การรักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียนในการตั้งครรภ์ระยะแรก

อาการคลื่นไส้ อาการขย้อน หรือ dry heaving และอาเจียนในการตั้งครรภ์ระยะแรกพบได้บ่อยมากและอาจสร้างปัญหาให้กับสตรีได้ มีการรักษาหลายอย่างสำหรับสตรีที่มี 'แพ้ท้อง' รวมถึงยาและการรักษาแบบเสริมและทางเลือก เนื่องจากความกังวลว่าการใช้ยาอาจส่งผลเสียต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์ การทบทวนวรรณกรรมนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อตรวจสอบว่าการรักษาเหล่านี้มีประสิทธิผล และปลอดภัยหรือไม่

การทบทวนวรรณกรรมนี้พบว่าไม่มีหลักฐานคุณภาพสูงในการสนับสนุนคำแนะนำว่าควรใช้การรักษาใด เราตรวจสอบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม 41 รายการ ซึ่งรวมสตรี 5449 คนในการตั้งครรภ์ระยะแรก การศึกษาเหล่านี้ตรวจสอบประสิทธิผลของการรักษาหลายอย่าง รวมถึงการกดจุด P6 บนข้อมือ, acustimulation, การฝังเข็ม, ขิง, ดอกคาโมไมล์, วิตามิน B6, น้ำมันมะนาว, น้ำมันสะระแหน่ และยาหลายชนิดที่ใช้ในการลดอาการคลื่นไส้หรืออาเจียน การศึกษาบางรายการแสดงให้เห็นประโยชน์ในการบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียนสำหรับสตรี แต่ผลโดยทั่วไปไม่สอดคล้องกันและจำกัด โดยรวมแล้ว การศึกษามีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำที่เกี่ยวข้องกับการปกปิดและการรายงานจากผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด อย่างไรก็ตาม บางแง่มุมของการศึกษาได้รับการรายงานอย่างไม่ครบถ้วน ซึ่งหมายความว่าผู้เข้าร่วมได้รับการจัดสรรไปยังกลุ่มต่างๆ นั้นไม่ชัดเจน และไม่มีการรายงานผลลัพธ์ทั้งหมดอย่างชัดเจน การศึกษาส่วนใหญ่มีวิธีการวัดอาการคลื่นไส้และอาเจียนต่างกัน ดังนั้นเราจึงไม่สามารถพิจารณาผลการวิจัยเหล่านี้ร่วมกันได้ มีการศึกษาเพียงไม่กี่รายการที่รายงานผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ของมารดาและทารกในครรภ์ และมีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับประสิทธิผลของการรักษาเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของสตรี

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เนื่องจากความชุกของอาการคลื่นไส้และอาเจียนในการตั้งครรภ์ระยะแรกเริ่ม สตรีและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจึงต้องการคำแนะนำที่ชัดเจนเกี่ยวกับการรักษาที่มีประสิทธิผลและปลอดภัย โดยอิงจากหลักฐานที่ได้รับการทบทวนอย่างเป็นระบบ ยังขาดหลักฐานคุณภาพสูงที่จะสนับสนุนการรักษาใดๆ ซึ่งไม่เหมือนกับการบอกว่าการรักษาที่ศึกษาไม่ได้ผล แต่มีหลักฐานที่แน่ชัดไม่เพียงพอสำหรับการรักษาใดๆ ความยากลำบากในการตีความและการรวมผลลัพธ์ของการศึกษาที่รวมอยู่ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ เน้นถึงความจำเป็นสำหรับผลลัพธ์และวิธีการวัดที่เฉพาะเจาะจง สม่ำเสมอ และสมเหตุสมผลอย่างชัดเจนในการศึกษาวิจัย

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

อาการคลื่นไส้ อาเจียน และมักพบในสตรีตั้งครรภ์ระยะแรก มีผลกระทบต่อร่างกาย สังคม และจิตใจอย่างมากต่อสตรีที่มีอาการเหล่านี้ นี่คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมเรื่องการรักษาอาการคลื่นไส้และอาเจียนในการตั้งครรภ์ระยะแรกซึ่งเผยแพร่ล่าสุดในปี 2014

