สิ่งแทรกแซงเพื่อป้องกันการสูญเสียการได้ยินที่มีสาเหตุจากเสียงดังในสถานที่ทำงาน

วัตถุประสงค์ของการทบทวนนี้คืออะไร

วัตถุประสงค์ของ Cochrane review นี้คือ เพื่อค้นหาว่าการสูญเสียการได้ยินเนื่องจากเสียงดังในที่ทำงานสามารถป้องกันได้หรือไม่ นักวิจัยของ Cochrane รวบรวมและวิเคราะห์การศึกษาที่เกี่ยวข้องเพื่อตอบคำถามนี้ พวกเขาพบว่ามี 29 การศึกษาที่ศึกษาผลของมาตรการป้องกัน

ใจความสำคัญ

การออกกฎหมายที่เข้มงวดอาจช่วยลดระดับความดังของเสียง ในระดับบุคคล ที่ครอบหู (earmmuff) และที่อุดหู (earplugs) สามารถลดการสัมผัสเสียงดังให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัยได้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องมีคำแนะนำถึงวิธีการใส่ที่อุดหู หากไม่มีคำแนะนำถึงวิธีการใส่ที่อุดหูอาจทำให้ไม่สามารถปกป้องได้ดีพอ การให้ข้อมูลสะท้อนผลจากการสัมผัสเสียงดังแก่พนักงานอาจไม่ช่วยลดเสียงดัง การแก้ไขทางวิศวกรรม เช่น การบำรุงรักษาที่ดีขึ้นอาจนำไปสู่การลดเสียงได้เท่าๆ กับอุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยิน การประเมินผลที่ดีขึ้นของการแก้ปัญหาทางวิศวกรรมเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็น

ผลของโปรแกรมการป้องกันการสูญเสียการได้ยิน (HLPP) ยังไม่ชัดเจน การใช้อุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยินเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรมอาจช่วยให้ได้ผลดีขึ้น แต่ไม่สามารถป้องกันการสูญเสียการได้ยินได้เต็มที่ การปรับปรุงการนำไปใช้อาจช่วยป้องกันได้ดีขึ้น

ในการทบทวนนี้สิ่งที่ศึกษาคืออะไร

พนักงานนับล้านคนที่สัมผัสเสียงดังอาจนำไปสู่การสูญเสียการได้ยิน ผู้ประพันธ์สนใจผลของสิ่งแทรกแซงใดๆก็ตามที่ลดเสียงดัง หรือการสูญเสียการได้ยินในสถานที่ทำงาน เช่น วิธีการแก้ไขทางวิศวกรรม การปกป้องระบบการได้ยิน หรือโปรแกรมป้องกันการสูญเสียการได้ยิน

ผลลัพธ์ของการทบทวนคืออะไร

ผลกระทบต่อการสัมผัสเสียงดัง

วิธีการแก้ไขทางวิศวกรรม

เราพบการศึกษาหนึ่งฉบับที่แสดงให้เห็นว่า ระดับเสียงดังลดลงประมาณ 5 เดซิเบล (dB) หลังจากที่ได้มีการใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้นในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ แม้ว่าหลายกรณีศึกษาแสดงให้เห็นว่าการปรับปรุงด้านเทคนิคสามารถลดระดับเสียงในที่ทำงานได้มากถึง 20 เดซิเบล แต่ไม่มีการศึกษาที่ควบคุมนอกห้องปฏิบัติการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มความมั่นใจในผลลัพธ์ให้มากขึ้น

อุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยิน

ในการศึกษา 8 ฉบับ มีพนักงานเข้าร่วม 358 คน พบว่าอุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยินลดการสัมผัสเสียงดังได้ประมาณ 20 dB(A) อย่างไรก็ตาม สำหรับที่อุดหูมีคุณภาพของหลักฐานปานกลางในการศึกษาเชิงทดลอง 2 ฉบับ พบว่า ถ้าพนักงานที่ไม่ได้รับคำแนะนำในการใช้ที่อุดหูอย่างเหมาะสม มีการลดลงของเสียงเฉลี่ย 9 dB

