กาวสำหรับการผ่าตัดป้องกันตับอ่อนมีช่องทางเชื่อมหลังการผ่าตัด (การรั่วไหลของของเหลวจากตับอ่อน) และส่งเสริมการสมานแผลหลังการผ่าตัดหรือไม่

ใจความสำคัญ

- กาวสำหรับการผ่าตัดอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยกับการปิดช่องทางเชื่อมของตับอ่อนหลังการผ่าตัดในผู้ที่ผ่าตัดเอาส่วนหางของตับอ่อนออก

- เราไม่ทราบว่ากาวสำหรับการผ่าตัดมีผลต่อช่องเปิดของตับอ่อนหลังการผ่าตัดในผู้ที่ผ่าตัดเอาส่วนหัวของตับอ่อนออกหรือไม่

- เรายังไม่ทราบด้วยว่ากาวสำหรับผ่าตัดมีผลต่ออัตราการเสียชีวิตของผู้ที่ได้รับการผ่าตัดตับอ่อนด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งเหล่านี้หรือไม่

ช่องทางเชื่อมตับอ่อนหลังผ่าตัดคืออะไร

ช่องทางเชื่อมตับอ่อนหลังผ่าตัดเป็นภาวะแทรกซ้อนที่อาจคุกคามถึงชีวิตได้ ซึ่งอาจตามมาหลังการผ่าตัดใหญ่สำหรับมะเร็งหรือการอักเสบของตับอ่อน ตับอ่อนเป็นต่อมย่อยอาหารที่อยู่บริเวณส่วนหลังของช่องท้องส่วนบน ช่องทางเชื่อมเกิดขึ้นเมื่อตอของตับอ่อนหรือการเชื่อมต่อระหว่างตับอ่อนและลำไส้ใกล้เคียงไม่สามารถหายได้อย่างเหมาะสม ทำให้เกิดการรั่วไหลของน้ำย่อยจากตับอ่อนไปยังเนื้อเยื่อในช่องท้อง สิ่งนี้ทำให้การฟื้นตัวจากการผ่าตัดล่าช้าและมักต้องได้รับการรักษาเพิ่มเติมเพื่อให้แน่ใจว่าการหายของแผลจะสมบูรณ์

สิ่งนี้ป้องกันได้อย่างไร

'กาว' สำหรับการผ่าตัด หรือที่เรียกว่า 'กาวติดเนื้อเยื่อผ่าตัด' เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเลือดของมนุษย์หรือสัตว์ และใช้เพื่อปิดบาดแผลและช่วยควบคุมเลือดออกในการผ่าตัดต่างๆ ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีการใช้กาวสำหรับการผ่าตัดเพื่อป้องกันช่องทางเชื่อมตับอ่อนหลังการผ่าตัด หลังการผ่าตัดตับอ่อน อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพและความปลอดภัยในการผ่าตัดประเภทนี้ยังไม่เป็นที่แน่นอน

เราต้องการค้นหาอะไร

เราต้องการทราบว่ากาวสำหรับการผ่าตัดมีประสิทธิภาพในการป้องกันช่อทางเชื่อมตับอ่อนหลังการผ่าตัดหลังการผ่าตัดตับอ่อนในสถาณการณ์ใด ๆ เมื่อเทียบกับการไม่ใช้กาว เราดูที่:

อัตราการเกิดช่องทางเชื่อมตับอ่อนหลังผ่าตัด
- อัตราการเสียชีวิต
- อัตราภาวะแทรกซ้อนโดยรวม
- อัตราการต้องผ่าตัดเพิ่มเติม
- มีผลกระทบที่เป็นอันตรายหรือไม่พึงประสงค์หรือไม่
- คุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ/สถานะสุขภาพของผู้เข้าร่วม
- ค่ารักษาพยาบาล
ระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งหมด

