การให้อาหารเสริมและน้ำแก่ทารกคลอดครบกำหนดที่แข็งแรงดีในช่วงแรก

อะไรคือปัญหา

การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอดเป็นคำแนะนำสำหรับทุกประเทศ แต่ในทางปฏิบัติในหลายๆชุมชนและหลายๆประเทศยังมีการให้อาหารเสริมและหรือสารน้ำอื่นๆแก่เด็กในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต

ทำไมเรื่องนี้จึงมีความสำคัญ

เนื่องจากมีทารกจำนวนมากที่ไม่ได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน จึงมีความสำคัญที่จะต้องศึกษาข้อดีข้อเสียของการให้สารน้ำที่ไม่ใช่นมแม่หรืออาหารเสริมแก่ทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ใน 6 เดือนแรกหลังคลอด

เราพบข้อมูลเชิงประจักษ์อะไรบ้าง

บทวิเคราะห์นี้รวบรวมข้อมูลการศึกษาแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม 11 การศึกษารวมทารกจำนวน 2542 คน

การให้นมผสมปริมาณเพียงเล็กน้อยแก่ทารกช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอดเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ไม่มีผลใดๆต่อจำนวนทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่ขณะจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลแต่พบว่าโอกาสที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่อายุ 3 เดือนเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ไม่มีความแตกต่างในระดับความมั่นใจในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของมารดาในทั้งสูงกลุ่ม การให้นมผสมก่อนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มีผลในการป้องกันการเกิดอาการภูมิแพ้ในช่วงที่เด็กอายุได้ 18 เดือน เมื่อเปรียบเทียบกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว อย่างไรก็ตามการศึกษานี้ไม่ได้ทำการทดสอบเพื่อยืนยันภาวะภูมิแพ้ที่สังเกตุพบ ดังนั้นจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการตีความ

ทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวมีโอกาสที่จะกินนมแม่อย่างเดียวต่อไปสูงกว่าทารกที่ได้รับน้ำหรือน้ำผสมน้ำตาลเสริมในช่วง 2-3 วันแรกของชีวิต ไม่มีหลักฐานที่สนับสนุนว่าการให้น้ำหรือน้ำผสมน้ำตาลเสริมแก่ทารกที่กินนมแม่จะส่งผลดีต่อระดับน้ำตาล อุณหภูมิและน้ำหนักตัวที่ลดลงของทารก

ทารกเลี้ยงด้วยนมแม่ที่ได้อาหารเสริมที่อายุ 4-6 เดือน ไม่พบว่ามีความเสี่ยงของการแพ้อาหาร ผื่น หรืออาการลำใส้อักเสบที่เกิดจากสารโปรตีนในอาหารลดลง ไม่มีความแตกต่างระหว่างทารกกลุ่มที่ให้อาหารเสริมเร็วและกลุ่มที่ให้นมแม่อย่างเดียวในแง่ของจำนวนร้อยละของวันที่มีอาการไอ คัดจมูก น้ำมูกไหล เสียงแหบ ไข้ ภาวะขาดธาตุเหล็ก หรือการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักตัว

ทั้งหมดนี้หมายความว่าอย่างไร

การศึกษาทบทวนนี้ไม่พบหลักฐานเพียงพอที่จะไม่สนับสบุนคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกและองค์กรสุขภาพนานาชาติอื่นๆที่ว่าควรแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องให้อาหารหรือน้ำเสริมในช่วง 6 เดือนแรกหลังคลอด

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ไม่พบหลักฐานที่สนับสนุนว่าการให้น้ำหรือน้ำกลูโคสเสริมช่วงสั้นๆแก่ทารกจะมีประโยชน์ต่อระยะเวลาการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ คุณภาพของหลักฐานในการให้นมเสริมก็ไม่เพียงพอที่จะแนะนำให้เปลี่ยนแปลงแนวทางปฏิบัติของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว สำหรับทารกที่อายุ 4-6 เดือนเราไม่พบหลักฐานที่แสดงว่าการให้อาหารเสริมมีข้อดีหรือมีข้อเสียคือความเสี่ยงใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเจ็บป่วยหรือการเปลี่ยนแปลงน้ำหนักตัว การศึกษาส่วนใหญ่มีความเสี่ยงของการมีอคติอื่น ๆค่อนข้างมาก และผลลัพธ์ส่วนใหญ่ได้มาจากหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำซึ่งหมายความว่าเราไม่สามารถประเมินประโยชน์หรืออันตรายของการให้อาหารเสริมหรือพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสมและประเภทของอาหารเสริมได้

เราไม่พบหลักฐานที่จะไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแนะขององค์กรต่างประเทศในปัจจุบันว่าทารกที่มีสุขภาพดีควรเลี้ยงด้วยนมแมเพียงอย่างเดียวถึงหกเดือน

