เทคโนโลยีอำนวยความสะดวกสำหรับการสนับสนุนความทรงจำในภาวะสมองเสื่อม

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม

เราต้องการทราบจากหลักฐานของการทบทวนวรรณกรรมว่าเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก (Assistive Technology) สามารถช่วยให้ผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมเอาชนะผลกระทบบางอย่างของปัญหาความทรงจำได้หรือไม่

ที่มาและความสำคัญ

ภาวะสมองเสื่อมทำให้เกิดปัญหาด้านความทรงจำซึ่งทำให้การดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันทำได้ยากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การทำอาหาร การจำนัดหมาย การรับประทานยา ปัญหาความทรงจำที่เกิดขึ้นอาจส่งผลเสียอย่างมากต่อผู้ที่เป็นโรคสมองเสื่อมและอาจทำให้เกิดความสับสน วิตกกังวล อับอาย หรือซึมเศร้า ความสามารถในการดำเนินกิจกรรมประจำวันที่ลดลงนี้อาจทำให้เกิดความเครียดกับผู้ดูแลในครอบครัวซึ่งเป็นผู้ที่กังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยและสุขภาวะที่ดีของผู้ป่วย อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์หลายชนิดซึ่งส่วนใหญ่เรียกกันว่าเทคโนโลยีอำนวยความสะดวก (Assistive Technology (AT - ใช้ตลอดการทบทวนวรรณกรรมนี้)) และบางครั้งเป็นเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกอิเลกทรอนิกส์ (Electronic Assistive Technology (EAT)) - ได้รับการพัฒนาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม อุปกรณ์เหล่านี้สามารถแบ่งออกเป็นสี่ประเภทที่สามารถรองรับข้อมูลทั่วไปและข้อมูลส่วนบุคคล (เช่น แผนภูมิสังคมดิจิทัล (digital social charts)) การช่วยเหลือในทางปฏิบัติกับปัญหาที่เกิดจากอาการของภาวะสมองเสื่อมโดยเฉพาะอาการสูญเสียความทรงจำ (เช่น กล่องจ่ายยาอิเล็กทรอนิกส์ สมุดบันทึกอิเล็กทรอนิกส์) การสนับสนุนการติดต่อทางสังคมและเพื่อน (เช่น โทรศัพท์รูปภาพหุ่นยนต์ 'สัตว์เลี้ยง' แบบโต้ตอบ); และรองรับการรับรู้ความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัย (เช่น อุปกรณ์ติดตาม การตรวจจับการหกล้ม) ในการทบทวนวรรณกรรมนี้เรามุ่งเน้นไปที่อุปกรณ์ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยผู้คนจัดการปัญหาความทรงจำของพวกเขา เราต้องการค้นหาว่า AT มีประสิทธิภาพในการช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาด้านความทรงจำเนื่องจากภาวะสมองเสื่อมในการดำเนินกิจกรรมประจำวันและทำให้พวกเขาพึ่งพาผู้อื่นน้อยลงหรือไม่ ช่วยปรับปรุงคุณภาพชีวิตหรือมีประสิทธิผลต่อการเข้ารับการดูแลในสถานพยาบาล นอกจากนี้เรายังต้องการตรวจสอบว่าอุปกรณ์นี้มีผลกระทบต่อครอบครัวและผู้ดูแลที่ได้รับค่าตอบแทนหรือไม่

ลักษณะของการศึกษา

เราสืบค้นอย่างเป็นระบบสำหรับการศึกษาวิจัยทั้งหมดที่มีการประเมิน AT ด้วยการจัดสรรผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมด้วยการสุ่มรับอุปกรณ์ AT หรือรับการดูแลรักษาปกติ หรือรับการแก้ไขโดยไม่ใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนความทรงจำและทำการเปรียบเทียบผลลัพธ์ การค้นหาของเราได้รวบรวมหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่จนถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2016

ผลการศึกษาที่สำคัญ

เราพบว่าไม่มีการศึกษาที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเข้าของเรา