เราทำอะไร

เราค้นหาการศึกษาที่เปรียบเทียบการใช้กาวสำหรับการผ่าตัดกับการไม่ใช้กาวในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดตับอ่อน เราเปรียบเทียบและสรุปผลการศึกษาและให้คะแนนความเชื่อมั่นในหลักฐาน โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วิธีการศึกษาและขนาด

เราพบอะไร

เราพบการศึกษาทั้งหมด 14 ฉบับ โดยมีผู้เข้าร่วม 1989 คน เราแบ่งการศึกษาออกเป็นสามกลุ่มเปรียบเทียบ เนื่องจากผู้คนในการศึกษาเหล่านี้ได้รับการผ่าตัดตับอ่อนสามประเภทที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องใช้กาวสำหรับการผ่าตัดที่แตกต่างกัน

การเปรียบเทียบ 1:
เราพบการศึกษา 8 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วม 1119 คน ที่ผ่าตัดเอา 'หาง' ของตับอ่อนออก ในการผ่าตัดนี้จะใช้กาวผ่าตัดกับตอตับอ่อน เมื่อเทียบกับการไม่ใช้กาว กาวสำหรับการผ่าตัดอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยสำหรับ:

อัตราการเกิดช่องทางเชื่อมตับอ่อนหลังผ่าตัด
- อัตราภาวะแทรกซ้อนโดยรวม

กาวสำหรับการผ่าตัดอาจลดอัตราการผ่าตัดเพิ่มเติมเล็กน้อยเมื่อเทียบกับการไม่ใช้กาว ไม่มีผลที่เป็นอันตรายหรือไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กาวผ่าตัดในการศึกษาเหล่านี้ อย่างไรก็ตาม เราไม่ทราบว่าการใช้งานมีผลกับ:

- อัตราการเสียชีวิต
ระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งหมด

การศึกษาทั้ง 8 ฉบับ นี้ไม่ได้รายงานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ/สถานะสุขภาพของผู้เข้าร่วมการวิจัย และค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล

การเปรียบเทียบที่ 2
เราพบการศึกษา 5 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วม 519 คน ซึ่งได้รับการเอาส่วน 'หัว' ของตับอ่อนออก ในการผ่าตัดนี้ ศัลยแพทย์จะสร้างการเชื่อมต่อระหว่างตอของตับอ่อนกับลำไส้เล็ก และจะใช้กาวสำหรับการผ่าตัดเพื่อเสริมการเชื่อมต่อนี้ เราไม่ทราบว่ากาวสำหรับการผ่าตัดมีผลต่อ:

อัตราการเกิดช่องทางเชื่อมตับอ่อนหลังผ่าตัด
- อัตราการเสียชีวิต
- อัตราการต้องผ่าตัดเพิ่มเติม
- ค่ารักษาพยาบาล

เมื่อเทียบกับการไม่ใช้กาว กาวสำหรับการผ่าตัดอาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยสำหรับ:

- อัตราภาวะแทรกซ้อนโดยรวม
ระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลทั้งหมด

ไม่มีผลที่เป็นอันตรายหรือไม่พึงประสงค์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้กาวผ่าตัดในการศึกษาเหล่านี้ การศึกษาเหล่านี้ไม่ได้รายงานเกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ/สถานะสุขภาพ ของผู้เข้าร่วม

การเปรียบเทียบที่ 3
เราพบการศึกษา 2 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วม 351 คน ซึ่งเข้ารับการผ่าตัดเอา 'ส่วนหัว' ของตับอ่อนออก ซึ่งมีการใช้กาวสำหรับการผ่าตัดเพื่อปิดท่อตับอ่อนหลัก เราไม่ทราบว่ากาวสำหรับการผ่าตัดมีผลต่อ:

- อัตราการเสียชีวิต
- อัตราภาวะแทรกซ้อนโดยรวม
- อัตราการต้องผ่าตัดเพิ่มเติม

เมื่อเทียบกับการไม่ใช้กาว กาวสำหรับการผ่าตัดอาจเพิ่มผลข้างเคียง (เบาหวาน) สำหรับผู้ป่วยเหล่านี้ อาจสร้างความแตกต่างเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยกับระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลทั้งหมด

