วิธีการสนับสนุนให้สตรีที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง

เรื่องนี้มีปัญหาอย่างไร

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อสุขภาพของมารดาและลูกๆ ของเธอ ปัจจุบันมีคำแนะนำให้มารดาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวอย่างต่อเนื่องจนเด็กอายุหกเดือน ทารกที่กินนมผสมมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ การเป็นโรคหอบหืด และการเป็นโรคที่มีความสัมพันธ์ต่อการเสียชีวิตอย่างรวดเร็วมากขึ้น มารดาที่ไม่ให้นมบุตรมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งในกลุ่มมะเร็งที่เป็นเฉพาะสตรีและการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพิ่มมากขึ้น สตรีที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนมีแนวโน้มที่จะเริ่มต้นให้นมบุตรน้อยกว่าสตรีคนอื่นๆ และมีแนวโน้มที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะเวลาที่สั้นกว่า โดยมีสาเหตุเนื่องมาจากปัจจัยทางด้านร่างกาย เช่น การมีหน้าอกขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้ท่าทางที่จะให้นมบุตรอยู่ในท่าที่ยากลำบาก และเกิดจากความล่าช้าในการหลั่งน้ำนมหลังคลอด (ซึ่งปกติน้ำนมจะเริ่มมาในช่วง 72 ชั่วโมงหลังคลอด) สาเหตุเหล่านี้ลดความมั่นใจและความสามารถของมารดาต่อการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลง ปัจจัยทางวัฒนธรรมอาจมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของมารดาต่อการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตัวอย่างเช่น เห็นตัวอย่างวิธีการที่ครอบครัวของเธอและเพื่อนของเธอให้นมลูกของพวกเขา ความมั่นใจของแม่ต่อการบรรลุเป้าหมายในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และความคิดเห็นต่อสรีระร่างกายของตัวเอง

ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ

สตรีที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วนมักจะเจอกับประสบการณ์ที่ยากลำบากในการให้นมบุตร แต่ก็สามารถผ่านพ้นความท้าทายนั้นมาได้ด้วยการได้รับแรงสนับสนุน เราต้องการที่จะค้นหาวิธีการสนับสนุนที่ดีที่สุดทั้งก่อนและหลังคลอด วิธีการสนับสนุน ได้แก่ การให้ความรู้ การได้รับการสนับสนนุจากสังคม และวิธีการสนับสนุนทางกายภาพ เช่น การบีบน้ำนมด้วยมือ

เราพบข้อมูลเชิงประจักษ์อะไรบ้าง

เราทำการสืบค้นหลักฐานเชิงประจักษ์จนถึงเดือนมกราคมปี ค.ศ. 2019 พบงานวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบจำนวนเจ็ดงานวิจัย รวมมีในการศึกษาทั้งหมด 831 คน (ตั้งแต่ 36 ถึง 226 คน) เป็นการศึกษาในประเทศที่มีรายได้สูง (สหรัฐอเมริกา, เดนมาร์ก, ออสเตรเลีย) ทำการศึกษาในช่วงปี ค.ศ. 2006 ถึง 2015 งานวิจัยจำนวนสามเรื่อง คัดมารดาเข้าการศึกษาเฉพาะคนที่เป็นโรคอ้วนก่อนที่จะตั้งครรภ์เท่านั้น และอีกสี่งานวิจัย คัดทั้งมารดาที่มีภาวะน้ำหนักเกินและมารดาที่เป็นโรคอ้วนเข้าการศึกษา

งานวิจัยเหล่านี้เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างวิธีการสนับสนุนหลากหลายชนิดกับการให้การดูแลตามปกติ จึงมีข้อจำกัดเกี่ยวกับจำนวนงานวิจัยในแต่ละวิธีการสนับสนุน และมีความแตกต่างในด้านความมากน้อยในการให้การสนับสนุนในกลุ่มที่ได้รับวิธีการสนับสนุนและกลุ่มที่ได้รับการดูแลตามปกติ

