การให้วิตามินดีเสริมเพื่อป้องกันการติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

ที่มาและความสำคัญของปัญหา

วิตามินดีเป็นสารอาหารที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของกระดูกและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การขาดวิตามินดีทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อนและมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคติดเชื้อต่าง ๆ รวมทั้งการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ มีการศึกษาหลายการศึกษารายงานความสัมพันธ์ระหว่างการขาดวิตามินดีและการติดเชื้อในเด็กและคิดว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับบทบาทของวิตามินดีในระบบภูมิคุ้มกัน การทบทวนนี้ผู้ทบทวนต้องการศึกษาการให้วิตามินดีเสริมเพื่อป้องกันการติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยโรคติดเชื้อที่ศึกษาในการทบทวนนี้ได้แก่โรคปอดบวม วัณโรค (TB) โรคอุจจาระร่วงและโรคมาลาเรีย

ลักษณะของการศึกษา

ผู้ทบทวนสืบค้นหลักฐานที่มีอยู่ถึง 17 มิถุนายน 2016 มีการศึกษารวม 4 เรื่อง เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจำนวน 3198 คน ซึ่งทำการศึกษาในประเทศอัฟกานิสถาน สเปนและสหรัฐอเมริกา

ผลการทบทวนหลัก

การทบทวนนี้ไม่พบผลของการเสริมวิตามินดีต่ออัตราการเสียชีวิต (หลักฐานคุณภาพต่ำ ); การเกิดปอดบวมครั้งแรกหรือเฉพาะจำนวนครั้งที่เป็นโรคปอดบวม โดยไม่คำนึงถึงการยืนยันการวินิจฉัยโดยการทดสอบทางห้องปฏิบัติการในโรงพยาบาล (หลักฐานคุณภาพระดับปานกลาง ) มีหลักฐานอย่างจำกัดว่าไม่มีความแตกต่างที่เห็นได้ชัดในการเกิดโรคอุจจาระร่วงครั้งแรกหรือการเป็นโรคอุจจาระร่วงซ้ำระหว่างเด็กที่เสริมและไม่เสริมวิตามินดี ไม่สามารถบอกได้ว่าวิตามินดีมีผลต่อการต้องอยู่รักษาในโรงพยาบาลหรือไม่ เพราะมีเพียงหนึ่งการศึกษาขนาดเล็กที่ศึกษาผลเรื่องนี้ (หลักฐานคุณภาพต่ำมาก ) เด็กที่เสริมวิตามินดีมีค่าเฉลี่ยระดับซีรั่มวิตามินดีสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้เสริม ณ วันสิ้นสุดการเสริมวิตามินดี (หลักฐานคุณภาพต่ำ ) การศึกษาขนาดใหญ่ 1 การศึกษาซึ่งศึกษาที่ประเทศอัฟกานิสถานพบการเพิ่มขึ้นของโรคปอดบวมชนิดเป็นซ้ำที่ได้รับการยืนยันการวินิจฉัย แต่ไม่พบการเพิ่มขึ้นของปอดบวมทั้งชนิดที่ได้รับและไม่ได้รับการยืนยัน ไม่มีการศึกษาใดที่รายงานผลต่อการติดเชื้อวัณโรคหรือมาลาเรีย

สรุป

การศึกษาที่มีขนาดใหญ่ 1 การศึกษาไม่พบว่าการเสริมวิตามินดีมีผลต่อการเสียชีวิตหรือการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ไม่พบการศึกษาที่ประเมินผลการเสริมวิตามินดีที่มีต่อการป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ เช่นวัณโรคและมาลาเรีย

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

หลักฐานจากการศึกษาขนาดใหญ่หนึ่งการศึกษาไม่ได้แสดงให้เห็นถึงประโยชน์ของการเสริมวิตามินดีต่ออุบัติการณ์ของโรคปอดบวมหรือโรคอุจจาระร่วงในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี จากการสืบค้นนี้ ไม่พบการศึกษาที่มีการประเมินผลการเสริมวิตามินดีสำหรับป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ รวมทั้งวัณโรคและมาลาเรีย

