การใช้ยาปฏิชีวนะรักษาโรค COVID-19 เป็นสาเหตุให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่

ใจความสำคัญ

• ยาปฏิชีวนะอะไซโทมันซินไม่ใช่การรักษาที่ได้ผลสำหรับ COVID-19

• เราไม่ทราบว่ายาปฏิชีวนะชนิดอื่นนอกจากยาอะไซโทมัยซินเป็นยารักษาโรค COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพหรือไม่ เนื่องจากมีการวิจัยไม่เพียงพอ

• เราพบ 19 การศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่เป็นการศึกษายาปฏิชีวนะสำหรับ COVID-19 เราจะปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมนี้หากผลลัพธ์ผลสรุปของเรามีการเปลี่ยนแปลง

ยาปฏิชีวนะคืออะไร

ยาปฏิชีวนะเป็นยาราคาถูกและเป็นยาสามัญที่ใช้รักษาการติดเชื้อแบคทีเรีย อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาในห้องปฏิบัติการที่ผ่านมานี้พบว่ายาปฏิชีวนะบางชนิดชะลอการแพร่พันธุ์ของไวรัสบางชนิดได้ รวมถึง SARS-CoV-2 ไวรัสที่ทำให้เกิด COVID-19 ในการทดสอบในห้องปฏิบัติการ ยาปฏิชีวนะหนึ่งชนิด อะไซโทมัยซิน ลดฤทธิ์ของไวรัสและการอักเสบ ดังนั้นมีความเป็นไปได้ในการศึกษาการรักษา COVID-19 เราต้องการหลักฐานที่ดีก่อนที่จะให้ยาปฏิชีวนะสำหรับ COVID-19 เนื่องจากการใช้ยาปฏิชีวนะมากเกินไปหรือในทางที่ผิดอาจนำไปสู่ 'การดื้อยาต้านจุลชีพ' ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงลักษณะการติดเชื้อ ดังนั้นยาปฏิชีวนะจึงไม่ทำงาน 

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่ายาปฏิชีวนะช่วยลดการเสียชีวิต ความรุนแรงของโรค และระยะเวลาในการติดเชื้อของผู้ป่วย COVID-19 ได้หรือไม่ มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตหรือก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่ เรารวบรวมการศึกษาที่เปรียบเทียบยาปฏิชีวนะกับยาหลอก (การรักษาเทียม) การไม่ได้รับการรักษา การดูแลตามปกติ ยาปฏิชีวนะอื่นๆ หรือการรักษา COVID-19 ที่ทราบว่าใช้ได้ผลดีในระดับหนึ่ง เช่น Remdesivir หรือ Dexamethasone เราไม่รวมการรักษาที่เรารู้ว่าใช้ไม่ได้ผลกับการรักษา COVID-19 เช่น hydroxychloroquine หรือไม่ทราบผลที่จะเกิดต่อโรค

เราประเมินผลของยาปฏิชีวนะที่จะเกิดต่อผู้ที่ติดเชื้อ COVID-19 ต่อ:
• การเสียชีวิต
• อาการของคนที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่ดีขึ้นหรือแย่ลง
• ผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์;
• ปัญหาจังหวะการเต้นของหัวใจ;
• คุณภาพชีวิต; 

เราทำอะไรไปแล้วบ้าง

เราค้นหาการศึกษาที่ศึกษาการใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาผู้ป่วย COVID-19 ในโรงพยาบาลหรือผู้ป่วยนอก

เราเปรียบเทียบและสรุปผลของการศึกษาและให้คะแนนความน่าเชื่อถือของเราในหลักฐาน โดยอิงตามเกณฑ์ทั่วไป เช่น วิธีและขนาดของการศึกษา

ผู้วิจัยค้นพบอะไรบ้าง

เราพบ 11 การศึกษา ที่มี 11,281 คน ที่ประเมินยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรค COVID-19 ทั้ง 11 การศึกษาประเมินการใช้ยาอะไซโทมัยซิน 9 การศึกษา (10,807 คน) เปรียบเทียบการใช้ยาอะไซโทมัยซิน กับการไม่ได้รับการรักษา ยาหลอก หรือการดูแลตามปกติเพียงอย่างเดียว 2 การศึกษาเปรียบเทียบการใช้ยาอะไซโทมัยซิน กับยาปฏิชีวนะอื่น: lincomycin (1 การศึกษา, 24 คน) และ clarithromycin (1 การศึกษา, 450 คน) อย่างไรก็ตาม ไม่ได้รายงานข้อมูลที่เราควรใช้ในการทบทวนวรรณกรรมนี้ ดังนั้นผลลัพธ์ของเราจึงนำไปใช้กับยาอะไซโทมัยซินเท่านั้น

