การฝังเข็มสำหรับความดันโลหิตสูงแบบปฐมภูมิในผู้ใหญ่ (Primary hypertension)

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

ความดันโลหิตสูงมีผลกระทบต่อประชากรประมาณหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก นอกจากนี้ความดันโลหิตสูงเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) และภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน หรือหัวใจวาย (Heart attack) การฝังเข็ม (Accupuncture) เป็นวิธีการหนึ่งที่สำคัญของการแพทย์แผนจีน โดยการนำเข็มที่มีขนาดบางฝังลงไปตามจุดที่กำหนดไว้ มีการใช้ฝังเข็มเพื่อลดความดันโลหิตและบรรเทาอาการความดันโลหิตสูง

ลักษณะของการศึกษา

เราได้ทำการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบ จากฐานข้อมูลทางการแพทย์เพื่อสืบค้นการทดลองทางคลินิกที่เปรียบเทียบผลของการฝังเข็มกับกลุ่มควบคุม (การฝังเข็มหลอก (Sham acupuncture)) จนถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ผลลัพธ์ที่สำคัญ และ คุณภาพของหลักฐาน

เราพบการศึกษา จำนวน 22 เรื่อง มีผู้เข้าร่วมการศึกษา จำนวน 1744 คน การศึกษาดังกล่าวไม่มีการวัดเรื่องการตายและสุขภาพโดยทั่วไป มี 4 การศึกษาที่เปรียบเทียบการฝังเข็มกับการฝังเข็มหลอก และพบว่าสามารถลดความดันโลหิตได้เล็กน้อย (หนึ่ง ถึง 24 ชั่วโมง) ส่วนการศึกษาอื่น ๆ ที่เหลือมีคุณภาพต่ำมาก ยังไม่มีหลักฐานสำหรับการฝังเข็มช่วยลดความดันโลหิตได้ในระยะยาว เราไม่สามารถประเมินความปลอดภัยของการฝังเข็มได้เนื่องจากมีการศึกษาจำนวนน้อยที่รายงาน ปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานว่า การฝังเข็มมีประโยชน์สำหรับแนวทางการรักษาความดันโลหิตสูงในระยะยาว การศึกษาในอนาคตควรวางแผนการวัดผลของการฝังเข็มต่อการลดความดันโลหิตในระยะยาว

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ปัจจุบันไม่มีหลักฐานว่า การฝังเข็มสามารถลดระดับความดันโลหิตแบบยั่งยืน ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการจัดการความดันโลหิตสูงเรื้อรัง ผลระยะสั้นของการฝังเข็มยังไม่แน่นอนเนื่องจากคุณภาพของหลักฐานต่ำมาก พบการเปลี่ยนแปลงที่ใหญ่ขึ้นของระดับความดันโลหิตในการศึกษาที่เปรียบเทียบการฝังเข็มกับการรักษาอื่น (ที่ไม่ใช่การฝังเข็มหลอก) ซึ่งอาจไม่ใช่ค่าที่แท้จริง (True effect) และเป็นผลจากอคติ (Bias) ในอนาคตควรทำการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) โดยมีการฝังเข็มหลอกเป็นกลุ่มควบคุม และประเมินผลการลดลงของระดับความดันโลหิตเปรียบเทียบกับการฝังเข็มเป็นเวลาอย่างน้อย 7 วัน

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ความดันโลหิตสูงมีผลกระทบต่อประชากรประมาณหนึ่งพันล้านคนทั่วโลก และมีความสำคัญเนื่องจากเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction) ความดันโลหิตสูงยังคงเป็นความท้าทายสำหรับบุคคลากรทางการแแพทย์ เนื่องจากมีคนจำนวนมากที่มีภาวะความดันโลหิตสูงและมีการควบคุมระดับความดันโลหิตไม่ได้ดีเท่าที่ควร ตามทฤษฎีการแพทย์แผนจีน การฝังเข็มมีศักยภาพในการลดความระดับความดันโลหิต

วัตถุประสงค์: 

เพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของการฝังเข็มสำหรับลดระดับความดันโลหิตในผู้ใหญ่ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงแบบปฐมภูมิ

วิธีการสืบค้น: 

เราทำการสืบค้นจากแหล่งต่อไปนี้จนถึงกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ได้แก่ the Hypertension Group Specialised Register, the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL) Issue 2, MEDLINE, EMBASE, the World Health Organisation Clinical Trials Registry Platform และสืบค้นจาก China National Knowledge Infrastructure (CNKI), VIP Database จนถึงมกราคม พ.ศ.2558
รวมถึงสืบค้นจาก ClinicalTrials.gov (กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560) โดยการสืบค้นดังกล่าวไม่จำกัดภาษา

