การหลีกเลี่ยงขวดนม ในระยะเริ่มต้นของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ในทารกคลอดก่อนกำหนด

คำถามของการทบทวนวรรณกรรม: ในทารกคลอดก่อนกำหนดที่มารดาต้องการให้นมลูก การใช้ขวดนมขัดขวางความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่

ความเป็นมา: ทารกคลอดก่อนกำหนดจะเริ่มให้นมทางสายยาง และเมื่อโตขึ้น ก็สามารถดูดนมได้ จำนวนครั้งของการดูดนมในแต่ละวันจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นเมื่อทารกเติบโตขึ้น แม่ที่คลอดลูกก่อนกำหนด อาจไม่อยู่ในโรงพยาบาลทุกครั้งที่ทารกต้องการ เพื่อความสะดวก มักใช้ขวดนมในการป้อนนมแม่หรือนมผสม มีคำแนะนำว่า การใช้ขวดนมอาจขัดขวางความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ลักษณะการศึกษา: เราพบการศึกษาทดลองที่เข้าเกณฑ์ 7 การศึกษา (จำนวนทารกคลอดก่อนกำหนด 1152 คน) การศึกษาทดลองเหล่านี้มีขนาดเล็กถึงปานกลาง และส่วนใหญ่มีปัญหากับการออกแบบงานวิจัยหรือวิธีการดำเนินการวิจัย การสืบค้นล่าสุดถึง 24 กันยายน ค.ศ.2020

ผลลัพธ์ที่สำคัญ: 5 การศึกษา (ซึ่งรวมถึงการศึกษาทดลองที่ใหญ่ที่สุด 2 การศึกษา) ใช้การป้อนนมด้วยถ้วย และอีกหนึ่งการศึกษาใช้สายยาง อีก 1 การศึกษา ใช้จุกนมที่ออกแบบมาเป็นพิเศษที่เลียนแบบการดูดนมแม่มากกว่าการป้อนขวดนมแบบธรรมดา การศึกษาทดลองส่วนใหญ่ทำในประเทศที่มีรายได้สูง เพียง 2 การศึกษาที่ทำในประเทศรายได้ปานกลาง ไม่มีการศึกษาทดลองในประเทศรายได้ต่ำ โดยรวมแล้ว หากไม่ให้นมจากขวด (โดยใช้จุกนมแบบธรรมดา) ทารกมักมีโอกาสมากกว่า ที่จะได้รับนมแม่อย่างเดียวหรืออย่างน้อยก็ได้นมแม่ร่วมกับนมผสม เมื่อออกจากโรงพยาบาล และที่ 3 และ 6 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล การศึกษาโดยใช้จุกนมที่ออกแบบมาเป็นพิเศษนั้น ไม่มีความแตกต่างในผลลัพธ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ดังนั้นการใช้ถ้วยเพียงอย่างเดียวหรือการให้นมด้วยสายยางอย่างเดียว สามารถช่วยเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ อย่างไรก็ตาม ด้วยปัญหาคุณภาพการศึกษาทดลองให้นมด้วยสายยางอย่างเดียว ทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่า การให้นมด้วยสายยาง จะเพิ่มความสำเร็จการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เราพบว่า ไม่มีหลักฐานในเรื่องผลประโยชน์หรืออันตราย สำหรับผลลัพธ์อื่นใด รวมถึงระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลหรือการเพิ่มของน้ำหนักตัวทารก

สรุป: การใช้ถ้วยแทนขวดนม จะเพิ่มความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในทารกคลอดก่อนกำหนด ทั้งเรื่องการเลี้ยงด้วยนมแม่อย่างเดียวและร่วมกับนมผสม อีกทั้งเพิ่มระยะเวลาจนถึง 6 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล ควรทำการศึกษาทดลองที่มีคุณภาพสูงเพิ่มเติมในวิธีการให้นมทางสายยางอย่างเดียว

คุณภาพของหลักฐาน: เรามีความมั่นใจระดับต่ำถึงปานกลาง ในหลักฐานผลการศึกษาทดลอง

ข้อสรุปของผู้วิจัย: 

