การผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกในสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากอย่างอ่อนที่พยายามตั้งครรภ์เองและก่อนการทำเด็กหลอดแก้ว

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เพื่อประเมินความปลอดภัยและประโยชน์ของการทำการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกเกี่ยวกับผลลัพธ์ทางการเจริญพันธ์ในสตรีที่พยายามตั้งครรภ์เองและสตรีที่ทำเด็กหลอดแก้ว

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

ในสตรีที่มีปัญหาที่ยังไม่มีคำอธิบายในการตั้งครรภ์หรือที่มารับการรักษาการเจริญพันธ์ขั้นสูง เช่น การฉีดน้ำเชื้อหรือการทำเด็กหลอดแก้ว นั้นมีคำแนะนำว่าการทำการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูก (การส่องดูภายในโพรงมดลูกโดยใช้กล้องโทรทรรศน์) นั้นอาจช่วยให้ความสำเร็จดีขึ้น การตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงเป็นประจำที่ทำระหว่างการตรวจประเมินอาจพลาดความผิดปกติเล็กๆภายในโพรงมดลูก ซึ่งอาจตรวจพบและได้รับการรักษาไปพร้อมกันโดยการส่องกล้องในโพรงมดลูก การทำเช่นนี้อาจเพิ่มความสำเร็จโดยอำนวยความสะดวกในการฉีดน้ำหรือการย้ายตัวอ่อนหลังจากนั้น โดยช่วยขยายช่องทางของโพรงมดลูก (ขยายปากมดลูก) หรือ เพราะผลจากการขูดเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งอาจช่วยให้ตัวอ่อนฝังตัวได้ดีขึ้น (ยึดเกาะกับเยื่อบุโพรงมดลูก)

ลักษณะของการศึกษา

สำหรับสตรีที่ต้องการตั้งครรภ์เอง เราพบหนึ่งการทดลอง (สตรี 200 คน) สำหรับสตรีทีทำเด็กหลอดแก้ว เรารวบรวมสิบการทดลอง (สตรี 3750 คน) ทุกการทดลองประเมินผลของการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกเปรียบเทียบกับการไม่ได้ส่องกล้องในโพรงมดลูก หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงกันยายน 2018

ผลการศึกษาที่สำคัญ

ในสตรีที่ต้องการจะตั้งครรภ์เอง การส่องกล้องในโพรงมดลูกนั้นสัมพันธ์กับการเพิ่มโอกาสในการตั้งครรภ์ต่อเนื่องและตั้งครรภ์ทางคลินิกในหนึ่งการศึกษาที่มีความเสี่ยงของการมีอคติสูง การทดลองรายงานว่าไม่มีเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ภายหลังการส่องกล้องในโพรงมดลูก อัตราการแท้งนั้นสูงกว่าภายหลังการส่องกล้องในโพรงมดลูก

ในสตรีที่ทำเด็กหลอดแก้ว การศึกษารวบรวมบ่งบอกว่าการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกก่อนช่วยเพิ่มโอกาสการได้ลูกมีชีพหรือการตั้งครรภ์ทางคลินิก อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ภายหลังการส่องกล้องในโพรงมดลูกถูกรายงานอย่างไม่ถูกต้องนัก ดังนั้น เราไม่สามารถประเมินความปลอดภัยของวิธีการนี้ได้ สำหรับสตรีที่คลินิกทั่วไปที่มีอัตราการเกิดมีชีพที่ 22% นั้น การทำการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกจะคาดหวังอัตราการเกิดมีชีพที่ระหว่าง 25% และ 32% ไม่พบการเพิ่มของความเสี่ยงการแท้งภายหลังการส่องกล้องในโพรงมดลูก

เราไม่พบการทดลองในสตรีที่ทำการฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก

คุณภาพของหลักฐาน

หลักฐานคุณภาพต่ำมากจากหนึ่งการศึกษาในสตรีที่พยายามตั้งครรภ์เอง

หลักฐานคุณภาพต่ำที่การผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกก่อนหน้าการทำเด็กหลอดแก้วอาจช่วยเพิ่มโอกาสของการเกิดมีชีพหรือตั้งครรภ์ทางคลินิกและหลักฐานคุณภาพต่ำมากเกี่ยวกับเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์หลังการส่องกล้องในโพรงมดลูก คุณภาพของหลักฐานถูกลดเพราะความเสี่ยงของการมีอคติและความไม่เป็นเอกพันธ์เชิงสถิติ

