การฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลสำหรับผู้ที่มีสายตาเลือนราง

การแปลนี้ไม่ทันสมัย โปรด คลิกที่นี่ เพื่อดูฉบับภาษาอังกฤษล่าสุดของการทบทวนนี้

วัตถุประสงค์ของการทบทวนวรรณกรรมนี้คืออะไร
การทบทวนวรรณกรรมนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประโยชน์ของการให้บริการทางไกลเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพสายตา (ผ่านการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกล) สำหรับผู้ที่มีสายตาเลือนราง (Low vision) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกล (Telerehabilitation) ใช้วิธีการทางอินเทอร์เน็ตแทนที่การให้คำปรึกษาตามสำนักงานปกติ ผลลัพธ์หลักที่สนใจ คือ คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น แต่เราก็สนใจในฟังก์ชั่นการมองเห็นอีกด้วย เช่น การวัดฟังก์ชั่นการมองเห็น ความรวดเร็วที่คนสามารถอ่านและปฏิบัติตามช่วงเวลาที่กำหนด และความพึงพอใจของผู้ป่วยเป็นอย่างไร

ใจความสำคัญ
จากภาระโรคและความสนใจในโทรเวชกรรม (Telemedicine) ที่เพิ่มขึ้น มีการศึกษา 2 เรื่อง ที่อยู่ระหว่างดำเนินการวิจัย เมื่อโครงการเสร็จแล้ว อาจให้หลักฐานในการทำความเข้าใจถึงศักยภาพของการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลเพื่อเป็นรากฐานสำหรับการให้บริการแก่ผู้ที่มีสายตาเลือนราง

ในการทบทวนวรรณกรรมนี้สิ่งที่ศึกษาคืออะไร
สายตาเลือนราง (Low vision) คือ ความบกพร่องของฟังก์ชันในการมองเห็นที่ไม่สามารถแก้ไขได้โดยแว่นตา คอนแทคเลนส์ หรือการรักษาทางการแพทย์และศัลยกรรมอื่น ๆ ผู้ที่มีสายตาเลือนรางอาจพบว่าเป็นการยากที่จะทำกิจกรรมประจำวัน เช่น การอ่าน และการขับรถ โดยประมาณ 300 ล้านคนทั่วโลกมีสายตาเลือนราง วิธีหนึ่งที่จะช่วยผู้ที่มีสายตาเลือนราง คือ การฟื้นฟูสมรรถภาพ ในขณะที่หลายคนได้รับการสอนให้ใช้อุปกรณ์และเทคนิคการขยายภาพเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการมองเห็นที่เหลืออยู่ พวกเขาจะถูกประเมินเป็นระยะเพื่อเสริมสร้างทักษะ การฝึกอบรมการฟื้นฟูสมรรถภาพในสำนักงานสำหรับผู้ที่มีสายตาเลือนรางนั้นมีประสิทธิผล อย่างไรก็ตาม การเดินทางไปยังสำนักงานแพทย์อาจเป็นอุปสรรคต่อผู้ป่วย ประสิทธิผลของอุปกรณ์และเทคนิคการขยายภาพจะลดลงหากไม่ได้รับการฝึกอบรม เทคโนโลยีช่วยให้สามารถให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพสายตาเลือนรางผ่านอินเทอร์เน็ตได้ (เช่น การฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกล) การฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลช่วยลดอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปรับบริการในสำนักงาน และยังให้ความสะดวกสบายในการฟื้นฟูสมรรถภาพที่บ้าน

ผลลัพธ์หลักของการทบทวนวรรณกรรมคืออะไร
เราพบการศึกษาที่กำลังดำเนินการวิจัยจำนวน 2 เรื่อง แต่การศึกษายังไม่เสร็จสมบูรณ์ที่ตอบคำถามการวิจัยได้โดยตรง

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นอย่างไร
การสืบค้นได้ดำเนินการครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2019

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราไม่พบหลักฐานใด ๆ จากการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมหรือการทดลองทางคลินิกที่มีควบคุมเกี่ยวกับประสิทธิภาพของการใช้การฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลสำหรับการให้บริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลแกผู้ที่มีสายตาเลือนราง จากภาระโรคและความสนใจในโทรเวชกรรม (Telemedicine) ที่เพิ่มขึ้น มีการศึกษา 2 เรื่อง ที่อยู่ระหว่างดำเนินการวิจัย เมื่อโครงการเสร็จแล้ว อาจให้หลักฐานในการทำความเข้าใจถึงศักยภาพของการฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกลเพื่อเป็นรากฐานสำหรับการให้บริการแก่ผู้ที่มีสายตาเลือนราง