การหลีกเลี่ยงการใช้ขวดนมในทารกคลอดก่อนกำหนดที่ต้องการได้นมเสริม อาจช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จมากขึ้นเมื่อออกจากโรงพยาบาลและอาจเพิ่มอัตราการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ทั้งอย่างเดียวและร่วมกับนมผสม ที่ 6 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล หลักฐานส่วนใหญ่ที่แสดงให้เห็นประโยชน์คือการป้อนนมด้วยถ้วย มีเพียงการศึกษาเดียวที่ใช้วิธีให้นมทางสายยาง เราไม่แน่ใจว่าวิธีการเสริมนมด้วยสายยางอย่างเดียว จะช่วยเพิ่มผลลัพธ์ในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่หรือไม่ จำเป็นต้องมีการศึกษาที่มีความแน่นอนสูง เพิ่มเติมอีก เพื่อการประเมินเรื่องนี้

อ่านบทคัดย่อฉบับเต็ม
บทนำ: 

การให้นมสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนด มักเริ่มให้นมด้วยสายยาง และเมื่อทารกอายุเพิ่มขึ้น จะเริ่มฝึกให้ดูดนม แม่ของทารกคลอดก่อนกำหนด มักไม่สามารถมาให้ลูกดูดนมแม่ที่โรงพยาบาลได้ตลอดเวลา จึงต้องใช้วิธีการอื่นในการให้นมลูก โดยทั่วไปแล้ว มักจะให้นม (นมแม่ที่บีบเก็บไว้หรือนมผสม) ด้วยขวดนม เป็นหัวข้อที่ถกเถียงกันมาอย่างต่อเนื่องว่า การให้ทารกดูดขวดนมในช่วงที่ฝึกให้ดูดนมแม่ อาจจะส่งผลลบต่อความสำเร็จของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

วัตถุประสงค์: 

เพื่อตรวจสอบผลของการหลีกเลี่ยงการใช้ขวดนมในช่วงที่ฝึกลูกดูดนมแม่ ต่อความสำเร็จในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่และเพื่อประเมินความปลอดภัยของการให้นมด้วยวิธีอื่นกับการใช้ขวดนม

วิธีการสืบค้น: 

มีการพัฒนากลยุทธ์การค้นหาใหม่ เพื่อการปรับปรุงการทบทวนวรรณกรรมให้ทันสมัยครั้งนี้ การค้นหาดำเนินการโดยไม่มีการจำกัดวันเวลาหรือภาษา ซึ่งได้ดำเนินการในเดือนกันยายน ค.ศ. 2021 จากฐานข้อมูล: MEDLINE, CENTRAL, and CINAHL เรายังสืบค้นฐานข้อมูล ISRCTN trial registry และจากเอกสารอ้างอิงของบทความที่ได้มา เพื่อสืบค้นการศึกษาทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม (RCTs: randomised controlled trials) และ quasi-RCTs

เกณฑ์การคัดเลือก: 

เรารวบรวม RCTs และ quasi-RCTs ที่เปรียบเทียบการหลีกเลี่ยงการใช้ขวดนมเทียบกับการใช้ขวดนมสำหรับทารกคลอดก่อนกำหนดที่มารดาวางแผนจะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

การรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล: 

ผู้ทบทวนวรรณกรรมสองคน ประเมินคุณภาพของการศึกษาและดึงข้อมูลอย่างอิสระต่อกัน ถ้าจำเป็น เราจะติดต่อผู้นิพนธ์การศึกษาเพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม เราใช้แนวทาง GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน ในส่วนผลลัพธ์จะรวม การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวและการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ร่วมกับนมผสม เมื่อกลับบ้านและที่ 3 และ 6 เดือนหลังจากออกจากโรงพยาบาล ตลอดจนระยะเวลาพักรักษาตัวในโรงพยาบาลและจำนวนครั้งของการติดเชื้อในทารก เราสังเคราะห์ข้อมูลโดยใช้อัตราส่วนความเสี่ยง (RR: risk ratios) ความแตกต่างของความเสี่ยง (RD: risk differences) และความแตกต่างระหว่างค่าเฉลี่ย (MD: mean differences) พร้อมช่วงความเชื่อมั่น 95% (CI: confidence intervals) เราใช้วิธีการ GRADE เพื่อประเมินความเชื่อมั่นของหลักฐาน