การศึกษาทั้งสองนี้ไม่ได้รายงานเกี่ยวกับอัตราการเกิดช่องทางเชื่อมตับอ่อนหลังผ่าตัด ค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาล และคุณภาพชีวิตที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ/สถานะสุขภาพของผู้เข้าร่วมการวิจัย

ข้อจำกัดของหลักฐานคืออะไร

เราไม่มั่นใจในหลักฐานต่างๆ เนื่องจากเป็นไปได้ว่าผู้คนในการศึกษาทราบว่าพวกเขาได้รับการรักษาแบบใด และไม่ใช่การศึกษาทั้งหมดที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับทุกสิ่งที่สนใจ การศึกษาบางชิ้นไม่ได้รายงานอย่างชัดเจนว่าดำเนินการอย่างไร และไม่มีการศึกษาเพียงพอที่จะแน่ใจเกี่ยวกับผลลัพธ์ของเรา

หลักฐานนี้เป็นปัจจุบันแค่ไหน

ผู้วิจัยสืบค้นการศึกษาที่ได้รับการตีพิมพ์จนถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 2023

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

จากหลักฐานที่มีอยู่ในปัจจุบัน การใช้สารเคลือบไฟบรินอาจส่งผลให้อัตรา POPF แตกต่างกันเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดตับอ่อนส่วนปลาย หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของการใช้สารไฟบรินต่ออัตราของ POPF ในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดตับอ่อนและลำไส้เล็ก ผลของการใช้สารเคลือบไฟบรินต่อการเสียชีวิตหลังการผ่าตัดนั้นไม่แน่นอนในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดตับอ่อนส่วนปลายหรือตับอ่อนร่วมกับลำใส้ดูโอดีนัม

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

ตับอ่อนมีช่องทางเชื่อมหลังผ่าตัด (POPF) เป็นหนึ่งในภาวะแทรกซ้อนที่พบบ่อยที่สุดและอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตหลังการผ่าตัดตับอ่อน สารผนึกกันการรั่วไฟบรินถูกนำมาใช้ในบางศูนย์เพื่อลดอัตรา POPF อย่างไรก็ตาม การใช้ไฟบรินเคลือบในระหว่างการผ่าตัดตับอ่อนยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ นี่คือการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมที่เผยแพร่ครั้งล่าสุดในปี 2020

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินประโยชน์และโทษของการใช้ไฟบรินเคลือบเพื่อป้องกัน POPF (เกรด B หรือ C) ในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดตับอ่อนเปรียบเทียบกับการไม่ใช้ไฟบรินเคลือบ

วิธีการสืบค้น: 

เราค้นหาใน CENTRAL, MEDLINE, Embase ฐานข้อมูลอีกสองฐานข้อมูล และทะเบียนการทดลอง 5 แหล่ง ในวันที่ 9 มีนาคม 2023 ร่วมกับการตรวจสอบการอ้างอิง การค้นหาการอ้างอิง และติดต่อผู้เขียนการศึกษาเพื่อระบุการศึกษาเพิ่มเติม

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวมการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs) ทั้งหมดที่เปรียบเทียบสารเคลือบไฟบริน (กาวไฟบรินหรือแผ่นยาแนวไฟบริน) กับกลุ่มควบคุม (ไม่มีไฟบรินยาแนวหรือยาหลอก) ในผู้ที่ได้รับการผ่าตัดตับอ่อน

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

เราใช้ระเบียบวิธีการมาตรฐานที่ Cochrane คาดหวังไว้

ผลการวิจัย: 

