การบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวเต้นรำเป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับภาวะสมองเสื่อมหรือไม่ การตรวจสอบหลักฐาน

ชื่อสำหรับ Plain Language Summaries

การเต้นรำบำบัดมีประโยชน์กับผู้ป่วยภาวะสมองเสื่อมหรือไม่

ใจความสำคัญ

เราไม่ทราบว่าการเต้นรำบำบัดเป็นวิธีการรักษาภาวะสมองเสื่อมที่มีประสิทธิผลหรือไม่ จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมในสาขานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับผลกระทบของการเต้นรำบำบัดต่อภาวะซึมเศร้า

ภาวะสมองเสื่อมคืออะไร

ภาวะสมองเสื่อมส่งผลต่อการคิดและความจำ และวิธีที่ผู้คนสามารถจัดการเกี่ยวกับชีวิตประจำวันของตนเองได้ ผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมอาจประสบปัญหาในการติดตามการสนทนา สับสน และเปลี่ยนอารมณ์ในเวลาที่ต่างกัน อาการเหล่านี้อาจส่งผลต่อการสื่อสาร และนำไปสู่ความเหงา ส่งผลให้เกิดภาวะซึมเศร้าและระดับความเครียดเพิ่มขึ้น

โรคสมองเสื่อมได้รับการรักษาอย่างไร

โรคสมองเสื่อมอาจรักษาได้ด้วยยาเพื่อลดอาการ อย่างไรก็ตาม ยังมีการแทรกแซงที่ซับซ้อนซึ่งเริ่มมีการนำมาใช้โดยการเน้นเรื่องบุคคลโดยรวม นอกจากนี้ยังมีความสนใจเพิ่มขึ้นในการใช้การเต้นรำและศิลปะรูปแบบอื่นๆ สำหรับผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการประเมินผลกระทบของการเต้นรำบำบัดในด้านต่างๆ ของชีวิตบุคคล โดยเปรียบเทียบกับการไม่รักษา การดูแลมาตรฐาน หรือการรักษาอื่น ผลลัพธ์หลักที่เราสนใจคือปัญหาโดยรวมเกี่ยวกับพฤติกรรมและความเป็นอยู่ที่ดีทางจิตใจ ความรู้ความเข้าใจ (การคิดและการจดจำ) ความซึมเศร้า และคุณภาพชีวิต เรายังต้องการเปรียบเทียบรูปแบบต่างๆ ของการเต้นรำบำบัดด้วย

เราทำอะไร

เราค้นหาวรรณกรรมอย่างละเอียดเพื่อหาการศึกษาที่เปรียบเทียบกลุ่มคนที่มีภาวะสมองเสื่อมที่ได้รับการเต้นรำบำบัดกับกลุ่มคนที่มีภาวะสมองเสื่อมอีกกลุ่มหนึ่ง (กลุ่มควบคุม) เพื่อให้การเปรียบเทียบมีความเป็นธรรม การกำหนดบุคคลให้อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจะต้องได้รับการสุ่มเลือก เราพบเพียงการศึกษาเดียวที่จะรวมในการทบทวนของเรา การศึกษานี้เกิดขึ้นในฮ่องกงและมีผู้เข้าร่วม 204 คน บางคนมีภาวะสมองเสื่อมเล็กน้อย และบางคนมีปัญหาน้อยกว่าโดยเป็นเรื่องการคิดและความจำ ในการศึกษานี้ นักวิจัยได้เปรียบเทียบการเต้นรำบำบัด เทียบกับการออกกำลังกายและการอยู่ในกลุ่มรอคอย พวกเขาเปรียบเทียบกลุ่มต่างๆ เมื่อสิ้นสุดการบำบัด และเปรียบเทียบอีกครั้งใน 3 และ 9 เดือนต่อมา

ผู้วิจัยค้นพบอะไรบ้าง

เราไม่พบความแตกต่างระหว่างการเต้นรำบำบัดกับการออกกำลังกายหรือรายการรอสำหรับพฤติกรรมโดยรวมและความเป็นอยู่ที่ดีของจิตใจหรือการรับรู้ สำหรับภาวะซึมเศร้า เราพบว่าอาจมีผลประโยชน์เล็กน้อยของการเต้นรำบำบัดเมื่อเปรียบเทียบกับการออกกำลังกายหรือรายการรอ และผลกระทบนี้ยังคงอยู่ 3 และ 9 เดือนหลังจากสิ้นสุดการบำบัด อย่างไรก็ตาม เราไม่แน่ใจว่าผลกระทบนั้นมากพอที่จะทำให้ผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมรับรู้ได้ชัดเจนหรือไม่ การศึกษานี้ไม่ได้วัดคุณภาพชีวิตของผู้เข้าร่วม