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

วิตามินดีเป็นสารอาหารที่สำคัญสำหรับการเจริญเติบโตของกระดูกและการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน การขาดวิตามินดีทำให้เกิดโรคกระดูกอ่อนและมีความเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคติดเชื้อต่าง ๆ รวมทั้งการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจ หลักฐานเกี่ยวกับผลของการเสริมวิตามินดีต่อการติดเชื้อในเด็กยังไม่ได้รับการประเมินอย่างเป็นระบบ

วัตถุประสงค์: 

เพื่อประเมินผลการให้วิตามินดีเสริมเพื่อป้องกันโรคปอดบวม วัณโรค โรคอุจจาระร่วงและโรคมาลาเรียในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งรวมการศึกษาทั้งในประเทศที่มีรายได้ต่อประชากรสูง กลางและต่ำ

วิธีการสืบค้น: 

ผู้ทบทวนสืบค้น the Cochrane Infectious Diseases Group Specialized Register, the Cochrane Central Register of Controlled Trials (CENTRAL), the Cochrane Library, MEDLINE, EMBASE, LILACS, the WHO International Clinical Trials Registry Platform (ICTRP; http://www.who.int/ictrp/en/ ) , ClinicalTrials.gov และ ISRCTN registry (http://www.isrctn.com/) ถึง 16 มิถุนายน 2016

เกณฑ์การคัดเลือก: 

ผู้ทบทวนรวมงานวิจัยแบบสุ่มที่มีกลุ่มเปรียบเทียบ (RCTs) ที่ประเมินการเสริมวิตามินดีเพื่อป้องกันภาวะต่างๆ (เทียบกับยาหลอกหรือไม่มีการเสริม) ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวน 2 คน ศึกษาผลของการสืบค้น ดูชื่อเรื่องและบทคัดย่อ รวมข้อมูลและประเมินความเสี่ยงของการมีอคติ อย่างเป็นอิสระต่อกัน

ผลการวิจัย: 

มีการศึกษารวม 4 เรื่องที่เข้าเกณฑ์การนำมาทบทวน เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีจำนวน 3198 คน ซึ่งทำการศึกษาในประเทศอัฟกานิสถาน สเปนและสหรัฐอเมริกา ความชุกของการขาดวิตามินดีแตกต่างกันค่อนข้างมากในประชากรเหล่านี้ (73.1% ในประเทศอัฟกานิสถาน 10 ถึง 12% ในประเทศสหรัฐอเมริกาและ 6.2% ในประเทศสเปน) มีการศึกษาที่ประเมินอัตราการตาย ( 2 การศึกษา) อุบัติการณ์ของโรคปอดบวม (2 การศึกษา) อุบัติการณ์ของโรคอุจจาระร่วง (2 การศึกษา) การอยู่รักษาในโรงพยาบาล (2 การศึกษา) และค่าเฉลี่ยของซีรั่มวิตามินดี (4 การศึกษา)

ไม่สามารถบอกได้ว่าการเสริมวิตามินดีมีผลต่อการเสียชีวิตโดยรวมจากทุกสาเหตุหรือไม่ เนื่องจากผลลัพธ์นี้คือการเสียชีวิตมีน้อย ( underpowered ) (อัตราส่วนความเสี่ยง (RR) 1.43 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.54-3.74; หนึ่งการศึกษามีเด็กจำนวน 3046 คน หลักฐานคุณภาพต่ำ )

