Methylphenidate เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่มีโรคสมาธิสั้น (ADHD) หรือไม่ และยานี้ก่อให้เกิดผลที่ไม่พึงประสงค์หรือไม่

ใจความสำคัญ

- Methylphenidate อาจลดสมาธิสั้นและความหุนหันพลันแล่น และอาจช่วยให้เด็กมีสมาธิ Methylphenidate อาจช่วยปรับปรุงพฤติกรรมทั่วไป แต่ดูเหมือนจะไม่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต

- Methylphenidate ดูเหมือนจะไม่เพิ่มความเสี่ยงของผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง (อันตรายถึงชีวิต) เมื่อใช้เป็นระยะเวลานานถึง 6 เดือน อย่างไรก็ตาม มีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของผลข้างเคียงที่ไม่ร้ายแรง เช่น ปัญหาการนอนหลับและความอยากอาหารลดลง

- การศึกษาในอนาคตควรมุ่งเน้นไปที่การรายงานผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ให้มากขึ้น และควรดำเนินการในระยะเวลาที่นานขึ้น

โรคสมาธิสั้น (ADHD) คืออะไร

ADHD เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชในวัยเด็กที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาบ่อย เด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้นมักไม่ค่อยมีสมาธิ พวกเขามักจะสมาธิสั้น (อยู่ไม่สุข นั่งนิ่งๆ เป็นเวลานานไม่ได้) และหุนหันพลันแล่น (ทำสิ่งต่างๆ โดยไม่หยุดคิด) โรคสมาธิสั้นอาจทำให้เด็ก ๆ เรียนได้ดีที่โรงเรียนได้ยาก เพราะพวกเขาพบว่ามันยากที่จะทำตามคำแนะนำและมีสมาธิจดจ่อ ปัญหาพฤติกรรมของพวกเขาอาจขัดขวางความสามารถในการเข้ากับครอบครัวและเพื่อนฝูงได้ดี และพวกเขามักจะมีปัญหามากกว่าเด็กคนอื่นๆ

ADHD รักษาอย่างไร

Methylphenidate (เช่น Ritalin) เป็นยาที่จ่ายบ่อยที่สุดให้กับเด็กและวัยรุ่นที่มีสมาธิสั้น methylphenidate เป็นตัวกระตุ้นที่ช่วยเพิ่มกิจกรรมในส่วนต่างๆ ของสมอง เช่น ส่วนที่เกี่ยวข้องกับสมาธิ methylphenidate สามารถใช้เป็นยาเม็ดหรือให้เป็นแผ่นแปะผิวหนังได้ สามารถกำหนดสูตรให้มีผลทันทีหรือให้ผลช้าในช่วงเวลาหลายชั่วโมง methylphenidate อาจทำให้เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ ปวดท้อง และมีปัญหาในการนอนหลับ บางครั้งทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์อย่างร้ายแรง เช่น ปัญหาเกี่ยวกับหัวใจ ภาพหลอน หรืออาการ 'tics' (กระตุก) ที่ใบหน้า

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่า methylphenidate ช่วยปรับปรุงอาการ ADHD ของเด็ก (สมาธิสั้น, ไม่อยู่นิ่ง) โดยอิงจากการให้คะแนนของครูโดยใช้มาตราส่วนต่าง ๆ เป็นหลัก และพิจารณาว่าเมทิลเฟนิเดตก่อให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง เช่น การเสียชีวิต การรักษาตัวในโรงพยาบาล หรือความพิการหรือไม่ นอกจากนี้ เรายังสนใจผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ที่รุนแรงน้อยกว่า เช่น ปัญหาการนอนหลับและการสูญเสียความอยากอาหาร และผลกระทบต่อพฤติกรรมทั่วไปและคุณภาพชีวิตของเด็ก

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่ตรวจสอบการใช้เมทิลเฟนิเดตในเด็กและวัยรุ่นที่มีสมาธิสั้น ผู้เข้าร่วมการศึกษาต้องมีอายุ 18 ปีหรือน้อยกว่าและมีการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น พวกเขาอาจมีความผิดปกติหรืออาการเจ็บป่วยอื่น ๆ และกำลังรับประทานยาอื่น ๆ หรืออยู่ในระหว่างการบำบัดพฤติกรรม พวกเขาต้องมีไอคิวปกติ (เชาวน์ปัญญา) การศึกษาสามารถเปรียบเทียบ methylphenidate กับยาหลอก (สิ่งที่ออกแบบให้มีลักษณะและรสชาติเหมือนกับ methylphenidate แต่ไม่มีสารออกฤทธิ์) หรือไม่มีการรักษา ผู้เข้าร่วมจะต้องถูกสุ่มเลือกเพื่อรับ methylphenidate หรือไม่ได้รับ เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและให้คะแนนความเชื่อมั่นในหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาดของการศึกษา

เราพบอะไร

เราพบการศึกษา 212 ฉบับ กับเด็กหรือวัยรุ่น 16,302 คนที่เป็นโรคสมาธิสั้น การทดลองส่วนใหญ่เปรียบเทียบ methylphenidate กับยาหลอก การศึกษาส่วนใหญ่มีขนาดเล็กโดยมีเด็กประมาณ 70 คน อายุเฉลี่ย 10 ปี (อายุระหว่าง 3 ถึง 18 ปี) การศึกษาส่วนใหญ่ใช้เวลาสั้น ๆ โดยเฉลี่ยประมาณหนึ่งเดือน การศึกษาที่สั้นที่สุดใช้เวลาเพียงหนึ่งวันและยาวนานที่สุด 425 วัน การศึกษาส่วนใหญ่อยู่ในสหรัฐอเมริกา

จากการให้คะแนนของครู เทียบกับยาหลอกหรือไม่มีการรักษา methylphenidate:

- อาจทำให้อาการ ADHD ดีขึ้น (การศึกษา 21 ฉบับ เด็ก 1728 คน)

- อาจไม่มีความแตกต่างกับในเรื่องผลข้างเคียงที่รุนแรง (การศึกษา 26 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 3673 คน)

- อาจทำให้เกิดผลข้างเคียงที่ไม่ร้ายแรงมากขึ้น (การศึกษา 35 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 5342 คน)

- อาจปรับปรุงพฤติกรรมทั่วไป (7 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 792 คน)

- อาจไม่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต (4 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 608 คน)

ข้อจำกัดของหลักฐาน

ความเชื่อมั่นของเราต่อผลเหล่านี้ถูกจำกัด ด้วยเหตุผลหลายประการ บ่อยครั้งเป็นไปได้ที่คนในการศึกษาจะรู้ว่าเด็กกำลังรับการรักษาแบบใด ซึ่งอาจส่งผลต่อผลลัพธ์ การรายงานผลลัพธ์ไม่สมบูรณ์ในหลายการศึกษา และสำหรับบางผลลัพธ์ ผลลัพธ์ที่ได้ก็แตกต่างกันไปในแต่ละการศึกษา การศึกษามีขนาดเล็กและใช้มาตรวัดอาการที่แตกต่างกัน และการศึกษาส่วนใหญ่กินเวลาเพียงช่วงสั้นๆ ทำให้ไม่สามารถประเมินผลระยะยาวของเมทิลเฟนิเดตได้ ประมาณ 41% ของการศึกษาได้รับทุนหรือบางส่วนได้รับทุนจากอุตสาหกรรมยา

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

นี่คือการปรับปรุงการทบทวนที่เผยแพร่ในปี 2015 หลักฐานเป็นปัจจุบันถึงมีนาคม 2022

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

ข้อสรุปส่วนใหญ่ของเราจากการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบฉบับปี 2015 นี้ยังคงนำไปใช้ได้ การวิเคราะห์อภิมานที่ปรับปรุงของเราแนะนำว่า methylphenidate เทียบกับยาหลอกหรือการไม่แทรกแซงอาจช่วยปรับปรุงอาการสมาธิสั้นที่ครูให้คะแนนและพฤติกรรมทั่วไปในเด็กและวัยรุ่นที่มีสมาธิสั้น อาจไม่มีผลกระทบต่อเหตุการณ์ร้ายแรงและคุณภาพชีวิต methylphenidate อาจเกี่ยวข้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ถือว่าไม่ร้ายแรง เช่น ปัญหาการนอนหลับและความอยากอาหารลดลง อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของหลักฐานสำหรับผลลัพธ์ทั้งหมดนั้นต่ำมาก ดังนั้นขนาดที่แท้จริงของผลกระทบจึงยังไม่ชัดเจน