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

มีการศึกษาเพียงฉบับเดียว ดังนั้นหลักฐานจึงมีน้อย การศึกษานี้ดำเนินการอย่างดี แต่ไม่ใช่ผู้เข้าร่วมทุกคนที่เป็นโรคสมองเสื่อม (บางคนมีปัญหาน้อยกว่า) และเราไม่ทราบว่าผลลัพธ์จะใช้ได้กับผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมเท่านั้นหรือไม่ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ เราไม่แน่ใจว่าการเต้นรำบำบัดมีประสิทธิผลในการช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมระดับเล็กน้อยหรือไม่ และเราไม่สามารถบอกอะไรเกี่ยวกับผลกระทบของการบำบัดในภาวะสมองเสื่อมระดับปานกลางหรือรุนแรงได้ จำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อให้สามารถสรุปได้อย่างแน่ชัดว่าการเต้นรำบำบัดมีประโยชน์ต่อผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมทุกระดับหรือไม่

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

การค้นหาครั้งล่าสุดคือวันที่ 8 ธันวาคม 2022

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การทบทวนนี้รวม RCT 1 ฉบับที่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ เนื่องจากหลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ ผลที่แท้จริงของ DMT ในการรักษาภาวะสมองเสื่อมอาจแตกต่างอย่างมากจากที่พบนี้ จำเป็นต้องมี RCT เพิ่มเติมเพื่อตรวจสอบด้วยความมั่นใจว่า DMT มีผลดีต่อภาวะสมองเสื่อมหรือไม่

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ภาวะสมองเสื่อมเป็นกลุ่มอาการของความบกพร่องทางสติปัญญาที่เกิดขึ้นซึ่งรุนแรงพอที่จะรบกวนการใช้ชีวิตอย่างอิสระ ตลอดระยะเวลาของการเจ็บป่วย ผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมจะมีการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ พฤติกรรม และความสัมพันธ์ทางสังคมด้วย ตามรายงานของ Alzheimer's Disease International ภาวะสมองเสื่อมส่งผลกระทบต่อผู้คนประมาณ 55 ล้านคนทั่วโลก แนวทางล่าสุดของ NICE สำหรับภาวะสมองเสื่อมเน้นย้ำถึงคุณค่าของตัวเลือกการรักษาที่หลากหลายสำหรับระยะต่างๆและอาการของโรคสมองเสื่อม รวมถึงการรักษาที่ไม่ใช้ยา วรรณกรรมที่เกี่ยวข้องยังให้เหตุผลถึงคุณค่าของวิธีการที่ใช้ ที่รับรู้ถึงความซับซ้อนของสภาวะนี้และกล่าวถึงบุคคลโดยรวม รวมถึงกระบวนการทางร่างกาย อารมณ์ สังคม และการรับรู้ วรรณกรรมที่เพิ่มมากขึ้นเน้นย้ำถึงขีดความสามารถของศิลปะและได้รวบรวมแนวปฏิบัติเพื่อจัดการกับความซับซ้อนนี้ การบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวโดยการเต้น (DMT) เป็นวิธีการทางจิตวิทยาที่รวบรวมไว้ซึ่งสามารถจัดการกับความซับซ้อนและอาจเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม แต่ประสิทธิผลของการบำบัดยังคงไม่ชัดเจน

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลของการเต้นรำบำบัดต่ออาการทางพฤติกรรม สังคม การรับรู้ และอารมณ์ของผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อม โดยเปรียบเทียบกับการไม่รักษา การดูแลมาตรฐาน หรือการรักษาอื่นใด นอกจากนี้ เพื่อเปรียบเทียบรูปแบบต่างๆ ของการเต้นรำบำบัด (เช่น การบำบัดด้วยท่าเต้นแบบ Laban การบำบัดด้วยท่าเต้นแบบ Chacian หรือการเคลื่อนไหวแบบ Authentic)

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาทะเบียนของ Cochrane Dementia และ Cognitive Improvement Group, MEDLINE (Ovid SP), Embase (Ovid SP), PsycINFO (Ovid SP), CINAHL (EBSCOhost), Web of Science Core Collection (Clarivate), LILACS (BIREME), ClinicalTrials gov และ the World Health Organization's meta-register of the International Clinical Trials Registry Portal จนถึงวันที่ 8 ธันวาคม 2022