ผลการวิจัย: 

เรารวมการศึกษาทดลอง 7 การศึกษา จำนวนทารกคลอดก่อนกำหนด 1152 คนในการทบทวนวรรณกรรมฉบับปรับปรุงนี้ อีก 3 การศึกษา ยังรอการจำแนกประเภท มี 5 การศึกษา ใช้วิธีป้อนนมด้วยถ้วย, 1 การศึกษา ป้อนด้วยทางสายยาง และอีก 1 การศึกษาใช้จุกนมแบบใหม่ช่วยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เรารวมการศึกษาเรื่องจุกนมแบบใหม่ในการทบทวนนี้ เนื่องจากจุกนมได้รับการออกแบบเพื่อเลียนแบบให้ใกล้เคียงกับการดูดนมแม่ การทดลองมีขนาดเล็กถึงปานกลาง และ 2 การศึกษา มีความเสี่ยงสูงที่จะมีอคติจากการสูญหายของอาสาสมัคร มีปัญหาเรื่องวิธีป้อนนมด้วยถ้วยใน 1 การศึกษา จากการที่เจ้าหน้าที่หรือผู้ปกครองไม่พอใจวิธีการนี้ (หรือทั้งสองกลุ่ม) แต่อีก 4 การศึกษาที่ใช้วิธีป้อนนมด้วยถ้วยเหมือนกัน ไม่มีรายงานความไม่พอใจหรือเลิกใช้

การหลีกเลี่ยงการใช้ขวดนม อาจเพิ่มจำนวนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียว เมื่อออกจากโรงพยาบาล (RR 1.47, 95% CI 1.19 ถึง 1.80; 6 การศึกษา, ทารก 1,074 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) และอาจเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (อย่างเดียวหรือร่วมกับนมผสม) เมื่อออกจากโรงพยาบาล (RR 1.11, 95% CI 1.06 ถึง 1.16; 6 การศึกษา, ทารก 1138 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) การหลีกเลี่ยงการใช้ขวดนม อาจเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวครบ 3 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล (RR 1.56, 95% CI 1.37 ถึง 1.78; 4 การศึกษา, ทารก 986 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นปานกลาง) และอาจเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างเดียวครบ 6 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล (RR 1.64, 95% CI 1.14 ถึง 2.36; 3 การศึกษา, ทารก 887 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ)

การหลีกเลี่ยงการใช้ขวดนม อาจเพิ่มการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (อย่างเดียวหรือร่วมกับนมผสม) ที่ 3 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล (RR 1.31, 95% CI 1.01 ถึง 1.71; 5 การศึกษา, ทารก 1063 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) และที่ 6 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล (RR 1.25, 95% CI 1.10 ถึง 1.41; 3 การศึกษา, ทารก 886 คน; หลักฐานที่มีความเชื่อมั่นต่ำ) ผลลัพธ์ของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ผลดีอย่างชัดเจนตลอดทุกช่วงเวลาสำหรับการป้อนนมด้วยสายยางอย่างเดียว และวิธีป้อนนมด้วยถ้วยได้ผลดีทั้งหมด ยกเว้นผลการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ (อย่างเดียวหรือร่วมกับนมผสม) ที่ 3 เดือนหลังออกจากโรงพยาบาล แต่ผลลัพธ์นี้ไม่พบในกลุ่มจุกนมแบบใหม่ ไม่มีประโยชน์หรืออันตรายอื่น ๆ รวมถึงระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาล (MD 2.25 วัน, 95% CI −3.36 ถึง 7.86; 4 การศึกษา, ทารก 1004 คน; หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ) หรือจำนวนครั้งของการติดเชื้อในทารกแต่ละคน (RR 0.70, 95% CI 0.35 ถึง 1.42; 3 การศึกษา, ทารก 500 คน หลักฐานความเชื่อมั่นต่ำ)

บันทึกการแปล: 

แปลโดย นพ.โยธี ทองเป็นใหญ่ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา Dr.Yothi Tongpenyai MD., M.Sc.; Mar 14, 2022

Tools
Information