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

หน่วยงานด้านสุขภาพแนะนำให้เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน อย่างไรก็ตาม การให้สารน้ำอื่น ๆ หรืออาหารเสริมก่อน 6 เดือนเป็นสิ่งที่ปฎิบัติกันบ่อยในหลายประเทศ เมื่อเร็ว ๆ นี้มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการเริ่มให้อาหารเสริมแก่ทารกที่อายุประมาณ 4 เดือนในขณะที่ทารกยังคงได้รับนมแม่ ช่วยป้องกันการแพ้อาหารเมื่อเทียบกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวเป็นเวลา 6 เดือน การศึกษาอื่น ๆ ได้แสดงให้เห็นว่าความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่แบบให้อาหารเสริมด้วยขึ้นอยู่กับชนิดของอาหารเสริมหรือสารน้ำที่ให้ด้วย จากข้อมูลทั้งหมดที่กล่าวมา ทำให้ต้องมีการปรับปรุงการทบทวนนี้เพื่อเพิ่มผลการศึกษาล่าสุดที่ศึกษาเปรียบเทียบผลของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวกับการเลี้บงด้วยนมแม่ร่วมกับให้อาหารเสริม

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินข้อดีและข้อเสียของการให้อาหารหรือสารน้ำเสริมแก่เด็กทารกคลอดครบกำหนดที่มีสุขภาพดีเลี้ยงด้วยนมแม่และศึกษาช่วงเวลาและประเภทของอาหารหรือสารน้ำที่ให้เสริม

วิธีการสืบค้น: 

คณะผู้วิจัยค้นหาแหล่งมูลจากทะเบียนของ the Cochrane Pregnancy and Childbirth Group 's Trial Register (ถึงวันที่ 1 มีนาคม 2558) และเอกสารอ้างอิงอื่นๆที่เกี่ยวข้องเท่าที่สืบค้นได้

เกณฑ์การคัดเลือก: 

การทดลองแบบสุ่ม หรือกึ่งทดลองที่มีกลุ่มควบคุมในทารกอายุต่ำกว่า 6เดือนที่ศึกษาเปรียบเทียบการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เสริมด้วยอาหารหรือสารน้ำอื่น

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัย 2 คนประเมินการศึกษาเพื่อนำเข้ามาทบทวน ตรวจสอบอคติและประเมินคุณภาพอย่างอิสระต่อกัน คัดลอกและตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลที่รวบรวมมได้ ผู้ศึกษาทั้ง 2 คนประเมินคุณภาพของหลักฐานโดยใช้ GRADE

ผลการวิจัย: 

ผู้วิจัยได้รวบรวมการศึกษาทั้งหมด 11 ศึกษา (ทารก / มารดาที่ถูกสุ่มจำนวน 2542 คู่) มี 9 การศึกษา ( จำนวน 2226 ราย) ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่การทบทวนนี้สนใจ วิธีการวัดผลลัพธ์และช่วงเวลาที่วัดมีความแตกต่างกันในแต่ละการศึกษา ทำให้เป็นการยากที่จะเอาผลลัพธ์มารวมกันได้ ข้อมูลที่สามารถนำมารวมกันใน meta-analysis มีเฉพาะผลลัพธ์หลัก (ระยะเวลาเลี้ยงลูกด้วยนมแม่) และผลลัพธ์รอง (การเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว) ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานภาวะตัวเหลืองโดยธรรมชาติ (physiological jaundice)ในทารก มีเพียง1 การศึกษาที่รายงานการเสียชีวิตของทารก

การศึกษาเก่าๆส่วนใหญ่มีรายละเอียดของวิธีการศึกษาไม่เพียงพอในการประเมินความเสี่ยงของอคติ การศึกษาส่วนใหญ่ที่เราประเมินได้ พบว่ามีความเสี่ยงของอคติชนิดอื่น ๆสูง และกว่าครึ่งมีความเสี่ยงของอคติสูงในการคัดเลือกประชากรเข้าทำการศึกษา