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ที่รวมผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ทุกช่วงอายุและในทุกสภาพแวดล้อม การบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวโดยการเต้น (DMT) ต้องดำเนินการโดยผู้ประกอบวิชาชีพบำบัดด้วยการเคลื่อนไหวเต้นรำซึ่ง (i) ได้รับการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ (ii) เป็นนักบำบัดด้านการเคลื่อนไหวเต้นรำซึ่งกำลังรับการฝึกอบรม หรือ (iii) ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักบำบัดด้านการเคลื่อนไหวเต้นรำในประเทศที่การศึกษานี้ดำเนินการ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนประเมินการทดลองเพื่อรวมนำเข้า ดึงข้อมูล และประเมินคุณภาพของระเบียบวิธีการทดลองอย่างเป็นอิสระต่อกัน เราแสดงการประมาณผลกระทบโดยใช้ค่าความแตกต่างเฉลี่ย (MD) ระหว่างกลุ่มทดลองและนำเสนอช่วงความเชื่อมั่นที่เกี่ยวข้อง (CIs) เราใช้วิธี GRADE เพื่อประเมินความมั่นใจในผลลัพธ์

ผลการวิจัย: 

เราพบว่ามีเพียงการศึกษาเดียวเท่านั้นที่เข้าเกณฑ์ในการทบทวนนี้ นี่เป็น RCT กลุ่มคู่ขนาน 3 กลุ่มที่ดำเนินการในฮ่องกง โดยมีผู้ใหญ่ 204 คนที่เป็นโรคสมองเสื่อมเล็กน้อย การศึกษาตรวจสอบผลกระทบของกลุ่ม DMT ในระยะสั้น (12 สัปดาห์) เมื่อเปรียบเทียบกับการออกกำลังกายและกลุ่มควบคุมที่รอรับการแทรกแซงทันทีหลังการแทรกแซง (post-intervention) และที่ 3 และที่ 9 เดือนต่อมา

เราพบว่า ในตอนท้ายของการแทรกแซงด้วย DMT อาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในอาการทางประสาทจิตเวชที่ประเมินด้วยรายการ Neuropsychiatric Inventory 12 รายการ เมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มที่รอ (MD 0.3, 95% CI -0.96 ถึง 1.56; ความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำ) หรือการออกกำลังกาย (MD -0.30, 95% CI -1.83 ถึง 1.23; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และไม่มีหลักฐานของผลกระทบใด ๆ ในเวลาต่อมา

การทำงานของการรับรู้ได้รับการประเมินด้วยเครื่องมือที่หลากหลาย และไม่มีความแตกต่างที่มีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่ม (หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) เมื่อเปรียบเทียบกับการออกกำลังกายหรือการรอ DMT อาจส่งผลให้เกิดความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในการทำงานของการรับรู้ทันทีหลังการแทรกแซงหรือที่การติดตามผล

เมื่อเปรียบเทียบกับการรอ DMT อาจส่งผลให้ภาวะซึมเศร้าลดลงเล็กน้อยที่ประเมินด้วยแบบวัดภาวะซึมเศร้าในผู้สูงอายุ 4 รายการเมื่อสิ้นสุดการรักษา (MD -0.60, 95% CI -0.96 ถึง -0.24; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ผลเชิงบวกเล็กน้อยของ DMT ต่อคะแนนภาวะซึมเศร้ายังคงอยู่ที่สามและเก้าเดือนหลังจากเสร็จสิ้นการแทรกแซง DMT ยังอาจลดภาวะซึมเศร้าเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการออกกำลังกายเมื่อสิ้นสุดการรักษา (MD -0.40, 95% CI -0.76 ถึง -0.04 หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) ซึ่งผลกระทบยังคงอยู่ที่ 3 และ 9 เดือน

ผลลัพธ์หลักที่ 4 ของเรา ไม่ได้ประเมินคุณภาพชีวิตในการศึกษาที่นำเข้า

มีข้อมูลสำหรับผลลัพธ์รอง 2 รายการของเรา การทำงานทางสังคมและอาชีพ และการออกจากการศึกษากลางคัน (ซึ่งเราใช้เป็นตัวแทนสำหรับการยอมรับ) แต่ในทั้ง 2 กรณี หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมากและด้วยเหตุนี้ความเชื่อมั่นของเราในผลลัพธ์จึงต่ำมาก

สำหรับผลลัพธ์ทั้งหมด เราพิจารณาความแน่นอนของหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับวัตถุประสงค์การทบทวนของเราว่าต่ำหรือต่ำมากในแง่ของ GRADE เนื่องจากความไม่ตรงไปตรงมา (เพราะผู้เข้าร่วมในการศึกษาที่นำเข้ามาบางรายไม่ได้รับการวินิจฉัยภาวะสมองเสื่อม) และความไม่แม่นยำ

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย ศ. พญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 28 มีนาคม 2024

Tools
Information