ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ห่วงพยุงทางช่องคลอด (Pessaries) (อุปกรณ์เชิงกล) สำหรับจัดการอาการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกรานในสตรี

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

ห่วงพยุงทางช่องคลอด (อุปกรณ์เชิงกล) มีประสิทธิผลเพียงใดในการจัดการอาการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกรานในสตรี

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

อวัยวะในอุ้งเชิงกราน เช่น มดลูก กระเพาะปัสสาวะ หรือลำไส้อาจโผล่ยื่นออกมาในช่องคลอดเนื่องจากความอ่อนแอของเนื้อเยื่อที่รองรับ การยื่นออกมานี้เรียกว่าอาการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกราน สตรีที่มีอาการหย่อนยานของอวัยวะจะมีอาการต่างๆ มากมายที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต การเลือกการรักษาสำหรับอาการหย่อนยานของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานนั้นส่วนใหญ่กำหนดโดยการเลือกของผู้ป่วยเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิต การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (PFMT) การใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอด และการผ่าตัดมีความแตกต่างกันมากโดยมีความเสี่ยงจากภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นแตกต่างกัน การใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอด เป็นทางเลือกหนึ่งในการรักษาอาการหย่อนยานของอวัยวะที่มักใช้เพื่อฟื้นฟูอวัยวะที่หย่อนยานให้กลับสู่ตำแหน่งปกติและบรรเทาอาการได้ ห่วงพยุงทางช่องคลอดสามารถใช้เพื่อรักษาอาการหย่อนยานของอวัยวะได้ทั้ง 4 ระดับ

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นอย่างไร

เราค้นหาการศึกษาที่เผยแพร่ถึง 28 มกราคม 2020

ลักษณะการศึกษา

เราพบการศึกษา 4 รายการ ที่เกี่ยวข้องกับสตรี 478 คนที่มีอาการหย่อนยานของอวัยวะในระยะต่างๆ การศึกษาทั้ง 4 รายการ ดำเนินการในประเทศที่มีรายได้สูง

ผลลัพธ์ที่สำคัญ

ไม่มีการศึกษาใดรายงานว่าอาการหย่อนยานของสตรีได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์หรือไม่ เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลของห่วงพยุงทางช่องคลอดเมื่อเทียบกับการไม่รักษา ในการรักษาอาการหย่อนยานหรือปัญหาทางเพศที่ดีขึ้น เราไม่พบหลักฐานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับความเสี่ยงของการมีเลือดออกทางช่องคลอดหรือปัสสาวะลำบากในการศึกษาเปรียบเทียบ การใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอดกับการไม่รักษา

เราไม่แน่ใจว่าห่วงพยุงทางช่องคลอดมีผลต่อการทำให้อาการหย่อนยานของสตรีดีขึ้นหรือไม่ เมื่อเปรียบเทียบการใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอดกับ PFMT หลักฐานยังไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของการใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอด เมื่อเทียบกับ PFMT ต่อคุณภาพชีวิตเนื่องจากอาการหย่อนยานของอวัยวะและปัญหาทางเพศ การใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอด อาจส่งผลให้เกิดความเสี่ยงต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มากขึ้นรวมถึงการตกขาว การกลั้นปัสสาวะ และแผลของผนังช่องคลอด เมื่อเทียบกับ PFMT

Pessary ร่วมกับ PFMT อาจทำให้สตรีจำนวนมากรู้สึกว่าอาการหย่อนยานของอวัยวะและคุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น เมื่อเทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว เมื่อเทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว พบว่า pessary และ PFMT อาจเพิ่มความเสี่ยงของการมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดเล็กน้อย และความเสี่ยงในการปัสสาวะลำบากสำหรับสตรีที่ไม่มีปัญหานี้ก่อนเริ่มการรักษาอาการห้อยยานของอวัยวะ แต่หลักฐานยังไม่แน่นอนอย่างมาก