เนื่องจากความถี่ของเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่ไม่ร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับ methylphenidate การทำให้ผู้เข้าร่วมและผู้ประเมินผลลัพธ์ไม่รู้ว่าใครอยู่ในกลุ่มใดจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพื่อรองรับความท้าทายนี้ ควรหายาหลอกที่ออกฤทธ์ได้และนำมาใช้ อาจเป็นเรื่องยากที่จะหายาดังกล่าว แต่การระบุสารที่สามารถเลียนแบบผลข้างเคียงที่จดจำได้ง่ายของ methylphenidate จะช่วยป้องกันการเปิดเผยกลุ่มของผู้เข้าร่วมที่ส่งผลเสียต่อการทดลองแบบสุ่มในปัจจุบัน

การทบทวนอย่างเป็นระบบในอนาคตควรตรวจสอบกลุ่มย่อยของผู้ป่วย ADHD ที่อาจได้รับประโยชน์สูงสุดและน้อยที่สุดจาก methylphenidate ซึ่งสามารถทำได้ด้วยข้อมูลผู้เข้าร่วมรายบุคคลเพื่อตรวจสอบตัวทำนายและตัวดัดแปลง เช่น อายุ โรคร่วม และชนิดย่อยของ ADHD

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

โรคสมาธิสั้น (Attention deficit hyperactivity disorder; ADHD) เป็นหนึ่งในโรคทางจิตเวชที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาบ่อยในวัยเด็ก โดยทั่วไปแล้ว เด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรคสมาธิสั้นจะพบว่าเป็นการยากที่จะใส่ใจกับสิ่งต่างๆ และพวกเขาจะสมาธิสั้นและหุนหันพลันแล่น Methylphenidate เป็นสารกระตุ้นจิตที่สั่งใช้บ่อยที่สุด แต่หลักฐานเกี่ยวกับประโยชน์และโทษยังไม่แน่นอน นี่เป็นการปรับปรุงการทบทวนอย่างเป็นระบบที่ครอบคลุมของเราเกี่ยวกับประโยชน์และอันตรายที่เผยแพร่ในปี 2015

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลที่เป็นประโยชน์และโทษของเมทิลเฟนิเดตสำหรับเด็กและวัยรุ่นที่เป็นโรคสมาธิสั้น

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหา CENTRAL, MEDLINE, Embase, ฐานข้อมูลอื่นๆ อีก 3 ฐานข้อมูล และทะเบียนการทดลอง 2 รายการจนถึงเดือนมีนาคม 2022 นอกจากนี้ เรายังตรวจสอบรายการอ้างอิงและขอข้อมูลที่เผยแพร่และไม่ได้เผยแพร่จากผู้ผลิตเมทิลเฟนิเดต

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองทางคลินิกแบบสุ่ม (RCTs) ทั้งหมดที่เปรียบเทียบเมทิลเฟนิเดตกับยาหลอกหรือไม่มีการแทรกแซงในเด็กและวัยรุ่นอายุ 18 ปีหรือต่ำกว่าที่มีการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมาธิสั้น การค้นหาไม่จำกัดด้วยปีที่ตีพิมพ์หรือภาษา แต่การทดลองที่รวมไว้กำหนดให้ผู้เข้าร่วม 75% ขึ้นไปมีความฉลาดทางสติปัญญาปกติ (IQ > 70) เราประเมินผลลัพธ์หลัก 2 รายการ อาการ ADHD และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง และผลลัพธ์รอง 3 รายการ เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่พิจารณาว่าไม่ร้ายแรง พฤติกรรมทั่วไป และคุณภาพชีวิต

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรม 2 คนเลือกการศึกษา คัดลอกข้อมูล และประเมินความเสี่ยงของอคติอย่างเป็นอิสระต่อกัน ผู้วิจัย 6 คน รวมถึง ผู้วิจัย 2 คน ที่เป็นเจ้าของต้นฉบับเข้าร่วมในการอัปเดตในปี 2022 เราใช้ระเบียบวิธีมาตรฐานของ Cochrane ข้อมูลจากการทดลองแบบกลุ่มคู่ขนานและข้อมูลช่วงแรกจากการทดลองแบบไขว้เป็นพื้นฐานของการวิเคราะห์หลักของเรา เราทำการวิเคราะห์แยกกันโดยใช้ข้อมูลจากช่วงสุดท้ายของการทดลองแบบไขว้ เราใช้ Trial Sequential Analysis (TSA) เพื่อควบคุมข้อผิดพลาดประเภท I (5%) และประเภท II (20%) และเราประเมินและปรับลดความเชื่อมั่นของหลักฐานตามแนวทางของ GRADE