ผลสะท้อนจากการสัมผัสเสียงดัง

ผลจากการศึกษาหนึ่งฉบับพบว่า การสะท้อนผลกระทบจากการสัมผัสเสียงดังไม่ช่วยเปลี่ยนแปลงระดับเสียงในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

ผลกระทบต่อการสูญเสียการได้ยิน

เราพบ 16 การศึกษา มีผู้เข้าร่วม 81,220 คน ผลระยะยาวของการใช้อุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยินต่อการสูญเสียการได้ยิน

อุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยิน

การใช้อุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยินในโปรแกรมการป้องกันการสูญเสียการได้ยิน (HLPP) อย่างดีนั้นมีความสัมพันธ์กับการสูญเสียการได้ยินที่ลดลง สำหรับองค์ประกอบอื่น ๆ ของโปรแกรมเช่น การฝึกอบรมพนักงาน การตรวจสมรรถภาพการได้ยินเพียงอย่างเดียว การเฝ้าระวังเสียงดัง หรือการให้คำแนะนำเรื่องการสัมผัสเสียงดังในระดับบุคคล มีผลที่ยังไม่ชัดเจน การศึกษาสองฉบับ มีพนักงานเข้าร่วม 3242 คน พบว่า ไม่มีความแตกต่างในผลระยะยาวของการใช้ที่ครอบหู กับที่อุดหูต่อการสูญเสียการได้ยิน

โปรแกรมป้องกันการสูญเสียการได้ยิน

การศึกษาสี่ฉบับให้หลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมาก เมื่อเปรียบเทียบกับพนักงานที่ไม่ได้รับโปรแกรมพบว่า โปรแกรมป้องกันการสูญเสียการได้ยินโดยเฉลี่ยไม่ลดความเสี่ยงของการสูญเสียการได้ยินให้ต่ำกว่าระดับอย่างน้อยที่สุดเท่ากับพนักงานที่สัมผัสเสียง 85 dB(A) มีการศึกษาสองฉบับเพิ่มเติมที่เปรียบเทียบกันได้แสดงให้เห็นว่า ความเสี่ยงของการสูญเสียการได้ยินยังคงมีอยู่ถึงแม้ว่าจะได้รับโปรแกรมป้องกันการสูญเสียการได้ยิน (HLPP) อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาหนึ่งฉบับที่คุณภาพต่ำแสดงให้เห็นว่า โปรแกรม HLPP ที่เข้มงวดสามารถปกป้องพนักงานจากการสูญเสียการได้ยินได้

การไม่มีหลักฐานที่เป็นข้อสรุปชัดเจน ไม่ควรตีความว่าหลักฐานนั้นขาดประสิทธิผล แต่หมายความว่าการวิจัยต่อไปมีแนวโน้มมากที่จะส่งผลต่อข้อสรุปที่เราพบ ต้องมีโปรแกรมการป้องกันที่มีคุณภาพสูง มีคุณภาพการศึกษาที่ดีขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการควบคุมทางวิศวกรรมและการใช้กฎหมายที่เข้มงวดเพื่อป้องกันการสูญเสียการได้ยินที่เกิดจากเสียงดัง

ความเป็นปัจจุบันของการทบทวนนี้

ผู้ทบทวนสืบค้นการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงเดือนตุลาคม 2016

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

มีหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมากว่า การดำเนินการตามกฎหมายที่เข้มงวดสามารถลดระดับเสียงดังในที่ทำงานได้ ยังไม่มีการศึกษาเกี่ยวกับการควบคุมด้านวิศวกรรมอื่น ๆ มีหลักฐานคุณภาพปานกลางว่าการฝึกการใส่ที่อุดหูอย่างเหมาะสมจะช่วยลดการสัมผัสเสียงดังได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติจากการติดตามผลระยะสั้น แต่จำเป็นต้องมีการติดตามผลในระยะยาว

มีหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมากว่าการใช้อุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยินให้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม HLPP ช่วยลดความเสี่ยงต่อการสูญเสียการได้ยินได้ ส่วนโปรแกรมอื่น ๆ ของ HLPPs เราไม่พบผลกระทบ การไม่มีหลักฐานที่เป็นข้อสรุปชัดเจน ไม่ควรตีความว่าหลักฐานนั้นขาดประสิทธิผล แต่หมายความว่าการวิจัยต่อไปมีแนวโน้มมากที่จะมีผลกระทบที่สำคัญ

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การศึกษาครั้งนี้เป็นการปรับปรุงครั้งที่ 2 ของ Cochrane Review ซึ่งฉบับเดิมได้รับการตีพิมพ์ในปี 2009 พนักงานนับล้านทั่วโลกสัมผัสเสียงดัง ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของความผิดปกติของการได้ยินของพวกเขา มีความไม่มั่นใจเกี่ยวกับประสิทธิผลของสิ่งแทรกแซงในการป้องกันการสูญเสียการได้ยิน

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประสิทธิผลของสิ่งแทรกแซงที่ไม่ใช่ทางด้านเภสัชกรรมเพื่อป้องกันการสัมผัสเสียงดังจากการประกอบอาชีพ หรือการสูญเสียการได้ยินจากการประกอบอาชีพเปรียบเทียบกับการไม่ได้รับสิ่งแทรกแซง หรือสิ่งแทรกแซงทางเลือก

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นใน the CENTRAL; PubMed; Embase; CINAHL; Web of Science; BIOSIS Previews; Cambridge Scientific Abstracts และ OSH ปรับปรุงให้ทันสมัยจนถึงวันที่ 3 ตุลาคม 2016

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวบรวมการศึกษาที่เป็น randomised controlled trials (RCT), controlled before-after studies (CBA) และ interrupted time-series (ITS) ของสิ่งแทรกแซงที่ไม่ใช่ทางคลินิกภายใต้เงื่อนไขในหมู่พนักงานเพื่อป้องกันหรือลดการสัมผัสเสียงดัง และการสูญเสียการได้ยิน นอกจากนี้เรายังรวบรวมการศึกษาที่ไม่มีการควบคุมทางวิศวกรรมเกี่ยวกับผลกระทบจากการสัมผัสเสียงดัง

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ประพันธ์ 2 คนประเมินการศึกษาที่ผ่านเกณฑ์การคัดเลือก ประเมินความเสี่ยงของการเกิดอคติและดึงข้อมูลอย่างอิสระต่อกัน เราจัดหมวดหมู่ของสิ่งแทรกแซงดังนี้ การควบคุมทางวิศวกรรม การควบคุมด้านการบริหารจัดการ อุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยินส่วนบุคคล และการเฝ้าระวังการได้ยิน

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการศึกษาจำนวน 29 ฉบับ มีการศึกษาหนึ่งฉบับที่ประเมินการออกกฏหมายเพื่อลดการสัมผัสเสียงดังในการวิเคราะห์อุนกรมเวลา (time-series analysis) 12 ปี แต่ยังไม่มีการศึกษาที่มีการควบคุมทางวิศวกรรมสำหรับการสัมผัสเสียงดัง การศึกษา 11 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 3725 คน ประเมินผลของอุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยินส่วนบุคคล และการศึกษา 17 ฉบับ มีผู้เข้าร่วม 84,028 คน ประเมินผลของโปรแกรมป้องกันการสูญเสียการได้ยิน (HLPPs)