ความเชื่อมั่นของหลักฐาน

เราประเมินหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับ pessary เทียบกับไม่มีการรักษาว่ามีความเชื่อมั่นต่ำมาก เนื่องจากมีสตรีจำนวนน้อยที่เข้าร่วมในการศึกษาและเนื่องจากปัญหาเกี่ยวกับวิธีการทดลอง เราประเมินหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับ pessary เทียบกับ PFMT และ pessary ร่วมกับ PFMT เทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว โดยหลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำถึงปานกลาง เนื่องจากมีสตรีจำนวนน้อยในการศึกษา

ข้อสรุปของผู้เขียน

แต่ละการทดลองมีสตรีจำนวนน้อย ซึ่งทำให้ลดความเชื่อมั่นในข้อสรุป เราไม่แน่ใจว่า pessaries ช่วยทำให้อาการหย่อนยานของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานดีขึ้นหรือไม่ เมื่อเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา หรือเมื่อเทียบกับการรักษาแบบอื่น เช่น PFMT แต่การใส่ pessaries เพิ่มจาก PFMT อาจช่วยให้อาการของสตรีและคุณภาพชีวิตที่เฉพาะเจาะจงต่ออาการหย่อนยานของอวัยวะดีขึ้น อย่างไรก็ตามอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จาก pessaries เมื่อเทียบกับการไม่รักษา หรือ PFMT

การทบทวนพบการศึกษาการประเมินผลทางเศรษฐศาสตร์ 2 รายการ ที่เปรียบเทียบการรักษาด้วย pessary กับวิธีการทางเลือก (PFMT, การสังเกตอาการ, และการผ่าตัด)

สามารถดูภาพสรุปของผลลัพธ์บางส่วนจากบทวิจารณ์นี้ได้ ที่นี่

บทนำ

อาการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกรานเป็นปัญหาที่พบบ่อยในสตรี สตรีประมาณ 40% จะมีอาการหย่อนเกิดขึ้น โดยคาดว่าสัดส่วนจะเพิ่มขึ้นตามจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น สตรีมีอาการลำบากหลายอย่างอันเป็นผลมาจากอาการหย่อนยานของอวัยวะ รวมถึงความรู้สึกที่ 'มีบางอย่างตกลงมา' ในช่องคลอด ความเจ็บปวด ปัญหาการปัสสาวะ อาการทางลำไส้ และปัญหาทางเพศ การรักษาอาการหย่อนยานของอวัยวะ ได้แก่ การผ่าตัด การฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (PFMT) และการใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอด (vaginal pessaries) การใส่ห่วงพยุงทางช่องคลอด (vaginal pessaries) เป็นอุปกรณ์เชิงกลที่ออกแบบมาเพื่อรองรับช่องคลอดและยึดอวัยวะที่หย่อนยานให้กลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องตามหลักกายวิภาค Pessaries ที่ใช้กันมากที่สุดทำจาก polyvinyl-chloride, polythene, silicone หรือ latex Pessaries มักใช้โดยแพทย์สำหรับรักษาอาการหย่อนยานของอวัยวะ

การศึกษานี้เป็นการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบของ Cochrane หลังจากเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2003 และมีการปรับปรุงล่าสุดในปี 2013

วัตถุประสงค์

เพื่อประเมินผลของห่วงพยุงทางช่องคลอด (อุปกรณ์เชิงกล) ในการจัดการอาการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกรานในสตรี และสรุปข้อค้นพบหลักของการประเมินทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับวิธีการรักษาเหล่านี้

วิธีการสืบค้น

เราสืบค้นหลักฐานจาก Cochrane Incontinence Specialized Register ซึ่งประกอบด้วยการศึกษาที่ระบุจาก Cochrane Central Register of Controlled Trials(CENTRAL), MEDLINE, MEDLINE In-Process, MEDLINE Epub Ahead of Print, CINAHL, ClinicalTrials.gov, WHO ICTRP และงานวิจัยจากการค้นหาเองและการดำเนินการประชุม (สืบค้นวันที่ 28 มกราคม 2020) นอกจากนี้ เราค้นหารายการอ้างอิงของบทความที่เกี่ยวข้องและติดต่อผู้เขียนของการศึกษาที่รวบรวมเข้ามา

