วิธีการเพื่อนำคำแนะนำตามหลักฐานเชิงประจักษ์ในภาวะโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันไปใช้

วิธีการดำเนินงาน (implementation interventions) ปรับปรุงการให้การดูแลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ในหน่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันหรือไม่

ใจความสำคัญ

วิธีการดำเนินงานเพื่อนำไปปฏิบัติได้รับการออกแบบมาเพื่อปรับปรุงการส่งมอบการดูแล 'ตามหลักฐาน' ซึ่งเป็นการดูแลที่ได้รับการพิสูจน์ในการศึกษาวิจัยเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะสุขภาพโดยเฉพาะ เราไม่ทราบว่าวิธีการดำเนินงานเพื่อนำไปปฏิบัติในหน่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันจะนำไปสู่การให้การดูแลที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ได้ดีขึ้นหรือไม่

จำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อศึกษาวิธีการนำหลักฐานเชิงประจักษ์ไปใช้ดูแลรักษาผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันให้ประสบผลสำเร็จ การวิจัยในอนาคตควรอธิบายวิธีการที่นำมาใช้ให้ดีขึ้นและใช้วิธีการวัดผลลัพธ์ที่สอดคล้องกัน

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่ามีวิธีดำเนินการใดที่เราสามารถมอบให้กับสถานพยาบาลโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ป่วยทุกคนในหน่วยโรคหลอดเลือดสมองได้รับการดูแล 'ตามหลักฐานเชิงประจักษ์' เราสนใจที่จะมองหาวิธีเปลี่ยนพฤติกรรมของบุคลากรทางการแพทย์ตลอดจนระบบภายในโรงพยาบาล เพื่อทำความเข้าใจว่าอะไรมีประโยชน์มากที่สุดในการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่มีคุณภาพดีที่สุด

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาวิจัยที่ดำเนินการในหน่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน ซึ่งนักวิจัยเปรียบเทียบวิธีการที่มุ่งปรับปรุงการดูแลที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์โดยไม่มีสิ่งแทรกแซง หรือวิธีการดำเนินงานประเภทต่างๆ เราเปรียบเทียบและสรุปผลลัพธ์ และให้คะแนนความเชื่อมั่นของเราในหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีและขนาดการศึกษา

เราพบอะไร

เรารวมการศึกษา 7 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน 42,489 รายและผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ไม่ทราบจำนวน การศึกษาได้ดำเนินการในโรงพยาบาล 129 แห่งในออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร จีน และเนเธอร์แลนด์ การศึกษาที่เล็กที่สุดมีผู้ป่วย 64 ราย และการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดมีผู้ป่วย 22,384 ราย จากการศึกษาทั้งหมด ผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 85 มีโรคหลอดเลือดสมองตีบหรือขาดเลือด โดยร้อยละ 50 ถึง 63 ของผู้ป่วยเป็นผู้ชาย และอายุเฉลี่ยของพวกเขาอยู่ระหว่าง 65 ถึง 78 ปี

การศึกษา 5 ฉบับเปรียบเทียบกลยุทธ์ที่ประกอบด้วยหลายส่วน (หลายแง่มุม) กับการไม่มีการแทรกแซง และการศึกษา 2 ฉบับเปรียบเทียบกลยุทธ์ที่ประกอบด้วยหลายแง่มุมหนึ่งกับกลยุทธ์หลายแง่มุมอื่น กลยุทธ์ในการศึกษาทั้งหมดมีวัตถุประสงค์เพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล และการศึกษา 3 ฉบับศึกษาที่การเปลี่ยนแปลงระบบในโรงพยาบาล

เราไม่ทราบว่ากลยุทธ์การดำเนินการเมื่อเทียบกับการไม่มีกาใช้กลยุทธ์มีผลกระทบต่อการที่ผู้ป่วยจะได้รับการดูแลที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในระหว่างการเข้ารับการรักษาในหน่วยโรคหลอดเลือดสมองหรือไม่ เราคิดว่ากลยุทธ์การดำเนินการอาจไม่สร้างความแตกต่างในจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด (ยา "สลายลิ่มเลือด") แต่อาจช่วยเพิ่มจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจคัดกรองการกลืนเมื่อเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลครั้งแรก วิธีการนำหลักฐานเชิงประจักษ์ไปปฎิบัติ (implementation interventions) เมื่อเทียบกับไม่มีการแทรกแซงอาจมีผลกระทบเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยต่อความเสี่ยงของผู้ป่วยที่เสียชีวิตหรือพิการหรือต้องพึ่งพา และอาจไม่เปลี่ยนแปลงระยะเวลาที่ผู้ป่วยอยู่ในโรงพยาบาล ไม่มีการศึกษารายงานต้นทุนทางเศรษฐกิจหรือความรู้ของผู้ดูแลด้านสุขภาพ