7 การศึกษา ที่รวมผู้ป่วยโรค COVID-19 ในระดับปานกลางถึงรุนแรงในโรงพยาบาล และ 4 การศึกษา ที่รวมถึงผู้ป่วยนอกที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่ไม่รุนแรง การศึกษาใช้ยาอะไซโทมัยซินในปริมาณที่ต่างกันและระยะเวลาในการรักษาต่างกัน

เราพบ 19 การศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ เราไม่ได้จัดกลุ่มให้ 15 การศึกษาที่เสร็จสิ้นแล้ว เนื่องจากเรากำลังรอข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้เขียน หรือยังไม่มีการเผยแพร่บทความ 

ผลการศึกษาหลัก

ผู้ป่วยในที่ติดเชื้อ COVID-19 ระดับปานกลางถึงรุนแรง

ยาอะไซโทมัยซิน เทียบกับการดูแลตามปกติเพียงอย่างเดียว ไม่ได้นำไปสู่การเสียชีวิตมากขึ้นหรือน้อยลงภายใน 28 วัน หลังการรักษา (4 การศึกษา ผู้เข้าร่วม 8600 คน)

เมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติเพียงอย่างเดียวหรือยาหลอก การให้ยาอะไซโทมัยซิน อาจจะไม่:
• อาการแย่ลง (1 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 7311 คน) หรือ 
• อาการของผู้ป่วยดีขึ้น (3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 8172 คน);
• เพิ่มหรือลดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง (4 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 794 คน) และปัญหาจังหวะการเต้นของหัวใจ (4 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 7865 คน)

ยาอะไซโทมัยซนิ อาจเพิ่มผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์แบบไม่ร้ายแรงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติเพียงอย่างเดียว (3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 355 คน)

ไม่มีการศึกษาใดที่พิจารณาคุณภาพชีวิต

ผู้ป่วยนอกที่ติดเชื้อ COVID-19 ที่ไม่รุนแรง

เมื่อเทียบกับการดูแลตามปกติเพียงอย่างเดียวหรือยาหลอก การให้ยาอะไซโทมัยซิน อาจทำให้มีความแตกต่างเล็กน้อยหรือไม่แตกต่างเลยใน: 
• การเสียชีวิตภายใน 28 วัน หลังการรักษา (3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 876 คน);

• อาการของโรคจะแย่ลงภายใน 28 วัน หลังการรักษา (3 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 876 คน) หรือ
• อาการของโรค COVID-19 จะดีขึ้นภายใน 14 วัน หลังการรักษา (1 การศึกษา ผู้เข้าร่วม 138 คน)

เราไม่ทราบว่า ยาอะไซโทมัยซิน เทียบกับการดูแลตามปกติเพียงอย่างเดียวหรือยาหลอกนั้น เพิ่มหรือลดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง (2 การศึกษา, ผู้เข้าร่วม 454 คน) 

ไม่มีการศึกษารายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์แบบที่ไม่ร้ายแรง ปัญหาจังหวะการเต้นของหัวใจ หรือคุณภาพชีวิต

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

เรามีความเชื่อมั่นเป็นอย่างมากในหลักฐานของ ยาอะไซโทมัยซิน สำหรับผู้ป่วยที่รักษาในโรงพยาบาลของ COVID-19 อย่างไรก็ตาม เราไม่ค่อยเชื่อมั่นในหลักฐานของ การใช้ยาอะไซโทมัยซิน ในผู้ป่วยนอก สาเหตุหลักมาจากการศึกษาที่น้อยแล้วยังมีข้อบกพร่องบางประการ ดังนั้นเราจึงไม่สามารถสรุปผลลัพธ์ที่น่าเชื่อถือได้ เราพบหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับยาปฏิชีวนะเพียงชนิดเดียวคือ ยาอะไซโทมันซิน ดังนั้นเราจึงไม่ทราบผลของยาปฏิชีวนะชนิดอื่นในการรักษา COVID-19 เราจะค้นหาการศึกษาใหม่ต่อไปเพื่อเติมเต็มช่องว่างของหลักฐานนี้ หลักฐานของเราไม่ได้บ่งชี้ว่า การใช้ยาอะไซโทมัยซิน เป็นวิธีการรักษา COVID-19 ที่มีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงอันตรายจากการดื้อยาต้านจุลชีพ ไม่ควรใช้ ยาอะไซโทมัยซิน หรือยาปฏิชีวนะอื่นๆ เพื่อรักษา COVID-19 นอกการศึกษาที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