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ในปัจจุบัน ยังไม่มีหลักฐานคุณภาพสูงที่สนับสนุนการส่องกล้องในโพรงมดลูกเป็นประจำในฐานะเครื่องมือคัดกรองในประชากรทั่วไปที่มีภาวะมีบุตรยากอย่างอ่อนที่ผลการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงปกติหรือการถ่ายภาพรังสีมดลูกและท่อนำไข่ในการตรวจประเมินพื้นฐานเพิ่มการปรับปรุงอัตราความสำเร็จทางการเจริญพันธ์

ในสตรีที่ทำเด็กหลอดแก้ว หลักฐานคุณภาพต่ำจากการศึกษาทั้งหมดที่รายงานผลลัพธ์เหล่านี้ บ่งบอกว่าการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกก่อนการทำเด็กหลอดแก้วอาจเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพและอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิก อย่างไรก็ตาม ผลรวมจากเพียงสองการทดลองที่มีความเสี่ยงของการเกิดอคติต่ำไม่แสดงประโยชน์ของการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกก่อนการทำเด็กหลอดแก้ว

เพราะการศึกษาที่แสดงผลมีการปกปิดการสุ่มที่ไม่ชัดเจน เราจึงไม่แน่ใจว่าการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกเป็นประจำจะช่วยเพิ่มการเกิดมีชีพและตั้งครรภ์ทางคลินิกในสตรีทุกรายหรือสตรีที่ทำเด็กหลอดแก้วล้มเหลวมาแล้วอย่างน้อยสองครั้ง ยังมีข้อมูลที่ไม่เพียงพอที่จะสรุปเกี่ยวกับความปลอดภัยของการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูก

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกในสตรีที่มีบุตรยากที่ไม่พบสาเหตุของการมีบุตรยาก หรือก่อนการฉีดน้ำเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูก (IUI) หรือการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) อาจทำให้พบพยาธิสภาพภายในโพรงมดลูกที่อาจตรวจไม่พบจากการตรวจคลื่นเสียงความถี่สูงตามปกติ การส่องกล้องในโพรงมดลูก ไม่ว่าจะเพียงเพื่อการวินิจฉัยหรือมีการผ่าตัดอาจช่วยผลลัพธ์ทางการเจริญพันธ์ดีขึ้น

วัตถุประสงค์: 

ในการประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยของการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกในสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากอย่างอ่อนที่ได้รับการประเมินสำหรับสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากและภาวะมีบุตรยากอย่างอ่อนที่รับการทำ IUI หรือ IVF

วิธีการสืบค้น: 

เราทำการสืบค้นใน Cochrane Gynaecology and Fertility Group Specialised Register, CENTRAL CRSO, MEDLINE, Embase, ClinicalTrials.gov และ the World Health Organization International Clinical Trials Registry Platform (กันยายน 2018) เราทำการสืบค้นรายชื่อเอกสารอ้างอิงของบทความที่เกี่ยวข้องและทำการสืบค้นด้วยมือในหนังสือที่รวบรวมบทความวิจัยที่เกี่ยวข้อง

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกกับการไม่ใช้วิธีการใดในสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากอย่างอ่อนที่ต้องการตั้งครรภ์เองหรือก่อนการทำ IUI หรือ IVF

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราคัดกรองการศึกษา คัดลอกข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของการเกิดอคติอย่างอิสระ ตัววัดปฐมภูมิคืออัตราการเกิดมีชีพและภาวะแทรกซ้อนภายหลังการส่องกล้องในโพรงมดลูก เราวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สัดส่วนความเสี่ยง (RR) และ fixed-effect model เราประเมินคุณภาพของหลักฐานโดยวิธี GRADE