มีหนึ่งการศึกษา (มารดา 39 คน) ใช้วิธีการสนับสนุนทางกายภาพด้วยการใช้เครื่องปั๊มนมแบบอัตโนมัติเปรียบเทียบการได้รับการดูแลตามปกติ (ไม่ได้ใช้เครื่องปั๊มนม) เป็นหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำ หมายความว่า ยังเป็นที่ไม่ชัดเจนว่าการสนับสนุนทางกายภาพช่วยเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงเวลาที่สี่ถึงหกสัปดาห์ได้ หรือ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับวิธีอื่นๆ ในช่วงเวลาสี่ถึงหกสัปดาห์ การทดลองไม่ได้รายงานผลลัพธ์ที่สำคัญอื่นๆ ที่น่าสนใจ: การไม่เริ่มต้นให้นมแม่ และการให้กินนมแม่อย่างเดียว หรือ การให้กินนมแม่ร่วมกับวิธีอื่นๆ ในช่วงเวลาหลังคลอดแล้วหกเดือน

งานวิจัยจำนวนหกเรื่อง (มารดา 792 คน) ใช้วิธีการสนับสนุนหลายวิธีร่วมกัน (เช่น การให้ความรู้และการสนับสนุนทางสังคมผ่านทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบเผชิญหน้าตัวต่อตัว) เปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ งานวิจัยหนึ่งเรื่อง (มารดา 174 คน) ไม่ได้รายงานผลลัพธ์หลักที่เราสนใจ งานวิจัยจำนวนหนึ่งเรื่องให้การสนับสนุนทางกายภาพผ่านการใช้เครื่องปั๊มน้ำนมและเป้อุ้มเด็ก (baby sling) และให้ของขวัญเล็กๆ น้อยๆ แก่ผู้เข้าร่วมการศึกษาในการที่ลงพื้นที่ศึกษาแต่ละครั้ง วิธีการสนับสนุนต่างๆ ในการทดลองเหล่านี้ได้รับจากผู้เชี่ยวชาญ (จำนวนสี่งานวิจัย) หรือจากผู้ที่มีความรู้ (จำนวนสองงานวิจัย) เป็นการศึกษาแบบเป็นกลุ่ม (จำนวนหนึ่งงานวิจัย) หรือเป็นแบบรายบุคคล (จำนวนห้างานวิจัย)

สำหรับสตรีที่ได้รับวิธีการสนับสนุนที่มีการสนับสนุนหลายวิธี (รวมถึงการสนับสนุนทางสังคม, การศึกษาหรือทางกายภาพ) กับการดูแลตามปกติ เราประเมินหลักฐานที่ไดว่า้ยังคงไม่ชัดเจนในเรื่องของผลกระทบของวิธีการสนับสนุน เนื่องจากเราพบว่าหลักฐานที่พบนี้มีความน่าเชื่อถือในระดับต่ำในทุกผลลัพธ์หลักที่สำคัญสำหรับการทบทวนวรรณกรรมนี้: เช่น อัตราการไม่เริ่มต้นในการให้นมบุตร; การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงเวลาที่สี่ถึงหกสัปดาห์ได้ หรือ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับวิธีอื่นๆ ในช่วงเวลาสี่ถึงหกสัปดาห์; และการให้กินนมแม่อย่างเดียว หรือ การให้กินนมแม่ร่วมกับวิธีอื่นๆ ในช่วงเวลาหลังคลอดแล้วหกเดือน

หลักฐานนี้หมายความว่าอย่างไร

ประสิทธิภาพของวิธีการสำหรับการสนับสนุนมารดาที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนที่จะเริ่มต้นและยังคงให้นมบุตรยังคงไม่ชัดเจน วิธีการที่ใช้สนับสนุนการให้นมแม่ในการทดลองต่างๆ มีความแตกต่างกันในเรื่องคุณภาพและมีจำนวนผู้เข้าร่วมการศึกษาน้อย ไม่มีการทดลองที่เปรียบเทียบการสนับสนุนรูปแบบหนึ่งกับรูปแบบอื่นๆ

เราต้องการการทดลองที่มีคุณภาพสูงในการประเมินว่าการสนับสนุนทางสังคม, การให้ความรู้, การสนับสนุนทางกายภาพ, หรือใช้วิธีการสนับสนุนหลายๆ วิธีร่วมกันสามารถช่วยให้มารดาที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง วิธีการสนับสนุนต้องได้รับการออกแบบมาโดยเฉพาะสำหรับมารดากลุ่มนี้และต้องได้รับการฝึกฝนจากผู้ที่มีความเข้าใจความท้าทายของมารดากลุ่มนี้ โดยต้องช่วยแก้ไขปัญหาเมื่อเธอต้องเผชิญปัญหาและช่วยให้เธอสามารถประคับประครองการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