เกณฑ์การคัดเลือก

เราได้รวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมและแบบ quasi-randomised controlled trials ซึ่งศึกษาอาการหย่อนยานของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานอย่างน้อย 1 กลุ่มของการศึกษา

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนประเมินบทคัดย่อ ดึงข้อมูล ประเมินความเสี่ยงของการมีอคติและดำเนินการประเมินตาม GRADE และมีผู้ทบทวนวรรณกรรมคนที่ 3 หากจำเป็น

ผลการวิจัย

เราได้รวมการศึกษา 4 รายการ ซึ่งมีสตรีทั้งหมด 478 คน ที่มีอาการจากการหย่อนยานของอวัยวะในระยะต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดขึ้นในประเทศที่มีรายได้สูง ในการศึกษา 1 รายการ มีสตรีที่ได้รับคัดเลือกเพียง 6 ใน 113 คนเท่านั้นที่ยินยอมให้มีการสุ่มเข้ากลุ่มที่ได้รับการรักษา (intevention) และไม่มีข้อมูลของสตรี 6 คนนั้น เราไม่สามารถทำการวิเคราะห์เมตต้าได้เนื่องจากการทดลองแต่ละเรื่องมีการเปรียบเทียบที่แตกต่างกัน ไม่มีการทดลองใดที่รายงานข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้ถึงการแก้ปัญหาของอาการหย่อนยานของอวัยวะ หรือผลลัพธ์ทางด้านจิตวิทยา การศึกษาทั้งหมดรายงานข้อมูลเกี่ยวกับการรับรู้อาการหย่อนยานที่ดีขึ้น

โดยทั่วไปการทดลองนี้มีความเสี่ยงของการมีอคติสูงในด้านการปฏิบัติต่อผู้เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากไม่มีการปกปิด และมีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำในด้านการคัดเลือกผู้เข้าร่วมโครงการ ความเชื่อมั่นของหลักฐานถูกลดระดับลง เนื่องจากความไม่แม่นยำ เป็นผลเนื่องมาจากมีสตรีจำนวนน้อยที่เข้าร่วมในการทดลอง

ห่วงพยุงทางช่องคลอด (Pessary) เทียบกับ ไม่ได้รับการรักษา: ในการติดตามผล 12 เดือน เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับผลของ Pessaries เมื่อเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา ในการรับรู้ว่าอาการหย่อนยานของอวัยวะดีขึ้น (mean difference (MD) ของ questionnaire scores -0.03, 95% confidence interval (CI) -0.61 ถึง 0.55; สตรี 27 คน; การศึกษา 1 รายการ; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำมาก) และการรักษาหรือปรับปรุงปัญหาทางเพศ (MD -0.29, 95% CI -1.67 ถึง 1.09; ผู้หญิง 27 คน; 1 การศึกษา; หลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำมาก) ในการเปรียบเทียบนี้เราไม่พบหลักฐานใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตอันเนื่องมาจากอาการหย่อนยานของอวัยวะหรือจำนวนสตรีที่ประสบกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดหรือความยากลำบากในการปัสสาวะ)