ผลการวิจัย: 

เรารวมการทดลอง 212 การทดลอง (สุ่มผู้เข้าร่วม 16,302 คน); การทดลองแบบกลุ่มคู่ขนาน 55 การทดลอง (สุ่มผู้เข้าร่วม 8104 คน) และการทดลองแบบไข้ว 156 การทดลอง (สุ่มผู้เข้าร่วม 8033 คน) รวมถึง 1 การทดลองที่มีเฟสคู่ขนาน (สุ่มผู้เข้าร่วม 114 คน) และเฟสไข้ว (สุ่มผู้เข้าร่วม 165 คน) อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมคือ 9.8 ปี ตั้งแต่ 3 ถึง 18 ปี (2 การทดลอง อายุตั้งแต่ 3 ถึง 21 ปี) อัตราส่วน ชาย-หญิง คือ 3:1 การทดลองส่วนใหญ่ดำเนินการในประเทศที่มีรายได้สูง และ 86/212 การทดลอง (41%) ได้รับทุนสนับสนุนหรือได้บางส่วนจากอุตสาหกรรมเภสัชกรรม ระยะเวลาการรักษา Methylphenidate อยู่ระหว่าง 1 ถึง 425 วัน โดยมีระยะเวลาเฉลี่ย 28.8 วัน การทดลองเปรียบเทียบ methylphenidate กับยาหลอก (200 การทดลอง) และเทียบกับไม่มีการแทรกแซง (12 การทดลอง) การทดลองเพียง 165/212 การทดลองเท่านั้นที่มีข้อมูลผลลัพธ์อย่างน้อยหนึ่งรายการที่สามารถนำมาใช้ได้จากผู้เข้าร่วม 14,271 คน

จากการทดลอง 212 การทดลอง มี 191 การทดลองที่มีความเสี่ยงของการมีอคติสูงและ 21 การทดลองที่มีความเสี่ยงของการมีอคติต่ำ อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงการทำให้เมทิลเฟนิเดตไม่ถูกปิดบังกลุ่มเนื่องจากเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มีความเฉพาะ การทดลองทั้ง 212 การทดลองมีความเสี่ยงของการมีอคติสูง

ผลลัพธ์หลัก: methylphenidate เทียบกับยาหลอกหรือไม่มีการแทรกแซงอาจปรับปรุงอาการ ADHD ที่ครูประเมิน (standardised mean different (SMD) −0.74, 95% Confident Interval (CI) −0.88 ถึง −0.61; I² = 38%; 21 การทดลอง; ผู้เข้าร่วม 1728 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) ซึ่งสอดคล้องกับความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) ที่ −10.58 (95% CI −12.58 ถึง −8.72) ในระดับคะแนน ADHD (ADHD-RS; ช่วง 0 ถึง 72 คะแนน) ความแตกต่างน้อยที่สุดที่มีความหมายทางคลินิกคือการเปลี่ยนแปลง 6.6 คะแนนใน ADHD-RS methylphenidate อาจไม่ส่งผลต่อเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 0.80, 95% CI 0.39 ถึง 1.67; I² = 0%; 26 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 3673 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) ผลการแทรกแซงที่ปรับโดย TSA คือ RR 0.91 (CI 0.31 ถึง 2.68)

ผลลัพธ์ทุติยภูมิ: methylphenidate อาจทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์มากขึ้น โดยพิจารณาว่าไม่ร้ายแรงเมื่อเทียบกับยาหลอกหรือไม่มีการแทรกแซง (RR 1.23, 95% CI 1.11 ถึง 1.37; I² = 72%; 35 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 5342 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) ผลการแทรกแซงที่ปรับโดย TSA คือ RR 1.22 (CI 1.08 ถึง 1.43) methylphenidate อาจปรับปรุงพฤติกรรมทั่วไปที่ครูให้คะแนนเมื่อเทียบกับยาหลอก (SMD −0.62, 95% CI −0.91 ถึง −0.33; I² = 68%; 7 การทดลอง ผู้เข้าร่วม 792 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) แต่อาจไม่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต (SMD 0.40, 95% CI −0.03 ถึง 0.83; I² = 81%; 4 การทดลอง, ผู้เข้าร่วม 608 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย ผกากรอง 29 พฤศจิกายน 2023

Tools
Information