มีหลักฐานไม่เพียงพอในการประเมินประสิทธิภาพของวิธีการสนับสนุนทางกายภาพหรือการให้วิธีการสนับสนุนหลายวิธีเข้าด้วยกัน (การสนับสนุนด้านสังคม, การให้ความรู้ หรือทางกายภาพ) สำหรับการเพื่อสนับสนุนการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่องในมารดาที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน เราพบว่าไม่มงานวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ที่เปรียบเทียบการสนับสนุนประเภทหนึ่งไปยังการสนับสนุนชนิดอื่น การประเมิน GRADE ทั้งหมดพบว่าหลักฐานมีความน่าเชื่อถือในระดับต่ำมาก หลักฐานดังกล่าวถูกลดระดับความน่าเชื่อถือจากข้อจำกัดในการออกแบบการทดลอง (เช่น ความเสี่ยงของการเกิดอคติจากการขาดหายไปของกลุ่มตัวอย่าง) ผลการศึกษาที่ยังไม่ชัดเจน และความไม่สอดคล้องของผลการศึกษาระหว่างงานวิจัย งานวิจัยที่พบ ส่วนมากมีจำนวนขนาดตัวอย่างค่อนข้างน้อย และพบว่าอาจเกิดผลกระทบที่เกิดขึ้นจากความแตกต่างของตัวแปรแทรกซ้อนระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม

งานวิจัยในอนาคตที่ได้รับการออกแบบวิธีการวิจัยที่ดีเป็นสิ่งจำเป็นในการตอบคำถามเกี่ยวกับผลการสนับสนุนทางสังคม, การให้ความรู้, การสนับสนุนทางกายภาพ รวมถึงการใช้วิธีการสนับสนุนหลายๆ วิธีร่วมกัน ในการช่วยให้มารดาที่มีน้ำหนักเกินหรืออ้วนเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และสามารถเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่อง เราต้องการงานวิจัยเชิงทดลองที่ศึกษาผลวิธีการสนับสนุนที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับมารดาที่มีภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน และต้องได้รับการฝึกฝนจากผู้ที่มีความเข้าใจความท้าทายของมารดากลุ่มนี้ โดยต้องช่วยแก้ไขปัญหาเมื่อเธอต้องเผชิญปัญหาและช่วยให้เธอสามารถประคับประครองการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ การศึกษาในอนาคตควรให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการประเมินผลลัพธ์ที่เกิดในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ที่มีจุดประสงค์เพื่อปรับปรุงช่วยให้lสตรีตั้งครรภ์ที่เริ่มมีค่า BMI ที่เพิ่มขึ้นสามารถเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และไม่มุ่งเน้นไปที่การคัดเฉพาะสตรีที่มีความตั้งใจเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เข้ามาในการศึกษา งานวิจัยในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วดำเนินการในประเทศสหรัฐอเมริกา งานวิจัยในประเทศอื่นๆ และทำในพื้นที่ที่มีความหลากหลายเป็นสิ่งที่ยังคงมีความจำเป็น การทดลองในอนาคตต้องพิจารณาหลักทฤษฎีของการให้สิ่งสนับสนุนโดยใช้กรอบแนวคิดทฤษฎีที่กำหนดขึ้นเพื่อให้ผู้อื่นสามารถจำลองแบบได้และเพื่อกำหนดองค์ประกอบของการแทรกแซงที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวเหมาะสำหรับทารกทุกคนจนถึงอายุหกเดือน เนื่องจากมีประโยชน์ต่อสุขภาพมากมายทั้งต่อมารดาและเด็กทารก

มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามารดาที่มีน้ำหนักตัวเกิน (ค่า BMI 25.0 ถึง 29.9 kg/m²) หรือ การเป็นโรคอ้วน (ค่า BMI ≥ 30.0 kg/m²) มีแนวโน้มที่จะเริ่มต้นให้นมบุตรน้อยกว่าสตรีคนอื่นๆ และมีแนวโน้มที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะเวลาที่สั้นกว่า ปัจจุบันพบว่าความชุกของคนที่มีภาวะน้ำหนักเกินและเป็นโรคอ้วนมีการเพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงการรับรู้ถึงประโยชน์ของการให้นมบุตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการลดความเสี่ยงในระยะยาวของการเป็นโรคอ้วนและการเป็นโรคเบาหวานสำหรับทารก, การสร้างวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนและส่งเสริมให้นมบุตรในมารดาที่มีน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วนเป็นความสำคัญในการบรรลุเป้าหมายของชุมชนที่มีสุขภาพดี