เรารวม RCTs 14 ฉบับ สุ่มผู้เข้าร่วม 1989 คน เปรียบเทียบการใช้ไฟบรินเคลือบกับไม่ใช้ไฟบรินเคลือบตำแหน่งที่แตกต่างกัน: การเสริมแรงปิดบริเวณรอยแผล (การทดลอง 8 ฉบับ) การเสริมแรงตับอ่อนบริเวณ anastomosis (การทดลอง 5 ฉบับ) หรือการอุดตันท่อตับอ่อนหลัก (การทดลอง 2 ฉบับ) RCTs 6 ฉบับดำเนินการในศูนย์เดี่ยว; 2 ฉบับทำในศูนย์คู่; และ 6 ฉบับทำในหลายๆศูนย์ RCT 1 ฉบับ ดำเนินการในออสเตรเลีย; 1 ฉบับในออสเตรีย; 2 ฉบับในฝรั่งเศส; 3 ฉบับในอิตาลี; 1 ฉบับในประเทศญี่ปุ่น; 2 ฉบับในเนเธอร์แลนด์; 2 ฉบับในเกาหลีใต้ และอีก 2 ฉบับในสหรัฐอเมริกา อายุเฉลี่ยของผู้เข้าร่วมอยู่ในช่วงตั้งแต่ 50.0 ปีถึง 66.5 ปี RCT ทั้งหมดมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอคติ

การใช้สารเคลือบไฟบรินในการเสริมแรงปิดรอยแผลที่ตับอ่อนหลังการผ่าตัดตับอ่อนส่วนปลาย

เรารวม RCTs 8 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วม 1119 คน: 559 คน ถูกสุ่มไปยังกลุ่มสารเคลือบไฟบรินและ 560 คน ถูกสุ่มไปยังกลุ่มควบคุมหลังการผ่าตัดตับอ่อนส่วนปลาย การใช้สารเคลือบไฟบรินอาจส่งผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในอัตราของ POPF (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 0.94, ช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI) 0.73 ถึง 1.21; การศึกษา 5 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 1002 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) และการเจ็บป่วยโดยรวมหลังการผ่าตัด ( RR 1.20, 95% CI 0.98 ถึง 1.48; การศึกษา 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 893 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) หลังจากใช้สารเคลือบไฟบริน คนประมาณ 199 คน (155 ถึง 256 คน) จาก 1000 คนเป็น POPF เปรียบเทียบกับ 212 คนจาก 1000 คนเมื่อไม่มีการใช้สารเคลือบไฟบริน หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของการใช้สารเคลือบไฟบรินต่อการเสียชีวิตหลังการผ่าตัด (Peto odds ratio (OR) 0.39, 95% CI 0.12 ถึง 1.29; การศึกษา 7 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 1051 คน หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) และระยะเวลานอนโรงพยาบาลทั้งหมด ( ความแตกต่างของค่าเฉลี่ย (MD) 0.99 วัน, 95% CI -1.83 ถึง 3.82; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 371 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) การใช้สารเคลือบไฟบรินอาจลดอัตราการผ่าตัดซ้ำเล็กน้อย (RR 0.40, 95% CI 0.18 ถึง 0.90; การศึกษา 3ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 623 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงในการศึกษา 5 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 732 คน) และไม่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารเคลือบไฟบริน (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) การศึกษาไม่ได้รายงานคุณภาพชีวิตหรือความคุ้มค่า