สำหรับโรคปอดบวมชนิดที่ยืนยันโดยภาพรังสีทรวงอกที่เป็นครั้งแรกหรือจำนวนครั้งของโรคปอดบวมมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อยในกลุ่มเสริมและไม่เสริมวิตามินดี (Rate Ratio: 1.06, 95% ช่วงความเชื่อมั่น (CI) 0.89-1.26; 2 การศึกษามีเด็กจำนวน 3134 คน, หลักฐานมีคุณภาพในระดับปานกลาง ) และในทำนองเดียวกันสำหรับเด็กที่มีโรคปอดบวมทั้งที่ได้รับการยืนยันการวินิจฉัยหรือไม่ยืนยัน (RR 0.95, 95% CI 0.87-1.04; หนึ่งการศึกษา เด็กจำนวน 3046 คน) การศึกษาทั้ง 2 เรื่องนี้ไม่พบว่ามีความแตกต่างอย่างชัดเจนของจำนวนครั้งที่เกิดโรคอุจจาระร่วงระหว่างเด็กที่เสริมและไม่เสริมวิตามินดี

การศึกษาขนาดใหญ่จากประเทศอัฟกานิสถานรายงานว่าการเสริมวิตามินดีมีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของโรคปอดบวมชนิดเป็นซ้ำที่ได้รับการยืนยันจากภาพรังสีทรวงอก (RR 1.69, CI 1.28-2.21 95% หนึ่งการศึกษา เด็กจำนวน 3046 คน) แต่ไม่พบความสัมพันธ์นี้ในโรคปอดบวมทั้งที่ได้รับการยืนยันหรือไม่ยืนยันการวินิจฉัย (RR 1.06, 95% CI 1.00-1.13; หนึ่งการศึกษา เด็กจำนวน 3046 คน)

มีการประเมินการอยู่รักษาในโรงพยาบาลใน 1 การศึกษาขนาดเล็ก ซึ่งไม่พบว่ามีความแตกต่างกัน(RR 0.86, 95% CI 0.20-3.62 หนึ่งการศึกษา เด็กจำนวน 88 คน; หลักฐานคุณภาพต่ำมาก )

เด็กที่เสริมวิตามินดีมีค่าเฉลี่ยระดับซีรั่มวิตามินดีสูงกว่าเด็กที่ไม่ได้เสริม ณ วันสิ้นสุดการเสริมวิตามินดี ((MD 7.72 ng/mL, 95% CI 0.50 - 14.93; การศึกษา 4 การศึกษา, รวม 266 คน หลักฐานคุณภาพต่ำ ) ซึ่งผลเช่นนี้เกิดจากผลกระทบของการศึกษาขนาดเล็ก 2 การศึกษาที่มีผลค่อนข้างสูง ในขณะที่การศึกษาอีก 2 การศึกษาที่มีขนาดใหญ่กว่า พบว่าในกลุ่มที่เสริมวิตามินดีมีระดับวิตามินดีในซีรั่มสูงเป็นส่วนใหญ่ในช่วงที่มีการเสริม แต่ไม่สูงในตอนท้ายที่หยุดการเสริม ซึ่งอาจจะเป็นเพราะช่วงเวลาที่ห่างกันระหว่างการวัดค่าซีรั่มวิตามินดีกับการให้วิตามินดีเสริมครั้งสุดท้าย การกินวิตามินดีที่ไม่สมำ่เสมอ หรือปริมาณที่ร่างกายต้องการวิตามินดีเพิ่มขึ้นตามอายุของเด็กที่เพิ่มขึ้น

ไม่พบการศึกษาใด ๆ ที่ประเมินผลต่ออุบัติการณ์ของวัณโรค มาลาเรีย หรือการป่วยไข้อื่นๆ ระยะเวลาของโรคปอดบวม ระยะเวลาของโรคอุจจาระร่วง ความรุนแรงของการติดเชื้อและสาเหตุการตายเฉพาะ (จากวัณโรค โรคอุจจาระร่วงหรือโรคมาลาเรีย)

บันทึกการแปล: 

ผู้แปล ศ.พญ ผกากรอง ลุมพิกานนท์ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 13 ธันวาคม 2016

Tools
Information