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพของวิธีการเพื่อสนับสนุนการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่องในมารดาที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน

วิธีการสืบค้น: 

เราได้ทำการสืบค้นงานวิจัยจากฐานข้อมูล Cochrane Pregnancy and Childbirth Group's Trials Register, ClinicalTrials.gov, the WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) และรายการเอกสารอ้างอิงของงานวิจัยที่สืบค้นได้ จนถึงวันที่ 23 มกราคม ค.ศ. 2019

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) และการศึกษาแบบกึ่งการทดลอง (quasi-RCTs) ที่เปรียบเทียบวิธีการเพื่อสนับสนุนการเริ่มต้นเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และส่งเสริมให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้อย่างต่อเนื่องในมารดาที่มีน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน วิธีการสนับสนุนนี้รวมถึงการสนับสนุนทางสังคม, การให้ความรู้, การสนับสนุนทางกายภาพ, หรือเป็นการผสมผสานของวิธีการสนับสนุนหลายๆ วิธี วิธีการสนับสนุนนี้ต้องถูกเปรียบเทียบกับวิธีการอื่นๆ หรือเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราดำเนินการประเมินงานวิจัยทุกเรื่องที่สืบค้นได้จากการสืบค้นโดยละเอียด นักวิจัยสองคนดำเนินการคัดลอกข้อมูลจากการศึกษาที่คัดเข้ามาและประเมินความเสี่ยงของการเกิดอคติ เราได้แก้ไขความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันผ่านการอภิปรายกับนักวิจัยคนที่สาม เราได้ประเมินคุณภาพของหลักฐานที่ได้โดยวิธีการของเกรด (GRADE)

ผลการวิจัย: 

เราพบว่าไม่มีการทดลองที่เปรียบเทียบการสนับสนุนที่ใช้รูปแบบการสนับสนุนเพียงรูปแบบเดียวเปรียบเทียบกับรูปแบบอื่นๆ เราคัดงานวิจัยที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมดเจ็ดงานวิจัย (หนึ่งในนี้เป็นงานวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มที่ศึกษาแบบแบ่งกลุ่ม) ศึกษาในมารดาทั้งหมด 831 คน จำนวนของมารดาในแต่ละการศึกษามีจำนวนตั้งแต่ 36 ถึง 226 คน เป็นการศึกษาในประเทศที่มีรายได้สูง ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 5 งานวิจัย เดนมาร์ก 1 งานวิจัย และออสเตรเลีย 1 งานวิจัย ทำการศึกษาในช่วงปี ค.ศ. 2006 ถึง 2015 งานวิจัยจำนวนสามเรื่อง คัดมารดาเข้าการศึกษาเฉพาะคนที่เป็นโรคอ้วนก่อนที่จะตั้งครรภ์เท่านั้น และอีกสี่งานวิจัย คัดทั้งมารดาที่มีภาวะน้ำหนักเกินและมารดาที่เป็นโรคอ้วนเข้าการศึกษา เราประเมินความเสี่ยงในการเกิดอคติแก่งานวิจัยที่คัดเข้าโดยพบว่า มีการทดลองเพียงเรื่องเดียวที่มีความเสี่ยงในการเกิดอคติในระดับต่ำในอคติด้านการสร้างลำดับการสุ่ม การปกปิดลำดับการสุ่มและอคติจากการขาดหายไปของกลุ่มตัวอย่าง

การสนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมด้วยวิธีทางกายภาพ (การใช้เครื่องปั๊มน้ำนมแบบปั๊มเองหรือแบบปั๊มอัตโนมัติ) เปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ (ไม่ใช่เครื่องปั๊มน้ำนม)

หลักฐานที่พบมีความน่าเชื่อถือต่ำมาก มีงานวิจัยในเรื่องนี้เพียงหนึ่งงานวิจัย ซึ่งเป็นการศึกษาเชิงทดลองขนาดเล็ก (ศึกษาในมารดา 39 คน) ให้การสนับสนุนด้วยวิธีการสนับสนุนทางกายภาพ (การใช้เครื่องปั๊มน้ำนมแบบปั๊มเองหรือแบบปั๊มอัตโนมัต) เปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ (ไม่ได้ใช้เครื่องปั๊มน้ำนม) พบว่ามีความไม่ชัดเจนในเรื่องผลต่อการให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวจนถึงระยะหลังคลอดที่สัปดาห์ที่สี่ถึงหก (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 0.55, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.20 ถึง 1.51) การให้กินนมแม่ร่วมกับวิธีอื่นๆ ในช่วงเวลาหลังคลอดแล้วสี่ถึงหกสัปดาห์ (RR 0.65, 95% CI 0.41 ถึง 1.03) การทดลองไม่ได้รายงานผลลัพธ์ที่สำคัญอื่นๆ ที่น่าสนใจ: การไม่เริ่มต้นให้นมแม่ และการให้กินนมแม่อย่างเดียว หรือ การให้กินนมแม่ร่วมกับวิธีอื่นๆ ในช่วงเวลาหลังคลอดแล้วหกเดือน

