การออกกำลังกายสำหรับการปวดประจำเดือน

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

ผู้ประพันธ์ตรวจสอบหลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลและความปลอดภัยของการออกกำลังกายในสตรีที่มีอาการปวดประจำเดือน (period pain)

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

เราต้องการทราบว่าการใช้การออกกำลังกายดีกว่าไม่ได้รับการรักษา หรือได้รับการรักษา แต่ไม่ใช่ด้วยการออกกำลังกาย หรือการใช้ยารักษาโรคที่แนะนำสำหรับการปวดประจำเดือน (dysmenorrhoea) เช่น ยาเม็ดคุมกำเนิดหรือ non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs)

ลักษณะของการศึกษา

เราพบการศึกษา 12 ฉบับ มีสตรีเข้าร่วม 854 คน ที่ประเมินผลของการออกกำลังกายในสตรีที่มีอาการปวดประจำเดือน ซึ่งหลักฐานเป็นปัจจุบันถึงเดือนสิงหาคม 2019 การทดลองสองฉบับไม่ได้รายงานข้อมูลที่เหมาะสมพอที่จะรวมในการวิเคราะห์เมตา ดังนั้นเราจึงรวมผลการทดลอง 10 ฉบับ มีจำนวนสตรี 754 คน ในการวิเคราะห์เมตา การทดลองสิบเอ็ดฉบับ เปรียบเทียบการออกกำลังกาย กับการที่ไม่มีการรักษาและการทดลองหนึ่งฉบับเปรียบเทียบระหว่างการออกกำลังกาย กับ NSAIDs

ผลการศึกษาที่สำคัญ

การออกกำลังกาย ไม่ว่าจะเป็นแบบ low-intensity เช่น โยคะ หรือ high-intensity เช่น แอโรบิก อาจช่วยลดความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ทำอะไรเลย การลดความปวดนี้น่าจะมีความสำคัญสำหรับสตรีที่มีอาการปวดประจำเดือนเนื่องจากมีจำนวนมากกว่าสองเท่าของการลดความเจ็บปวดขั้นต่ำ ซึ่งเราคิดว่าจำเป็นต้องสังเกตเห็นความแตกต่าง การศึกษาส่วนใหญ่ขอให้สตรีออกกำลังกายอย่างน้อยสามครั้งต่อสัปดาห์ประมาณ 45 ถึง 60 นาทีของการออกกำลังกายในแต่ละครั้ง ไม่ชัดเจนว่าความถี่ของการออกกำลังกายน้อยกว่าปกติ หรือในระยะเวลาอันสั้นจะได้ผลลัพธ์เหมือนกันหรือไม่ ออกกำลังกายเป็นประจำตลอดเดือน โดยมีการศึกษาบางฉบับขอให้สตรีไม่ต้องออกกำลังกายในช่วงเวลาที่มีประจำเดือน

หลักฐานเรื่องความปลอดภัยของการออกกำลังกายยังไม่มีการรายงานที่ดี ดังนั้นเราจึงไม่สามารถสรุปได้ ผลลัพธ์อื่น ๆ เช่น ผลต่ออาการประจำเดือนโดยรวม หรือคุณภาพชีวิตโดยรวม ยังไม่มีการรายงานที่ดี และหลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก ดังนั้นเราจึงไม่สามารถแน่ใจได้ว่าการออกกำลังกายมีผลต่อผลลัพธ์เหล่านี้หรือไม่ ไม่มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับอัตราการหยุดงาน หรือขาดเรียน หรือข้อจำกัดในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

มีหลักฐานไม่เพียงพอที่จะระบุว่าการออกกำลังกายมีประโยชน์หรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบกับ NSAIDs ซึ่งเป็นยาประเภทหนึ่ง (คล้ายกับ ibuprofen) ที่ใช้กันทั่วไปในการรักษาอาการปวดประจำเดือน หรือปวดประจำเดือนอย่างรุนแรง มีความต้องการยาบรรเทาอาการปวดเพิ่มเติม หรือการหยุดงาน หรือการขาดเรียนหรือไม่ ไม่มีรายงานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตหรือข้อจำกัดในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน

คุณภาพของหลักฐาน

คุณภาพของหลักฐานอยู่ในระดับต่ำถึงต่ำมาก ข้อจำกัดที่สำคัญคือ Imprecision เนื่องจากตัวอย่างมีขนาดเล็ก (มีจำนวนสตรีน้อยเกินไปในการศึกษา), Inconsistency (การศึกษาให้ผลลัพธ์ที่แตกต่างกันมาก) และมีความเสี่ยงของการมีอคติที่เกี่ยวข้องกับการปกปิด (ซึ่งนักวิจัยหรือผู้เข้าร่วมทราบว่าพวกเขาได้รับการรักษาแบบใด)

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานคุณภาพต่ำแสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายเป็นระยะเวลาประมาณ 45 ถึง 60 นาทีในแต่ละครั้ง จำนวนสามครั้งต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น โดยไม่คำนึงถึงความรุนแรง อาจลดความเจ็บปวดของประจำเดือนอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิกประมาณ 25 มม. จากการใช้ VAS ขนาด 100 มม. การศึกษาทั้งหมดใช้การออกกำลังกายเป็นประจำตลอดเดือนโดยมีการศึกษาบางฉบับขอให้สตรีไม่ต้องออกกำลังกายระหว่างมีประจำเดือน เมื่อพิจารณาถึงประโยชน์ต่อสุขภาพโดยรวมจากการออกกำลังกาย และความเสี่ยงของผลข้างเคียงในประชากรทั่วไปค่อนข้างต่ำ สตรีอาจพิจารณาใช้การออกกำลังกายอย่างเดียวหรือร่วมกับวิธีบำบัดอื่น ๆ เช่น NSAIDs เพื่อจัดการกับอาการปวดประจำเดือน ไม่ชัดเจนว่าประโยชน์ของการออกกำลังกายยังคงมีอยู่หลังจากออกกำลังกายเป็นประจำหยุดลง หรือว่ามีความคล้ายคลึงกันในสตรีที่มีอายุเกิน 25 ปี จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมโดยใช้ผลลัพธ์ที่ผ่านการตรวจสอบความถูกต้องอย่างเพียงพอและมีกลุ่มเปรียบเทียบที่เหมาะสม ซึ่งสะท้อนถึงแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดในปัจจุบัน หรือการจำแนกสิ่งสนใจเป็นพิเศษที่ได้รับระหว่างการออกกำลังกาย

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การออกกำลังกายมีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการ และได้รับการแนะนำให้ใช้ในการรักษาอาการปวดประจำเดือนประเภทปฐมภูมิ (อาการปวดประจำเดือน) แต่หลักฐานเกี่ยวกับประสิทธิผลในการใช้ยาบรรเทาอาการปวดประจำเดือนนี้ไม่ชัดเจน การทบทวนนี้ตรวจสอบหลักฐานที่มีที่สนับสนุนการใช้การออกกำลังกายเพื่อรักษาอาการปวดประจำเดือนประเภทปฐมภูมิ

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของการออกกำลังกายสำหรับสตรีที่ปวดประจำเดือนประเภทปฐมภูมิ

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยได้สืบค้นข้อมูลใน the Cochrane Gynaecology and Fertility specialised register, CENTRAL, MEDLINE, Embase, PsycINFO, AMED และ CINAHL (ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงเดือน กรกฎาคม 2019) เราค้นหาฐานข้อมูลการทดลองทางคลินิกสองแห่ง (ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงเดือน มีนาคม 2019) และรายการอ้างอิงที่ค้นหาด้วยมือและการค้นหาจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบก่อนหน้านี้

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวบรวมการศึกษาที่ได้สุ่มเลือกสตรีที่ปวดระจำเดือนประเภทปฐมภูมิ ในระดับที่มีอาการปวดปานกลางถึงรุนแรง เพื่อเข้ารับการออกกำลังกาย เปรียบเทียบกับกลุ่มที่ไม่ได้รับการรักษา, attention control, non-steroidal anti-inflammatory drugs (NSAIDs) หรือยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน Cross-over studies and cluster-randomised trials ไม่อยู่ในเกณฑ์นำเข้าในการทบทวนนี้