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวบรวมการทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมโดยการสุ่ม (RCTs) ที่เปรียบเทียบผลทางคลินิกของการฝังเข็ม (การฝังเข็มอย่างเดียว หรือ การฝังเข็มร่วมกับการรักษาอื่น) กับไม่ได้รับการรักษา หรือการฝังเข็มหลอก (Sham acupuncture) หรือ ยาลดความดันโลหิตสูง ในผู้ใหญ่ที่มีภาวะความดันโลหิตสูงแบบปฐมภูมิ

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์การทบทวน 2 คนคัดเลือกการศึกษาตามเกณฑ์การคัดเลือกโดยอิสระต่อกัน ทำการดึงข้อมูลและประเมินอคติของแต่ละการศึกษา โดยมีการติดต่อกับผู้ประพันธ์การศึกษานั้น ๆ ผ่านทางการโทรศัพท์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับข้อมูลที่ขาดหาย ผู้ประพันธ์การทบทวนคนที่ 3 เป็นผู้แก้ไขข้อขัดแย้ง ผลลัพธ์ที่ศึกษาได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของระดับความดันโลหิตตัวบน (SBP) และตัวล่าง (DBP) การถอนตัวเนื่องจากอาการไม่พึงประสงค์ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ใด ๆ เราคำนวณค่าผลรวมเฉลี่ย (Mean difference (MD)) และ 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI.) สำหรับข้อมูลต่อเนื่อง โดยใชัตัวแบบแบบคงที่ (Fixed-effect model) หรือ ตัวแบบแบบสุ่ม (Random-effects model) ตามความเหมาะสม

ผลการวิจัย: 

มีการศึกษา (RCTs) จำนวน 22 การศึกษา (ผู้เข้าร่วมการศึกษาทั้งหมด 1744 คน) ที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก การศึกษาดังกล่าวมีคุณภาพของระเบียบวิธีวิจัยที่หลากหลาย (ส่วนใหญ่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอคติสูงในประเด็นการปกปิด (Blinding ) ไม่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าการฝังเข็มมีผลต่อการลดระดับความดันโลหิตแบบยั่งยืน โดยมีเพียง 1 การศึกษาที่พบว่า การฝังเข็มไม่มีผลต่อการลดระดับความันโลหิตที่ระยะเวลา 3 และ 6 เดือนหลังจากการฝังเข็ม มี 4 การศึกษาที่เปรียบเทียบการฝังเข็มกับการฝังเข็มหลอก โดยพบว่า การฝังเข็มในระยะสั้น (1 ถึง 24 ชั่วโมง) มีผลต่อระดับความดันโลหิตตัวบน (ค่าที่เปลี่ยนแปลง) -3.4 มิลลิเมตรปรอท (-6.0 ถึง -0.9 และต่อความันโลหิตตัวล่าง (ค่าที่เปลี่ยนแปลง) -1.9 มิลลิเมตรปรอท (-3.6 ถึง -0.3) (หลักฐานคุณภาพต่ำ) ผลรวมจาก 8 การศึกษาที่เปรียบเทียบการฝังเข็มกับยาลดความดันโลหิต (กลุ่มตัวยับยั้ง แองจิโอเทนซิน-คอนเวอร์ติง เอนไซม์) และผลรวมจาก 7 การศึกษาที่เปรียบเทียบการฝังเข็ม ยาปิดกั้นแคลเซียม (Calcium antagonists) พบว่า การฝังเข็มสามารถลดระดับความดันโลหิตในระยะสั้นได้ดีกว่าการใช้ยาดังกล่าว อย่างไรก็ตามเราคิดว่าผลการศึกษามีอคติ (Bias) และไม่ใช่ค่าที่แท้จริง (True effect) เนื่องจากการศึกษาดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการเกิดอคติสูง ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่รายงานผลการศึกษาดังกล่าวในตารางสรุปผลการวิจัย (Summary of findings' table) ความปลอดภัยของการฝังเข็มไม่สามารถประเมินได้เนื่องจากการทดลองเพียง 8 ครั้งรายงานว่ามีอาการไม่พึงประสงค์

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล รศ.ดร. พอใจ พัทธนิตย์ธรรม สาขาวิทยาการระบาดและชีวสถิติ คณะสาธารณสุขศาตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วันที่ 30 พฤศจิกายน 2561

Tools
Information