การใช้สารเคลือบไฟบรินในการเสริมแรงตับอ่อนหลังการผ่าตัดตับอ่อนและลำไส้เล็ก

เรารวม RCTs 5 ฉบับ ที่มีผู้เข้าร่วม 519 คน ผู้เข้าร่วม 248 คน ถูกสุ่มไปยังกลุ่มไฟบรินและ 271 คนสุ่มไปยังกลุ่มควบคุมหลังการผ่าตัดตับอ่อนโคดูโอดีเนคโตมี หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของการใช้สารเคลือบไฟบรินต่ออัตรา POPF (RR 1.34, 95% CI 0.72 ถึง 2.48; การศึกษา 3 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 323 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก), การตายหลังการผ่าตัด (Peto OR 0.24, 95% CI 0.05 ถึง 1.06; การศึกษา 5 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 517 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) อัตราการผ่าตัดซ้ำ (RR 0.74, 95% CI 0.33 ถึง 1.66; การศึกษา 3 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 323 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) และค่ารักษาพยาบาลทั้งหมด (MD -1489.00 ดอลลาร์สหรัฐ 95% CI -3256.08 ถึง 278.08 การศึกษา 1 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 124 คน หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) หลังจากใช้สารเคลือบไฟบริน คนประมาณ 130 คน (70 ถึง 240 คน) จาก 1000 คนเกิด POPF เปรียบเทียบกับ 97 คนจาก 1000 คนเมื่อไม่มีการใช้สารเคลือบไฟบริน การใช้ไฟบรินอาจส่งผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างทั้งในการเจ็บป่วยโดยรวมหลังการผ่าตัด (RR 1.02, 95% CI 0.87 ถึง 1.19; การศึกษา 4 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 447 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และระยะเวลานอนโรงพยาบาลทั้งหมด (MD -0.33 วัน, 95% CI -2.30 ถึง 1.63 การศึกษา 4 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 447 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงในการศึกษา 2 ฉบับ (ผู้เข้าร่วม 194 คน) และไม่มีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับการใช้สารไฟบริน (หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) การศึกษาไม่ได้รายงานคุณภาพชีวิต

การใช้สารเคลือบไฟบรินเพื่ออุดท่อตับอ่อนหลังการผ่าตัดตับอ่อนและลำไส้เล็ก

เรารวม RCTs 2 ฉบับที่มีผู้เข้าร่วม 351 คน: ผู้เข้าร่วม 188 ถูกสุ่มไปยังกลุ่มไฟบรินและ 163 ไปยังกลุ่มควบคุมหลังการผ่าตัดตับอ่อนโคดูโอดีเนคโตมี หลักฐานมีความไม่แน่นอนอย่างมากเกี่ยวกับผลของการใช้สารไฟบรินต่อการเสียชีวิตหลังการผ่าตัด (Peto OR 1.41, 95% CI 0.63 ถึง 3.13; การศึกษา 2 ฉบับ, ผู้เข้าร่วม 351 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก), การเจ็บป่วยโดยรวมหลังการผ่าตัด (RR 1.16, 95% CI 0.67 ถึง 2.02 การศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 351 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) และอัตราการผ่าตัดซ้ำ (RR 0.85, 95% CI 0.52 ถึง 1.41; การศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 351 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำมาก) การใช้สารเคลือบไฟบรินอาจส่งผลเพียงเล็กน้อยหรือไม่มีความแตกต่างในระยะเวลาทั้งหมดของการนอนโรงพยาบาล (ค่ามัธยฐาน 16 ถึง 17 วันเทียบกับ 17 วัน การศึกษา 2 ฉบับ ผู้เข้าร่วม 351 คน; หลักฐานมีความเชื่อมั่นต่ำ) มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงในการศึกษาหนึ่งเรื่อง (ผู้เข้าร่วม 169 คน หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ): ผู้เข้าร่วมจำนวนมากขึ้นเป็นโรคเบาหวานเมื่อใช้สารเคลือบไฟบรินกับการอุดท่อตับอ่อน ทั้งในการติดตามผลที่สามเดือน (กลุ่มยาเคลือบไฟบริน 33.7% เทียบกับ 10.8% ในกลุ่มควบคุม ผู้เข้าร่วม 29 คน เทียบกับ ผู้เข้าร่วม 9 คน) และการติดตามผลที่ 12 เดือน (กลุ่มยาเคลือบไฟบริน 33.7% เทียบกับกลุ่มควบคุม 14.5% ผู้เข้าร่วม 29 คน เทียบกับผู้เข้าร่วม 12 คน) การศึกษาไม่ได้รายงาน POPF คุณภาพชีวิตหรือความคุ้มค่า

บันทึกการแปล: 

แปลโดย พญ.วิลาสินี หน่อแก้ว โรงพยาบาลมะเร็งอุบลราชธานี Edit โดย พญ ผกากรอง ลุมพิกานนท์ 14 มกราคม 2024

Tools
Information