระยะยาว (5 วัน) ที่ให้ทางหลอดเลือดดำ (ชนิดเดียว หรือร่วมกับยาต้านจุลชีพชนิดให้ทางปาก) สำหรับเด็กอายุสองเดือน ถึง 59 เดือนที่ป่วยด้วยโรคปอดอักเสบชนิดรุนแรง

ความเป็นมา

โรคปอดอักเสบเป็นโรคติดเชื้อของปอด (มักเกิดจากไวรัสหรือแบคทีเรีย) ที่ทำให้มีการเสียชีวิตในเด็กอายุต่ำกว่าห้าปีประมาณ 1.3 ล้านคนในแต่ละปี ทั่วโลกมีผู้ป่วยรายใหม่ที่เป็นโรคปอดอักเสบประมาณ 120 ล้านคนในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีแต่ละปี ซึ่งในจำนวนนี้ประมาณ 14 ล้านคนเป็นปอดอักเสบรุนแรง โรคปอดอักเสบรายใหม่นี้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในเด็กในประเทศที่มีรายได้ต่ำ

องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้รักษาด้วยยาต้านจุลชีพทางหลอดเลือดดำเป็นเวลา 5 วันสำหรับเด็กที่มีโรคปอดอักเสบรุนแรง การรักษาในโรงพยาบาลสำหรับเด็กที่เป็นโรคปอดอักเสบรุนแรงเป็นการเพิ่มภาระสำหรับเด็กและครอบครัวรวมทั้งค่าใช้จ่าย การขาดการทำกิจวัตรประจำวัน และคุณภาพชีวิตลดลง การลดเวลาที่ผู้ป่วยต้องอยู่ในโรงพยาบาลสำหรับการรักษาอาจสามารถลดภาระของโรค และอาจนำไปสู่การที่ผู้ป่วยปฏิบัติตามแผนการรักษาที่ดีขึ้น

วันที่สืบค้น

เราดำเนินการค้นหาล่าสุด 22 ธันวาคม 2559 และพบว่าไม่มีการศึกษาตามเงื่อนไขของการทบทวน

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

เราไม่พบการศึกษาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทบทวนนี้ แพทย์ควรดำเนินการรักษาเด็กที่เป็นโรคปอดอักเสบรุนแรงตามคำแนะนำของ WHO จนกว่าจะมีหลักฐานเพิ่ม

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราไม่พบการศึกษาแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุมที่เปรียบเทียบยาต้านจุลชีพให้เข้าหลอดเลือดดำระยะสั้น (สองถึงสามวัน) เมื่อเทียบกับยาต้านจุลชีพชนิดเดียวกันให้เข้าหลอดเลือดดำระยะยาว (5 วัน) สำหรับโรคปอดอักเสบรุนแรงในเด็กอายุสองเดือน ถึง 59 เดือน ที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเลือกของเรา

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ปอดอักเสบเป็นสาเหตุของการตายที่สำคัญของเด็กจากโรคติดเชื้อ โดยในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีประมาณ 1.3 ล้านคนที่เสียชีวิตในแต่ละปี ส่วนใหญ่เป็นเด็กที่อยู่ในประเทศที่มีรายได้ต่ำ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้รักษาเด็กที่เป็นโรคปอดอักเสบรุนแรงด้วยยาต้านจุลชีพให้ทางหลอดเลือดดำเป็นเวลาห้าวันเป็นการรักษาทางแรก แม้ว่ามีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับลักษณะเฉพาะทางคลินิกที่ใช้วินิจฉัยโรคปอดอักเสบ เกณฑ์สำหรับวินิจฉัยโรคปอดอักเสบรุนแรงมีการกำหนดไว้ค่อนข้างชัดเจน และถูกใช้อย่างกว้างขวางในการคัดเลือกเด็ก (triage) ที่ต้องส่งต่อและรับการรักษาในระดับสอง (second-line therapy)

ในปี 2011 มีการประมาณว่าทั่วโลกมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เป็นปอดอักเสบรายใหม่ 120 ล้านคนในแต่ละปี ซึ่ง 14 ล้านคนเป็นปอดอักเสบชนิดรุนแรง การเข้าอยู่รักษาในโรงพยาบาลด้วยโรคปอดอักเสบรุนแรงในเด็กเป็นภาระสำคัญทั้งต่อผู้ป่วยและครอบครัว เพิ่มค่าใช้จ่าย สูญเสียการทำกิจวัตรประจำวัน และทำให้คุณภาพชีวิตลดลง การลดระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล น่าจะลดภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพ และทำให้การปฏิบัติตามแผนการรักษาดีขึ้น

นี่คือการปรับปรุงการทบทวนที่เผยแพร่ในปี 2015

วัตถุประสงค์: 

การประเมินประสิทธิภาพของยาต้านจุลชีพสูตรระยะสั้น (สองถึงสามวัน) เทียบกับยาต้านจุลชีพสูตรระยะยาว (5 วัน) ฉีดเข้าหลอดเลือดดำ (ชนิดเดียว หรือร่วมกับยายาต้านจุลชีพให้ทางปาก) สำหรับรักษาโรคปอดอักเสบที่ติดเชื้อในชุมชนอย่างรุนแรงในเด็กอายุ 2 เดือน ถึง 59 เดือน

วิธีการสืบค้น: 

เราค้น Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL; 2016, Issue 12), MEDLINE (1966 ถึง ธันวาคมสัปดาห์ 3, 2016), Embase (1974 ถึง 22 ธันวาคม 2016 ) และ trials registers 4 เรื่อง (23 สิงหาคม 2017) พร้อมกับค้นเอกสารอ้างอิงที่เกี่ยวข้องทั้งหมด

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การประเมินประสิทธิภาพของยาต้านจุลชีพให้เข้าหลอดเลือดดำระยะสั้น (สองถึงสามวัน) เทียบกับยาต้านจุลชีพให้เข้าหลอดเลือดดำระยะยาว (5 วัน) (ชนิดเดียว หรือร่วมกับยาต้านจุลชีพให้ทางปาก) สำหรับโรคปอดอักเสบที่ติดเชื้อในชุมชนชนิดรุนแรงในเด็กอายุ 2 เดือนถึง 59 เดือน เราไม่รวมเด็กที่มีโรครุนแรงร่วมด้วย รวมทั้งผู้ติดเชื้อ HIV และไม่รวมเด็กที่เป็นปอดอักเสบขณะอยู่รักษาในโรงพยาบาล (เช่นปอดอักเสบจากการติดเชื้อในโรงพยาบาล) ไม่จำกัดชนิดของยาต้อานจุลชีพ ขนาดยา หรือความถี่ของการให้ยา

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ใช้วิธีมาตราฐานตามเกณฑ์ของ Cochrane

ผลการวิจัย: 

การค้นหาพบ 4295 เรื่อง อย่างไรก็ตามไม่มีการศึกษาตรงตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้

บันทึกการแปล: 

หมายเหตุแปล CD008032.pub3 แปลโดย ศ พ.ญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 26 มกราคม 2018

Tools
Information