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

สายตาเลือนรางส่งผลกระทบมากกว่า 300 ล้านคนทั่วโลกและสามารถทำให้เกิดความบกพร่องทั้งกิจกรรมในชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิต การฝึกอบรมการฟื้นฟูสมรรถภาพและอุปกรณ์ช่วยการมองเห็น (VAE) อาจช่วยได้ แต่ผู้พิการทางสายตาบางคนมีทรัพยากรจำกัดในการเข้ารับบริการที่คลินิกฟื้นฟูสมรรถภาพเพื่อการเข้ารับการฝึกอบรมในการเรียนรู้การใช้อุปกรณ์ช่วยการมองเห็น ผู้ที่มีสายตาเลือนรางอาจสามารถก้าวผ่านอุปสรรคในการดูแลรักษาผ่านการให้คำปรึกษาจากทางไกลผ่านอินเทอร์เน็ต (เช่น การฟื้นฟูสมรรถภาพทางไกล)

วัตถุประสงค์: 

เพื่อเปรียบเทียบผลกระทบของการฟื้นฟูสมรรถภาพแบบตัวต่อตัวกับบริการฟื้นฟูสมรรถภาพทางสายตา (เช่น ในสำนักงานหรือแผนกผู้ป่วยใน) เพื่อปรับปรุงคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็น และความสามารถในการอ่านระยะใกล้ของผู้ที่สูญเสียการทำงานของสายตาเนื่องจากปัญหาทางสายตาต่าง ๆ วัตถุประสงค์รอง คือ เพื่อประเมินการปฏิบัติตามชุดการฟื้นฟูสมรรถภาพที่กำหนด อัตราการละทิ้งอุปกรณ์ช่วยการมองเห็น และการจัดอันดับความพึงพอใจของผู้ป่วย

วิธีการสืบค้น: 

ผู้วิจัยสืบค้นจาก Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) (ประกอบด้วย Cochrane Eyes and Vision Trials Register) (ปี 2019 ฉบับที่ 6), Ovid MEDLINE, Embase.com, PubMed, Latin American and Caribbean Health Sciences Literature Database (LILACS), ClinicalTrials.gov และ World Health Organization (WHO) International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP) เราไม่ได้จำกัดภาษาหรือรูปแบบศึกษาในการค้นหาทางอิเล็กทรอนิกส์ อย่างไรก็ตาม เราจำกัดการสืบคนตั้งแต่ปี 1980 เป็นต้นไป เนื่องจากอินเทอร์เน็ตไม่ได้ถูกเผยแพร่สู่สาธารณะจนถึงปี 1982 เราสืบค้นฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ล่าสุดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน ปี 2019

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราวางแผนเพื่อนำเข้าการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) หรือการทดลองทางคลินิกที่มีกลุ่มควบคุม (CCT) โดยผู้เข้าร่วมโครงการวิจัยได้รับการวินิจฉัยเป็นสายตาเลือนรางที่กำลังได้รับการฟื้นฟูสมรรถภาพสายตาเลือนรางโดยใช้อินเทอร์เน็ต เทคโนโลยีบนเว็บ เปรียบเทียบกับวิธีการให้คำปรึกษาแบบตัวต่อตัว

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

นักวิจัย 2 คนคัดกรองชื่อเรื่องและบทคัดย่อ และบทความฉบับเต็มตามเกณฑ์การคัดเข้าอย่างเป็นอิสระต่อกัน เราวางแผนให้มีนักวิจัยจำนวน 2 คน สกัดข้อมูลจากการศึกษาที่นำเข้ามาในการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นอิสระต่อกัน ข้อขัดแย้งใด ๆ ได้รับการตัดสินโดยใช้การอภิปราย

ผลการวิจัย: 

เราพบการศึกษาที่กำลังดำเนินการวิจัยจำนวน 2 เรื่อง แต่ไม่พบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCT) และการทดลองทางคลินิกที่มีกลุ่มควบคุม (CCT) ที่เสร็จสมบูรณ์ซึ่งตรงกับเกณฑ์คัดเข้าสำหรับการทบทวนวรรณกรรมครั้งนี้ เราไม่ได้ดำเนินการวิเคราะห์เชิงปริมาณ เราได้อภิปรายถึงบทความการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับโทรเวชกรรมเพื่ออำนวยความสะดวกในการสื่อสารกับผู้สูงอายุหรือเพื่อให้การบริการเวชกรรมจักษุวิทยาทางไกล

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นายอนุวัตน์ เพ็งพุฒ นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ วันที่ 10 กรกฎาคม 2020