ผลกระทบจากการสัมผัสเสียงดัง

สิ่งแทรกแซงทางด้านวิศวกรรมตามกฏหมายกำหนด

ผลการศึกษาแบบ ITS หนึ่งฉบับพบว่า การออกกฏหมายใหม่ในโรงงานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ลดค่ามัธยฐานการสัมผัสเสียดังส่วนบุคคลในเหมืองถ่านหินใต้ดินได้ 27.7 เปอร์เซ็นต์ (95% confidence interval (CI) -36.1 ถึง -19.3) ทันทีที่มีการนำกฎหมายที่เข้มงวดมาปฏิบัติ ค่าดังกล่าวแปลงเป็น 4.5 dB (A) ของระดับเสียงดังที่ลดลง สิ่งแทรกแซงดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับแนวโน้มการลดลงของความดังเสียง -2.1 เปอร์เซ็นต์ต่อปีอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (95% CI -4.9 ถึง 0.7 ติดตามผลเป็นระยะเวลา 4 ปี หลักฐานมีคุณภาพต่ำมาก)

กรณีศึกษาที่มีสิ่งแทรกแซงทางด้านวิศวกรรม

เราพบการศึกษา 12 ฉบับที่อธิบายถึง 107 กรณีศึกษาที่ไม่สามารถควบคุมการลดระดับเสียงดังของเครื่องจักรได้ ตั้งแต่ 11.1 ถึง 19.7 dB (A) อันเป็นผลมาจากการซื้ออุปกรณ์ใหม่ การแยกแหล่งกำเนิดเสียง หรือการติดตั้งแผงหรือผ้าม่านรอบ ๆ แหล่งกำเนิดเสียง อย่างไรก็ตาม ยังขาดการติดตามผลระยะยาวและการวัดระดับเสียงที่พนักงานได้สัมผัส และเราไม่ใช้การศึกษาเหล่านี้เพื่อหาข้อสรุป

อุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยิน

โดยทั่วไปอุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยินลดเสียงได้โดยเฉลี่ยประมาณ 20 dB(A) ในการศึกษาแบบ RCT 1 ฉบับ และการศึกษาแบบ CBAs จำนวน 3 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 57 คน หลักฐานมีคุณภาพต่ำ) การศึกษาแบบ RCT 2 ฉบับแสดงให้เห็นว่า การสอดแทรกคำแนะนำเกี่ยวกับการลดการสัมผัสเสียงดังโดยใช้ที่อุดหู สามารถลดเสียงได้ดีขึ้น 8.59 dB (95% CI 6.92 dB ถึง 10.25 dB) เมื่อเทียบกับการไม่สอดแทรกคำแนะนำในการใช้ (RCT จำนวน 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 140 คน หลักฐานมีคุณภาพปานกลาง)

การควบคุมด้านการบริหารจัดการ: ข้อมูลและผลสะท้อนจากการสัมผัสเสียงดัง

การฝึกอบรมนอกสถานที่ไม่มีผลกระทบต่อระดับการสัมผัสเสียงดังส่วนบุคคลเมื่อเทียบกับการให้ข้อมูลเพียงอย่างเดียว ผลจากหนึ่งการศึกษาแบบ Cluster-RCT หลังจากการติดตามผลเป็นเวลา 4 เดือน (ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) 0.14 dB; 95% CI -2.66 ถึง 2.38) ผลการศึกษาอีกกลุ่มหนึ่งในการศึกษาเดียวกันพบว่า การให้ข้อมูลการสัมผัสเสียงดังส่วนบุคคลไม่มีผลกระทบต่อระดับเสียงดัง (MD 0.30 dB(A), 95% CI -2.31 ถึง 2.91) เปรียบเทียบกับการไม่ให้ข้อมูล (ผู้เข้าร่วม 176 คน หลักฐานคุณภาพต่ำ)