การให้นมผสมแก่ทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่เมื่อเทียบกับการให้นมแม่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ส่งผลกระทบต่ออัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ขณะที่จำหน่ายออกจากโรงพยาบาล (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.02, 95% confidence interval (CI) 0.97-1.08; หนึ่งการศึกษา ทารก 100 ราย หลักฐานคุณภาพตำ่ ) ที่อายุ 3 เดือนทารกที่ได้นมแม่และนมผสมมีอัตราการเลี้ยงด้วยนมแม่สูงกว่าทารกที่ได้รับนมแม่เพียงอย่างเดียว (RR 1.21, 95% CI 1.05 to 1.41; 2 การศึกษา ทารก 137 ราย หลักฐานคุณภาพต่ำ) ทารกที่ได้นมผสมในช่วง 2-3 วันแรกหลังคลอดก่อนได้นมแม่มีอาการที่บ่งชี้ว่าเป็นภูมิแพ้น้อยกว่าทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว (RR 0.56, 95% CI 0.35 to 0.91; 1 การศึกษา ทารก 207 ราย หลักฐานคุณภาพตำ่มาก) ไม่พบความแตกต่างในความเชื่อมั่นของมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยนมผสมร่วมกับนมแม่เปรียบเทียนกับมารดาที่เลี้ยงลูกด้วยแม่เพียงอย่างเดียว ( MD 0.10, 95% CI 0.54 -0.34; 1 การศึกษาทารก 39 ราย หลักฐานคุณภาพต่ำ ) อัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ลดลงในกลุ่มที่เลี้ยงลูกด้วยนมผสมร่วมกับนมแม่เมื่อเทียบกับกลุ่มที่เลี้ยงลูกด้วยนแม่เพียงอย่างเดียวที่ 4 , 8 และ 12 สัปดาห์ (RR 0.68, 95% CI 0.53-0.87; 1 การศึกษา ทารก 170 ราย หลักฐานคุณภาพต่ำ) และที่ 16 , 20 สัปดาห์

นอกจากนี้การให้น้ำกลูโคสเสริมทำให้การเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดตำ่ ( ตำ่กว่า 2.2 มิลลิโมล / ลิตร) ที่ 12 ชั่วโมง ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับกลุ่มที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียว (RR 0.07, 95% CI 0.00-1.20 หนึ่งการศึกษา ทารก 170 ราย หลักฐานคุณภาพต่ำมาก แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญที่ 24 ชั่วโมง (RR 1.57, 95% CI 0.27-9.17 หนึ่งการศึกษา ทารก 170 ราย หลักฐานคุณภาพต่ำมาก ) ภาวะน้ำหนักตัวลดลงสำหรับทารกที่ได้รับน้ำกลูโคสเพิ่มน้อยกว่าทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียง (1 การศึกษา ทารก 170 ราย) ที่ 6, 12, 24 และ 48 ชั่วโมงของชีวิต (MD -32.50 G, 95% CI -52.09 -12.91; หลักฐานคุณภาพต่ำ) แต่ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มที่อายุ 72 ชั่วโมงของชีวิต (MD 3.00 กรัม, 95% CI -20.83 ถึง 26.83; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก) ในการศึกษาอีก 1 การศึกษาที่รวมการให้น้ำและน้ำกลูโคสเป็นกลุ่มเดียวกัน (ทารก 47 ราย) พบว่ามีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญของน้ำหนักที่ลดลงระหว่างกลุ่มที่ให้สารน้ำเพิ่มและกลุ่มที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวที่อายุ 3 หรือ 5 วัน (MD -1.03%, 95% CI -2.24 ถึง 0.18; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก ) และ (MD -0.20%, 95% CI 0.46 -0.86; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก )

มีรายงานการตายของทารกใน 1 การศึกษาซึ่งพบว่าไม่มีทารกเสียชีวิตในทั้ง2กลุ่ม ( ทารก 1162 ราย) การให้เริ่มอาหารเสริมที่มีโอกาสทำให้เกิดภูมิแพ้ในช่วงแรกของชีวิตเมื่อเทียบกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวไม่ได้ลดความเสี่ยงของการ "แพ้อาหาร" หนึ่งหรือหลายชนิดที่อายุระหว่าง 1-3 ปี (RR 0.80, 95% CI 0.51 ถึง 1.25; เด็ก 1162 คน ), ผื่นแพ้ที่มองเห็นทีอายุ 12 เดือนโดยแบ่งตามผืนที่มีตั้งแต่เริ่มเข้าการศึกษา (RR 0.86, 95% CI 0.51 ถึง 1.44; เด็ก 284 คน) หรืออาการลำไส้อักเสบที่เกิดจากโปรตีนในอาหาร(RR 2.00, 95% CI 0.18 ถึง 22.04; เด็ก 1,303 คน) หลักฐานทั้งหมดมีคุณภาพในระดับปานกลาง) ทารกเลี้ยงด้วยนมแม่ที่ได้อาหารเสริมที่อายุตั้งแต่ 4 เดือนขึ้นไปไม่มีความแตกต่างเรื่องน้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้น (กรัม) ที่อายุ 16-26 สัปดาห์เทียบกับทารกที่เลี้ยงด้วยนมแม่เพียงอย่างเดียวถึง 6 เดือน (MD -39.48, 95% CI -128.43 to 49.48; 2 การศึกษา เด็ก 260 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำหรือ weight z-score (MD -0.01, 95% CI-0.15 to 0.13; 1 การศึกษา เด็ก 100 คน: หลักฐานคุณภาพปานกลาง)

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล ศ.พญ ผกากรอง ลุมพิกานนท์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 24 พย 2559

Tools
Information