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

เราไม่มั่นใจในหลักฐานที่แสดงว่าผู้ป่วยได้รับการดูแลตามหลักฐานเชิงประจักษ์ในระหว่างการเข้ารับการรักษาในหน่วยโรคหลอดเลือดสมอง เนื่องจากผู้ที่รวบรวมข้อมูลทราบว่าผู้ป่วยรายใดได้รับการแทรกแซง การศึกษาพบผลลัพธ์ที่แตกต่างกันมากและมีการศึกษาไม่เพียงพอที่จะแน่ใจเกี่ยวกับผลลัพธ์ เรามีความมั่นใจพอสมควรในหลักฐานเกี่ยวกับจำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยยาละลายลิ่มเลือด จำนวนผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจคัดกรองด้วยการกลืน ความเสี่ยงที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตหรือพิการหรือต้องพึ่งพิง และระยะเวลาที่ผู้ป่วยต้องอยู่ในโรงพยาบาล สาเหตุหลักมาจากจำนวนการศึกษาไม่เพียงพอที่จะให้เรามั่นใจ

หลักฐานนี้เกี่ยวข้องกับระบบหน่วยโรคสมองและหลอดเลือดเฉียบพลันเท่านั้น เนื่องจากหน่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันมีราคาแพงในการก่อตั้งและบำรุงรักษา หลักฐานในการทบทวนนี้จึงจำกัดอยู่เพียงสถานพยาบาลที่ได้รับทุนสนับสนุนดีซึ่งมีหน่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน

การทบทวนนี้มีความทันสมัยแค่ไหน

การตรวจสอบนี้รวมเอกสารที่เราระบุจากการค้นหาในเดือนเมษายน 2022

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

เราไม่แน่ใจว่า การดำเนินงานแบบ multifaceted implementation intervention เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่มีสิ่งแทรกแซงจะปรับปรุงการปฏิบัติตามคำแนะนำที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ในภาวะโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลันหรือไม่ เนื่องจากความเชื่อมั่นของหลักฐานต่ำมาก

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

มีหลักฐานการวิจัยเพิ่มมากขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการดูแลรักษาโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน การเข้ารับการดูแลในหน่วยโรคหลอดเลือดสมองจะช่วยเพิ่มการเข้าถึงการรักษาตามหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แนะนำและผลลัพธ์ของผู้ป่วยดีขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้แต่ในหน่วยโรคหลอดเลือดสมอง เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ยังให้คำแนะนำตามหลักฐานเชิงประจักษ์แก่ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองอย่างไม่สม่ำเสมอ วิธีการพื่อนำไปปฏิบัติเป็นกลยุทธ์ที่ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงการให้การดูแลที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลกระทบของการดำเนินการตามคำแนะนำ (เปรียบเทียบกับการไม่ดำเนินการใดๆ หรือวิธีการดำเนินการอื่นๆ) ต่อการยึดมั่นตามคำแนะนำที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์โดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ทำงานในหน่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน วัตถุประสงค์รองคือการประเมินปัจจัยที่อาจปรับเปลี่ยนผลกระทบของมาตรการเหล่านี้ และเพื่อพิจารณาว่ากลยุทธ์เดียวหรือหลายแง่มุมมีประสิทธิภาพมากกว่าในการเพิ่มการปฏิบัติตามคำแนะนำตามหลักฐานเชิงประจักษ์หรือไม่

วิธีการสืบค้น: 

เราสืบค้นฐานข้อมูล CENTRAL, MEDLINE, Embase, CINAHL, Joanna Briggs Institute และ ProQuest จนถึงวันที่ 13 เมษายน 2022 เราค้นหาวรรณกรรมสีเทาและทะเบียนการทดลอง และทบทวนรายการอ้างอิงของการศึกษาที่นำเข้าทั้งหมด การทบทวนอย่างเป็นระบบที่เกี่ยวข้อง และ primary studies ติดต่อผู้เขียนที่เกี่ยวข้องของการศึกษาที่เกี่ยวข้อง และดำเนินการค้นหาการอ้างอิงของการศึกษาที่รวบรวมไว้ ไม่มีข้อจำกัดด้านภาษาและวันที่ตีพิมพ์

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มและการทดลองแบบสุ่มคลัสเตอร์

ผู้เข้าร่วมเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ให้การดูแลผู้ป่วยในหน่วยโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน มาตรการดำเนินการ (เช่น กลยุทธ์ในการปรับปรุงการให้บริการการดูแลตามหลักฐานเชิงประจักษ์) เปรียบเทียบกับการไม่มีมาตรการหรือมาตรการดำเนินการอื่น เรารวบรวมการศึกษาเฉพาะในกรณีที่รายงานผลลัพธ์หลักของเราซึ่งเป็นคุณภาพการดูแล ซึ่งวัดโดยการยึดมั่นตามคำแนะนำที่มีหลักฐานเชิงประจักษ์ เพื่อตอบสนองต่อจุดมุ่งหมายของการทบทวน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวน 2 คนเลือกการศึกษาเพื่อนำเข้า ดึงข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของอคติและความเชื่อมั่นของหลักฐานอย่างอิสระต่อกันโดยใช้ GRADE เราเปรียบเทียบวิธีการเพื่อนำไปใช้งานเดี่ยว (single implementation interventions) กับการไม่มีการแทรกแซงใด ๆ, วิธีการเพื่อนำไปใช้งานหลายแง่มุม (multifaceted implementation interventions) เทียบกับไม่มีการแทรกแซง, วิธีการเพื่อนำไปใช้งานหลายแง่มุม (multifaceted implementation interventions) เปรียบเทียบกับวิธีการเพื่อนำไปใช้งานเดี่ยว (single implementation interventions) และ multifaceted implementation interventions เทียบกับ multifaceted implementation interventions แบบอื่นๆ ผลลัพธ์หลักของเราคือการปฏิบัติตามคำแนะนำตามหลักฐานเชิงประจักษ์