คุณภาพของหลักฐาน

การทบทวนระบุวรรณกรรมจำนวนมากเกี่ยวกับการพัฒนา AT รวมถึงรายงานของนักวิจัยที่ทำงานกับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแล เพื่อกำหนดประเภทและการออกแบบของ AT ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ นอกจากนี้ยังมีคำแนะนำมากมายที่เขียนขึ้นสำหรับบุคลากรทางการแพทย์และผู้ใช้ AT เราพบการศึกษาขนาดเล็กบางการศึกษาที่ได้ทดสอบประสิทธิผลของอุปกรณ์ AT ที่เลือก แต่วิธีการที่ใช้ไม่มีคุณภาพสูงพอที่จะเป็นไปตามเกณฑ์การทบทวนวรรณกรรม ดังนั้นเราจึงไม่สามารถมั่นใจได้ในขณะนี้ว่า AT สามารถช่วยผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมจัดการปัญหาความจำของพวกเขาได้จริงหรือไม่ เราเชื่อว่าควรมีการวิจัยเพิ่มเติมในหัวข้อนี้

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบนี้ชี้ให้เห็นถึงการขาดหลักฐานคุณภาพสูงในปัจจุบันเพื่อตรวจสอบว่า AT มีประสิทธิผลในการสนับสนุนผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในการจัดการปัญหาความจำของพวกเขาหรือไม่

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ความสนใจอย่างต่อเนื่องในเทคโนโลยีอำนวยความสะดวกทางอิเล็กทรอนิกส์ในการดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมได้รับแรงหนุนจากความจำเป็นเร่งด่วนในการพัฒนาแนวทางที่เป็นประโยชน์เพื่อช่วยสนับสนุนผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมที่บ้าน อีกทั้งต้นทุนที่ต่ำและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีอยู่มากมายทำให้สามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพื่อประโยชน์แก่คนพิการได้มากขึ้น อุปกรณ์เทคโนโลยีการสื่อสารข้อมูล (ICT) ที่ออกแบบมาเพื่อรองรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมมักเรียกว่า Assistive Technology (AT) หรือ Electronic Assistive Technology (EAT) การใช้ AT ในการทบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบครั้งนี้เราอ้างถึงอุปกรณ์ช่วยเหลืออิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ AT หลายชนิดได้รับการพัฒนาเพื่อรองรับผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม ผู้ดูแลในการจัดการกิจกรรมประจำวัน และเพื่อเพิ่มความปลอดภัย เช่นกล่องยาอิเล็กทรอนิกส์ โทรศัพท์แบบรูปภาพ หรืออุปกรณ์ติดตามมือถือ ซึ่งหลายอย่างมีขายตามท้องตลาด อย่างไรก็ตาม ประโยชน์และความเป็นมิตรต่อผู้ใช้ของอุปกรณ์เหล่านี้มักได้รับการประเมินไม่ดี แม้ว่าจะมีการทบทวนวรรณกรรมเกี่ยวกับเครื่องช่วยความจำ (อิเล็กทรอนิกส์) แต่ยังขาดการทบทวนการศึกษาอย่างเป็นระบบที่มุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพของเครื่อง AT สำหรับการสนับสนุนหน่วยความจำในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อม การทบทวนวรรณกรรมดังกล่าวจะแนะนำผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมและผู้ดูแลที่ไม่เป็นทางการและผู้เชี่ยวชาญในการเลือกใช้อุปกรณ์ AT ที่เหมาะสม

วัตถุประสงค์: 

วัตถุประสงค์หลัก

เพื่อประเมินประสิทธิภาพของ AT สำหรับการส่งเสริมความจำในผู้ที่มีภาวะสมองเสื่อมในแง่ของประสิทธิภาพส่วนบุคคลและเป็นเครื่องมือในการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน (ADL) ระดับการพึ่งพา และการเข้ารับการดูแลระยะยาว