หลักฐานเป็นข้อมูลล่าสุดถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2021 

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เรามีความมั่นใจว่าความเสี่ยงของการเสียชีวิตในผู้ป่วย COVID-19 ที่รักษาในโรงพยาบาลจะไม่ลดลงด้วยการรักษาด้วย ยาอะไซโทมัยซินหลังจาก 28 วัน นอกจากนี้ จากหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือระดับปานกลาง ผู้ป่วยในสถานพยาบาลที่มีอาการเจ็บป่วยระดับปานกลางและรุนแรงอาจไม่ได้รับประโยชน์จากการให้ยาอะไซโทมัยซิน ที่ใช้เป็นยาต้านไวรัสและยาแก้อักเสบสำหรับ COVID-19 เกี่ยวกับอาการที่แย่ลงหรืออาการที่ดีขึ้นทางคลินิก สำหรับผู้ป่วยนอก ปัจจุบันมีหลักฐานที่มีความน่าเชื่อถือต่ำว่ายาอะไซโทมัยซินอาจไม่มีประโยชน์ต่อผู้ป่วย COVID-19 ไม่มีหลักฐานจากการศึกษาแบบ RCTs สำหรับยาปฏิชีวนะชนิดอื่นโดยเป็นยาต้านไวรัสและยาแก้การอักเสบในการรักษาโรค COVID-19

ตามแนวทางของการทบทวนวรรณกรรมนี้เป็นแบบอัพเดตผลอยู่เสมอ เราจึงปรับปรุงการค้นหาของเราอย่างต่อเนื่องและรวมการทดลองที่เหมาะสมเพื่อเติมเต็มช่องว่างของหลักฐานนี้ อย่างไรก็ตาม ในเรื่องของหลักฐานของยาอะไซโทมัยซิน และในด้านของการดื้อยา ไม่ควรใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา COVID-19 ภายนอกการออกแบบการทดลองแบบ RCT ที่ออกแบบมาเป็นอย่างดี

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

คุณสมบัติของยาปฏิชีวนะกับความเป็นไปได้ในการต้านไวรัสและต้านการอักเสบกำลังถูกตรวจสอบในการทดลองทางคลินิกเพื่อใช้รักษาโรค COVID-19 การใช้ยาปฏิชีวนะเป็นไปตามแผนในการรักษาโรคไวรัส และไม่ได้มีวัตถุประสงค์หลักในการรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรียร่วมของคนที่เป็นโรค COVID-19 ความจำเป็นที่จะต้องมีความเข้าใจอย่างละเอียดเกี่ยวกับหลักฐานปัจจุบันเกี่ยวกับประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาปฏิชีวนะในการรักษาเป็นยาต้านไวรัสสำหรับ COVID-19 จากการศึกษาแบบการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs)

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยของยาปฏิชีวนะโดยเปรียบเทียบกันระหว่าง ไม่มีการรักษา การดูแลแบบมาตรฐานเพียงอย่างเดียว การให้ยาหลอก หรือวิธีการรักษาเชิงรุกอื่นๆ ที่พิสูจน์ประสิทธิภาพในการรักษาทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในจากโรค COVID-19 

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาจากฐานข้อมูล Cochrane COVID-19 Study Register (รวมถึง MEDLINE, Embase, ClinicalTrials.gov, WHO ICTRP, medRxiv, CENTRAL), Web of Science และ WHO COVID-19 Global literature on coronavirus disease เพื่อค้นหาการศึกษาที่เสร็จสิ้นแล้วและกำลังดำเนินการอยู่จนถึง 14 มิถุนายน 2021

เกณฑ์การคัดเลือก: 

RCTs ถูกรวมเข้ามาด้วยซึ่งถ้าเปรียบเทียบระหว่างยาปฏิชีวนะด้วยกัน ไม่มีการรักษา การดูแลแบบมาตรฐานเพียงอย่างเดียว การใช้ยาหลอก หรือวิธีการรักษาอื่น ๆ สำหรับการรักษาผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ COVID-19 โดยไม่คำนึงถึงระดับความรุนแรงของโรค รักษาผู้ป่วยในหรือผู้ป่วยนอก