การสนับสนุนให้นมบุตรหลายวิธีเปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ

งานวิจัยจำนวนหกเรื่อง (มารดา 792 คน) ใช้วิธีการสนับสนุนหลายวิธีร่วมกัน (เช่น การให้ความรู้และการสนับสนุนทางสังคมผ่านทางโทรศัพท์หรือการพูดคุยแบบเผชิญหน้าตัวต่อตัว) เปรียบเทียบกับการดูแลตามปกติ งานวิจัยจำนวนหนึ่งเรื่องให้การสนับสนุนทางกายภาพผ่านการใช้เครื่องปั๊มน้ำนมและเป้อุ้มเด็ก (baby sling) และให้ของขวัญเล็กๆ น้อยๆ แก่ผู้เข้าร่วมการศึกษาในการที่ลงพื้นที่ศึกษาแต่ละครั้ง การได้รับวิธีการสนับสนุนในการทดลอง มารดาได้รับจากผู้เชี่ยวชาญ (งานวิจัยจำนวนสี่เรื่อง) หรือจากผู้ที่มีความรู้ (งานวิจัยจำนวนสองเรื่อง) เป็นการศึกษาแบบเป็นกลุ่ม (จำนวนหนึ่งงานวิจัย) หรือเป็นแบบรายบุคคล (จำนวนห้างานวิจัย) งานวิจัยหนึ่งเรื่อง (มารดา 174 คน) ไม่ได้รายงานผลลัพธ์หลักที่เราสนใจ

เราไม่ชัดเจนเกี่ยวกับผลของสิ่งแทรกแซง เนื่องจากเราประเมินว่าหลักฐานที่ได้ยังคงไม่ชัดเจนในเรื่องของผลกระทบของวิธีการสนับสนุน เนื่องจากเราพบว่าหลักฐานที่พบนี้มีความน่าเชื่อถือในระดับต่ำในทุกผลลัพธ์หลักที่สำคัญสำหรับการทบทวนวรรณกรรมนี้: เช่น อัตราการไม่เริ่มต้นในการให้นมบุตร (average RR 1.03, 95% CI 0.07 ถึง 16.11; 3 การทดลอง, สตรี 380 คน); การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวในช่วงเวลาที่สี่ถึงหกสัปดา (average RR 1.21, 95% CI 0.83 ถึง 1.77; 4 การทดลอง, สตรี 445 คน) หรือ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับวิธีอื่นๆ ในช่วงเวลาสี่ถึงหกสัปดาห์ (average RR 1.04, 95% CI 0.57 ถึง 1.89; 2 การทดลอง, สตรี 103 คน); และการให้กินนมแม่อย่างเดียวในช่วงเวลาหลังคลอดแล้วหกเดือน (RR 7.23, 95% CI 0.38 ถึง 137.08; 1 การทอดลอง, สตรี 120 คน) หรือการให้กินนมแม่ร่วมกับวิธีอื่นๆ ในช่วงเวลาหลังคลอดแล้วหก เดือน (average RR 1.42, 95% CI 1.08 ถึง 1.87; 2 การทดลอง, สตรี 223 คน)

งานวิจัยที่ถูกคัดเข้ามาได้นำเสนอผลการเปรียบเทียบผลลัพธ์รองบางตัวที่การทบทวนวรรณกรรมนี้ตั้งเป้าหมายไว้ แต่ระดับความน่าเชื่อถือของหลักฐานดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำมาก นั่นหมายความว่าเราไม่มั่นใจเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวิธีการสนับสนุนในผลลัพธ์เหล่านั้น

บันทึกการแปล: 

แปลโดย อ.ศิวานนท์ รัตนะกนกชัย สาขาวิชาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น แปลเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2019

Tools
Information