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษา 11 ฉบับ เรารวบรวมหนึ่งการทดลองที่ประเมินการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกเทียบกับไม่ใช้การส่องกล้องในโพรงมดลูกในสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากอย่างอ่อนที่ไม่มีสาเหตุที่ต้องการตั้งครรภ์เอง เราไม่แน่ใจว่าอัตราการตั้งครรภ์ต่อเนื่องดีขึ้นภายหลังการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกในสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากอย่างอ่อนที่ไม่พบสาเหตุเพียงสองปี (RR 4.30, 95% CI 2.29 ถึง 8.07; RCT 1 ฉบับ; ผู้เข้าร่วมโครงการ = 200 คน; คุณภาพหลักฐานต่ำมาก) สำหรับคลินิกทั่วไปที่มี อัตราการตั้งครรภ์ต่อเนื่อง 10% โดยไม่มีการส่องกล้องในโพรงมดลูก การทำการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกอาจจะคาดหวังผลของอัตราการตั้งครรภ์ต่อเนื่องระหว่าง 23% และ 81% การศึกษาที่รวบรวมนำเข้ารายงานว่าไม่มีเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ในทุกกลุ่มการรักษา เราไม่แน่ใจเกี่ยวกับอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิกว่าดีขึ้นหรือไม่ (RR 3.80, 95% CI 2.31 ถึง 6.24; RCT 1 ฉบับ; ผู้เข้าร่วมโครงการ = 200 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) หรืออัตราการแท้งเพิ่มขึ้น (RR 2.80, 95% CI 1.05 ถึง 7.48; RCT 1 ฉบับ; ผู้เข้าร่วมโครงการ = 200 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ภายหลังการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกในสตรีที่มีภาวะมีบุตรยากอย่างอ่อนที่ไม่พบสาเหตุอย่างน้อยสองปี

เรารวบรวมสิบการทดลองที่รวบรวมสตรี 1836 คน ที่ทำการส่องกล้องในโพรงมดลูกและสตรี 1914 คนที่ไม่ได้ทำการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกก่อนการทำเด็กหลอดแก้ว ข้อจำกัดหลักในคุณภาพของหลักฐานคือการรายงานที่ไม่เพียงพอของวิธีการของการศึกษาและความแตกต่างเชิงสถิติที่สูง การทดลองแปดในสิบฉบับมีความเสี่ยงของการมีอคติที่ไม่ชัดเจนของการปกปิดการสุ่ม

การผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกก่อนการทำเด็กหลอดแก้วอาจเพิ่มอัตราการเกิดมีชีพ (RR 1.26, 95% CI 1.11 ถึง 1.43; RCT 6 ฉบับ; ผู้เข้าร่วมโครงการ = 2745 คน; I² = 69 %; หลักฐานคุณภาพต่ำ) สำหรับสตรีที่คลินิกทั่วไปที่มีอัตราการเกิดมีชีพที่ 22% นั้น การทำการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกจะคาดหวังอัตราการเกิดมีชีพที่ระหว่าง 25% และ 32% อย่างไรก็ตามการวิเคราะห์ความไวที่ทำโดยการรวมผลลัพธ์จากการทดลองที่มีความเสี่ยงของการเกิดอคติต่ำพบว่าไม่มีการเพิ่มขึ้นของอัตราการเกิดมีชีพภายหลังการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูก (RR 0.99, 95% CI 0.82 ถึง 1.18; RCT 2 ฉบับ; ผู้เข้าร่วมโครงการ = 1452 คน; I² = 0%)

เพียงสี่การทดลองที่รายงานภาวะแทรกซ้อนหลังการส่องกล้องในโพรงมดลูก ซึ่งสามจากสี่การทดลองดังกล่าวบันทึกว่าไม่มีเหตุการณ์เกิดขึ้นในทั้งสองกลุ่ม เราไม่แน่ใจว่าการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกมีความสัมพันธ์กับเหตุการณ์อันไม่พึงประสงค์ที่มากขึ้น (Peto odds ratio 7.47, 95% CI 0.15 ถึง 376.42; RCT 4 ฉบับ; ผู้เข้าร่วมโครงการ = 1872; I² = not applicable; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)

การผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกก่อนการทำเด็กหลอดแก้วอาจเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิก (RR 1.32, 95% CI 1.20 ถึง 1.45; RCT 10 ฉบับ; ผู้เข้าร่วมโครงการ = 3750 คน; I² = 49%; หลักฐานคุณภาพต่ำ) สำหรับคลินิกทั่วไปที่มี อัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิก 28% การผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกอาจคาดหวังผลของอัตราการตั้งครรภ์ทางคลินิกระหว่าง 33% ถึง 40%

อาจมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในอัตราการแท้งภายหลังการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูก (RR 1.01, 95% CI 0.67 ถึง 1.50; RCT 3 ฉบับ; ผู้เข้าร่วมโครงการ = 1669 คน; I² = 0%; หลักฐานคุณภาพต่ำ)

เราไม่พบการทดลองที่เปรียบเทียบการผ่าตัดส่องกล้องโพรงมดลูกกับไม่ส่องกล้องในโพรงมดลูกก่อนการทำ IUI

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล นพ.เจน โสธรวิทย์ ภาควิชาสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 19 พฤษภาคม 2562

Tools
Information