วิธีการรักษาร่วม (Co-interventions) จะต้องเหมือนกันทั้ง 2 กลุ่มของการศึกษา เราคัดการศึกษาที่เปรียบเทียบยาปฏิชีวนะกับการวิธีการทางเภสัชวิทยาอื่นๆ ที่ประสิทธิผลยังไม่ได้รับการพิสูจน์

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราประเมินความเสี่ยงของการเกิดอคติของผลลัพธ์หลักโดยใช้เครื่องมือประเมินความเสี่ยงอคติของ Cochrane (ROB 2) สำหรับ RCT เราใช้ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์หลักดังต่อไปนี้: 1. การรักษาผู้ป่วยในที่ติดเชื้อ COVID-19 ในระดับปานกลางถึงรุนแรง: การตาย อาการทางคลินิกที่แย่ลง กำหนดว่า ความจำเป็นในการใส่ท่อช่วยหายใจหรือการเสียชีวิต อาการทางคลินิกที่ดีขึ้น กำหนดว่า การออกจากโรงพยาบาลโดยยังมีชีวิต คุณภาพชีวิต เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ 2. การรักษา COVID-19 ในผู้ป่วยนอกที่ไม่แสดงอาการหรือมีอาการเล็กน้อย: การตาย อาการทางคลินิกที่แย่ลง กำหนดว่า การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือการเสียชีวิต อาการทางคลินิกที่ดีขึ้น หมายถึง การลดลงของอาการ คุณภาพชีวิต เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวม 11 การศึกษา มีผู้เข้าร่วม 11,281 คน ซึ่งมีอายุเฉลี่ย 54 ปีในการศึกษาเรื่องยาปฏิชีวนะ เปรียบเทียบกับยาหลอก การดูแลแบบมาตรฐานเพียงอย่างเดียว หรือยาปฏิชีวนะชนิดอื่นๆ ไม่พบการศึกษาใด ที่เปรียบเทียบยาปฏิชีวนะกับวิธีการรักษาที่พิสูจน์ประสิทธิภาพแล้ว การศึกษาทั้งหมดตรวจสอบยาอะไซโทมัยซิน มี 2 การศึกษาตรวจสอบยาปฏิชีวนะอื่น ๆ เทียบกับยาอะไซโทมัยซิน 7 การศึกษาตรวจสอบผู้ป่วยในที่เป็น COVID-19 ในระดับปานกลางถึงรุนแรง และ 4 การศึกษาตรวจสอบผู้ป่วยนอกที่เป็น COVID-19 ที่ไม่รุนแรง 8 การศึกษาที่เป็นการวิจัยแบบเปิดเผยข้อมูล 2 การศึกษาที่เป็นแบบปกปิดกลุ่มศึกษาว่าได้รับยาจริงหรือยาหลอก และ 1 การศึกษาไม่ได้รายงานเกี่ยวกับการปกปิดการรักษาจากกลุ่มทดลองหรือไม่ เราพบ 19 การศึกษาที่กำลังดำเนินการอยู่ และ 15 การศึกษา ที่รอผลลัพธ์การอนุมัติเผยแพร่หรือการชี้แจงความไม่สอดคล้อง

จากผลการศึกษาทั้งหมด 30 การศึกษาที่มีผลลัพธ์หลักรวมอยู่ มี 17 การศึกษาที่ได้รับการประเมินว่ามีความเสี่ยงโดยรวมต่ำ และมี 13 การศึกษาที่มีข้อกังวลบางประการเกี่ยวกับการเกิดอคติ มีเพียงการศึกษาที่ศึกษาเกี่ยวกับยาอะไซโทมัยซินเท่านั้นที่รายงานข้อมูลที่เหมาะสมสำหรับผลลัพธ์หลักที่มีความสำคัญสูง ปริมาณยาอะไซโทมัยซิน และระยะเวลาในการรักษาแตกต่างกันไปตามการศึกษาที่รวบรวมไว้ 

ยาอะไซโทมัยซิน สำหรับการรักษา COVID-19 เทียบกับยาหลอกหรือการดูแลแบบมาตรฐานเพียงอย่างเดียวในผู้ป่วยใน