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์สองคน คัดเลือกการศึกษา ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติและคัดลอกข้อมูลจากแต่ละการศึกษาโดยอิสระต่อกัน ผู้ประพันธ์ติดต่อเจ้าของงานวิจัย หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม เราประเมินคุณภาพของหลักฐานโดยวิธี GRADE ผลลัพธ์หลักของเราคือ ความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือนและเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ผลลัพธ์รอง ได้แก่ อาการเกี่ยวกับประจำเดือนโดยรวม การใช้ยาแก้ปวด ข้อจำกัดในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวัน การขาดงานหรือขาดเรียน และคุณภาพชีวิต

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการทดลองทั้งหมด 12 ฉบับ มีสตรีเข้าร่วม 854 คนในการทบทวนนี้ โดยมีการทดลอง 10 ฉบับ และ มีสตรี 754 คนในการวิเคราะห์เมตตา การศึกษาเก้าฉบับจาก 10 ฉบับ เปรียบเทียบการออกกำลังกาย กับการที่ไม่มีการรักษา และอีกหนึ่งการศึกษาเปรียบเทียบการออกกำลังกายกับ NSAIDs ไม่มีการศึกษาที่เปรียบเทียบการออกกำลังกาย กับวิธี attention control หรือยาเม็ดคุมกำเนิด การศึกษาใช้การออกกำลังกายแบบเบา ๆ (low-intensity exercise) (การยืดกล้ามเนื้อ การเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลำตัว หรือโยคะ) หรือการออกกำลังกายแบบหนัก ๆ (high-intensity exercise) (Zumba หรือการออกกำลังกายแบบแอโรบิค) ไม่มีการศึกษาใดที่ใช้การออกกำลังกายแบบมีแรงต้าน (resistance training)

ออกกำลังกายเปรียบเทียบกับไม่มีการรักษา

การออกกำลังกายอาจมีผลอย่างมากต่อการลดอาการปวดประจำเดือนเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ออกกำลังกาย (standard mean difference (SMD) -1.86, 95% confidence interval (CI) -2.06 ถึง -1.66; 9 randomised controlled trials (RCTs), n = 632; I2= 91%; หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำ) ค่า SMD นี้ สอดคล้องกับการลดลง 25 มม. จากการวัดโดยใช้ visual analogue scale (VAS) ขนาด 100 มม. และดูเหมือนว่าจะมีนียสำคัญทางคลินิก เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างของอัตราการเกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ระหว่างการออกกำลังกายและไม่มีการรักษาหรือไม่

เราไม่แน่ใจว่าการออกกำลังกายช่วยลดอาการเกี่ยวกับประจำเดือนโดยรวมหรือไม่ (เช่นการวัดโดยแบบสอบถาม Moos Menstrual Distress (MMDQ)) เช่น อาการปวดหลังหรืออาการเหนื่อยล้าเมื่อเปรียบเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา (MD) -33.16, 95% CI -40.45 ถึง -25.87; 1 RCT, n = 120; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) หรือการปรับปรุงคุณภาพชีวิตด้านจิตใจ (MD 4.40, 95% CI 1.59 ถึง 7.21; 1 RCT, n = 55; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) หรือคุณภาพชีวิตทางด้านกายภาพ (วัดโดยใช้ the 12-Item Short Form Health Survey (SF-12)) เปรียบเทียบกับไม่มีการออกกำลังกาย (MD 3.40, 95% CI -1.68 ถึง 8.48; 1 RCT, n = 55; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) เมื่อเปรียบเทียบกับ ไม่มีการรักษา ไม่มีการศึกษาที่รายงานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงข้อจำกัดในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือการขาดงานหรือขาดเรียน

ออกกำลังกาย เปรียบเทียบกับ NSAIDs

เราไม่แน่ใจว่าการออกกำลังกายเมื่อเทียบกับกรด mefenamic ลดความรุนแรงของอาการปวดประจำเดือน (MD -7.40, 95% CI -8.36 ถึง -6.44; 1 RCT, n = 122; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ใช้ยาบรรเทาปวด (risk ratio (RR) 1.77, 95% CI 1.21 ถึง 2.60; 1 RCT, n = 122; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) หรือขาดงานหรือขาดเรียน (RR 1.00, 95% CI 0.49 ถึง 2.03; 1 RCT, n = 122; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาที่รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ อาการประจำเดือนโดยรวม ข้อจำกัดในการทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันหรือคุณภาพชีวิต

บันทึกการแปล: 

แปลเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2019 โดย นางสาวน้ำเพชร จำปาทอง Cochrane Thailand

Tools
Information