ผลกระทบต่อการสูญเสียการได้ยิน

อุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยิน

ในการศึกษา 2 ฉบับซึ่งนักวิจัยเปรียบเทียบผลกระทบของอุปกรณ์ที่ต่างกันต่อการสูญเสียการได้ยินแบบชั่วคราว (temporary threshold shipts) จากการติดตามผลระยะสั้น แต่ข้อมูลไม่เพียงพอสำหรับการวิเคราะห์ การศึกษาแบบ CBA จำนวน 2 ฉบับ นักวิจัยพบว่าความแตกต่างของการสูญเสียการได้ยินจากการสัมผัสเสียงดังมากกว่า 89 dB(A) ระหว่างการใช้ที่ครอบหูและที่อุดหู โดยติดตามผลระยะยาว (OR 0.8, 95% CI 0.63 ถึง 1.03 หลัฐานคุณภาพต่ำมาก) นักวิจัยของการศึกษาแบบ CBA อีกหนึ่งเรื่องพบว่า การใส่อุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยินมักจะให้ผลว่ามีการสูญเสียการได้ยินน้อยลงจากการติดตามผลระยะยาว (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก)

การรวมกันของสิ่งแทรกแซง: โปรแกรมป้องกันการสูญเสียการได้ยิน

การศึกษาแบบ Cluster-RCT พบว่า ไม่มีความแตกต่างในเรื่องการสูญเสียการได้ยินที่ระยะเวลาการติดตามผล 3 หรือ 16 ปี ระหว่างโปรแกรม HLPP ที่เคร่งครัด สำหรับนักเรียนเกษตร และการตรวจสมรรถภาพการได้ยินเพียงอย่างเดียว การศึกษาแบบ CBA จำนวน 1 ฉบับพบว่า ไม่มีการลดลงของอัตราการสูญเสียการได้ยิน (MD -0.82 dB ต่อปี (95% CI -1.86 ถึง 0.22) สำหรับโปรแกรม HLPP ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสัมผัสเสียงดังส่วนบุคคลโดยทั่วไปเทียบกับโปรแกรมที่ไม่มีข้อมูลนี้

มีหลักฐานที่มีคุณภาพต่ำมากจากการศึกษา 4 ฉบับที่ติดตามผลเป็นระยะเวลานาน การใช้อุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยินที่ดีให้เป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม HLPP ช่วยลดความเสี่ยงของการสูญเสียการได้ยินเมื่อเทียบกับการใช้อุปกรณ์ปกป้องระบบการได้ยินที่ไม่ค่อยดีในโปรแกรม HLPPs (OR 0.40, 95% CI 0.23 to 0.69) ด้านอื่นๆของโปรแกรม HLPP เช่น การอบรมและการให้ความรู้แก่พนักงาน หรือการควบคุมด้านวิศวกรรมไม่แสดงผลกระทบที่คล้ายกัน

ในการศึกษาระยะยาวแบบ CBA จำนวน 3 ฉบับ พนักงานที่ได้รับโปรแกรม HLPP มีการสูญเสียการได้ยินที่ 4 kHz มากกว่าพนักงานที่ไม่ได้รับโปรแกรม อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 1.8 dB (95% CI -06 ถึง 4.2 ) และช่วงความเชื่อมั่นคร่อมระดับเสียง 4.2 dB ซึ่งเป็นระดับของการสูญเสียการได้ยินที่เป็นผลของการสัมผัสเสียงดัง 85 dB(A) เป็นเวลา 5 ปี นอกจากนี้ การศึกษาแบบ CBA อื่นๆ 3 ฉบับที่ไม่สามารถนำมาวิเคราะห์เมตต้าได้ มีการศึกษา 2 ฉบับแสดงให้เห็นการเพิ่มความเสี่ยงของการสูญเสียการได้ยินมากขึ้นแม้ว่าจะได้รับการปกป้องจากโปรแกรม HLPP เมื่อเทียบกับพนักงานที่ไม่ได้รับ และการศึกษาแบบ CBA 1 ฉบับไม่ได้แสดงถึงการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยง

บันทึกการแปล: 

แปลโดย นางสาวน้ำเพชร จำปาทอง (Cochrane ประเทศไทย) ปรับปรุงการแปลเมื่อวันที่ 3 เมษายน 2019

Tools
Information