ผลการวิจัย: 

เรารวบรวมการทดลองแบบสุ่มกลุ่ม 7 ฉบับที่มีผู้เข้าร่วม 42,489 รายจากโรงพยาบาล 129 แห่ง ดำเนินการในออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร จีน และเนเธอร์แลนด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ข้าร่วม (ไม่ระบุจำนวน) ได้แก่ บุคลากรทางการพยาบาล การแพทย์ และพันธมิตรด้านสุขภาพ วิธีการที่นำมาใช้ (interventions) ในการศึกษาทั้งหมดได้แก่กลยุทธ์การดำเนินงานที่มุ่งเป้าไปที่บุคลากรทางการแพทย์ การศึกษา 3 ฉบับ ใช้การเตรียมการส่งมอบ (delivery arrangements) ไม่มีการศึกษาใดที่ใช้การจัดการทางการเงิน (financial arrangements) หรือการจัดการด้านการกำกับดูแล (governance arrangements) การทดลอง 5 ฉบับเปรียบเทียบ multifaceted implementation intervention กับการไม่มีการแทรกแซงใดๆ การทดลอง 2 ฉบับ เปรียบเทียบ multifaceted implementation intervention 1 อย่าง กับ multifaceted implementation intervention แบบอื่น ไม่มีการศึกษาที่รวบรวมไว้ เปรียบเทียบ single implementation intervention กับการไม่มีการแทรกแซงหรือเทียบกับ multifaceted implementation intervention ผลลัพธ์คุณภาพการดูแล (สัดส่วนของผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลตามหลักฐานเชิงประจักษ์) มีรายงานในทุกการศึกษาที่รวมไว้ การศึกษาทั้งหมดมีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำในการคัดเลือกและอคติในการรายงาน แต่มีความเสี่ยงของการมีอคติด้าน performance bias สูง การศึกษา 3 ฉบับมีความเสี่ยงของการมีอคติสูงจากการไม่ปกปิดผู้ประเมินผลลัพธ์หรือเนื่องจากการวิเคราะห์ที่ใช้

เราไม่แน่ใจว่า multifaceted implementation intervention จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงใด ๆ ในการปฏิบัติตามคำแนะนำตามหลักฐานเชิงประจักษ์หรือไม่ เมื่อเทียบกับการไม่มีการแทรกแซง (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.73; 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.83 ถึง 3.61; การทดลอง 4 ฉบับ; 76 กลุ่ม; ผู้เข้าร่วม 2144 คน, I 2 =92%, หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำมาก) เมื่อพิจารณากระบวนการดูแลเฉพาะ 2 กระบวนการ การดำเนินการแบบ multifaceted implementation interventions เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่แทรกแซง อาจนำไปสู่ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในสัดส่วนของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตันที่ได้รับยาละลายลิ่มเลือด (RR 1.14, 95% CI 0.94 ถึง 1.37, การทดลอง 2 ฉบับ; 32 กลุ่ม; ผู้เข้าร่วม 1228 คน หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) แต่อาจเพิ่มสัดส่วนของผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจคัดกรองการกลืนภายใน 24 ชั่วโมงหลังเข้ารับการรักษา (RR 6.76, 95% CI 4.44 ถึง 10.76; การทดลอง 1 ฉบับ; 19 กลุ่ม; ผู้เข้าร่วม 1804 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) การดำเนินการแบบ multifaceted implementation interventions อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในการลดความเสี่ยงของการเสียชีวิต ความพิการ หรือการพึ่งพา เมื่อเทียบกับการไม่มีสิ่งแทรกแซง (RR 0.93, 95% CI 0.85 ถึง 1.02; การทดลอง 3 ฉบับ; 51 กลุ่ม; ผู้เข้าร่วม 1228 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และ อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยกับระยะเวลานอนโรงพยาบาล เมื่อเทียบกับการไม่มีการแทรกแซงใดๆ (ความแตกต่างในการเปลี่ยนแปลงสัมบูรณ์ 1.5 วัน; 95% CI -0.5 ถึง 3.5; การทดลอง 1 ฉบับ; 19 กลุ่ม; ผู้เข้าร่วม 1804 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) เราไม่ทราบว่าการดำเนินงานแบบ multifaceted implementation intervention เมื่อเปรียบเทียบกับการไม่แทรกแซงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ทรัพยากรหรือความรู้ของผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพหรือไม่ เพราะไม่มีการศึกษาที่รวบรวมผลลัพธ์เหล่านี้

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย ศ. พญ. ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 27 มีนาคม 2024

Tools
Information