เรามีความมั่นใจมากว่า ยาอะไซโทมันยซิน มีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุภายใน 28 วัน เมื่อเทียบกับการดูแลแบบมาตรฐานเพียงอย่างเดียว (risk Ratio (RR) 0.98; ช่วงความเชื่อมั่น 95%(CI) 0.90 ถึง 1.06; ผู้เข้าร่วม 8600 คน; 4 การศึกษา; หลักฐานความเชื่อมั่นสูง) ยาอะไซโทมัยซิน อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่ออาการทางคลินิกที่แย่ลงหรือเสียชีวิตภายใน 28 วัน (RR 0.95; 95% CI 0.87 ถึง 1.03; ผู้เข้าร่วม 7311 คน; 1 การศึกษา; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) อาการทางคลินิกที่ดีขึ้นภายใน 28 วัน (RR 0.96; 95% CI 0.84 ถึง 1.11; ผู้เข้าร่วม 8172 คน; 3 การศึกษา; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) เกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ร้ายแรงในระหว่างระยะเวลาที่ทำการศึกษา (RR 1.11; 95% CI 0.89 ถึง 1.40; ผู้เข้าร่วม 794 คน; 4 การศึกษา; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในระหว่างระยะเวลาการศึกษา (RR 0.92; 95% CI 0.73 ถึง 1.15; ผู้เข้าร่วม 7865 คน; 4 การศึกษา; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) เปรียบเทียบกับยาหลอกหรือการดูแลแบบมาตรฐานเพียงอย่างเดียว ยาอะไซโทมัยซิน อาจเพิ่มเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใดๆ ขึ้นเล็กน้อยในระหว่างการศึกษา (RR 1.20; 95% CI 0.92 ถึง 1.57; ผู้เข้าร่วม 355 คน; 3 การศึกษา; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) เมื่อเทียบกับการดูแลแบบมาตรฐานเพียงอย่างเดียว ไม่มีการศึกษาใดรายงานคุณภาพชีวิตใน 28 วัน

ยาอะไซโทมัยซิน สำหรับการรักษา COVID-19 เทียบกับยาหลอกหรือการดูแลแบบมาตรฐานเพียงอย่างเดียวในผู้ป่วยนอก

ยาอะไซโทมัยซิน อาจมีผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยเมื่อเปรียบเทียบกับยาหลอกหรือการดูแลแบบมาตรฐานเพียงอย่างเดียวในการตายจากทุกสาเหตุภายใน 28 วัน (RR 1.00; 95% CI 0.06 ถึง 15.69; ผู้เข้าร่วม 876 คน; 3 การศึกษา; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตภายใน 28 วัน (RR 0.94; 95% CI 0.57 ถึง 1.56; ผู้เข้าร่วม 876 คน; 3 การศึกษา; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และการลดลงของอาการป่วยใน 14 วัน (RR 1.03; 95% CI 0.95 ถึง 1.12; ผู้เข้าร่วม 138 คน; 1 ศึกษา; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) เรายังไม่แน่ใจว่าการใช้ยาอะไซโทมัยซินเพิ่มหรือลดเหตุการณ์ที่ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงเมื่อเทียบกับยาหลอกหรือการดูแลแบบมาตรฐานเพียงอย่างเดียว (ไม่มีผู้เข้าร่วมคนใดที่แสดงอาการไม่พึงประสงค์ร้ายแรง ผู้เข้าร่วม 454 คน; 2 การศึกษา; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) ไม่มีการศึกษาใดเลย ที่รายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะในระหว่างระยะเวลาที่ทำการศึกษา หรือคุณภาพชีวิตภายใน 28 วัน

ยาอะไซโทมัยซิน สำหรับการรักษา COVID-19 เมื่อเทียบกับยาปฏิชีวนะอื่น ๆ ทั้งในผู้ป่วยในและผู้ป่วยนอก

มี 1 การศึกษาที่เปรียบเทียบ ยาอะไซโทมัยซินกับยาลินโคมัยซินในผู้ป่วยใน แต่ไม่ได้รายงานผลลัพธ์หลักใดๆ

อีก 1 การศึกษาที่เปรียบเทียบยาอะไซโทมัยซินกับยาคลาริโทรมัยซินในผู้ป่วยนอก แต่ไม่ได้รายงานผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับการทบทวนวรรณกรรมนี้

บันทึกการแปล: 

แปลโดย ฎลกร จำปาหวาย

Tools
Information