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของวิธีการทั้งหมดสำหรับอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาการขย้อน ในการตั้งครรภ์ระยะแรก จนถึงอายุครรภ์สูงสุด 20 สัปดาห์

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้น Cochrane Pregnancy and Childbirth Group's Trials Register, Cochrane Complementary Medicine Field's Trials Register (19 มกราคม 2015) และรายการอ้างอิงของการศึกษาที่ดึงมาได้

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมสำหรับการรักษาอาการคลื่นไส้ อาเจียน และอาการขย้อน ในการตั้งครรภ์ระยะแรก เราไม่รวมการทดลองการรักษา hyperemesis gravidarum ซึ่งทำโดย Cochrane review อื่น เราไม่รวมการทดลองแบบ quasi-randomised trials และ การทดลองแบบ cross-over design

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์การทบทวนวรรณกรรม 4 คน แบบเป็นคู่ ทบทวนความเหมาะสมของการทดลองและประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ และดึงข้อมูลการทดลองที่รวบรวมมาอย่างอิสระต่อกัน

ผลการวิจัย: 

การทดลอง 41 รายการ มีสตรี 5449 คน ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก การทดลองเหล่านี้ครอบคลุมการรักษาหลายอย่าง รวมถึงการกดจุด, acustimulation, การฝังเข็ม, ขิง, คาโมไมล์, น้ำมันเลมอน, น้ำมันสะระแหน่, วิตามินบี 6 และยาแก้อาเจียนหลายชนิด ไม่มีการศึกษาเรื่องการควบคุมอาหารและวิถีชีวิตอื่นๆ หลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลของการกดจุด P6, การกดจุดหู (หู) และการกระตุ้นจุด P6 นั้นมีจำกัด การฝังเข็ม (P6 หรือแบบดั้งเดิม) ไม่มีประโยชน์อย่างมีนัยสำคัญต่อสตรีตั้งครรภ์ การใช้ผลิตภัณฑ์ขิงอาจเป็นประโยชน์สำหรับสตรี แต่หลักฐานของประสิทธิผลมีจำกัดและไม่สอดคล้องกัน แม้ว่าการศึกษาล่าสุด 3 รายการจะสนับสนุนขิงมากกว่ายาหลอก มีหลักฐานที่จำกัดจากการทดลองที่สนับสนุนการใช้ยาซึ่งรวมถึงวิตามิน B6, Doxylamine-pyridoxoine และยาแก้อาเจียนอื่นๆ เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้และอาเจียนเล็กน้อยหรือปานกลาง มีข้อมูลเพียงเล็กน้อยเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ไม่พึงประสงค์ของมารดาและทารกในครรภ์ และผลลัพธ์ทางด้านจิตใจ สังคม หรือเศรษฐกิจ

เราไม่สามารถรวมสิ่งที่ค้นพบจากการศึกษาเพื่อผลลัพธ์ส่วนใหญ่ได้เนื่องจากความแตกต่างในผู้เข้าร่วมการศึกษา, กลุ่มเปรียบเทียบ และผลลัพธ์ที่วัดหรือรายงาน คุณภาพของระเบียบวิธีวิจัยของการศึกษาที่รวบรวมมาได้มีความแตกต่างกัน ความเสี่ยงของการมีอคติต่ำซึ่งเกี่ยวข้องกับ performance bias, detection bias และ attrition bias ในการศึกษาส่วนใหญ่ ความเสี่ยงของ selection bias ไม่ชัดเจนสำหรับการศึกษาจำนวนมาก และเกือบครึ่งหนึ่งของการศึกษาไม่ได้รายงานผลลัพธ์ที่กำหนดไว้ล่วงหน้าทั้งหมดอย่างครบถ้วนหรือชัดเจน

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ศ.นพ.ภิเศก ลุมพิกานนท์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 29 มิถุนายน 2021

Tools
Information