ห่วงพยุงทางช่องคลอด (Pessary) เทียบกับการฝึกกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน (PFMT): ในการติดตามผล 12 เดือน เราไม่แน่ใจว่ามีความแตกต่างระหว่าง Pessaries และ PFMT หรือไม่ในแง่ของการรับรู้อาการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกรานของสตรีที่ดีขึ้น (MD -9.60, 95% CI -22.53 ถึง 3.33; สตรี 137 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ), คุณภาพชีวิตอันเนื่องมาจากอาการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกราน (MD -3.30, 95% CI -8.70 ถึง 15.30; การศึกษา 1 รายการ; สตรี 116 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) หรือการรักษาหรือปรับปรุงปัญหาทางเพศ (MD -2.30, 95% -5.20 ถึง 0.60; การศึกษา 1 รายการ; สตรี 48 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) Pessaries อาจส่งผลให้ความเสี่ยงของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เพิ่มขึ้นอย่างมากเมื่อเทียบกับ PFMT (RR 75.25, 95% CI 4.70 ถึง 1205.45; การศึกษา 1 รายการ; สตรี 97 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ได้แก่ การมีตกขาวที่เพิ่มขึ้นและ / หรือการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่และ / หรือการสึกกร่อนหรือการระคายเคืองของผนังช่องคลอด

Pessary ร่วมกับ PFMT เทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว: ในการติดตามผล 12 เดือน Pessary ร่วมกับ PFMT อาจทำให้สตรีจำนวนมากรับรู้ว่าอาการหย่อนยานของตนดีขึ้นเมื่อเทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว (RR 2.15, 95% CI 1.58 ถึง 2.94; การศึกษา 1 รายการ; สตรี 260 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง) เมื่อติดตามผล 12 เดือน Pessary ร่วมกับ PFMT อาจช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตของสตรีที่มีอาการหย่อนยานของอวัยวะเมื่อเทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว (interquartile range (IQR)) POPIQ score: Pessary ร่วมกับ PFMT 0.3 (0 ถึง 22.2); สตรี 132 คน; PFMT เพียง 8.9 (0 ถึง 64.9); สตรี 128 คน; P = 0.02; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับปานกลาง) Pessary ร่วมกับ PFMT อาจเพิ่มความเสี่ยงเล็กน้อยของการมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติเมื่อเทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว (RR 2.18, 95% CI 0.69 ถึง 6.91; การศึกษา 1 รายการ; สตรี 260 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ) หลักฐานไม่แน่นอนว่า Pessary ร่วมกับ PFMT มีผลต่อความเสี่ยงของความยากลำบากในการปัสสาวะลำบากเมื่อเทียบกับ PFMT เพียงอย่างเดียว (RR 1.32, 95% CI 0.54 ถึง 3.19; การศึกษา 1 รายการ; สตรี 189 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นในระดับต่ำ)

ข้อสรุปของผู้วิจัย

เราไม่แน่ใจว่า Pessaries ช่วยทำให้อาการหย่อนยานของอวัยวะในอุ้งเชิงกรานดีขึ้น เมื่อเทียบกับการไม่ได้รับการรักษา หรือเมื่อเทียบกับการรักษาแบบอื่น เช่น PFMT แต่ การใส่ Pessaries เพิ่มเติมจาก PFMT อาจช่วยทำให้อาการหย่อนยานของสตรีและคุณภาพชีวิตดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตามอาจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์จาก Pessaries เมื่อเทียบกับ PFMT การทดลองในอนาคตควรคัดเลือกให้มีจำนวนสตรีเพียงพอและวัดผลที่สำคัญทางการแพทย์ เช่น คุณภาพชีวิตที่เฉพาะเจาะจงต่ออาการห้อยยานของอวัยวะและการแก้ไขอาการหย่อนยานของอวัยวะอุ้งเชิงกรานสตรี

การทบทวนพบการประเมินทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง 2 รายการ ในจำนวนการศึกษาเหล่านี้ มีการศึกษา 1 รายการ ประเมินความคุ้มทุนของการรักษาโดย Pessary, การรักษาแบบประคับประคอง และการผ่าตัด และอื่นๆ เปรียบเทียบ pessary treatment กับ PFMT

บันทึกการแปล

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว

Citation
Bugge C, Adams EJ, Gopinath D, Stewart F, Dembinsky M, Sobiesuo P, Kearney R. Pessaries (mechanical devices) for managing pelvic organ prolapse in women. Cochrane Database of Systematic Reviews 2020, Issue 11. Art. No.: CD004010. DOI: 10.1002/14651858.CD004010.pub4.