วัตถุประสงค์รอง

เพื่อประเมินผลกระทบของ AT ต่อ: ผู้ใช้ (ความเป็นอิสระ ความมีประโยชน์และความเป็นมิตรต่อผู้ใช้ การนำ AT มาใช้) การทำงานของความรู้ความเข้าใจและอาการทางจิตเวช ความต้องการการดูแลอย่างไม่เป็นทางการและเป็นทางการ การรับรู้คุณภาพชีวิต ภาระของผู้ดูแลที่ไม่เป็นทางการ ความภาคภูมิใจในตนเองและความรู้สึกถึงความสามารถ ความพึงพอใจในการทำงานของผู้ดูแลอย่างเป็นทางการ ภาระงานและความรู้สึกว่ามีความสามารถ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาจาก ALOIS, และ the specialised register of the Cochrane Dementia and Cognitive Improvement Group ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2016 ALOIS ได้รับการดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านข้อมูลของ CDCIG และบรรจุการศึกษาเกี่ยวกับการป้องกันภาวะสมองเสื่อม การรักษาภาวะสมองเสื่อม และการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในคนที่มีสุขภาพดี เรายังค้นหารายการฐานข้อมูลต่อไปนี้ โดยปรับกลยุทธ์การค้นหาตามความจำเป็น: ฐานข้อมูล Center for Reviews and Dissemination (CRD) ถึงเดือนพฤษภาคม 2016 The Collection of Computer Science Bibliographies; DBLP Computer Science Bibliography; HCI Bibliography: Human-Computer Interaction Resources; and AgeInfo, all to June 2016; PiCarta; Inspec; Springer Link Lecture Notes; Social Care Online; and IEEE Computer Society Digital Library ทุกฐานสืบค้นถึงเดือนตุลาคม 2016 J-STAGE: Japan Science and Technology Information Aggregator, Electronic; and Networked Computer Science Technical Reference Library (NCSTRL), ทั้งสองฐานข้อมูลสืบค้นถึงเดือนพฤศจิกายน 2016; Computing Research Repository (CoRR) up to December 2016; and OT seeker; and ADEAR, ทั้งสองฐานข้อมูลสืยค้นถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2017 นอกจากนี้เรายังค้นหาใน Google Scholar และ OpenSIGLE เพื่อหาเอกสารที่ไม่ได้พิมพ์เผยแพร่ (grey literature)

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เราตั้งใจที่จะทบทวนการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) และการทดลองแบบสุ่มแบบคลัสเตอร์ที่มีการประเมินผลลัพธ์แบบปกปิด โดยประเมินอุปกรณ์ช่วยเหลืออิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวในการสนับสนุนฟังก์ชันหน่วยความจำในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคสมองเสื่อม ในกลุ่มควบคุมวิธีการที่ใช้อาจเป็น 'การดูแล (หรือการรักษา) ตามปกติ' หรือการใช้วิธีการทางจิตสังคมที่ไม่ใช่เทคโนโลยี (รวมถึงการใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือที่ไม่ใช่อิเล็กทรอนิกส์) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความจำโดยเฉพาะ การวัดผลลัพธ์นั้นรวมรวมนำเข้ากิจกรรมในชีวิตประจำวัน ระดับการพึ่งพา ผลลัพธ์ทางคลินิก และผลลัพธ์ที่เกี่ยวข้องกับการดูแล (ยกตัวอย่าง เช่น การเข้ารับการดูแลระยะยาว) การรับรู้คุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ และเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการใช้ AT เช่นเดียวกับผลกระทบของ AT ต่อผู้ดูแล

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้วิจัยสองคนคัดกรองชื่อเรื่องและบทคัดย่อทั้งหมดที่ได้จากการสืบค้นโดยอิสระต่อกัน

ผลการวิจัย: 

เราไม่พบการศึกษาใดที่ตรงตามเกณฑ์การคัดเข้า

บันทึกการแปล: 

แปลโดย นายอนุวัตน์ เพ็งพุฒ (Anuwat Pengput) นักวิชาการสาธารณสุขปฏิบัติการ สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ วันที่ 28 มกราคม 2564

Tools
Information